ตำบลในเมือง อำเภอเมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ
Wat Phairi Phinat Nai
Mueang Subdistrict, Mueang Chaiyaphum District Chaiyaphum Province
ความเป็นมา
วัดไพรีพินาศ เป็นวัดเก่าแก่โบราณ คงมีมาตั้งแต่สมัยทวารวดี เพราะมีใบเสมาภายในวัดจำนวนมาก ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองชัยภูมิ เลขที่ ๓๖๐ บ้านเมืองเก่า ถนนเมืองเก่า ชุมชนเมืองเก่า ตำบลในเมือง อำเภอเมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ปัจจุบัน พระราชชัยสิทธิสุนทร (ฉวี มหทฺธโน/สวงโท น.ธ.เอก, ป.ธ. ๖, พธ.ด. กิตติมศักดิ์) เป็นเจ้าอาวาส และ รักษาการเจ้าคณะจังหวัดชัยภูมิ มีเนื้อที่ประมาณ ๑๐ ไร่ ตามประวัติ เดิมชื่อว่า วัดบ้านโนนปอบิด ในสมัยพระยาภักดีชุมพล (เกตุ) เป็นเจ้าเมืองชัยภูมิคนที่ ๒ (ในสมัยรัชกาลที่ ๓) ได้ย้ายที่ว่าราชการเมืองจากบ้านหนองปลาเฒ่า (บ้านหลวง) มาอยู่บ้านโนนปอบิด (บ้านหนองบัว – เมืองเก่าในปัจจุบัน) ต่อมา หลวงปู่หลักคำ ร่วมกับชาวบ้านบูรณะวัดบ้านโนนปอบิด (เพราะมีต้นปอบิดเป็นจำนวนมากที่ใช้เป็นสมุนไพรรักษาโรคได้) ขึ้นคู่กับเมืองใหม่แล้ว ได้เปลี่ยนชื่อวัดเป็น วัดกลาง เพราะตั้งอยู่ระหว่างบ้านหนองบัวและบ้านโนนปอบิด ตามหลักฐานทางราชการระบุว่า พ.ศ. ๒๓๑๕ ได้ตั้งวัดขึ้น พ.ศ. ๒๓๖๒ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา (กว้าง ๑๘ เมตร ยาว ๓๒ เมตร) พ.ศ. ๒๔๐๖ พระยาภักดีชุมพล (ที) เจ้าเมืองชัยภูมิคนที่ ๔ ซึ่งเป็นบุตรชายพระยาภักดีชุมพล (แล) (สมัยรัชกาลที่ ๔) ได้ย้ายจวนเจ้าเมืองมาตั้งเมืองใหม่ที่บ้านหินตั้ง (บริเวณศาลากลางจังหวัดชัยภูมิในปัจจุบัน) เพราะเห็นว่าสามารถจะขยับขยายเมืองได้มากขึ้น ส่วนชาวบ้านโนนปอบิด ได้เปลี่ยนชื่อหมู่บ้านใหม่เป็นบ้านเมืองเก่า ส่วนวัดได้ชื่อว่า วัดกลางเมืองเก่า พ.ศ. ๒๕๔๙ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้ประทานนามวัดใหม่เป็น วัดไพรีพินาศ ในพระบรมราชูปถัมภ์
บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์
เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๗ ได้ปรับพื้นที่ภายในบริเวณวัดให้เป็นระเบียบ จึงได้ช่วยกันขุดใบเสมาออกเพื่อปรับภูมิทัศน์ใหม่ เมื่อขุดคินรอบใบเสมาคู่แรกได้ความลึกประมาณพอประมาณ ก็พบเศียรพระพุทธรูป เมื่อยกเศียรพระพุทธรูปออกมา ปรากฏน้ำพุ่งทะลักออกมาจนไม่สามารถขุดต่อไปได้ และไม่สามารถนำใบเสมาขึ้นมาได้เนื่องจากขุดยังไม่ถึงฐาน แต่ใบเสมาถูกกระแทกหักครึ่งท่อนจึงนำขึ้นมาเก็บไว้ ในคืนนั้นพระภิกษุในวัด ๒ รูป ฝันตรงกันว่า มีนักรบโบราณจำนวนมากมาบอกให้นำใบเสมาส่วนที่หักไปต่อคืนให้เหมือนเดิม เช้าวันรุ่งขึ้นจึงต้องต่อใบเสมาโดยใช้เหล็กดามไว้ ต่อมาพระภิกษุในวัดฝันอีกว่าปรากฏสตรีแต่งองค์ทรงเครื่องกษัตริย์ บอกชื่อว่า วสุนธรา เป็นเจ้าของสายน้ำนี้ซึ่งไหลมาจากทางทิศเหนือของอุโบสถ ทางวัดจึงได้ตกแต่งบ่อน้ำ โดยถมทรายปรับพื้นให้สูงขึ้น ในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้ปรับปรุงพื้นรอบบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ โดยสร้างรั้ว และประตูเป็นแบบศิลปะขอมโบราณ เป็นทางเข้าบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 4 ทิศ ทางจังหวัดได้นำน้ำในบ่อนี้ไปประกอบพิธีสำคัญๆ อีกด้วย
