ตำบลเรณู อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม  Wat Phra That Renu  Renu Subdistrict, Renu Nakhon District, Nakhon Phanom Province

พระเถระผู้มีแต่ให้

ท่านเจ้าคุณพระราชรัตนากร เจ้าอาวาสวัดธาตุเรณู
ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดนครพนม เป็นพระเถระ
ผู้มีแต่ให้ความรักแก่ศิษยานุศิษย์ จัดการศึกษา
ทั้งนักธรรม-บาลี และปริยัติธรรมสามัญศึกษา พร้อมทั้งให้
การสนับสนุนทุนการศึกษา ที่อยู่อาศัยเจ็บไข้ได้ป่วยนำส่งโรงพยายบาล
ตรงกับคำโบราณว่า
มี    เพื่อให้ ได้เพื่อแจก
แบก เพื่อให้คนอื่นสบาย
ตาย เพื่อให้คนเขาคิดถึง

งานพัฒนาวัดธาตุเรณู ท่านเจ้าคุณก็ให้ความสำคัญทุ่มเท
ชีวิตทั้งชีวิตเพื่อการพัฒนาวัดธาตุเรณูให้เจริญรุ่งเรืองในปัจจุบันถึง
แม้ว่าท่านสุขภาพไม่แข็งแรงก็ยังพัฒนาวัด ดูแลวัดให้สะอาดสงบ
สว่าง สมกับบทกลอนร่มอารามว่า
วัดเป็นบุญเขต วิเศษสถาน, เหมือนทิพย์พิมานของ
หมู่ประชา, สะอาดรื่นรมย์ด้วยร่มเงาไม้ได้ร่วมศรัทธา
สมเป็นศาลาแหล่งพักพึงใจฯ

ท่านเจ้าคุณยึดคุณธรรมคือ กตัญญูกตเวที เป็นภูมิธรรม
น้อมนำมาปฏิบัติเป็นประจำ กตัญญูรู้คุณ กตเวที ตอบแทนคุณ
กตัญญูต่อตัวเอง, กตัญญูต่อผู้อื่น กตัญญูต่อสถานที่มีครบถ้วน
ในตัวของท่านเจ้าคุณพระราชรัตนากร ต้องตามสุภาษิตว่า

            กตัญญู               กตเวที                แสนดีเลิศ
            เป็นเครื่องเชิด       ชูสง่า                  เพิ่มราศรี
            เป็นรากแก้ว         ขวัญตน               ของคนดี
            เป็นสักขี              ชี้ให้เห็น              ว่าเป็นคน
ขอคุณพระรัตนตรัยจงคุ้มครอง ท่านเจ้าคุณให้มีอายุวรรณะสุขะพละเทอญ


     (พระเทพวรมุนี)
เจ้าคณะจังหวัดนครพนม

มุฑิตา ๗ รอบ ๘๔ ปี หลวงพ่อเจ้าคุณพระราชรัตนากร

            หลวงพ่อเจ้าคุณ พระราชรัตนากร (ธวัช ธมฺมเตโช ป.ธ.๔) เจ้าอาวาสวัดธาตุเรณู และที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดนครพนม เป็นพระเถระที่มีความตั้งมั่นในการปฏิบัติกิจการพระศาสนา สนองงานคณะสงฆ์มาเป็นเวลานาน ทั้งในด้านงานการคณะสงฆ์ และด้านอื่น ๆ ทั้งในส่วนของคณะสงฆ์จังหวัดนครพนม และทั้งในส่วนของคณะสงฆ์ภาค ๑๐ ถือว่าเป็นการช่วยเหลืองานพระศาสนา งานคณะสงฆ์ เป็นแบบอย่างที่ดีแก่เจ้าคณะ
พระสังฆาธิการ และพระภิกษุหนุ่มสามเณรน้อยเป็นอย่างดี
            หลวงพ่อเจ้าคุณ เป็นพระสังฆาธิการที่มีความมุ่งมั่นในการศึกษาและปฏิบัติ รวมทั้งการทำหน้าที่ในการบริหารจัดการวัดและการเผยแผ่พระพุทธศาสนานับเป็นพระเถระที่เป็นแบบอย่างที่ดีของคณะสงฆ์รูปหนึ่ง สิ่งที่น่าชื่นชมอย่างยิ่งของหลวงพ่อเจ้าคุณคือ การสนใจใคร่ศึกษา ได้นำความรู้ที่ศึกษามาใช้ประกอบกับประสบการณ์การศึกษาในทางธรรมและการฝึกปฏิบัติธรรมในสำนักของครูบาอาจารย์มาหลากหลายและยาวนาน มาใช้ในการปฏิบัติศาสนกิจโดยเฉพาะการสอน การอบรมและการเทศนาทั้งภายในวัดและหน่วยงาน องค์กรต่าง ๆ นอกจากนี้ หลวงพ่อเจ้าคุณยังเป็นกำลังสำคัญของคณะสงฆ์จังหวัดนครพนม ในการส่งเสริมการศึกษาและปฏิบัติธรรมทั้งในฝ่ายพระภิกษุและฝ่ายฆาราวาส อันเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาคนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาคณะสงฆ์ได้เห็นผลงานของหลวงพ่อเจ้าคุณเป็นที่ประจักษ์และกว้างไกล จึงขออนุโมทนาและ
ขอแสดงความชื่นชมมา ณ โอกาสนี้


