ตำบลหัวนาคำ อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ Wat Sawang Hua Na Kham Hua Na Kham Subdistrict Yang Talat District Kalasin Province ความเป็นมา  วัดสว่างหัวนาคำ เป็นวัดเก่าแก่ประจำหมู่บ้านมาช้านาน เดิมชาวบ้านเรียกกันว่า “วัดบ้าน หรือวัดใหญ่” ตั้งอยู่เลขที่ ๒ หมู่ที่ ๑ บ้านหัวนาคำ ตำบลหัวนาคำ อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย  สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๒๗๒ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๔๒ ต่อมาเมื่อปีพ.ศ.๒๕๕๒  ได้ก่อสร้างอุโบสถหลังใหม่ขึ้นแทนอุโบสถหลังเก่าที่ทรุดโทรม แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ.๒๕๖๑ และได้ขอพระราชทานขยายเขตวิสุงคามสีมาเพิ่ม เมื่อปี พ.ศ.๒๕๖๒ ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ ๑๑ ไร่ ๓ งาน ๘๗ ตารางวา พื้นที่ตั้งวัดและบริเวณโดยรอบเป็นที่ราบเรียบ ลักษณะ ๔ เหลี่ยม มีถนนและหมู่บ้านล้อมรอบ อาณาเขต ทิศเหนือ ยาว  ๑๕๖  เมตร  จดถนนและที่เอกชน ทิศใต้ ยาว  ๑๒๐  เมตร จดถนน และบ้านหัวนาคำหมู่ที่ ๑ ทิศตะวันออก  ยาว  ๑๓๓  เมตร จดถนน และหมู่บ้านหัวนาคำ หมู่ที่ ๑๘ ทิศตะวันตก  ยาว  ๑๔๐  เมตร จดถนน และหมูบ้านหัวนาคำ หมู่ที่ ๑ ปูชนียวัตถุ ๑. หลวงพ่อพุทธวิชัยญาณ (หลวงปู่ใหญ่) ๒. หลวงพ่อพุทธวิชัยญาณ องค์จำลอง (หลวงพ่อศิลา)  ๓. หลวงพ่อพุทธวิชัยญาณ องค์จำลอง เนื้อทอสัมฤทธิ์ลงลักปิดทอง ๔. พระพุทธรูปลานโพธิ์ ๕. รูปเหมือนสมเด็จพระพุฒาจารย์โต พฺรหฺมรํสี ๖. รูปเหมือนอดีตเจ้าอาวาสหลวงปู่เจียม และหลวงปู่ลี อาคารเสนาสนะ ประกอบด้วย ๑. อุโบสถสิมอีสานไม้พันชาติ/ลวดลายประติมากรรมไม้แกะสลัก ๒. ศาลาการเปรียญ ๓. ศาลาทานบารมี ๔. วิหารหอพระ (ที่ประดิษฐานหลวงพ่อพระพุทธวิชัยญาณ องค์จำลอง) ๕. วิหารลานโพธิ์ ๖. หอกลอง-หอระฆัง ๗. ซุ้มประตูทางเข้าวัด (ติดถนนใหญ่) ๘. ซุ้มประตูเข้าวัด (ด้านทิศตะวันออก) ๙. ซุ้มประตูไม้โบราณ ๑๐. กุฎีรับรอง สิ่งสำคัญภายในวัด ๑. ตู้คัมภีร์ใบลาน    ๒. บุษบกประดิษฐานหลวงพ่อพระพุทธวิชัยญาณ ๓. ท้าวเวสสุวรรณ ด้านหน้าอุโบสถ ๔. ประติมากรรมปูนปั้น ด้านหลังอุโบสถ ๕. ช้างปัจจัยนาค และช้างครีเมขละ ด้านหน้าอุโบสถ ช้างนาฬาคีรี และช้างปาลิไลยกะ ด้านหลังอุโบสถ  ๖. พญานาคทางขึ้นอุโบสถ ความสำคัญของวัด วัดสว่างหัวนาคำในยุคปัจจุบัน  โดยการนำของหลวงพ่อพระครูศรีปริยัติโชติธรรม มีความเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมากในหลาย ๆ ด้าน อาทิ เช่น ด้านสังคม วัดสว่างหัวนาคำเป็นศูนย์รวมจิตใจของชุมชนบ้านหัวนาคำและพุทธศาสนิกชนทั่วไป  นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์กลางฝึกอบรมประจำตำบล และหน่วยงานราชการทั่วไป  และเป็นอุทยานการศึกษาประจำอำเภอด้วย ด้านการศึกษา  มีการจัดการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมแผนกนักธรรม และบาลี  ซึ่งในแต่ละปีจะมีพระภิกษุ-สามเณรสอบได้เป็นจำนวนมาก  และยังได้ส่งเสริมการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยอีกด้วย ด้านการบูรณปฏิสังขรณ์  วัดมีการก่อสร้างเสนาสนะและถาวรวัตถุมากมาย อาทิ เช่น ศาลาการเปรียญ อุโบสถสิมอีสานไม้พันชาติ ซุ้มประตูไม้โบราณ วิหารหอพระ และกุฎีสงฆ์ เป็นต้น และยังพัฒนาปรับปรุงอยู่อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ประวัติหลวงพ่อพระพุทธวิชัยญาณ หลวงพ่อพระพุทธวิชัยญาณ ชื่อที่ชาวบ้านเรียกกันแต่เดิมว่า “หลวงปู่ใหญ่” เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ประจำวัดหมู่บ้านมาช้านาน สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ ๒๒-๒๓ ปางมารวิชัย นั่งขัดสมาธิราบ เนื้อหินทรายโบราณ ศิลปะล้านช้าง หน้าตัก ๔๖ เซนติเมตร สูง ๘๔ เซนติเมตร  ฐานเนื้อทองสัมฤทธิ์ ขนาดความสูง ๖๐ เซนติเมตร            มีลักษณะสวยงามถูกต้องตามพุทธศิลป์ เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำวัด มีอิทธิปาฏิหาริย์เป็นที่เลื่องลือมาตั้งแต่บรรพกาล มีเรื่องราวเล่าขานสืบต่อกันมายาวนาน มีผู้คนให้ความเคารพเลื่อมใสศรัทธามาก นับวันยิ่งเพิ่มทวีคูณขึ้นด้วยอิทธิปาฏิหาริย์ที่ปรากฏแก่ผู้คนที่เดินทางมากราบไหว้ขอพร ปัจจุบันองค์หลวงพ่อพระพุทธวิชัยญาณได้ประดิษฐานอยู่บนบุษบกภายในอุโบสถสิมอีสานไม้พันชาติ  ประวัติหลวงพ่อศิลา (หลวงพ่อพระพุทธวิชัยญาณองค์จำลอง) เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๐ ทางวัดพร้อมด้วยชาวบ้านหัวนาคำได้ร่วมใจกันสร้างหลวง พ่อพระพุทธวิชัยญาณองค์จำลองขึ้น เพื่อเป็นที่กราบไหว้สักการบูชา สร้างขึ้นจากศิลาขนาดใหญ่ มีขนาดหน้าตักกว้าง 80 นิ้ว สูง ๒.๖ เมตร ชาวบ้านจึงนิยมเรียกว่า “หลวงพ่อศิลา” และจากนั้นจึงเรียกอย่างนั้นเรื่อยมา ปัจจุบันประดิษฐานภายในวิหาร    หอพระ ที่สร้างขึ้นด้วยไม้โบราณตามสถาปัตยกรรมแบบศิลปะล้านช้าง ประวัติความเป็นมาของอุโบสถสิมอีสานไม้พันชาติอุโบสถสิมอีสานไม้พันชาติ ได้สร้างขึ้นจากแนวความคิดของหลวงพ่อพระครูศรีปริยัติโชติธรรม (ชนชัย อคฺคธมฺโม) ซึ่งสร้างขึ้นแทนอุโบสถหลังเดิมที่เก่าแก่ทรุดโทรม ไม่สามารถใช้ประกอบพิธีทางพระพุทธศาสนาได้ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๑ หลวงพ่อจึงปรารภเหตุนี้กับชาวบ้าน และได้มีมติตกลงที่จะสร้างอุโบสถหลังใหม่ขึ้น จึงได้ขอรับบริจาคไม้พันชาติและไม้เนื้อแข็งจากชาวบ้านในหมู่บ้าน หมู่บ้านใกล้เคียง และในต่างจังหวัด ได้เริ่มทำการก่อสร้างในปี พ.