ตำบลทุ่งกว๋าว อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง

Wat Plai Na Luang

Thung Kwao Subdistrict, Mueang Pan District, Lampang Province

ความเป็นมา

วัดปลายนาหลวง ตั้งอยู่บ้านปลายนา หมู่ที่ ๗ ตำบลทุ่งกว๋าว อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย วัดปลายนาหลวง ตามหลักฐานตำนานการสร้างคัมภีร์ธรรมมหาชาติว่า วัดนี้ก่อสร้างขึ้นเป็นวัดแรกในแว่นแคว้นตำบลนี้ และตำบลใกล้เคียง ชะรอยเจ้านายฝ่ายเหนือร่วมกัน สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๑๘๖๗ ในหนังสือไม่ปรากฏนามผู้สร้างและพระผู้เป็นเจ้าอาวาส แต่มีหลักฐานจารึกไว้ในปกหลังคัมภีร์ธรรมมหาชาติ กัณฑ์มหาราชผูกนั้นว่า สามเณรนารถะ วัฒโน เป็นผู้จารึกคัมภีร์ธรรม เมื่อครั้งปฏิบัติศาสนกิจอยู่วัดปลายนาหลวงจากนั้นเหตุการณ์ต่าง ๆ ก็ไม่มีปรากฏจวบจนถึงระหว่างปี พ.ศ. ๑๙๘๐ ได้มีชาวบ้านปลายนาผู้หนึ่งนามว่า นายอินทร์ตา ได้ไปเที่ยวป่าเพื่อหาของป่ามาขายเลี้ยงชีพได้ไปเที่ยวพบเห็นที่ราบใหญ่ในป่าลำห้วยแม่สุย ซึ่งในปัจจุบันนี้เป็นบ้านต้นฮ่าง หมู่ที่ ๔ ตำบลบ้านค่า อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง หมู่บ้านนี้อยู่ห่างไกลจากบ้านปลายนาประมาณ ๗ – ๘ กิโลเมตร เป็นทำเลที่เหมาะสมในการทำไร่สวน เมื่อนายอินทร์ตา กลับมาถึงบ้านแล้วจึงได้ชักชวนเพื่อนบ้านใกล้เคียงไปทำไร่ด้วยกันในป่านี้ ชาวไร่ผู้เป็นหัวหน้าคือ นายอินทร์ตา เลือกได้ที่แห่งหนึ่งใกล้กับลำธารมีแอ่งน้ำหรือบ่อน้ำไหลหาง (ไหลเป็นทาง) ซึ่งมีน้ำไหลซึมตลอดเวลาทุกฤดูกาล (ตามภาษาชาวบ้านว่าบ่อน้ำไหลหาง) ในบริเวณใกล้ ๆ กับบ่อน้ำนี้ได้มีก้อนหินหนึ่งโผล่พ้นโคลนตมพอประมาณเหมาะแก่การใช้เป็นที่ลับมีด นายอินทร์ตาและคณะเมื่อต้องการจะลับมีดกะไปลับกับก้อนหินนี้เป็นประจำ จวบจนคณะแผ้วถางไร่เสร็จจึงปรึกษากันว่า ควรจะขุดเอาก้อนหินนี้กลับบ้านไปบ้านด้วยเพื่อใช้เป็นที่ลับมีดที่บ้าน จึงได้ร่วมกันขุดเจาะลงไปก็พบเห็นเป็นสารูปองค์พระ จึงช่วยกันยกขึ้นมาชำระล้างจนสะอาดดีงาม (หินที่เข้าใจว่าเป็นหินลับมีดที่แท้ก็เป็นพระอังสาด้วยปฤษฎางค์ คือหัวไหล่ซ้ายด้านหลังของพระองค์พระซึ่งเป็นรอยลับมีด มีดปรากฏอยู่จนถึงปัจจุบัน) เมื่อได้พระขึ้นมาแล้วจึงปรึกษากันว่า เราสมควรจะนำพระพุทธรูปองค์นี้ไปไว้ที่ไหน เพราะในบริเวณใกล้เคียงป่านี้ ก็ยังไม่มีบ้านไม่มีวัด ทั้งคณะจึงมีความเห็นพร้อมกันว่า เราควรช่วยกันหามเอาไปที่วัดบ้านเรา คือ วัดปลายนาหลวง เมื่อชาวบ้านได้พระพุทธศิลามาประดิษฐานไว้ที่วัด จึงมีชื่อวัดปลายนาหลวงอีกนามหนึ่งว่า วัดศิลาคาม มาสมัยหนึ่ง แต่นามหลังนี้ไม่เป็นที่นิยมเรียกขานกันนัก จึงได้ลืมเลือนไปจนถึงปี พ.ศ. ๒๒๐๐ เป็นต้นมา ในยุคนี้รู้สึกว่ามีวิวัฒนาการรุ่งเรืองขึ้นมามากดังปรากฏเป็นหลักฐานหลายอย่าง อาทิ เช่น ด้านการปกครองได้มีพระเถระผู้ทรงคุณวุฒิปกครองติดต่อกันมาหลายยุคหลายสมัย ด้านการศึกษาพระปรมัตถ – อภิธรรม และพร้อมกันนี้ก็ยังมีการส่งพระลูกวัดไปศึกษาวิชาความรู้ในต่างถิ่นต่างแดนอีก ในคัมภีร์ได้กล่าวว่าส่งพระอรินทร์ ณรินโท ไปศึกษาพระอภิธรรมที่วัดเชษฐาน นครเชียงใหม่ ส่งพระมนัส อภิธัมโม ไปศึกษาที่เมืองแพร่และส่งพระคัมภีร์ระไปศึกษาที่เมืองขลางค์ ด้านถาวรวัตถุได้สร้างพระประธาน, พระเจดีย์, ตู้ใส่พระคัมภีร์ธรรม, เครื่องรางมีพระพิมพ์หล่อด้วยตระกั่ว และพระดงขาวปั้นด้วยดินผสมว่านเป็นต้น

อนึ่งในกาลต่อมาบ้านเมืองเกิดความแห้งแล้ง เพราะฟ้าฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ชาวบ้านชาวเมืองไม่ได้ทำไร่ทำนาทำสวน เป็นที่เดือดร้อนกันไปทั่ว เจ้าชวลิตร์ ผู้ปกครองเมืองเขลางค์ลำปาง ได้จัดให้มีพิธีกรรมอบรมสมโภชน์แห่พระศักดิ์สิทธิ์ที่มีในแว่นแคว้นต่าง ๆ ให้นำพระไปอบรมสมโภชน์พร้อมกันที่ในเมืองมี อาทิเช่น พระแก้วมรกต, พระไม้แก่นจันทร์และพระเจ้าหิน เพื่อขอฟ้าขอฝนพร้อมกันที่ในเมือง พระพุทธศิลาหรือพระเจ้าหินวัดปลายนาหลวงก็เป็นองค์หนึ่งที่พญาจ้าวเมืองได้ส่งสารให้เจ้าพ่อพญาสีห์ผู้ปกครองแว่นแคว้นตำบลทุ่งกว๋าวให้อัญเชิญพระพุทธศิลา (พระเจ้าหิน) ไปร่วมในพิธีกรรมของเจ้าหลวงผู้ปกครองเมืองลำปางทุก ๆ ปี ในการอัญเชิญพระพุทธศิลาไปแต่ละครั้ง ต้องใช้แคร่คานหามใช้กำลังคนหามสับเปลี่ยนกันเป็นชุด ๆ ละ ๘ คน หามรอนแรมจากบ้านปลายนาไปถึงในเมืองลำปาง ต้องใช้เวลาเดินทาง ๓ คืน ๔ วัน จนไปถึง ครั้งเมื่อถึงแล้วท่านก็ให้นำพระไปประดิษฐาน (ตั้งพักไว้) ในบริเวณหัวสะพานรัษฎากิเศกด้านเหนือพร้อมศรัทธาชาวบ้านปลายนาที่ติดตามไปอยู่เฝ้ารักษา จนมีบ้านและวัดขึ้นในที่นั้น เรียกว่า วัดปลายนา แต่เป็นวัดที่นำพระพุทธศิลาไปประดิษฐานชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น ครั้นเสร็จพิธีอบรมสมโภชน์แล้วก็ได้อัญเชิญพระกลับเป็นเช่นนี้ทุกปี ๆ ครั้งเมื่อเหตุการณ์บ้านเมืองเป็นปกติสุขชาวบ้านชาวเมืองไม่เดือดร้อนด้วยน้ำฟ้าน้ำฝนแล้ว ท่านหลวงผู้ปกครองเมืองจึงทรงอนุญาตให้นำพระกลับวัดเดิมคือวัดปลายนาหลวง ส่วนวัดปลายาในเมือง เมื่อพระพุทธศิลาไม่ได้ประดิษฐานอยู่จึงกลายเป็นวัดร้าง ชาวบ้านจึงมาแผ้วถางตั้งบ้านเรือนอยู่แทนที่ ปัจจุบันนี้ คงมีเหลือแต่ตรอกที่มีป้ายบอกให้รู้ว่า ตรอกปลายนา เป็นอนุสรณ์เท่านั้นด้วยความเชื่อมั่นศรัทธาในพระพุทธนุภาพและอภินิหารแห่งพระพุทธศิลา (พระเจ้าหิน) ชาวบ้านปลายนาและศรัทธาสาธุชนทั้งใกล้และไกล ครั้นเมื่อถึงเดือน ๘ เหนือ ขึ้น ๑๕ ค่ำ (เดือน 6 เพ็ญ) ของทุกปี จะเป็นวันสรงน้ำพระพุทธศิลา และอบรมสมโภชน์เป็นประเพณีประจำทุก ๆ ปี

พระครูวิจารณ์วรการ (ทอง อภิปุณฺโณ) เจ้าอาวาสวัดปลายนาหลวง / เจ้าคณะอำเภอเมืองปาน

คำไหว้บูชาพระพุทธศิลา (พระเจ้าหิน)

โยปะนะ ธัมมะจารี อิมัง พุทธสิลัง นะมัสสะติ อิทธิเตชัง มะหัพพะลัญจะ โสเว กายัสสะเภทา

ปะรัมมะระณา สุคะติ มักกังโลกัง อุปัชชะติ เตนาหัง พุทธสิลัง สักกัจจัง วันทามิ สิระสาฯ