             ในโอกาสที่หลวงพ่อเจ้าคุณ พระราชรัตนากร (ธวัช ธมฺมเตโช ป.ธ.๔) เจริญอายุวัฒนมงคลครบ ๗ รอบ ๘๔ ปี ขออ้างเอาคุณพระศรีรัตนตรัย บารมีแห่งพระธาตุพนม พระธาตุเรณู ซึ่งเป็นพระธาตุอันทรงคุณค่าประจำจังหวัดนครพนม เป็นที่เคารพกราบไหว้ของชาวเมืองนครพนม และผู้ที่เคยได้มากราบไหว้ ตลอดถึงบารมีธรรมแห่งบูรพาจารย์ มีอดีตเจ้าอาวาสวัด
ธาตุเรณู ทุกรูป เป็นต้น ตลอดถึงบุญกุศลที่หลวงพ่อเจ้าคุณได้บำเพ็ญมา
ขอได้เป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้หลวงพ่อเจ้าคุณมีความสุข ความเจริญ มีสุขภาพแข็งแรง เจริญในธรรมยิ่งขึ้นไปเทอญ

(พระเทพวงศาจารย์)
เจ้าคณะจังหวัดยโสธร

มุทิตาสักการะอายุวัฒนมงคล ครบ ๗ รอบ ๘๔ ปี
          พระเดชพระคุณพระราชรัตนากร (ธวัช ธมฺมเตโช ป.ธ.๔)

           ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดนครพนม และเจ้าอาวาสวัดธาตุเรณู
     จังหวัดนครพนม


            ในสมัยพุทธกาล ครั้งหนึ่งพระพุทธองค์ได้เคยตรัสกับพระอานนท์ไว้ว่า “อานนท์ ผู้อบรมอิทธิบาท ๔ มาอย่างดีและทำจนแคล่วคล่องแล้วอย่างเรานี้ หากปรารถนาจะมีชีวิตอยู่ถึง ๑ กัลป์
(คือ ๔,๓๒๐,๐๐๐,๐๐๐ ปีมนุษย์) ก็สามารถจะมีชีวิตอยู่ได้”          
            พระเดชพระคุณพระราชรัตนากร (ธวัช ธมฺมเตโช ป.ธ.๔) ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดนครพนม และเจ้าอาวาสวัดธาตุเรณู อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม เป็นพระมหาเถระผู้อบรมอิทธิบาท ๔ มาอย่างดีและทำจนแคล่วคล่อง อันเป็นเหตุให้พระเดชพระคุณ ฯ เจริญด้วยวัย (วัยวุฒิ) ชาติกำเนิด (ชาติวุฒิ) และความดี (คุณวุฒิ) มาตลอดระยะเวลาเกือบศตวรรษ
            ในโอกาสที่พระเดชพระคุณ ฯ เจริญอายุวัฒนมงคล ครบ ๗ รอบ ๘๔ ปี ในนามคณะสงฆ์จังหวัดอำนาจเจริญ ขอน้อมถวายมุทิตาสักการะและอำนวยพรแด่พระเดชพระคุณ ฯ จงเจริญ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณ คุณสารสิริสวัสดิ์ จิรัฏฐิติ วิรุฬหิไพบูลย์ ในพระพุทธศาสนาเทอญ ฯ


(พระราชปรีชาญาณมุนี)
เจ้าคณะจังหวัดอำนาจเจริญ
๒๒ พฤษภาคม ๒๕๖๔

หลวงพ่อพระราชรัตนากร ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดนครพนม เจ้าอาวาสวัดธาตุเรณู อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม ท่านเป็นปูชนียบุคคล
ผู้ทรงคุณค่าควรแก่การเคารพนับถือบูชา ของศิษยานุศิษย์ ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ ท่านเป็นพระมหาเถระที่ทรงคุณวุฒิและวัยวุฒิเปี่ยมล้นไปด้วยเมตตาธรรม เป็นที่พึ่งทั้งทางกายและทางใจของเหล่าศิษยานุศิษย์ทั้งหลาย ท่านเป็นพระมหาเถระที่เรียบง่าย ไม่ถือตัว เป็นกันเองกับทุก ๆ คน ที่เข้าพึ่งใบบุญของท่าน เพราะเหตุนี้ หลวงพ่อจึงเป็นพระมหาเถระที่เหล่าพุทธศาสนิกชนทั่วไปให้ความเคารพนับถือตลอดมา
            ในวาระที่หลวงพ่อมีอายุวัฒนมงคลครบ ๗ รอบ ๘๔ ปี กระผมพระราชรัตนโมลี เจ้าคณะจังหวัดมุกดาหาร เจ้าอาวาสวัดศรีบุญเรือง ขอกราบ
มุฑิตาสักการะแด่หลวงพ่อพระราชรัตนากร ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดนครพนม วัดธาตุเรณู ขอให้หลวงพ่อมีสุขภาพ พลานามัยแข็งแรง ปราศจากโรคาพยาธิ เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของเหล่าศิษยานุศิษย์ตลอดไปชั่วกาลนานเทอญ
                          กราบคารวะอย่างยิ่ง

(พระราชรัตนโมลี)
เจ้าคณะจังหวัดมุกดาหาร

   

