วิสัยทัศน์การพัฒนาของเทศบาลตำบลภูปอ ตำบลภูปอ อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ที่มุ่งเน้นการพัฒนาตำบลให้ยั่งยืนในทุกๆด้าน นำมาสู่นโยบายการพัฒนาเร่งด่วน ของนายกเทศมนตรี คือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทางสู่ไร่ ไฟสู่นา น้ำจากดิน การพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน สร้างงานสร้างรายได้ พัฒนาเกษตรสู่อินทรีย์ การเป็นชุมชนปลอดขยะ รวมถึงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง โดยเป็นเทศบาลตำบลขนาดกลาง ที่มีพื้นที่ 46.16 ตารางกิโลเมตร มีหมู่บ้านในเขตรับผิดชอบ 7 หมู่บ้าน ที่นำโดยนายสุริยา สำราญรื่น นายกเทศมนตรีตำบลภูปอ และมีนายสงวน กลางยศ ปลัดเทศบาลตำบลภูปอ เป็นหัวหน้าพนักงาน มีส่วนราชการทั้งหมด 4 ส่วน ได้แก่สำนักปลัด กองคลัง กองช่าง และกองการศึกษา
แหล่งท่องเที่ยวพระพุทธไสยาสน์ภูปอ
พระพุทธไสยาสน์ภูปอ ตั้งอยู่ “ภูปอ” โดยประดิษฐานอยู่ภายในวัดอินทรประทานพร เป็นพระพุทธรูปโบราณปางไสยาสน์ ฝีมือช่างจากสมัยทวารวดี สลักบนหน้าผา 2 องค์ องค์ที่ 1 อยู่บริเวณเชิงเขาชาวบ้านนิยมเรียก “องค์ย่า” องค์ที่ 2 อยู่บริเวณหน้าผาชั้นบน ชาวบ้านนิยมเรียก “องค์ปู่” ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของชาวจังหวัดกาฬสินธุ์และจังหวัดใกล้เคียง
พระพุทธไสยาสน์องค์ล่าง (องค์ย่า) สร้างขึ้นประมาณพุทธศตวรรษที่ 12-14 ลักษระศิลปกรรมสร้างตามศิลปกรรมแบบทวารวดีสกุลช่างอีสาน ความยาวของภาพสลัก 3.30 เมตร กว้าง 1.27 เมตร ภาพสลัก ณ ที่นี้มิได้สลักแต่รูปองค์พระลอย แต่สลักแผ่นพื้นหินให้เป็นรูปผ้าปูลาดรองพระองค์ และผ้า (หมอน) รองหนุนพระเศียร และรองพระบาททั้งคู่ รอบๆพระวรกาย และพระเศียรสลักเป็นรูปประภาวลีที่เส้นกรอบนอกของประภาวลี รอบพระเศียรสลักเป็นประภาวลีที่เส้นกรอบนอกของประภาวลี รอบพระเศียรสลักรูปดวงดอกไม้ เป็นระยะทำให้ดูคล้ายเป็นรัศมีเพิ่มขึ้น องค์พระนอนตะแคงขวาตามแบบสีหไสยาสน์ พระเศียรประทับบนพระหัตถ์ และพระกรข้างขวาหันสู่ทิศเหนือ พระพักตร์หันสู่ทิศตะวันตก
พระพุทธไสยาสน์องค์บน (องค์ปู่) สร้างขึ้นประมาณพุทธศตวรรษที่ 18-19 ลักษณะศิลปกรรมสร้างตามศิลปกรรมแบบทวารวดี ผสมผสานกับพุทธศิลปะแบบสุโขทัย ความยาวของภาพสลักนับจากประภาวลีเหนือเศียรพระจนถึงขอบเตียงปลายพระบาท 5.20 เมตร ส่วนกว้างที่สุด 1.50 เมตร องค์พระสลักนูนจากผนังขึ้นมา 55 เซนติเมตร องค์พระนอนตะแคงขวาตามแบบสีหไสยาสน์ พระเศียรหันสู่ทิศเหนือค่อนมาทางตะวันตกเล็กน้อย โดยสลักหินที่รองรับใต้องค์พระให้เป็นแท่นขอบเหลี่ยมต่อด้วยขาคู่หนึ่ง ซึ่งสลักให้ดูเป็นรูปขาเตียง ภาพสลักนี้มีเส้นโค้งเว้าเน้นสัดส่วน และมีลักษณะอ่อนช้อยกว่าภาพสลักทั่วไป
“ประเพณีสรงน้ำ – ปิดทองพระพุทธไสยาสน์ภูปอ”
ประเพณีสรงน้ำ – ปิดทองพระพุทธไสยาสน์ภูปอจัดขึ้นครั้ง สืบทอดกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ต่อมาได้จัดให้มี “พิธีบวงสรวงพระพุทธไสยาสน์ภูปอ” ซึ่งจะจัดขึ้น ในวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปี ติดต่อกันเป็นระยะเวลา 4 ปี และได้มีกิจกรรมตลอดทั้งวัน เช่น ขนน้ำขึ้นภู บวชชีพราหมณ์ พิธีบวงสรวงพระพุทธไสยาสน์ ภูปอ เป็นการรำบวงสรวงโดยชาวบ้านในตำบลภูปอ และสวมชุดอันเป็นอัตลักษณ์ของตำบลเข้าร่วมพิธี นอกจากนั้นยังมี ธรรมเทศนา บำเพ็ญภาวนา ประกอบกิจกรรมอันเป็นกุศลและเวียนเทียนรอบพระประธาน พระอุโบสถ หรือพระบรมสารีริกาธาตุในตอนค่ำ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา จัดขึ้นทุก 15 ค่ำ เดือน 6 หรือวันวิสาขบูชา ของทุกปี เป็นประเพณีที่สืบทอดมายาวนานจนถึงปัจจุบัน จากแรงศรัทธาของประชาชน ที่เดินทางมาจากต่างถิ่นเพื่อมาร่วมประเพณีดังกล่าวตลอดทั้งวัน กันอย่างหนาแน่น โดยในงานจะมีพิธีเวียนเทียน รอบอุโบสถในช่วงเช้าและมหรสพสมโภชตลอดทั้งวัน ปัจจุบันมีการปรับปรุงภูมิทัศน์วัดอินทรประทานพร ให้สวยงามด้วยธงธุง สีสันสวยงาม เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว ให้มาสักการะพระพุทธไสยาสน์ภูปอเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันมีการปรับปรุงภูมิทัศน์วัดอินทรประทานพร ให้สวยงามด้วยธงธุง สีสันสวยงาม เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว ให้มาสักการะพระพุทธไสยาสน์ภูปอเพิ่มมากขึ้น
“ชุมชนเกษตรปลอดสาร อาหารปลอดภัยอย่างยั่งยืน”
ร้อยละ 90 ของประชาชนในตำบลภูปอประกอบอาชีพการเกษตร เป็นการผลิตในรูปแบบเกษตรเชิงเดี่ยว เพื่อสนองความต้องการของตลาด ปลูกพืชซ้ำในพื้นที่เดิมโดยไม่มีการปรับปรุงบำรุงดิน ทำให้ดินเริ่มเสื่อมสภาพ เมื่อดินขาดความอุดมสมบูรณ์พืชก็ให้ผลผลิตไม่ดีเท่าที่ควร จึงต้องใส่ปุ๋ยและสารเคมีเพิ่มขึ้นไปทุกครั้ง แทนที่ผลผลิตจะดีขึ้นกลับยิ่งทำให้ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ ซ้ำยังส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นตามไปด้วย อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายอ่อนแอลงเพราะสัมผัสกับสารเคมีในปริมาณมากเป็นระยะเวลานาน และยังตกค้างในพืชส่งผลต่อผู้บริโภคอีกด้วย นอกจากนี้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ใช้ยังส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ เกิดการปนเปื้อนในดิน น้ำ ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในบริเวณใกล้เคียง
จากผลกระทบที่เกิดขึ้น เทศบาลตำบลภูปอมีความมุ่งหวังอยากให้ประชาชนตำบลภูปอมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จึงมีนโยบายส่งเสริมให้ชุมชน “ลด ละ เลิก” ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช และ “ผลิตอาหารปลอดภัย” เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีขึ้น รายจ่ายลดลง รวมถึงมีสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น
ผลที่ได้จากการส่งเสริมให้ชุมชน“ลด ละ เลิก” ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช และหันมาผลิตอาหารปลอดภัย คือระบบนิเวศดีขึ้น ดินกลับมามีชีวิต น้ำปนเปื้อนสารเคมีลดลง เกิดป่าที่เป็นแหล่งอาหารธรรมชาติ และรายจ่ายลดลง สุขภาพดีขึ้น เพราะมีผักสวนครัวที่ปลอดภัย ไม่มีสารตกค้างในพืชผัก มีรายได้จากการผลิตอาหารปลอดภัย เกิดเป็น “3 ดี 4 ลด” 3 ดี ได้แก่ สุขภาพดี สิ่งแวดล้อมดี รายได้ดี 4 ลด ได้แก่ ลดรายจ่าย ลดการใช้สารเคมี ลดการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม และลดสารตกค้างในพืชผัก
ระบบสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตร
เทศบาลตำบลภูปอเป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน อาศัยน้ำฝนในการทำเกษตร ในช่วงหน้าแล้งจะประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อทำการเกษตร เกษตรกรบางรายใช้วิธีการสูบน้ำจากแหล่งน้ำตามธรรมชาติ น้ำผิวดินหรือน้ำบาดาลขึ้นมาเพื่อใช้ในการเกษตรทำให้มีต้นทุนสูงขึ้น เทศบาลตำบลภูปอจึงได้นำแนวคิดการใช้พลังงานทดแทนมาใช้ในระบบสูบน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำสำหรับทำการเกษตร ซึ่งพลังงานทดแทนที่มีอยู่ในชุมชนคือ พลังงานแสงอาทิตย์
เทศบาลตำบลภูปอได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในการดำเนินโครงการติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตร เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร และส่งเสริมให้เกษตรกรมีน้ำในการผลิตอาหารปลอดภัยได้ตลอดทั้งปี ซึ่งช่วยหนุนเสริมนโยบายของเทศบาลตำบลภูปอในการส่งเสริมให้ประชาชนผลิตอาหารปลอดภัยไว้บริโภคในครัวเรือนการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการสูบน้ำเพื่อการเกษตร ช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงหน้าแล้ง ทำให้เกษตรกรสามารถปลูกพืชได้ตลอดทั้งปี ลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของเกษตรกรได้อย่างเป็นรูปธรรม เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากผลผลิตที่เพิ่มขึ้น นำไปสู่ความสามารถในการพึ่งพาตนเองของเกษตรกร
ด้านสุขภาพ
กองทุนหลักประกันสุขภาพเทศบาลตำบลภูปอนับเป็นนวัตกรรมทางสังคมที่สำคัญในระบบสุขภาพของตำบลภูปอ มุ่งเน้นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมดูแลสุขภาพของประชาชนจากหลายภาคส่วนในสังคม โดยมีเทศบาลตำบลภูปอเป็นกลไกสำคัญในการประสานหน่วยงาน องค์กร และภาคีเครือข่ายในพื้นที่เข้ามาร่วมค้นหาปัญหาและความต้องการของประชาชน ร่วมวางแผน และส่งเสริมให้เกิดการร่วมดำเนินกิจกรรมด้านสุขภาพ สามารถติดตามประเมินผลการดำเนินงานให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมกับประชาชน โดยในปีงบประมาณ พ.ศ.2563 มีโครงการโดดเด่น คือ
โครงการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
วัตถุประสงค์ 1. เพื่อให้ความรู้ คำแนะนำ การดูแลเฝ้าระวังป้องกันตนเองเรื่องโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(COVID-19)ให้กับประชาชนในพื้นที่ 2. เพื่อป้องกัน ควบคุมปัจจัยเสี่ยง ลดปัจจัยเสี่ยง ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(COVID-19) 3. คัดกรองประชาชนกลุ่มเสี่ยงในหมู่บ้าน
ดำเนินการโดยกลุ่ม อสม. ทุกหมู่บ้านในเขตเทศบาลตำบลภูปอรวมกลุ่มกันดำเนินโครงการลงพื้นที่ตรวจคัดกรอง ประเมินภาวะสุขภาพ และการค้นห้าผู้มีภาวะเสี่ยง รณรงค์ ให้ความรู้ ให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยง
ผลที่คาดว่าจะได้รับ 1. ประชาชนมีความรู้ในการดูแลตนเองสามารถป้องกันตนเองจากโรคติดเชื้อติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019(COVID-19) 2.ประชาชนในพื้นที่ได้รับการตรวจคัดกรอง และเฝ้าระวังจากการติดเชื้อติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) 3. สามารถป้องกัน ลดปัจจัยเสี่ยงของโรคเชื้อติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ได้
ผลการดำเนินงาน สำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์ของโครงการ
“ผ้าฝ้ายทอมือลายก้านกล้วย” ผลิตโดยกลุ่มทอผ้าบ้านหนองแวงเหนือ หมู่ที่ 8 เกิดจากภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยการนำน้ำยาของต้นกล้วย ในช่วงเวลาที่เหมาะสมผ่านการลองผิดลองถูก จนกลายเป็นลวดลายผ้าที่สวยงาม สร้างอัตลักษณ์ให้ตำบลภูปอ และเป็นเอกลักษณ์หนึ่งเดียวในจังหวัดกาฬสินธุ์และทั่วโลก
ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากกล้วย
“กล้วยแซบคัก”นำกล้วยน้ำหว้ามาฝานเป็นแผ่นบางๆ แล้วนำไปทอดกรอบ
พักสะเด็ดน้ำมัน แล้วนำไปคลุกเคล้าผงปรุงรสต่างๆ ให้ทั่ว