ตำบลสวด อำเภอบ้านหลวง จังหวัดน่าน

Wat Luang

Sutr Subdistrict, Ban Luang District, Nan Province

ความเป็นมา

พระแก้วมรกต ของวัดหลวง ตำบลสวด อำเภอบ้านหลวง จังหวัดน่าน ได้มาเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด พ่อปั๋น อินหลี อดีตกำนันตำบลสวด (พ.ศ. ๒๕๒๑ – ๒๕๓๒) ได้รับคำบอกเล่าจากพ่อตา มหาวรรณ (พ่อตาจันทร์) อยู่บ้านทุ่งผึ้ง ซึ่งได้ถึงแก่กรรมไปนานแล้ว ท่านบอกว่าพระแก้วมรกตที่อยู่วัดหลวงองค์นี้ แต่เดิมมีคนบ้านหลวง (เมืองสวด) ชื่อนายใหม่บอนกับพวกอีกหลายคนถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารสู้รบกับข้าศึกที่เมืองเชียงตุง ปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศสหภาพพม่า ทิศเหนือจังหวัดเชียงราย กระผม/อาตมภาพ สืบค้นพงศาวดารไทยรบพม่า จดหมายเหตุแลพงศาวดารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องสันนิษฐานว่า พระแก้วมรกตองค์นี้ได้มาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ตรงกับปีขาล พ.ศ. ๒๓๙๗

ศึกตีเมืองเชียงตุง ครั้งที่ ๒ ในกองทัพของพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท (กรมหลวงวงศาฯ) ที่เข้ามาเกณฑ์รี้พล จัดกองทัพที่เมืองน่าน โดยเจ้าอนันตวรฤทธิเดชฯ เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ ๖๒ ถวายการต้อนรับ การต่อสู้รบนั้นอาศัย มีด หอก ดาบ ความสามารถทางไสยศาสตร์ อาถาอาคม เครื่องรางของขลัง และชั้นเชิงปฏิภาณไหวพริบ ในการสู้รบกับข้าศึกที่มีกำลังมากกว่าแต่ไม่สามารถต้านทานไว้ได้ จึงถอยร่นมาอาศัยจอมปลวกที่สูงใหญ่ตั้งหลักต่อสู้รบกัน ฝ่ายข้าศึกที่ปีนจอมปลวกขึ้นมาก็ถูกฟันแทง จึงใช้ปืนยิงเข้ามาจอมปลวก แต่ลูกปืนก็ไม่ถูกจอมปลวก ได้แต่สู้รบกันเป็นเวลานาน จนข้าศึกอ่อนกำลังลงและถอยไป เมื่อข้าศึกถอยไปแล้ว จึงพากันพิจารณาดูจอมปลวกที่อาศัยอยู่สู้รบนั้นคงจะมีอะไรสักอย่างที่ทำให้แคล้วคลาดอันตรายจากข้าศึก จึงได้ช่วยกันเสาะหาและขุดจอมปลวกดู ก็ได้พบพระแก้วมรกตองค์ดังกล่าวและพระสมาธิเพชรอย่างง่ายดายจากนั้นไม่นาน กรมหลวงวงศาฯ จึงมีรับสั่งให้ถอยทัพกลับการสู้รบก็ยุติลง ด้วยเข้าสู่ฤดูฝนจะทำให้กองทัพได้ยากจึงพากันเดินทางกลับนายใหม่บอนกับพวกจึงเดินทางกลับบ้านพร้อมอัญเชิญพระแก้วมรกตมาด้วย เมื่อกลับมาถึงบ้าน (เมืองสวด) นายใหม่บอนกับพวกจึงได้ปรึกษาหารือกันกับพวกญาติพี่น้อง ผู้เฒ่า ผู้แก่ เล่าเรื่องการสู้รบกับข้าศึกจนได้พระแก้วมรกต จึงได้ชื่อตกลงว่าควรนำพระแก้วมรกตมาเก็บไว้ที่วัดหลวง เพื่อให้ชาวบ้านได้สักการะบูชา เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง เป็นสิริมงคลให้ชาวบ้านได้อยู่ร่มเย็นเป็นสุข ปัจจุบันพระแก้วมรกตประดิษฐาน ณ วิหารพระแก้วมรกต วัดหลวง ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๓๙๗ – ๒๕๕๙ เป็นระยะเวลา ๑๐๒ ปี