ศ. ๒๕๕๒  โดยหลวงพ่อพระครูศรีปริยัติโชติธรรม ได้ออกแบบสร้างตามจินตนาการของท่าน โดยยึดแบบศิลปะล้านช้างเป็นหลัก ผสมศิลปะล้านนา หลวงพ่อได้นำพาคณะสงฆ์ภายในวัด พร้อมด้วยชาวบ้าน และช่างภายในหมู่บ้านร่วมกันสร้าง ส่วนลวดลายประติมากรรมไม้แกะสลัก เป็นสล่าช่างผู้ชำนาญเมืองเหนือ และช่างของภาคอีสานร่วมกันสร้างสรรค์ขึ้น โดยใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ  ๙ ปี จึงแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ.๒๕๖๑ สิ้นค่าก่อสร้างโดยประมาณ ๓๐ ล้านบาท งบประมาณที่ใช้ในการก่อสร้างนั้น เป็นศรัทธาชาวบ้านหัวนาคำ ทั้ง ๗ หมู่ ร่วมกันบริจาค มีท่านพระครูอุทัยรัชวิเทศ (พระมหาชุมพล ชุตพโล) พร้อมคณะศิษย์หลวงพ่อสดวัดปากน้ำ ประเทศญี่ปุ่น คณะศิษยานุศิษย์ของหลวงพ่อพระครูศรีปริยัติโชติธรรม และญาติโยมพุทธศาสนิกชนทั่วไป ได้ร่วมกันบริจาค และเมื่อปีพ.ศ.๒๕๖๒ ได้ประกอบพิธีฉลองสมโภช ตัดหวาย ฝังลูกนิมิต ปัจจุบันนั้น ได้มีผู้คนเข้ามาเยี่ยมชมศิลปะของอุโบสถสิมอีสานไม้พันชาติ และกราบไหว้ขอพรหลวงพ่อพระพุทธวิชัยญาณเป็นประจำทุกวัน ทำให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นและได้มีนักท่องเที่ยวได้เข้ามาเยี่ยมชมเป็นประจำ ประวัติหลวงพ่อพระครูศรีปริยัติโชติธรรม (ชนชัย อคฺคธมฺโม) เดิมชื่อ ชนชัย ภูทองเงิน  เกิดเมื่อวันที่  ๑๐  เดือน พฤษภาคม  พ.ศ.๒๕๐๒  ปีชวด  บิดาชื่อ นายลี                 ภูทองเงิน  มารดาชื่อ นางชื่น  ภูทองเงิน  เกิดที่บ้านเลขที่ ๒๙๕  หมู่ที่ ๑๘  ตำบลหัวนาคำ  อำเภอยางตลาด  จังหวัดกาฬสินธุ์  อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัด สว่างหัวนาคำ เมื่อวันที่ ๒๐  เดือน พฤษภาคม  พ.ศ.๒๕๒๔  โดยมี  พระครูสิริปภัสสร เป็นพระอุปัชฌาย์  มี พระอธิการพรม  สุวณฺโณ  เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และมีพระทองศูนย์  ขนฺติโก  เป็นพระอนุสาวนาจารย์  หลังจากอุปสมบทแล้วได้เข้าศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักเรียนวัดชัยศรี  บ้านเสียว  ตำบลวังซัย  อำเภอน้ำพอง  จังหวัดขอนแก่น  สอบไล่ได้นักธรรมชั้นเอก เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๖  สอบไล่ได้เปรียญธรรม ๖ ประโยค  เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๒ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี  จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในปี พ.ศ.๒๕๕๑  ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ที่ พระครูศรีปริยัติโชติธรรม  เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๖  และได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอ ปกครองคณะสงฆ์ภายในเขตอำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๔   ได้นำพาคณะสงฆ์พร้อมชาวบ้านพัฒนาวัดอย่างต่อเนื่อง ทำให้วัดมีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักอย่างมากในปัจจุบัน ทั้งในการศึกษา ด้านสังคม และการบูรณปฏิสังขรณ์    

DCIM100GOPROGOPR6065.JPG