ที่ตั้งของหมู่บ้าน

อาณาเขตตำบลหนองฮะเป็นหนึ่งในสิบตำบลของอำเภอสำโรงทาบ จังหวัดสุรินทร์ ระยะห่างจากที่ทำการอำเภอไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 12 กิโลเมตร มีเนื้อที่โดยประมาณ 43.35 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 27,094 ไร่(แสดงที่ตั้งและระยะห่างจากอำเภอ)

ทิศเหนือ จรดกิ่งอำเภอโนนนารายณ์ จังหวัดสุรินทร์

ทิศใต้ จรดตำบลหนองไผ่ล้อมและตำบลศรีสุข อำเภอสำโรงทาบ จังหวัดสุรินทร์

ทิศตะวันออก จรดตำบลศรีสุข ตำบลสะโนและตำบลกระออม อำเภอสำโรงทาบ จังหวัดสุรินทร์

ทิศตะวันตก จรดตำบลเสม็จ อำเภอสำโรงทาบ จังหวัดสุรินทร์ 

ลักษณะภูมิประเทศ

ภูมิประเทศเป็นลักษณะลูกคลื่นลอนตื้น โดยมีความสูงตั้งแต่ด้านทิศใต้ของตำบลและลาดเอียงลงสู่ที่ต่ำ

ทางเหนือของตำบล สู่ลำห้วยจริง จึงทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมบ่อยครั้ง ส่วนพื้นที่มีความสูงกว่ามักประสบปัญหาขาดแคลนน้ำในฤดูการทำนา เพราะการเก็บกักน้ำไม่ดีพอ

ลักษณะภูมิอากาศ

ภูมิอากาศมีการเปลี่ยนแปลงในรอบปีต่างกัน เนื่องจากได้รับลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดพาเอาความหนาวเย็น และความแห้งแล้งเข้ามา และยังได้รับอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดเอาความชื้นและลมฝนเข้ามา แบ่งสภาพอากาศออกเป็น 3 ฤดู

ฤดูฝน อยู่ในช่วงเดือนพฤษภาคม – ตุลาคมโดยได้รับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นลมที่ก่อให้เกิดฝนตกทั่วประเทศ ปริมาณน้ำฝนต่อปีเฉลี่ยประมาณ 1,242.15 มิลลิลิตร และอุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 29 องศาเซลเซียส

ฤดูหนาว อยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายน – มกราคม โดยได้รับลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 24 องศาเซลเซียสโดยอุณหภูมิต่ำสุดประมาณ 17 องศาเซลเซียส

ฤดูร้อน อยู่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – เมษายน โดยได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นลมร้อนพัดมาจากทะเลจีนใต้ อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 30 องศาเซลเซียสและสูงสุดในเดือนเมษายนและพฤษภาคมโดยอุณหภูมิสูงสุดประมาณ 40 องศาเซลเซียส

ลักษณะของดิน

ส่วนใหญ่เป็นดินร่วนปนทราย

ลักษณะของแหล่งน้ำ

ลักษณะของแหล่งน้ำ แบ่งเป็น 2 ประเภท ดังนี้ 

1.แหล่งน้ำธรรมชาติ

Ø ลำน้ำ,ลำห้วย 3 สาย ได้แก่ ห้วยหว้า,ห้วยจริง,คลองเขียวโพธิ์

Ø บึง,หนอง 5 แห่ง ได้แก่ หนองฮะ,หนองคู,หนองแวง,หนองเอือด,หนองไฮ

2.แหล่งน้ำที่สร้างขึ้น

Ø ฝาย 9 แห่ง

Ø บ่อบาดาล 16 แห่ง

 ลักษณะของไม้และป่าไม้

ยังมีป่าไม้กระจัดกระจายเป็นหย่อม ๆ ต้นไม้ที่มีอยู่โดยทั่วไปในจังหวัดสุรินทร์ ได้แก่ ต้นเต็ง รัง ยาง ประดู่ พะยูง ตาด แดง กะบาก และอื่น ๆ รวมทั้ง ต้นมันปลา หรือต้นกันเกรา ซึ่งเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดสุรินทร์ จากการที่ป่าไม้ถูกทำลายมาก จึงมีการปลูกป่าทดแทน หรือปลูกไม้โตเร็วเพื่อการใช้สอย เช่น ต้นกระถินณรงค์ ต้นยางพารา ต้นตะโก และต้นยูคาลิปตัส เป็นต้น

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก http://www.nongha.go.th