มุทิตาสักการะ ๘๔ ปี

พระราชรัตนากร เจ้าอาวาสวัดธาตุเรณู

ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดนครพนม


            พระเดชพระคุณพระราชรัตนากร วัดธาตุเรณู เป็นพระเถระที่มีศีลาจารวัตรงดงาม เป็นที่เคารพนับถือของพระสงฆ์ในเขตปกครองและศิษยานุศิษย์เป็นอย่างมาก ได้บริหารการปกครองพระภิกษุ – สามเณรภายในวัด ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยดีงาม ทั้งการศึกษา การเผยแผ่ การสาธารณูปการ การศึกษาสงเคราะห์ และการสาธารณะสงเคราะห์ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเมตตากรุณาทั้งในวัดและในจังหวัดนครพนม ได้จัดการบูรณะปฏิสังขรณ์โบราณสถาน โบราณวัตถุภายในวัดธาตุเรณูให้เรียบร้อยมั่นคง อนุรักษ์ศิลปะวัฒนธรรมประเพณีให้คงอยู่ชั่วลูกหลาน ในโอกาสที่พระเดชพระคุณเจริญอายุวัฒนมงคล ๗ รอบ ๘๔ ปี จึงขอนำเอาความรู้เล็กๆน้อยๆ ของโบราณอีสานน้อมถวายมุทิตาสักการะ เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้พิจารณา ดังนี้

            ทุกข์อยู่ในโลกนี้บ่อท่อบวชเป็นสงฆ์

            การที่ทรงสิกขาฮีตครองของพระพุทธเจ้า

            มันบ่อเบาคือฝ้ายมันหนักหลายล้านชั่ง

            บ่อแมนนั่งเล่นๆกินแล้วกะเล่านอน

                        มันหากมีแนวหยุ่งในพุงมื้อฮ้อยเทื่อ

                        มันมาเฟือแต่ละน้อยใจข่อยกะหวั่งเว

                        คึดต่อโลกีย์กว้างนำคนทุกเช้าค่ำ

                        คำพระพุทธเจ้าสอนแล้วผัดเล่าหลง

                        เป็นเพราะโมหันต์หุ้มสิขันตายตางเพิ่น

                        ภาวนาอยู่ใจ้ๆ ใจข่อยกะบ่อนำ…..ท่านเอย.

            บวชเพื่อใคร   บวชทำไม   บวชแล้วได้อะไร

บวชเล่น  บวชลอง  บวชคองประเพณี  บวชหนีสงสาร       

บวชผลาญข้าวสุก  บวชเล่นหมากรุก  บวชสนุกตามเพื่อน

บวชเปื้อนสังคม     บวชสั่งสมความคิด  บวชปฏิบัติกิจพระศาสนา.

            โบราณอีสานสอนตัวเอง สอนคนอื่นด้วยปริศนาธรรม โดยให้ใช้ปัญญาเป็นเครื่องพิจารณา ตั้งคำถาม ถามตัวเอง คนอื่น ตอบคำถามรู้แล้วรหัสไว้ในใจ เปรียบเทียบตัวเอง แก้ไขจุดบกพร่อง เพิ่มเติมในส่วนที่ไม่เต็ม ทำให้เจริญวัฒนาถาวรในส่วนที่ดี

            ขอกุศลคุณงามความดีทั้งหลาย อำนาจแห่งคุณพระศรีรัตนตรัยจงปกป้องคุ้มครองพระเดชพระคุณพระราชรัตนากร จงมีสุขภาพแข็งแรงเป็น
ร่มโพธิ์ร่มไทรของศิษยานุศิษย์พุทธศาสนิกชนตลอดไป     
                  

                                                                                            พระราชสิริวัฒน์                                                                                                
รองเจ้าคณะจังหวัดนครพนม

 

พระครูศรีธีราภิวัฒน์ รองเจ้าอาวาสวัดธาตุเรณู ผู้ให้ข้อมูล

คำสูตรขวัญประกอบพิธีถวายบายศรีแด่…

พระเดชพระคุณพระราชรัตนากร (ธวัช ธมฺมเตโช น.ธ.เอก ป.ธ.๔)
เจ้าอาวาสวัดธาตุเรณู ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดนครพนม
เนื่องในพิธีทำบุญฉลองอายุวัฒนะมงคล ๗ รอบ (๘๔ ปี)
เมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๖๔
ณ ศาลาการเปรียญวัดธาตุเรณู อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม

