ตำบลสวนดอก อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง

 Wat Ko Walukaram

Suan Dok Subdistrict, Mueang District, Lampang Province

ความเป็นมา

              กำเนิดของวัดเกาะวาลุการาม เมื่อพ่อค้าแม่ค้าคหบดี แถวถนนตลาดจีนเหล่านั้นอตั้งใจจะสร้างวัดอยู่แล้ว ก็เห็นว่าเกาะกลางที่แยกแม่น้ำออกสองแคว ในแถวใกล้ หรือหลังบ้านของตนอยู่นี้พอจะข้ามไปมา อุปถัมภ์ทำบุญสุนทานได้สะดวก ทั้งตั้งอยู่ในที่แยก ๆ ออกไปเป็นสัดส่วนต่างหาก ไม่ปะปนกับชุมนุมชน ค้าขายแต่อย่างใด เป็นทำเลร่มเย็นเหมาะสมเป็นบริเวณอารามสถานได้ดี แม้จะมีคนไปจับจองทำสวนปลูกบ้านเรือนอยู่ทางหัวเกาะบ้างแล้ว ก็เป็นเพียงบางส่วน พอจะแผ้วถางปลูกสร้างได้ ต่างก็มีจิตศรัทธาเลื่อมใส สนับสนุนออกทุนทรัพย์ทั้งกำลังกายกำลังใจแผ้วถางที่ทางขยับขยายด้วยการซื้อขายแบ่งปันยกให้ สุดแล้วแต่กำลังศรัทธา อาคารหลังแรกของวัดเกาะวาลุการามก็ปรากฎขึ้นเป็นกุฏิไม้ไผ่ หลังคามุงตอนตึง (ตองควง) ฝาขัดแตะ ตั้งอยู่บริเวณข้างต้นโพธิ์ใหญ่ ซึ่งเวลานี้ได้ล้มโค่นลงแล้ว อยู่ใกล้ ๆ กับกุฏิพระนอนประมาณปีเริ่มตั้งวัดก็เห็นจะอยู่ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๒๗ ถึง พ.ศ. ๒๔๓๐ ประมาณ ๙๐ ปีมาแล้ว

             ผู้ศรัทธาก่อตั้งในรุ่นแรก ๆ ก็มีมากมาย อาจกล่าวได้ว่า ท่านพ่อค้า แม่ค้า พาณิชย์ คหบดีที่ตั้งเคหสถานบ้านเรือน ในแถวตลาดจีนตลอดทั้งสายได้ให้ความอุปถัมภ์ค้ำชูมาทั้งสิ้น นอกจากนั้น ก็มีชาวบ้านข้าราชการทั้งที่ไม่อยู่ในละแวกนั้นอีกเป็นจำนวนมาก ท่านผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในรุ่นก่อน ๆ ที่เป็นหัวหน้าชักจูงและออกทรัพย์ทั้งของตนเอง ของศรัทธาร่วมกัน เท่าที่ค้นคว้าสอบถามได้จากผู้เฒ่าผู้แก่ ที่มีชีวิตอยู่เล่าอาจบกพร่องไปบ้าง พอทราบมาก็มีเป็นต้นว่า พญาเก๊า-แม่เหม็น (เป็นหัวหน้าพ่อค้าแถวตลาดจีน หรือพระยาพิทักษ์) โกตา-แม่บูญรอด (ต่อมาเป็นขุนพิพัฒน์) หลวงประสารไมตรีราษฎร์-คุณนายหอม เหยี่ยนซีไท้ลีกี -แม่ฮวย พ่อเต็ง, พ่อหนาบุญ คุณยายหมา เพ็ชรสุวรรณ คุณยายมา สมิติพัฒน์, แม่จุ้ม แม่ตุ่น, พ่อฮ้วน-แม่สีลา พ่อหมาใหญ่ พ่อหมาน้อย พ่อน้อย คอมสัน เป็นต้น

