ตำบลกลางเวียง อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน

Wat Boon Yuen Phra Aram Luang Klang Wiang Subdistrict, Wiang Sa District, Nan Province

ความเป็นมา

วัดบุญยืน เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ได้รับยกฐานะจากวัดราษฎร์ขึ้นเป็นพระอารามหลวง เมื่อพ.ศ. ๒๕๓๙ ตั้งอยู่เลขที่ ๓๑ หมู่ ๔ ตำบลกลางเวียง อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน 

วัดบุญยืน เดิมชื่อ “วัดบุญนะ” สถานที่ตั้งเดิมนั้น ตั้งอยู่ที่ตลาดสด ซึ่งเป็นที่ธรณีสงฆ์ของวัดบุญยืนปัจจุบัน สร้างคู่กับการสร้างเมืองเวียงป้อ (เวียงพ้อ) เมืองเวียงป้อ สร้างขึ้นโดย พระยาป้อ จึงเรียกชื่อเมืองตามนามผู้สร้างเมือง แต่มีชื่อนิยมเรียกกันอีกว่า “เวียงสา” หรือ “เมืองสา” ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๓๒๙ ได้ย้ายวัดไปสร้างใหม่ ห่างจากวัดเดิมประมาณ ๓ เส้น อยู่ติดกับแม่น้ำสา ตรงปากน้ำที่ไหลไปบรรจบกับแม่น้ำน่าน บริเวณที่ตั้งวัดใหม่นี้ มีป่าไม้สักที่สมบูรณ์  จึงใช้ไม้สักสร้างพระวิหาร กุฏิสงฆ์ เสนาสนะอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก จึงเรียกชื่อวัดว่า “วัดป่าสักงาม”       

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๓๔๐ เจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ ๒ ได้เสด็จประพาสเวียงป้อ ทรงมีจิตศรัทธา จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้ หมื่นสรรพช่าง เป็นนายช่างใหญ่ สร้างพระวิหารขึ้น กว้าง ๑๕ เมตร ยาว ๓๐ เมตร และทรงโปรดเกล้าฯ ให้ เจ้าราชวงศ์เชียงของ เป็นผู้แกะสลักบานประตูใหญ่พระวิหาร สร้างพระพุทธรูปไม้สัก พระรูปจำลองเจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ และศาสนวัตถุอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก พ.ศ. ๒๓๔๓ สร้างพระพุทธยืน ปางประทับยืน พระประธานในพระวิหาร ขนาดสูง ๘ ศอก ดังนั้น จึงได้เปลี่ยนนามวัดใหม่ว่า “วัดบุญยืน” ตามลักษณะพระพุทธรูปมาจนถึงปัจจุบัน 

พ.ศ. ๒๓๔๕ ก่อสร้างพระเจดีย์ทรงปรางค์แบบลังกา (โอคว่ำ) ติดกับพระวิหารทางด้านทิศใต้ 

พ.ศ. ๒๕๐๑ เป็นยุคสมัยของพระสาราธิคุณ (อินหวัน วิริยธมฺโม) เจ้าอาวาส และเจ้าคณะอำเภอเวียงสา ก็ได้มีการพัฒนาทั้งด้านศาสนวัตถุ ศาสนสถาน และศาสนบุคคล มีความเจริญรุ่งเรืองมาตามลำดับ จนกลายเป็นศูนย์กลางทางด้านการศึกษาพระปริยัติธรรมของคณะสงฆ์ ประจำอำเภอเวียงสา เป็นศูนย์กลางในศึกษาค้นคว้าด้านศิลปะ การสืบสานงานประเพณี และวัฒนธรรมของชาวอำเภอเวียงสา มาจนถึงปัจจุบัน เช่น ประเพณีสงกรานต์ ประเพณีใส่บาตรเทียน ในวันแรม ๒ ค่ำ เดือน ๘ หรือ เดือน ๑๐ เหนือ ประเพณีถวายทานสลากภัต (ตานก๋วยสลาก) และแข่งเรือยาวในวันออกพรรษา เป็นต้น 

พ.ศ. ๒๕๑๑ ทางกรมการศาสนา จึงได้คัดเลือกให้เป็น “วัดพัฒนาตัวอย่าง”   

พ.ศ. ๒๕๔๒ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้คัดเลือกให้เป็น “วัดอุทยานการศึกษา และพ.ศ. ๒๕๔๖“เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างที่มีผลงานดีเด่น” 

พ.ศ. ๒๕๔๘ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จทรงเยี่ยมวัดบุญยืน และเสด็จทรงงานที่โรงเรียนพระปริยัติธรรมในโครงการตามพระราชดำริฯ เมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๔๘

ปัจจุบัน วัดบุญยืน ซึ่งถือเป็นวัดพระอารามหลวงแห่งเดียวในอำเภอเวียงสา เป็นวัดประจำอำเภอที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชน เป็นศูนย์กลางการศึกษาของคณะสงฆ์ ตลอดถึงศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี พิธีกรรมที่หลากหลาย ซึ่งได้สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน โดยมี พระมหาเกรียงไกร อหึสโก ป.ธ.๙ เป็นเจ้าอาวาส

โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่สำคัญของวัด (เฉพาะภายในพระอุโบสถ)

  ๑. พระอุโบสถ โครงสร้างหลังคาทำด้วยไม้สัก ทรงล้านนา ที่มีลักษณะงดงาม มีหลังคาลดหลั่นเหมือนม้าต่างแพร ต่างไหม กว้าง  ๑๕  เมตร ยาว ๓๐ เมตร

๒. พระประธานในพระอุโบสถ  ลักษณะพระพุทธรูป ปางประทับยืน (ปางโปรดสัตว์ หรือปางเมตตาการุณ) สร้างด้วยอิฐถือปูนลงรักปิดทอง สูง ๘ ศอก 

๓. เสาพระอุโบสถ ลักษณะกลมใหญ่ขนาดสองคนโอบ มีทั้งหมด ๑๒ เสา สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก กรองไม้สักเดิมรับกับขื่อหลังคา ก่อด้วยอิฐโบราณรอบ ๆ เสา มีลวดลายนกวิจิตรงดงาม ลวดลายต่าง ๆ ปั้นด้วยยางไม้ 

๔. บุษบก (ธรรมาสน์เอก)  สร้างด้วยอิฐถือปูน มีลวดลายวิจิตรงดงาม มีขนาดกว้าง และยาว  ๒.๕  เมตร  สูง  ๕.๕  เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๓ ตั้งอยู่ภายในพระอุโบสถ

๕. บานประตูใหญ่ ทั้ง ๒ บานของพระอุโบสถลักษณะพิเศษคือแกะสลักถึง ๓ ชั้น ใช้เวลาแกะสลัก ๓ เดือน  

๖. พระเจดีย์  ทรงปราสาทหรือทรงเรือนธาตุ ศิลปะล้านนา เดิมเป็นเจดีย์ทรงพระปรางค์ แบบลังกา (โอคว่ำ) 

  ๗. แผ่นศิลาจารึก จำนวน ๒ แผ่น จารึกอักษรล้านนากล่าวถึงการสร้างวัดป่าสักงามและวัดบุญยืน   

พระมหาเกรียงไกร  อหึสโก เจ้าอาวาสวัดบุญยืน