ตำบลห้างฉัตร อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง

Wat Pan Ngao

Hang Chat Subdistrict, Hang Chat District, Lampang Province

ประวัติวัดปันง้าว

เริ่มสร้างวัดครั้งแรกเมื่อไหร่ไม่มีหลักฐานปรากฎชัด ได้รับการบอกกล่าวเล่าสืบ ๆ ต่อกันมา สืบเนื่องมาจากประวัติของหนานทิพย์ช้าง (พระยาไชยสงคราม หรือพระยาสุลวะลือไชยสงคราม) เจ้านายฝ่ายเหนือ หลังจากหนานทิพย์ช้างได้ทำสงครามกับทหารพม่า ที่บริเวณวัดพระธาตุลำปางหลวง อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง เมื่อหนานทิพย์ช้างได้รับชัยชนะจากการทำสงครามกับทหารพม่าแล้ว ก็ได้ยกกองทัพกลับเข้าเมืองลำปางพร้อมด้วยรี้พล และอาวุธต่าง ๆ เป็นต้นว่าง้าวพันเล่ม (ดาบพันเล่ม) มีรี้พลประมาณหนึ่งพันคน เมื่อถึงบริเวณที่ตั้งของวัดปันงาวปัจจุบันนี้หนานทิพย์ช้างผู้เป็นแม่ทัพได้สั่งหยุดพักขบวน และสั่งให้รี้พลเอาผ้ามาพันง้าว (ดาบ) ทั้งพันเล่มนั้นเสีย เพราะนิมิตแห่งรี้พลของกองทัพหนานทิพย์ช้าง ที่ได้นำผ้ามาพันง้าวจำนวนพันเล่มนั่นเอง จึงเป็นที่มาของบ้านพันง้าว ซึ่งปัจจุบันกลายมาเป็น “บ้านปันง้าว” ตามภาษาล้านนา

วัดปันง้าว ตั้งอยู่เลขที่ ๑๐๖ หมู่ที่ ๗ ตำบลห้างฉัตร อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ ๓ ไร่ ๒ งาน ๗ ตารางวา โฉนดที่ดินเลขที่ ๒๕๗๗๙ ที่ธรณีสงฆ์จำนวน ๑ แปลง เนื้อที่ ๒ งาน ๖๒ ตารางวา โฉนดที่ดินเลขที่ ๒๕๕๖๑  ได้รับวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๑๕ เดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๑๓ เขตวิสุงคามสีมากว้าง ๕๐ เมตร ยาว ๖๐ เมตร

อาคารเสนาสนะของวัด ประกอบด้วย 

อุโบสถ จำนวน ๑ หลัง กุฏิ จำนวน ๓ หลัง เจดีย์ จำนวน ๑ องค์ ศาลาพระพุทธรูปทันใจ จำนวน ๑ หลัง ศาลาการเปรียญ จำนวน ๑ หลัง ศาลาอเนกประสงค์ จำนวน ๑ หลัง ศาลาเก็บสิ่งของ จำนวน ๒ หลังศาลาหอฉัน จำนวน ๑ หลัง ศาลาโรงครัว จำนวน ๑ หลัง หอระฆัง จำนวน ๑ หลัง ซุ้มประตูโขง จำนวน ๑ หลัง ห้องน้ำ จำนวน ๑๒ ห้อง

การบริหารและการปกครองวัดที่ผ่านมา มีพระภิกษุดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส จำนวน ๑๒ รูป ดังนี้

๑. พระทา

๒. พระปวน

๓. พระมา

๔. พระปั้นแก้ว

๕. พระยา

๖. พระปัญญา

๗. พระรัตน์

๘. พระซาว

๙. พระบุญมา มนุญฺโญ

๑๐. พระบุญเลิศ ปภสุสโร พ.ศ. ๒๕๐๕ – พ.ศ. ๒๕๑๓

๑๑. พระครูบุญทัน ทนฺตกาโย พ.ศ. ๒๕๑๔ – พ.ศ. ๒๕๔๕

๑๒. พระครูปริยัติพัฒนกิตติ์ (พระมหาอินจันทร์ กิตฺติมธี) พ.ศ. ๒๕๔๕ – ปัจจุบัน