            ฯ ศรี ศรี สิทธิพระพร บวรแวนวิเศษ อติเรกเตโช ไชยยะตุภวัง ไชยยะมังคละ, ไชยยะมหามุงคุล เอนกสวัสดี อธิกอัทธา อตุลคุณ มหุลเตโช สุราสุรินทร์อินทรัพรหม ยมยักษา สุนักขัตตา สุมังคะลา อุตตมะโชค อุตตะมะโยค อุตตะมะดิถี อุตตะมะมหานที มหาสักขีพิลาศ ด้วยอำนาจอันฤาชา อันฝูงข้าทั้งหลาย ร่วมใจหมาย มาถวายสังฆะราชาบาศรี เพื่อให้เป็นมังคละดีอันวิเศษ ปรารภเหตุแห่งอายุพิพัฒนมงคล ๘๔ วัสสาฝนวิมลมาศ เจ้าอาวาสวัดธาตุเรณู บุญนำชูพ้นแพ่ง ในห้องแห่งนครพนม บุญบูรมกี้ก่อน ศรีสะส่อนบารมี วัสสาปีเจ็ดรอบ ขอกราบหมอบวันทา เหิงนานมาตั้งแต่ง เป็นยอดแห่งโยคี แปลบาลีได้ ๔ ประโยค ถึงปาโมกข์แดนธรรม มีปัญญาคมขำลึกแลบ ฮู้แจ้งแจบพระคัมภีร์ สร้างความดี ศรีกล้ากลั่น บ่อล้าหลั่นถดถอย เดินตามฮอยพระพุทธบาท ใสอาจหลาดงามข่องโสภณ สร้างกุศลเหลือหลายหลาก มีอยู่มากเหลือคัณนา เป็นสังฆาธิการก่อเกียรติ งานละเมียดจิตใจ ศรีสดใสมั่นแก่น เป็นยอดแผ่นทะรงคุณ ได้อุดหนุนจุนพระศาสน์ เคยครองอาวาสหลายอาฮาม บูรพารามงามวิเศษ อยู่ในเขตบวร วัดธาตุเรณูนครพรพิลาศ เป็นรองเจ้าคณะอำเภอธาตุพนม บุญบูรมสมสง่า มากด้วยค่างามงอน เป็นเจ้าคณะอำเภอเรณูนครพรโอภาส แสงส่องศาสน์สมภาร เป็นพระครูเรณูนคราภิรักษ์ บันดาลประสบโชค สังฆปาโมกข์แห่งครองสงฆ์ แท่นธำรงคงค่า โพธิ์แตกหง้าบูรุม เป็นรองเจ้าคณะจังหวัดนครพนมพรหมนิเวศน์ สุริเยศงามของโสภณ เป็นเจ้าคุณพระรัตนวิมลมงคลประกาศ เลื่อนเป็นชั้นราชนามว่ารัตนากร บุญบวรทั่วโขงเขต สุริเยศส่องราศรี ๘๐ ปีศรีประกาศ ยกเจ้าคุณราชเป็นที่ปรึกษา งานโสภาซ้อยชื่น ศรีล้นหลื่นใสดี จนฮอด ๘๔ ปี ศรีวิโรจน์ ยังประโยชน์ให้โภคา พระศาสนาให้เลอเลิศ มงคลเกิดโยคี ๘๔ ปีใสส่อง เดินตามป่องมรรคา ๘๔ วัสสาพาซ้อยโชติ หายทุกข์โทษเวรภัย ๘๔ ใสเกลี้ยงปลอด ปลายป่งยอดโมลี ๘๔ ปี ศรีอาจหลาด หายพยาธิ์โรคา ในกายาหายเสียเสี่ยง เคราะห์เข็ญเกลี้ยงห่างหายสูญ ให้เป็นบุญอันสง่า มากด้วยค่ามหาคุณ มาอุดหนุนทั่วเทเวศน์  ทุกทั่วเขตภายใน หนีไปไกลอย่าเข้าใกล้ เดินย่างได้ไปมา ค้ำพระศาสนาให้เฮืองฮุ่ง รัศมีพุ่งใสแสง กุศลแงงส่งยู้ งามสะพู่จิตใจ สุขไฉไลเพริศแพร้ว รัตนแก้วสังโฆ แผ่ฮ่มโพธิ์ใบตาก มีอยู่มากกิ่งสาขา แผ่ใบหน้าฮ่มกว้าง ในคุ้มข่วงโลกา เจริญวัสสาได้ฮอดฮ้อย เป็นที่เพิ่งพาของพวกขะน้อยอยู่สวัสดี มีอินทรีย์แก่กล้า มนุสสาอยู่ใต้ล่มฟ้าเพิ่งบารมี สัมฤทธิ์ยอดแก้ว งามผ่องแผ้วรัตนากร เป็นผู้สอนสั่งโลก ศรีวิไลเพริศแพร้ว ขอพระคุณรัตนตรัยแก้วจงปกปัก ให้เจริญด้วยศักดิ์กาละอายุ บุญบรรลุทั่วท้าว ให้สำเร็จดั่งคำกล่าวเว้าสมทั่วปณิธาน ตราบต่อเท่าเข้าสู่พระนีระพาน ในอนาคตกาลสืบต่อไป…ก็ท่านเทอญ ฯ


