ตำบลโพนเมือง อำเภออาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด
Wat Ban Sanamchai
Phon Mueang Subdistrict At Samart District Roi Et Province ความเป็นมา
วัดบ้านสนามชัย ตั้งอยู่ที่ หมู่ ๑๗ ตำบลโพนเมือง อำเภออาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด สร้างขึ้นเมื่อ วันที่ ๒๐ เดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๓๗ ตรงกับวันพุธ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๕ ปีจอ โดยมีหลวงปู่อุดมทรัพย์ อุตฺตมธโน เป็นผู้ริเริ่มการก่อสร้าง หลวงปู่อุดมทรัพย์ อุตฺตมธโน ได้พัฒนาจากพื้นที่แห้งแล้งทุระกันดาร ไร้ร่มเงาไม้ใหญ่ จนกลายมาเป็นป่าไม้อุดมสมบูรณ์ร่มรื่น เป็นที่น่าประพฤติปฏิบัติธรรมยิ่งขึ้น ด้วยการนำพันธุ์ไม้หลากหลายมาปลูกเป็นหมื่น ๆ ต้น โดยใช้วิธีหาบน้ำจากลำห้วยขึ้นมารดต้นไม้ เพื่อหล่อเลี้ยงให้ต้นไม้เจริญเติบโตวันละหลายร้อยหาบ สืบเนื่องมาจาก หลวงพ่ออุดมทรัพย์ อุตฺตมธโน หลังจากที่ท่านได้สร้างวัดกับพระประธานไว้ที่ดอยสิวลี บ้านแม่งะ ตำบลแม่ลาน้อย อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ท่านก็ได้ออกจาริกธุดงค์ในครั้งแรกและได้เดินจาริกมาทางภาคอีสาน พอเดินทางมาถึงหมู่บ้านหนองหล่ม-หนองคัน อำเภอทุ่งเขาหลวง จังหวัดร้อยเอ็ด ท่านได้ตั้งจิตอธิษฐานปักกลดอยู่บริเวณเป็นเวลา ๗ วัน ๗ คืน และในคืนสุดท้ายหลวงปู่ก็ได้นิมิตไปว่า มีเจ้าเมือง ๆ หนึ่ง มากราบนิมนต์ให้หลวงปู่ไปนั่งเมืองแทน และในนิมิตนั้นหลวงปู่ก็ตกลงรับนิมนต์จากเจ้าเมืองนั้นด้วย ต่อมา พอหลวงปู่อุดมทรัพย์มาถึงสถานที่แห่งนี้จึงได้อธิฐานจิต เพื่อปักกรดเป็นระยะเวลา ๗ วัน ๗ คืนอีกครั้ง แต่ครั้งนี้สำคัญกว่าทุกครั้งเพราะครั้งนี้เป็นการนั่งเพื่อที่จะตรวจตราว่าจะสร้างวัดบริเวณนี้ได้ไหม พอครบกำหนด ๗ วัน ชาวบ้านญาติโยมต่างก็ออกมาสอบถามหลวงปู่ว่าเป็นอย่างไร หลวงปู่จี้แจ้งให้ทุกคนทราบว่าบริเวณนี้สามารถสร้างวัดได้ภูมิเจ้าที่อนุญาตให้สร้างวัดได้ เพราะบริเวณนี้เป็นเมืองเก่าแก่มาก่อน แล้วก็แจ้งว่าก่อนที่หลวงปู่จะเดินทางมาได้นิมิตว่ามีเจ้าเมืองมาบอกให้มานั่งเมืองแทนก็คือเมือง ๆ นี้นั่นเอง พ.