ข่าวประชาสัมพันธ์

ขอเชิญร่วมทอดกฐินสามัคคีประจำปี 2564


ตำบลป่าคาหลวง อำเภอบ้านหลวง จังหวัดน่าน

Wat Phra That Ku Khao Khiao

Pa Kha Luang Subdistrict, Ban Luang District, Nan Province

ความเป็นมา

วัดพระธาตุกู่เขาเขียว ตั้งอยู่ ณ พุทธสถานพระธาตุกู่เขาเขียว หมู่ที่ ๑ บ้านป่าคาหลวง ตำบลป่าคาหลวง อำเภอบ้านหลวง จังหวัดน่าน ในสมัยโยนกกรุงเชียงแสน มีเจ้าเมืองผู้ปกครองนครเชียงแสนองค์หนึ่งได้เดินทางจากไทลื้อที่มาจากเชียงแสน (พญาภูเข็ง) เดินทางผ่านมายังเมืองน่านมาถึงบ้านพี้ (ปัจจุบันคือหมู่บ้านพี้) บ้านพี้แต่เดิมเรียกว่าบ้าน โกสัมปี เมืองน่านมีชื่อเรียกว่าเมืองนาน เจ้าเมืองเชียงแสนมีภรรยา ๒ คน ภรรยาองค์ใหญ่ชื่อว่านางบัวเขียว ภรรยาองค์ที่ ๒ ชื่อว่านางบัวน้อย ภรรยาทั้งสองคนได้เกิดทะเลาะกัน อยากขึ้นเป็นภรรยาเอก เจ้าเมืองจึงคิดอุบายขึ้นให้ภรรยาทั้ง ๒ คน สร้างพระธาตุขึ้นคนละ ๑ องค์ โดยให้นางบัวเขียวสร้างพระธาตุขึ้นที่คอยตั้งอยู่บนแม่น้ำพี้ ที่ตรงนั้นเป็นภูเขาเขียวชอุ่ม ไม่แห้งแล้ง มีต้นไม้ขึ้นเขียวทั้งถูก แต่ภูเขาที่ห้อมล้อมอยู่แห้งแล้งมาก ส่วนนางบัวน้อยภรรยาเล็ก ให้ไปสร้างพระธาตุที่เขาน้อย (ปัจจุบันคือพระธาตุดอยเขาน้อย ตำบลดู่ใต้ อำเภอเมือง จังหวัดน่าน) นางบัวเขียวและนางบัวน้อยได้พยายามสร้างพระธาตุของตนเองให้เสร็จ นางบัวน้อยสร้างพระธาตุเสร็จก่อนนางบัวเขียว นางบัวเขียวไม่สามารถสร้างพระธาตุได้ทันเสร็จ เพราะนางบัวน้อยได้ใช้เล่ห์เหลี่ยม โดยใช้สัตว์เป็นพาหนะในการขนส่ง อุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย ทำให้นางบัวน้อยซึ่งเป็นภรรยาเล็กเป็นผู้ชนะ ส่วนนางบัวเขียวภรรยาใหญ่เป็นผู้แพ้ เพราะสร้างยอดพระธาตุไม่เสร็จ และไม่ได้ใส่ยอดพระธาตุเขาเขียว นางบัวน้อยจึงได้เป็นภรรยาเอก และเจ้าเมืองเชียงแสนได้ตั้งหมู่บ้านนี้ว่า บ้านปี้ เจ้าเมืองและภรรยาทั้งสองจึงได้เดินทางต่อและต่อมาได้ไปครองเมืองนาน (ปัจจุบันคือเมืองน่าน) พระธาตุเขาเขียว ซึ่งตั้งอยู่บนภูเขาเรียกตามผู้สร้างว่า กู่เขาเขียว ส่วนพระธาตุเขาน้อย ภรรยาองค์เล็กได้ขึ้นยอดพระธาตุก่อน เรียกว่าพระธาตุเขาน้อย พระธาตุเขาเขียวที่ยังสร้างไม่เสร็จ ชาวบ้านเรียกว่า กู่เขาเขียว ในแต่ละปีจะมีประเพณีสรงน้ำพระธาตุกู่เขาเขียวของชาวอำเภอบ้านหลวงประจำทุกปี ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ เหนือ (ตรงกับวันวิสาขบูชา) พระธาตุกู่เขาเขียวจึงเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เคารพบูชา เป็นที่ศึกษาประวัติศาสตร์ของเมืองน่าน และชาวอำเภอบ้านหลวงจนถึงปัจจุบัน จากการศึกษาประวัติพระยาภูเข็งแล้ว ทำให้ทราบว่า พระธาตุกูเขาเขียวสร้างพร้อม ๆ กับพระธาตุเขาน้อย และพระธาตุแช่แห้ง จึงน่าจะมีอายุประมาณ ๖๐๖ ปี ไม่ใช่สามร้อยกว่าปีตามที่เล่าสืบกันมาในปัจจุบัน

*หมายเหตุ จากบันทึกหลักฐานประวัติวัดพญาภู (พระยาภูเข็ง (พญาภู) แห่งราชวงศ์ภูคา ซึ่งเป็นเจ้าผู้ครองเมืองน่าน ระหว่างปี พ.ศ. ๑๙๕๐ – ๑๙๖๐ ได้สร้างวัดพญาภูขึ้น เมื่อปี พ.ศ. ๑๙๕๖)

พระอธิการนิติพัฒน์ สุวโจ เจ้าอาวาสวัดพระธาตุกู่เขาเขียว