            มาบัดนี้ คณะสงฆ์พงศ์พิลาศ ทั่วทุกอาวาสมุฑิตา ทายกทายิกทุกทั่วทิศ ศิษยานุศิษย์ทุกทั่วถ้วน ได้แต่ล้วนชมชื่นโมทนา ฮวมกันมาฉลองสมโภช มีปราโมทย์ชื่นยินดี พานบายศรีช้อยโชติ งามวิโรจน์โภคี วิจิตรบรรจงดีศรีสะพาส ตั้งเหนืออาจแท่นบูชา จึงขนขวายหาสรรพอาหาร มีหลายหลากได้ได้มากประมวลมา แต่งใส่พาป๋าไว้เทิงเสื่อ ตั้งแม่นเมื่อยามดี มีศรีใสบ่อเศร้า มาบัดนี้ จึงไปอาราธนา เอาอาจารย์เจ้าผู้ฉลาด มานั่งอาสน์เอิ้นเชิญขวัญ ว่ามาพะลันอย่าช้า ว่ามาเยอขวัญเอย บัดนี้ได้ฤกษ์แล้วแก้วแก่นมงคลศรี ๘๔ ปี ศรีมงคลส่งผลวิมลค่า ตามตำราจันทร์เคลื่อนราหูจรไกลจาก พฤหัสอาทิตย์ตั้งยามแก้วเลิศวิไล มหาฤกษ์เอกไท้อตตมะไชยยาม มงคลตามดิถี ประเสริฐศรีงามล้น รัตนางามล้นมงคลกรใสค่า ๒๒ พฤษภา มาฮอดแล้ว พระคุณแก้วได้ฮ่ำฮอน ๘๔ ปี ศรีส่งย้อนเตื้องไตร่ตรองตรึก เจ้าคุณฝึกกายใจ สืบธรรมเผยแพร่เอาพระธรรมเป็นสัจจ์แท้ รัตนากรพรภิเษก บุญดิเรกเกียรติฟุ้งระบือก้องทั่วไทย สาธุเด้อ…ขอให้เจ้าคุณนี้ได้สมดั่งคำจา ….แน่เด้อ…ขอให้บุญนำพาส่อยหนุนคูณค้ำ อันว่ากรรมเวรข้องโภยสังอย่ามาผ่า มวลโรคาพยาขี้ฮ้าย ให้หายเสี่ยงผ่ายหนี คุณพระพุทธให้ส่อยชี้เปิดป่องปัญญา…แน่เด้อ….องค์พระธรรมนำพาให้ห่างเวรภัยต้อง คุณพระสงฆนำป้องคอยประครองยู้ส่อย คอยสนองส่งยู้ชูท้านท่านเจ้าคุณ เทพพระถ่อนไท้อยู่พุ้นมวลหมู่เทพา จตุราอินทรัพรหมผู้อยู่เทิงสวรรค์ฟ้า ขอจงมาชูให้ถวายพรเจ้าคุณท่านให้เบิกบานยิ่งล้วน เจริญถ้วนคู่สู่แนว พอให้พบดวงแก้วแววอาจลืมศรี ขอให้มีบุญญาฮอดธรรมดวงกล้า มีปัญญาใสจ้าแทงอัฏธรรมอยู่ตลอด ขอให้ฮอดที่แม้นแดนแก้วแห่งนิพพาน ข้ามสงสารอันเวิ้ง สุขารมณ์ ให้ม้มฝั่ง สมดั่งข้ากล่าวไว้ถวยไท้หน่อพระคุณ ให้บุญล้ำหน่ำทวี กุศลชี้ส่งทาง ผลสร้างจงเจริญ บุญมาเวิน…เอย เทอญ ฯ
จัตตาโร ธัมมาวุฒิธรรม ๔ ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ อโรคยะ อันถ้วนหน้า ปฏิภาณะอันถ้วนหา อธิปไตยยะอันถ้วนเจ็ด จาเสด็จลงมารักษาพระเดชพระคุณพระราชรัตนากร ทุกเมื่อ ทุกกาล ทุกวัน ทุกยาม ก็ท่านเทอญ ฯ

ร้อยกรองถวายเป็นอาจารยบูชาโดย…
นายบุญมี เครือพันธ์
ผู้อำนวยการโรงเรียนไทยรัฐวิทยา ๕๐ (บ้านคำพี้)
๕ เมษายน ๒๕๖๔

สังเขปประวัติ

พระราชรัตนากร (ธวัช ธมฺมเตโช) สารทอง น.ธ.เอก ป.ธ.๔

เจ้าอาวาสวัดธาตุเรณู

ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดนครพนม

ชื่อ (สถานะเดิม)

            พระราชรัตนากร เดิมชื่อ เลาดี สารทอง เกิดเมื่อวันที่
๒๒ พฤษภาคม ๒๔๘๐ ตรงกับ วันเสาร์ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๗ ปีฉลู บิดาชื่อ นายนงแพง สารทอง มารดาชื่อนางการะพร สารทอง สกุลเดิม กุลวงศ์ 
มีพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน ๖ คน

  • น.ส.คำเสาร์ สารทอง          ถึงแก่กรรมแล้ว
  • นายบุญเภา สารทอง          ถึงแก่กรรมแล้ว
  • นายเลาดี สารทอง เปลี่ยนชื่อเป็น ธวัช  คือ

พระราชรัตนากร  ธมฺมเตโช ปัจจุบัน

  • นายสีสวาท สารทอง          ถึงแก่กรรมแล้ว
  • นางทองใส ปรัญญา           ถึงแก่กรรมแล้ว
  • นางใบสอน ณ ถลาง          ยังมีชีวิตอยู่

บรรพชา

อายุ ๑๔ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๔๙๔ ณ วัดโพธิ์คำ ตำบล น้ำก่ำ อำเภอธาตุพนม  จังหวัดนครพนม  โดยมีพระครูวิมลบัณฑิต วัดโพธิ์คำ ตำบลน้ำก่ำ อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม เป็นพระอุปัชฌาย์

อุปสมบท

            อายุ ๒๑ ปี ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุเมื่อวันอาทิตย์ แรม ๕ ค่ำ เดือน ๘ วันที่ ๖ เดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๕๐๑ ณ วัดมหรรณพาราม ตำบล
เสาชิงช้า อำเภอพระนคร จังหวัดกรุงเทพมหานคร โดยมี

            พระประสิทธิสุตคุณ  วัดมหรรณพาราม เป็นพระอุปัชฌาย์

พระมหาเอื้อน อภินนฺโท  วัดมหรรณพาราม กรุงเทพมหานคร

เป็นพระกรรมวาจาจารย์

พระมหาโกสิทธิ์  สุจิตฺโต วัดมหรรณพาราม กรุงเทพมหานคร
เป็นพระอนุสาวนาจารย์ 

            ได้รับฉายาว่า ธมฺมเตโช  หลังจากที่ได้บรรพชาอุปสมบทแล้ว ได้อยู่จำพรรษา ณ สำนักต่าง ๆ ดังนี้