หลวงปู่หลักคำ
หลวงปู่หลักคำ (พระครูปรีชาชินวงศาจารย์) มีนามเดิมว่า พระอาจารย์สิงห์ หรือเจ้าหัวครูสิงห์ ตามคำบอกเล่าว่าท่านเดินทางมาจากบ้านตาลเดี่ยว อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูปรีชาชินวงศาจารย์ และเป็นเจ้าคณะแขวงเมืองชัยภูมิ รูปแรกในสมัยพระยาภักดีชุมพล (เกตุ) เป็นเจ้าเมืองชัยภูมิ คนที่ ๒ (พ.ศ. ๒๓๗๐ – ๒๓๘๔) ท่านเป็นพระธุดงค์ที่เคร่งครัดในธุดงค์วัตร เมื่อได้ท่านธุดงค์เรื่อยมาจากแผ่นดินบ้านเกิดท่านจนถึงเมืองชัยภูมิ ญาติโยมบ้านโนนปอบิด เห็นจริยาวัตรที่งดงามจึงได้นิมนต์ให้จำพรรษาที่วัดกลางเมืองเก่า ต่อจากเจ้าหัวครูวั่มที่เป็นอดีตเจ้าอาวาสซึ่งได้มรณภาพลง หลวงปู่หลักคำเป็นพระสุปฏิปันโน มีคุณวิเศษโดย เฉพาะเรื่องความอยู่ยงคงกระพันและทางเมตตานิยม จนปรากฏเป็นเลื่องลือมากในสมัยนั้น เช่น มีเหตุการณ์หลายครั้งที่มีโจรมาขโมยทรัพย์สินหรือของมีค่าของชาวบ้าน ชาวบ้านได้มาขอพึ่งบารมีของหลวงปู่ให้ช่วยติดตาม กลุ่มโจรก็ยิงหลวงปู่จนกระสุนปืนหมด แต่ก็ไม่สามารถทำอันตรายได้ มีเพียงแต่ทำให้สบงและจีวรชำรุดไปบ้างเท่านั้น ในที่สุดกลุ่มโจรก็ยอมจำนนและคืนทรัพย์สินให้ ทราบถึงทางมณฑลนครราชสีมาจึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะแขวงเมืองชัยภูมิ นอกจากนั้น ก็ยังมีปฏิปทาอื่นๆ อีกที่หลวงปู่ได้นำความเลื่อมใสและสร้างคุณงามความดีให้ปรากฏทั้งแก่ส่วนรวมและพระพุทธศาสนา แม้ในปัจจุบันบุญญาภินิหารของหลวงปู่หลักคำก็ยังคุ้มครองรักษาให้ผู้ที่ไปขอพรได้สำเร็จดังปรารถนาจนเกิดมีงานบุญประจำปีถวายหลวงปู่ตลอดมา ศาลาร้อยปี หลวงปู่หลักคำ เป็นอาคารไม้ทรงไทย ที่หลวงปู่หลักคำ พร้อมกับชาวบ้านร่วมกันสร้างขึ้นในสมัยนั้น เป็นศาลการเปรียญที่ใช้ซุงขนาดใหญ่คนโอบไม่มิด ทำเสาคานและเครื่องบนบากหัวเสาเป็นลิ่มสอดยึดกัน ไม่มีตะปูตอกยึด และไม่มีการฝังเสาลงใต้ดินยืนตระหง่านอยู่เป็นร้อยปี ในอดีตเคยเป็นโรงเรียนสำหรับให้พระภิกษุสามเณรและเด็ก ๆ ในหมู่บ้านได้เล่าเรียน ได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์ใหม่ทั้งหลัง ปัจจุบันทางกรมศิลปากร ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุแล้ว นอกจากนั้น ทางวัดยังได้สร้างมณฑปหลวงปู่หลักคำ เพื่อเป็นอนุสรณ์และเป็นที่บรรจุอัฐิหลวงปู่หลักคำ ในฐานะเป็นบูรพาจารย์ของวัด ยังเป็นที่ประกอบพิธีกรรมที่สำคัญในทางพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในงานบุญประเพณีวันเพ็ญเดือนสี่จะมีการปิดทองรูปเหมือนหลวงปู่หลักคำ เป็นประจำทุกปี