ศ. ๒๕๔๕ หลวงปู่อุดมทรัพย์ อุตฺตมธโน ได้วางศิลาฤกษ์สร้างถาวรวัตถุอาคารพุทธประวัติและปั้นหุ่นขี้ผึ้ง เพื่อจัดแสดงนิทรรศการพุทธสถาน พุทธกิจ ตามรอยจาริกพระผู้มีพระภาคเจ้า บรรยายถึงพุทธกิจรอยจาริกถึงเหตุการณ์สำคัญ ๆ ต่อเนื่อง โดยชี้ให้เห็นแต่ละหุ่นแต่ละปางค์มีความสำคัญเป็นมาอย่างไร เริ่มต้นตั้งแต่ห้องแรก ห้องที่ ๑. ประกอบไปด้วยหุ่นขี้ผึ้งแสดงถึงเรื่องราวสำคัญนี้ เป็นห้องพระเจ้าสีหนุเป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์ศากยะมีพระนางกัญจนามเหสี จัดงานพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสให้กับเจ้าชายสุทโธทนะกับเจ้าหญิงสิริมหามายาธิดาแห่งกรุงเทวทหะ ห้องที่ ๒. ประกอบไปด้วยหุ่นขี้ผึ้งแสดงถึงเรื่องราวสำคัญนี้ ท้าวสันดุสิตเทพบุตรในสวรรค์ชั้นดุสิต ก่อนพุทธกาลเล็กน้อยเหล่าทวยเทพเทวดาทุกสวรรค์ชั้นฟ้ามาปรึกษากันและทูลเชิญพระโพธิสัตว์สถิตอยู่ในชั้นดุสิตให้ลงมาจุติลงมาเพื่ออุบัติขึ้นโปรดสัตว์โลกและตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ห้องที่ ๓. ห้องพระสุบิน ประกอบไปด้วยหุ่นขี้ผึ้งแสดงถึงเรื่องราวสำคัญนี้ บรรยายถึง ในคืนวันเพ็ญเดือน ๘ พระนางสิริมหามายาผู้จะได้เป็นพระพุทธมารดา ทรงอธิษฐานสมาทานอุโบสถศีล ในยามใกล้รุ่งได้ทรงสุบินนิมมิตว่า ท้าวจตุมหาราชทั้งสี่ได้มายกพระองค์พร้อมกับพระแท่นที่บรรทมทูลเชิญไปยังป่า หิมพานต์ เหล่าเทพธิดาทั้ง ๔ ได้ทูลเชิญพระนางเสด็จไปสรงน้ำในสระอโนดาต ชำระล้างมลทินแห่งมนุษย์ แล้วทรงผลัดด้วยผ้าทิพย์ ลูบไล้ด้วยของหอม ทรงประดับบุปผาชาติอันเป็นทิพย์ แล้วเชิญเสด็จเข้าที่บรรทมบนพระแท่นในวิมานทอง ในภูเขาเงิน ทรงบ่ายพระเศียรไปยังทิศตะวันออก ขณะนั้นมีพระยาช้างเผือกชูงวงจับดอกบัวขาวที่เพิ่งแย้มบานกลิ่นจากภูเขาทอง ด้านทิศตะวันออก ร้องก้องโกญจนาทเดินเข้าไปในวิมาน กระทำประทักษิณาวัตรเวียนพระแท่น ๓ รอบ ซึ่งในวันรุ่งขึ้นพระนางได้ทรงกราบทูลถึงพระสุบินนิมิตนั้นแด่พระสวามี พระเจ้าสุทโธทนะจึงทรงมีรับสั่งให้พราหมณ์ประจำราชสำนักทำนายนิมิตฝันนั้น เหล่าพราหมณ์ได้พากันทำนายว่า“พระนางสิริมหามายาทรงพระครรภ์พระองค์จักมีพระราชโอรส พระโอรสนั้นถ้าอยู่ครองราชย์ก็จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ แต่ถ้าเสด็จออกบวช จักได้เป็นพระพุทธเจ้า” ห้องที่ ๔. ประกอบไปด้วยหุ่นขี้ผึ้งบรรยายถึงเรื่องราวสำคัญในวันประสูติ เจ้าชายสิทธัตถะทรงประสูติ ณ ป่าลุมพินีวัน มีขบวนของพระนางสิริมหามายาเสด็จกลับกรุงเทวทหะ เพื่อจะประสูติพระราชโอรสตามประเพณีแต่ในระหว่างทาง ณ ป่าลุมพินีวันซึ่งอยู่ในเขตแห่งดินแดนที่เรียกว่า ชมพูทวีป