            พ.ศ.๒๔๙๔ จำพรรษาที่วัดโนนสวัสดิการาม  บ้านเหล่าสำราญ  ตำบลโพนทอง อำเภอเรณูนคร  จังหวัดนครพนม

            พ.ศ.๒๔๙๕ – ๒๔๙๙ จำพรรษาอยู่ ณ วัดพระธาตุพนม อำเภอ
ธาตุพนม จังหวัดนครพนม

            พ.ศ.๒๕๐๐ – ๒๕๑๖  จำพรรษาอยู่ ณ วัดมหรรณพาราม ตำบลเสาชิงช้า  อำเภอพระนคร  จังหวัดกรุงเทพมหานคร

            พ.ศ.๒๕๑๗ – ๒๕๒๒ จำพรรษาอยู่ ณ วัดบูรพาราม ตำบลโพนทอง อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม

            พ.ศ.๒๕๒๓ – ปัจจุบัน จำพรรษาอยู่ ณ วัดธาตุเรณู ตำบลเรณู  อำเภอเรณูนคร  จังหวัดนครพนม

วิทยฐานะ

            พ.ศ.๒๔๙๓          สำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ จากโรงเรียนประชาบาล  ตำบลโพนทอง (โพนทองวิทยาคาร)

            พ.ศ.๒๔๙๖          สอบได้นักธรรมชั้นเอก สำนักเรียนคณะจังหวัดนครพนม  วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร  อำเภอธาตุพนม  จังหวัดนครพนม

            พ.ศ.๒๕๐๒          สอบได้เปรียญธรรม ๔ ประโยค สำนักเรียนวัดมหรรณพาราม กรุงเทพมหานคร

            พ.ศ.๒๕๑๖          สำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ ๗
จากโรงเรียนวัดมกุฎกษัตริยาราม กรุงเทพมหานคร

            พ.ศ.๒๕๕๕          ได้รับปริญญาบัตรพุทธศาสตร์มหาบัณฑิต (กิตติมศักดิ์)  จากมหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

งานการปกครอง

            พ.ศ.๒๕๑๗ – ๒๕๒๒  เป็นเจ้าอาวาสวัดบูรพาราม  ตำบลโพนทอง  อำเภอเรณูนคร  จังหวัดนครพนม ได้รับแต่งตั้งเมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๑๗

            พ.ศ.๒๕๑๘ – ๒๕๑๙  เป็นรองเจ้าคณะอำเภอธาตุพนม  อำเภอ
ธาตุพนม  จังหวัดนครพนม เมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๑๘

            พ.ศ.๒๕๑๙ – ปัจจุบัน  เป็นพระอุปัชฌาย์  เมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๙

            พ.ศ.๒๕๑๙ – ๒๕๓๔  เป็นเจ้าคณะอำเภอเรณูนคร  เมื่อวันที่
๑๘ สิงหาคม ๒๕๑๙

            พ.ศ.๒๕๒๓  – ปัจจุบัน  เป็นเจ้าอาวาสวัดธาตุเรณู อำเภอเรณูนคร  จังหวัดนครพนม เมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๒๓

            พ.ศ.๒๕๓๔ – ๒๕๖๐  เป็นรองเจ้าคณะจังหวัดนครพนม  เมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๓๔

            พ.ศ.๒๕๖๐ – ปัจจุบัน  เป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดนครพนม
เมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ 

งานการศาสนศึกษา

            พ.ศ.๒๕๒๓ –  ปัจจุบัน  เป็นเจ้าสำนักศาสนศึกษาวัดธาตุเรณู  อำเภอเรณูนคร  จังหวัดนครพนม

งานการศึกษาสงเคราะห์

            พ.ศ.๒๕๓๘ –  ปัจจุบัน  เป็นผู้จัดการโรงเรียนพระปริยัติธรรมวัดธาตุเรณูวิทยา  อำเภอเรณูนคร  จังหวัดนครพนม  เมื่อวันที่ ๒๓  กุมภาพันธ์  ๒๕๓๘

งานการเผยแผ่

            ได้มีคำสั่งมอบหมายงานให้รองเจ้าอาวาสและผู้ช่วยเจ้าอาวาส ได้ดำเนินการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ทั้งภายในวัดและนอกวัดให้กับทุกหน่วยงานที่ได้มีหนังสือให้ทางวัดได้ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา เป็นต้นว่า
การแสดงธรรม ปาฐกถาธรรม บรรยายธรรม

งานสาธารณูปการ

            ตั้งแต่พระเดชพระคุณพระราชรัตนากร ได้ย้ายเข้ามาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดธาตุเรณูแล้ว ก็ได้พัฒนาวัดเป็นลำดับมา มีการก่อสร้างถาวรวัตถุภายในวัดดังนี้

            พ.ศ.๒๕๒๘  ก่อสร้างกุฏิเจ้าอาวาสทรงไทยประยุกต์ สิ้นเงินก่อสร้าง ๓,๐๐๐,๐๐๐  บาท

            พ.ศ.๒๕๔๐  สร้างกฏิที่พักสามเณรทรงไทยประยุกต์ชั้นเดียว
สิ้นเงินก่อสร้าง ๒,๐๐๐,๐๐๐  บาท