ลำดับเจ้าอาวาส 

          ๑. หลวงพ่อกริ่ม จนฺทวํโส  

          ๒. หลวงพ่อเอม เมตฺติโก  

          ๓. พระครูสุเวทกิตติคุณ (หลวงพ่อบุญชุบ ทินฺนโก) 

          ๔. พระอธิการสุชาติ จนฺทสโร เป็นเจ้าอาวาสในปัจจุบัน

โบราณสถาน โบราณวัตถุ

๑. พระพุทธรูปสัมฤทธิ์ปางห้ามญาติ  

                 นางกำจรวานิช (บุญชู) สินานนท์ ผู้สร้างถวายไว้ในมณฑป รอบเจดีย์ด้านทิศตะวันออก วัดเกาะวาลุการาม เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๖

๒. อุโบสถวัดเกาะวาลุการาม 

                เป็นอุโบสถที่มีศิลปะผสมผสานไทย ล้านนา และพม่า และที่แปลกคือไม่มีหน้าต่าง แต่มีประตูเข้าออกได้รอบตัวอุโบสถ ภาพเขียนฝาผนัง ในอุโบสถวัดเกาะวาลุการาม เขียนขึ้นราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๕ โดยจิตกรชาวพื้นเมืองชื่อ ปวน หรือ ป.สุวรรณสิงห์ ที่ได้เคยไปฝึกฝนฝีมือกับช่างเขียนภาพในเมืองหลวง ที่ได้เดินทางขึ้นมาเขียนภาพใน อุโบสถวัดบุญวาทย์วิหาร ซึ่งจะเห็นได้ว่าภาพในวัดทั้ง ๒ แห่งจะมีลักษณะแนวการวาดคล้ายกันมาก ป.สุวรรณสิงห์ มีชีวิตอยู่ ช่วง พ.ศ. ๒๔๔๐ – ๒๕๐๓ อุโบสถวัดเกาะวาลุการาม ได้ทำการบูรณะสร้างขึ้นมาใหม่ โดย หลวงกำจรวานิช – นางบุญชู สินานนท์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๙

๓. เจดีย์ทรงระฆังคว่ำศิลปะแบบพม่า 

               เจดีย์ทรงระฆังคว่ำศิลปะแบบพม่า วัดเกาะวาลุการาม สร้างราวประมาณปี พ.ศ. ๒๔๖๐ (เทียบเคียงจากลักษณะการปั้น มณฑปพระพุทธบาทจำลองสี่รอย)

๔. พระพุทธรูปไสยาสน์ (พระนอน) อายุ ๔๑๕ ปี 

              จารึกฐานพระพุทธรูปไสยาสน์วัดเกาะวาลุการาม

๕. ศาลาการเปรียญเก่าทรงไทยภาคกลาง

              เป็นศาลาไม้ประดับด้วยลวดลายไม้ฉลุ แบบภาคกลางถึงแม้ว่าลำปางอยู่ในสิ่งแวดล้อมอิทธิพลของศิลปะล้านนาผสมผสานพม่า แต่ด้วยเหตุที่ เจ้าอาวาสวัดเกาะวาลุการามตั้งแต่ปฐมจนถึงปัจจุบันล้วนเป็นคนภาคกลาง จึงได้สร้างศาลมีเสาสูงเพื่อป้องกันน้ำท่วม เริ่มสร้างประมาณ พ.ศ. ๒๔๖๐ และใช้ประกอบศาสนกิจพิธีทางศาสนา กิจกรรมงานบุญ เช่นการทอดกฐิน ผ้าป่า ทำบุญวันพระเข้าพรรษา เทศน์มหาชาติ และใช้เป็นที่ปฏิบัติธรรมด้วย

๖. มณฑปพระพุทธบาทจำลองสี่รอย

              ทำจากหินอ่อนแกะสลักเป็นรูปพระพุทธบาท ซ้อนกัน ๔ รอย จากเมืองมัณฑเลย์ประเทศพม่า และนำมาประดิษฐานไว้ที่ วัดเกาะวาลุการาม เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๗  สร้างถวายโดย หลวงกำจรวานิช-นางบุญชู สินานนท์