ตั้งอยู่ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์เมืองหลวงของพระเจ้าสุทโธทนะและกรุงเทวทหะเมืองหลวงของพระเจ้าชนาธิป ในระหว่างเมืองทั้งสอง มีป่าสาละชื่อลุมพินีวันอันเป็นมงคล สมัยนั้นสาละทั้งหมดล้วนมีดอกออกสะพรั่งเป็นแนวเดียวกัน แต่รากจนสุดปลายกิ่ง ตามกิ่งก้านสาขาและดอกนั้นล้วนมีหมู่ภมรนานาชนิด และหมู่นกหลากหลายชนิดส่งเสียงกู่ร้องประสานสำเนียง ดังทั่วทั้งป่า ลุมพินีวันนั้นจึงประดุจเช่นเดียวกับสวนจิตรลดา (อันมีในดาวดึงสเทวโลก) ฉะนั้น เมื่อประสูติพระราชกุมารก็อยู่ในอิริยาบถยืนหันพระพักตร์ไปทางทิศเหนือ เสด็จย่างพระบาทไป ๗ ก้าว มีดอกบัวผุดขึ้นมารองรับ ๗ ดอก แล้วทรงกล่าววาจาว่า “เราเป็นผู้เลิศในโลก เราเป็นผู้เจริญที่สุดในโลก เราเป็นผู้ประเสริฐที่สุดในโลก ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย บัดนี้การเกิดใหม่มิได้มี” ห้องที่ ๕ ไปจนถึงห้องที่ ๓๐ ก็เป็นเรื่องราวสำคัญต่าง ๆ เรียบเรียงไปตามเหตุการณ์จนถึงห้องเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ทุกห้องของอาคารและหุ่นขี้ผึ้ง จะเป็นการออกแบบและลงมือทำด้วยหลวงปู่อุดมทรัพย์ อุตฺตมธโน พระอาจารย์มหาขันเงิน ขนฺติธโร พร้อมด้วยพระลูกวัดทุกรูป พ.ศ. ๒๕๕๒ หลวงปู่อุดมทรัพย์ อุตฺตมธโน ทำพิธีวางศิลาฤกษ์เพื่อสร้างพระมหาเจดีย์ท้าวมหาพรหมแล้วลงมือสร้างต่อเนื่องมาเรื่อย ๆ และในปีเดียวกันนี้ จากการประพฤติปฏิบัติพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาไม่ว่าด้านภูมิทัศปรับสถานที่บริเวณวัดทั้งหมดพร้อมการพัฒนาจิตใจนำพาแนะนำให้ญาติโยมมั่นทำบุญให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ต่อมาได้ยกระดับจากสำนักสงฆ์ให้เป็นวัดบ้านสนามชัย อย่างถูกต้องตามพระราชบัญญัติแห่งคณะสงฆ์ โดยมี หลวงปู่อุดมทรัพย์ อุตฺตมธโน (เป็นประธานสงฆ์) มีพระมหาขันเงิน ขนฺติธโร เป็นเจ้าอาวาส การพัฒนายังเป็นไปอย่างต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้ และยังมีอีกหลายโครงการที่กำลังทำ ประวัติการสร้างพระมหาเจดีย์ท้าวมหาพรหม พ.ศ. ๒๕๕๒ หลวงปู่อุดมทรัพย์ อุตฺตมธโน ได้จัดพิธีวางศิลาฤกษ์เพื่อสร้างพระมหาเจดีย์ จากนิมิตของหลวงปู่ท่านจึงเชิญวิศวกรมาร่างแบบ ออกแบบที่ปรากฏในนิมิตท่าน คุณเทวินทร์ พันธัง (นายช่างวิศวกร) ร่างแบบและโครงสร้างออกมาเป็นแนวศิลป์ ๓ ชาติ อันได้แก่ อินเดีย ขอม และอินโดนีเซีย ซึ่งมีประตูทางเข้า-ออกทั้ง ๔ ทิศ แสดงถึงความยิ่งใหญ่อลังการ ระบบโครงสร้างอาคารเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กฐานรากแบบเสาเข็ม สำหรับในการการออกแบบโครงสร้างได้นำโปรแกรม Staad Pro ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ออกแบบโครงสร้างระดับแนวหน้าวิศวกรทั่วโลกให้ความมั่นใจมาใช้ออกแบบอาคารหลังนี้ จึงมั่นใจได้ว่าเป็นอาคารที่มั่นคงแข็งแรงและปลอดภัย พร้อมทั้งประติมากรรมลวดลายวิจิตรประณีต ส่วนภายในตกแต่งให้เป็นธรรมชาติอันร่มรื่นอ่อนโยนใครได้เห็นก็รู้สึกสดชื่น ประหนึ่งว่าได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างใกล้ชิดเสมือนครั้งในพุทธกาล ศิลปะในการตกแต่งออกแนวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หากพิจารณาถึงหลักธรรม ก็จะมองเห็นมุมที่ว่ารูปลักษณ์ภายนอกหนักแน่นเข้มแข็ง แข็งแกร่งไม่หวั่นไหว ส่วนภายในจะเห็นเป็นธรรมชาติอันอ่อนน้อมอ่อนโยนดูสุขุมลุ่มลึก เสมือมเป็นดุจดังมนุษย์เรานั่นเอง พ.ศ. ๒๕๕๙ หลวงปู่อุดมทรัพย์ อุตฺตมธโน ได้จัดพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นประดิษฐานบนยอดพระมหาเจดีย์ พระมหาเจดีย์มีลักษณะอันโดดเด่นหลากหลาย โดยเฉพาะยอดของพระมหาเจดีย์นั้นเป็นเศียรพระพรหม ๔ หน้า หรือหันหน้าไปทั้งสี่ทิศ หลวงปู่สามัคคี ปสฺนฺนจิตโต จึงตั้งชื่อให้ว่าเจดีย์ท่านท้าวมหาพรหม ประวัติหลวงปู่อุดมทรัพย์ อุตฺตมธโน (ทะวาปี) ชื่อ หลวงปู่อุดมทรัพย์ อุตฺตมธโน อายุ ๗๓ ปี ๓๐ พรรษา ในด้านบริหารกิจการในพระพุทธศาสนา – เป็นพระสงฆ์วัดบ้านสนามชัย ตำบลโพนเมือง อำเภออาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด – เป็นประธานมูลนิลนิธิหลวงปู่อุดมทรัพย์ สถานเดิม ชื่อ อุดมทรัพย์ ทะวาปี เกิดวันอังคาร แรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีชวด ตรงกับวันที่ ๘ เดือน มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๑ ณ บ้านเลขที่ ๗๑ บ้านดงน้อย ตำบลปะโค อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี เป็นบุตรของคุณพ่อบุญมา – คุณแม่น้อย ทะวาปี จบการศึกษา – ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (อนุปริญญา) มหาวิทยาลัยเกษตรกรรม จังหวัดอุดรธานี อาชีพ ตามลำดับดังนี้
- ข้าราชการ เจ้าพนักงานการเกษตร ระดับ ๖ อยู่ที่ อ. ลี้ จ. ลำพูน
- เจ้าของกิจการภัตตาคารร้านอาหาร
- เจ้าของสตูดิโอ
- เจ้าของกิจการนำเข้าสินค้าประเภทเชพตี้ฟิล์มจากต่างประเทศ