            พ.ศ.๒๕๔๖ – ๒๕๕๒  สร้างอุโบสถจัตุรมุข ทรงไทย  สิ้นเงินก่อสร้าง ๑๓,๐๐๐,๐๐๐  บาท

            พ.ศ.๒๕๕๐  สร้างห้องน้ำห้องสุขา สิ้นเงินก่อสร้าง ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท

            พ.ศ.๒๕๕๓  สร้างกุฏิที่พักพระภิกษุสงฆ์ทรงไทยประยุกต์ชั้นเดียว สิ้นเงินก่อสร้าง ๑,๐๐๐,๐๐๐  บาท

            พ.ศ.๒๕๕๔          สร้างวิหารคดรอบพระธาตุเรณูทรงไทยประยุกต์ รูปตัวแอล สิ้นเงินก่อสร้าง ๗,๐๐๐,๐๐๐  บาท

            พ.ศ.๒๕๕๗          สร้างศาลาสมเด็จพระพุฒาจารย์
(สนิท ชวนปญฺโญ) สิ้นเงินก่อสร้าง ๖,๐๐๐,๐๐๐  บาท

            พ.ศ.๒๕๕๘          สร้างกำแพงรอบวัดด้านทิศใต้ สิ้นเงินก่อสร้าง ๑,๐๐๐,๐๐๐  บาท

            พ.ศ.๒๕๕๘          สร้างศาลาหอฉัน ศาลาอเนกประสงค์ที่พักเจ้าอาวาส และโรงครัววัด  สิ้นเงินก่อสร้าง ๑,๒๐๐,๐๐๐  บาท

            พ.ศ.๒๕๕๙          ซาอมแซมศาลาการเปรียญวัดธาตุเรณู สิ้นเงินซ่อมแซม ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท

            พ.ศ.๒๕๖๐          สร้างกุฏิที่รับรองพระเถระ“กุฏิ ๘๐ ปี
พระราชรัตนากร”  สิ้นเงินก่อสร้าง ๗,๐๐๐,๐๐๐ บาท

            พ.ศ.๒๕๖๒          ซ่อมแซมกุฏิเจ้าอาวาส สิ้นเงินซ่อมแซม ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท

            พ.ศ.๒๕๖๒          สร้างซุ้มประตูด้านหน้าวัดทิศเหนือ
ราคา ๑,๘๐๐,๐๐๐ บาท

            พ.ศ.๒๕๖๒          สร้างศาลาโรงเก็บของวัด  สิ้นเงินก่อสร้าง ๑,๒๐๐,๐๐๐ บาท

            พ.ศ.๒๕๖๓          สร้างศาลาเอนกประสงค์ข้างกุฏิเจ้าอาวาส 

สิ้นเงินก่อสร้าง ๘๐๐,๐๐๐ บาท

            พ.ศ.๒๕๖๔          สร้างกำแพงวัดด้านทิศตะวันออก 
สิ้นเงินก่อสร้าง ๑,๐๐๐,๐๐๐  บาท

งานการสาธารณสงเคราะห์

            ได้สนับสนุนให้การสงเคราะห์ทุกหน่วยงานที่เข้ามาขอให้ทางวัดได้ช่วยเหลือ มากบ้างน้อยแบ่งตามความจำเป็น เช่น สงเคราะห์ผู้ยากไร้  ช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยต่าง ๆ ไม่ว่า อุทกภัย  อัคคีภัย และวาตภัย
สมณศักดิ์

            พ.ศ.๒๕๒๐          ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าคณะอำเภอชั้นโท ในราชทินนามที่ “พระครูเรณูนคราภิรักษ์” เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๒๐

            พ.ศ.๒๕๓๐          ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าคณะอำเภอชั้นเอก ในราชราชทินนามเดิม เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๓๐

            พ.ศ.๒๕๔๒          ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญเปรียญ ในราชทินนามที่ “พระรัตนวิมล” เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒

            พ.ศ.๒๕๔๘          ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช ในราชทินนามที่ “พระราชรัตนากร”  เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๘  

ประวัติวัดธาตุเรณู

ตำบลเรณู อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม

            วัดธาตุเรณู เดิมชื่อ วัดกลาง ตั้งอยู่ระหว่างเขตแบ่งตำบลเรณูและตำบลโพนทองติดต่อกัน (ทางทิศตะวันออกเป็นเขตตำบลโพนทอง ทางทิศตะวันตกเป็นเขตตำบลเรณู) เนื้อที่ตั้งวัดรวมทั้งที่ธรณีสงฆ์ ประมาณ ๒๕ ไร่กว่า มีโฉนดหนังสือสำคัญที่ดิน ๑๓ ฉบับเป็นหลักฐานในปัจจุบัน จะสร้างขึ้นเมื่อใด ไม่มีหลักฐานบอกไว้แน่นอนแต่เป็นวัดคู่บ้านคู่เมือง สร้างมานานแล้ว เล่ากันมาว่า เจ้าผู้ปกครองเมืองคนแรก พร้อมด้วยอุปฮาดกรมการเมือง และราษฎรร่วมกันสร้างขึ้น ปรากฏหลักฐานบ้าง ก็ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ราวปี ๒๓๗๓ สร้างขึ้น ตรงกลางเมือง จึงเรียกว่า วัดกลาง และมีวัดล้อมอยู่ ๓ วัด คือ วัดบูรพาราม ( วัดเหนือ ) อยู่ทางทิศตะวันออก วัดปัจฉิมาวาส (วัดใต้) อยู่ทางทิศปัจฉิมตะวันตก กับมีวัดป่าศิวิลัย ซึ่งเป็นวัดธรรมยุติ สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. ๒๔๘๐ อยู่ทางทิศพายัพ แต่โบราณกาลถือว่า วัดกลางเป็นวัดสำคัญของเมือง เป็นวัดสำหรับทำพิธีดื่มน้ำพิพัฒน์สัตยาตามประเพณีด้วย ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อวัดกลาง มาเป็น วัดธาตุเรณู ตามนามเรณู ดังที่เรียกกันอยู่ในปัจจุบัน

