ตำบลต้นธงชัย อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง
Wat Phra That Muen Kruen
Ton Thong Chai Subdistrict Mueang Lampang District Lampang Province

ความเป็นมา วัดพระธาตุหมื่นครื้น เป็นวัดที่เก่าแก่ ตั้งอยู่เลขที่ ๖๑๐/๒ หมู่ที่ ๑๑ บ้านวังหม้อพัฒนา ตำบลต้นธงชัย อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง วัดพระธาตุหมื่นครื้นเป็นวัดที่ตกหล่นหายไปจากทะเบียนของกรมการศาสนา จากการพิสูจน์ทางวัตถุของกรมศิลปากรทราบว่า มีการบูรณะหลังสุด ผ่านมาประมาณ ๖๐๐  ปีเศษ  มีอายุไม่ต่ำกว่า ๑,๐๐๐ ปีขึ้นไป พิสูจน์จากหลักฐานอิฐเก่าๆ ที่พบในวัด คาดว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาเมื่อปี พ.ศ. ๑๒๒๓ หรือมากกว่า ๑๓๔๑ ปีมาแล้ว จัดเป็นโบราณสถานและเป็นวัดที่เก่าแก่ที่สุดวัดหนึ่งของลำปาง จากสภาพวิหารที่เก่าและร่องรอยแนวของผนังก่ออิฐและพระพุทธรูปปูนปั้นไร้เศียรกับองค์เจดีย์ล้านนาทรงแปดเหลี่ยมที่อยู่ด้านหลัง ที่เป็นความรุ่งเรืองในอดีต ทำให้การมาชมวัดแห่งนี้ดูน่าตื่นตาตื่นใจยิ่งขึ้น  

องค์เจดีย์ประธานภายในวัดได้รับการขุดแต่งทางโบราณคดีในปี พ.ศ. ๒๕๓๘ ในส่วนของวิหารเก่าและองค์เจดีย์ยังดูขรึมขลัง แม้ตกหล่นความสมบูรณ์แบบไปตามการเวลา แต่ก็ยังคงหลงเหลือเค้าของความสง่างามอยู่  ปี พ.ศ. ๒๕๓๕ ส่วนราชการกับคณะศรัทธาได้ร่วมกันสำรวจยอดองค์พระธาตุเจดีย์ที่หักพังลงมา  ได้พบพระธาตุถึง ๓๐๑ องค์ ประกอบไปด้วย พระธาตุของพระโมคคัลลานะ พระสารีบุตร และพระสีวลี    ขนาดเท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาด ยังมีแก้วประดับอีก ๗๙ เม็ด พระพุทธรูปปางสดุ้งมารอีก ๓ องค์ และพิมพ์พระทำด้วยเงินแท้อีกจำนวนหนึ่ง ในปีถัดมา สำนักศิลปากรที่ ๗ จังหวัดน่าน ดำเนินการขุดสำรวจบริเวณรอบองค์พระธาตุเจดีย์และวิหารเก่าเพื่อบูรณะและขุดตรวจชั้นวัฒนธรรม นำมาซึ่งการค้นพบวัตถุโบราณหลายชิ้น เช่น เศษกระเบื้องดินเผาสมัยล้านนาตอนต้น ไหโบราณ ตะปูจีน ที่คาดว่าเป็นของที่นำเข้ามาใช้ในการก่อสร้างสมัยอยุธยา และยังพบพระพุทธรูปเก่าแก่ขนาดใหญ่ พร้อมด้วยแจกันคล้ายกับบรรจุอัฐิไว้ด้านใน ยังมีการขุดพบแนวกำแพงแก้วโบราณ ขณะเดียวกันก็ยังขุดเจอประติมากรรมรูปเศียรเณรครึ่งใบหน้า ที่มีรูปแบบการปั้นคล้ายตุ๊กตา          (ที่มา หนังสือพิมพ์ล้านนาโพส ฉบับที่ ๑๐๘๔ วันที่ ๒๔ – ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙)