พิพิธภัณฑ์พระพุทธรูปไม้โบราณ บ้านอาม็อง หมู่ที่ 13
ตั้งอยู่ ณ เลขที่ 27 หมู่ที่ 13 ตำบลท่าสว่าง อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์
“วัดอาม็อง” ได้รับอนุญาตให้สร้างวัดเมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ.2528 ตั้งชื่อวัดอาม็อง เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ.2528 และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2547 ปัจจุบันมีพระครูโสภณธรรมาภิมณฑ์, ดร.(วิรัติ โสภณสีโล ป.ธ.3 นธ.เอก) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดยานนาวา พระอารามหลวง กรุงเทพมหานคร ดำรงตำแหน่งผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดอาม็อง มีภิกษุและสามเณรในวัดรวมทั้งหมด 27 รูป มีเนื้อที่ 15 ไร่ 40 ตารางวา สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย
ความเชื่อของชุมชนชาวเขมรนิยมสร้างพระพุทธรูปไม้ในช่วงเข้าพรรษาโดยจะเสาะแสวงหาไม้ที่เป็นมงคลแล้วนำมาทำพิธีกรรม มีการแกะสลักพระพุทธรูปไม้เพื่อเป็นพุทธบูชา นำไปถวายวัดใดวัดหนึ่งในวันออกพรรษา หรือ “วันเทโวโรหนะ” ซึ่งในสมัยก่อนนั้นไม่มีการหล่อหรือเททองแบบปัจจุบัน ชาวเขมรจึงขวนขวายในการหาไม้ต่าง ๆ มีไม้จันทร์หอม ไม้ตะเคียน ไม้พยุง ไม้กันเกรา เป็นอาทิ แล้วแต่ความนิยมชมชอบและความเชื่อของการสร้าง ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมในด้านต่าง ๆ ถ้าอุดมสมบูรณ์พระพุทธรูปก็จะดูอิ่มเอิบ
เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 ได้มีพิธียกเสาเอกกุฏิรับรองพระพรหมวชิรญาณ โดยได้ออกแบบแปลนการก่อสร้างกุฏิ เป็นอาคารสองชั้นทรงแปดเหลี่ยมหรือดาวแปดแฉก มีความหมายถึงพระอรหันต์คุ้มครองแปดทิศ ได้แก่
ทิศที่ 1 พระอัญญาโกณฑัญญเถระ อยู่ทางทิศบูรพา
ทิศที่ 2 พระมหากัสสปะ อยู่ทางทิศอาคเนย์
ทิศที่3 พระสารีบุตร อยู่ทางทิศทักษิณ
ทิศที่ 4 พระอุบาลี อยู่ทางทิศหรดี
ทิศที่ 5 พระอานนท์ อยู่ทางทิศปัจฉิม
ทิศที่ 6 พระภควันปติ อยู่ทางทิศพายัพ
ทิศที่ 7 พระมหาโมคคัลลานะ อยู่ทางทิศอุดร
ทิศที่ 8 พระราหุล อยู่ทางทิศอีสาน
จากวิสัยทัศน์อันยาวไกล ของเจ้าพระคุณ สมเด็จมหาธราจารย์ (ปสฤทธิ์ เขมงฺกโร) กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดยานนาวา ผู้มีปณิธานสืบสานศิลปวัฒนธรรมและสนองในมหากรุณาธิคุณฯ ได้รวบรวมพระพุทธรูปไม้แกะสลักไม้โบราณ พระพรหมวชิรญาณให้ดำเนินการจัดตั้งและก่อสร้างโดยพระครูโสภณธรรมาภิมณฑ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดยานนาวา พระอารามหลวง รักษาการเจ้าอาวาสวัดอาม็อง และอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย วิทยาเขตสุรินทร์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งศึกษาทางศิลปะในพระพุทธศาสนาและรวบรวมคัมภีร์ใบลานตามยุคตามสมัยตั้งแต่สมัยเดิมจนถึงปัจจุบัน เพื่อเป็นแหล่งการเรียนรู้ให้แก่พระภิกษุสามเณรและฆราวาสในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ เป็นแรงศรัทธาของพระครูโสภณธรรมภิมณฑ์,ดร. ที่พยายามรวมรวมและแสวงหาพระพุทธรูปไม่ที่มีศิลปะแตกต่างกันตามยุคสมัยอายุกว่า 1,000 ปี จึงทำให้แต่ละองค์มีความโดดเด่น สวยสง่างามที่แตกต่างกัน สะท้อนศิลปะในแต่ละยุคสมัย จนกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชนแหล่งการศึกษาค้นคว้าทางด้านศิลปะ ประวัติศาสตร์และเป็นแหล่งท่องเที่ยวด้านพุทธศาสนาที่มีชื่อเสียงในจังหวัดสุรินทร์ สำหรับพิพิธภัณฑ์พระพุทธรูปไม้โบราณ แห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้อีกแห่งหนึ่งของจังหวัดสุรินทร์ เปิดบริการแก่นักเรียน นักศึกษา และผู้ที่สนใจทั่วไปได้เข้าชมทุกวัน จนได้รับการคัดเลือกให้เป็นวัดต้นแบบการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม จากสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสุรินทร์ เมื่อ พ.ศ. 2557 นับเป็นเกียรติประวัติและความภาคภูมิใจของชาวตำบลท่าสว่างและชาวจังหวัดสุรินทร์