ตำบลบ้านเสด็จ อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง
Wat Phra That Sadet Ban Sadet Subdistrict, Mueang Lampang District, Lampang Province
คำไหว้พระธาตุเสด็จ
สาธุ สาธุ เจติเย รัมเม นะระเทเวหิ ปูชิตาวะ ลัคคะนิ
ชินะธาตุโย อะหัง วันทามิ สิระสา
ความเป็นมา
สถานที่อันเป็นที่ตั้งวัดพระธาตุเสด็จในปัจจุบัน เดิมเรียกว่า ดอนโพยง หรือ ดอนโพง เพราะพื้นที่มีลักษณะเป็นที่ดินและเป็นป่าช้าสำหรับฝังซากศพของชาวบ้าน ตอนกลางคืนจะมีหมา มีแร้ง มาแทะกินซากศพ และที่บริเวณนี้จะมีต้นขะจาวใหญ่อยู่ต้นหนึ่ง ในคืนวันพระ ๘ ค่ำ และ ๑๕ ค่ำ จะมีดวงไฟพุ่งเป็นแสงสว่างออกไปให้ชาวบ้านได้เห็นและชาวบ้านแถวนี้เข้าใจว่าเป็นแสงของผีโพง ที่มากินซากลางคืน จึงเรียกชื่อสถานที่นี้ว่า ดอนโพยง หรือ ดอนโพง
ที่ตั้งวัด
ตั้งอยู่ที่ ๖๓๘ หมู่ ๕ บ้านเสด็จ ตำบลเสด็จ อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง ตามโฉนดที่ดิน มีเนื้อที่ ๑๖ ไร่ ๒ งาน ๓๘ ตารางวา อุโบสถและวิหารต่างๆ ซึ่งเป็นโบราณสถานที่เก่าแก่ ได้รับการบูรณะใหม่ทั้งหมดแต่ยังคงสภาพศิลปะโบราณให้คงอยู่
หลักฐานทางประวัติศาสตร์
วัดพระธาตุเสด็จ เป็นที่ประดิษฐานเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตามตำนานพระธาตุนครลำปางเล่าว่า วัดในจังหวัดลำปางที่เชื่อว่า เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีอยู่ ๒ วัด คือ วัดพระธาตุลำปางหลวง และ วัดพระธาตุเสด็จ การบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ สถานที่ทั้งสองแห่งนี้ มีมาหลังพระพุทธเจ้าปรินิพพานได้ ๒๑๘ ปี ตามตำนานเมืองละกอน หรือ เมืองเขลางค์ อันอยู่ในตำนานพื้นเมืองและตำนานจามเทวีวงศ์ ก่อนที่จะมีการสถาปนาสร้างนครเขลางค์คู่กับนครหริภุญไชย โดยพระนางจามเทวี
อาณาเขตของวัด
ทิศเหนือ จรดทางสาธารณประโยชน์
ทิศใต้ จรดบ้านเรือนราษฎร
ทิศตะวันออก จรดบ้านเรือนราษฎร
ทิศตะวันตก จรดบ้านเรือนราษฎร
โบราณสถานที่สำคัญ
๑. พระเจดีย์พระธาตุเสด็จ ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงกลมฐานสี่เหลี่ยม ปรากฏรูปแบบศิลปะแบบบัวถลาแบบสุโขทัย กว้าง ๗ วา สูง ๑๕ วา สร้างในสมัยเจ้าหาญแต่ท้องในปี พ.ศ. ๑๙๙๒
๒. วิหารสุวรรณโคมคำ หรือวิหารพระพุทธ เป็นวิหารพื้นเมืองเครื่องไม้ ศิลปะล้านนาไทย สร้างในสมัยพระเจ้าหอคำดวงทิพย์ เจ้าผู้ครองนครลำปาง ลำดับที่ ๓ ในปี พ.ศ. ๒๓๖๖ บูรณะครั้งใหญ่ในปี พ.ศ.๒๕๐๐ นำโดยคณะศรัทธาแม่เลี้ยงเต่า จันทรวิโรจน์
๓. วิหารจามเทวี หลังเดิมสร้างเมื่อใดไม่ปรากฏชัด หลังปัจจุบันเป็นวิหารศิลปะรุ่นตระกูลสล่า บูรณะในปี พ.ศ. ๒๔๗๖ โดยคณะศรัทธาอุบาสิกาในจังหวัดลำปาง นำโดยแม่เลี้ยงป้อม บริบูรณ์
๔. วิหารหลวงหลังปัจจุบัน สร้างขึ้นบนพื้นที่ของวิหารหลังเดิมที่รื้อทิ้งไปในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ อันเนื่องมาจากสภาพชำรุดทรุดโทรม วิหารหลวงหลังปัจจุบัน มีลักษณะเป็นอาคารคอนกรีตแบบศิลปะรัตนโกสินทร์ช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๕ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางลีลาขนาดใหญ่ เป็นประธานของวิหาร ปัจจุบันวิหารหลวงใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมและประเพณีเนื่องในพุทธศาสนารวมถึงกิจกรรมต่างๆ ของวัดที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนิกชน
ลำดับเจ้าอาวาสวัดพระธาตุเสด็จ
รูปที่ ๑ พระอธิการปัญญา ธมมปญโญ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๕ – ๒๔๘๙
รูปที่ ๒ พระครูรัตนาคม ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๐ – ๒๕๔๔
รูปที่ ๓ พระครูโสภิตพัฒนานุยุต ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๕ – ปัจจุบัน