ประวัติพระธาตุเรณู

            พระธาตุเรณู ประดิษฐานอยู่ ณ วัดธาตุเรณู ตำบลเรณู อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม  สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๐ ฝ่ายสงฆ์มี ท่านอาญาครูอินทร์ เจ้าอาวาส และท่านอาญาครูสงฆ์ รองเจ้าอาวาส เป็นประธาน ฝ่ายฆราวาสมี ขุนเรณูนิติกร กำนันตำบลเรณู ขุนโพนทอง ธรรมราษฎร กำนันตำบล
โพนทอง เป็นหัวหน้า ได้ชักชวนชาวบ้านทั้ง ๒ ตำบล และชาวบ้านตำบลแสนพัน ด้วย ก่อสร้างพระธาตุ ขึ้นทางทิศตะวันตกเฉียงใต้    ของวัดในปัจจุบัน โดยจำลองรูปทรงมาจากพระธาตุพนมองค์เดิม ( องค์ก่อนกรมศิลปากรบูรณะเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๓ ) ทุกอย่าง แต่ขนาดเล็กกว่า เป็นรูปทรงเจดีย์ ฐานสี่เหลี่ยม กว้างด้านละ ๘.๓๗ เมตร เท่ากัน ทั้ง ๔ ด้าน สูง ๓๕ เมตร สร้างด้วยอิฐถือปูน

            พระธาตุเรณูเป็นเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และพระอรหันต์ธาตุ พระไตรปิฎก พระพุทธรูปทองคำ พระพุทธรูปเงิน เพชรนิลจินดา แก้ว แหวน เงินทอง หน่องา ของมีค่า เจ้าเมือง และประชาชนที่ศรัทธาบริจาค นายช่างผู้ทำการก่อสร้างชื่อ นายเม้า เป็นคนอำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม ทำการก่อสร้าง ๒ ครั้ง ครั้งแรกก่อด้วยอิฐหนาสองช่วงแผ่นอิฐ เสร็จในปี พ.ศ. ๒๔๖๑ ยังไม่ทันจะฉลองสมโภช พอถึงเดือน ๖ ฝนตกหนักฟ้าผ่าลงที่พระธาตุหักพังทะลายจนหมดสิ้น เป็นที่เศร้าเสียใจกันทั่ว ครั้งที่ ๒ ท่านพระครูทั้ง ๒ ท่านและท่านขุนทั้ง ๒ ที่ออกนามมาแล้ว พร้อมด้วยราษฎรทั้ง ๒ ตำบล รวมทั้งชาวตำบลแสนพัน ได้ประชุมเห็นความพร้อมกันว่า ต้องทำการก่อสร้างพระธาตุขึ้นมาอีกให้ได้ คราวนี้ก่ออิฐหนาให้ได้สี่ช่วงแผ่นอิฐ ทำการก่อสร้างอยู่ราวปีกว่าก็เสร็จเรียบร้อย ทั้งรูปทั้งลวดลายต่าง ๆ ด้วย จึงได้จัดงานฉลองสมโภชในปี พ.ศ. ๒๔๖๓ เป็นปีแรก ต่อมาจัดงานเทศกาลนมัสการพระธาตุเรณู ในเดือนมีนาคมขึ้น ๑๓-๑๔-๑๕ ค่ำ เดือน ๔ ทุกปี

            หมายเหตุ พระธาตุเรณู ได้บูรณะครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๙  สิ้นงบไปประมาณ ๓๐๐,๐๐๐ บาท, ต่อมาปี พ.ศ. ๒๕๓๒-๒๕๓๔ ได้บูรณะองค์พระธาตุอีก สิ้นงบประมาณ ๔๐๐,๐๐๐ บาท , ในปี พ.ศ. ๒๕๔๒ บูรณะองค์พระธาตุอีก สิ้นงบประมาณ ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท,และปี พ.ศ.๒๕๔๙-๒๕๕๑ ใช้งบประมาณ ๒,๗๒๓,๘๔๔ บาท ควบคุมดูแลโดยกรมศิลปากร ซึ่งเป็นผู้ออกแบบรายการซ่อมแซมบูรณะ

คำนมัสการพระธาตุเรณู

            ปุริมายะ ทิสายะ เรณูนะคะรัสมิง สะปะริสายะ อินทะเถเรนะ จะ สังฆะเถเรนะ จะ ฐาปิตัง เจติยัง สิระสา  นะมามิ

            ทักขิณายะ ทิสายะ เรณูนะคะรัสมิง สะปะริสายะ อินทะเถเรนะ จะ สังฆะเถเรนะ จะ ฐาปิตัง เจติยัง สิระสา  นะมามิ

            ปัจฉิมายะ ทิสายะ เรณูนะคะรัสมิง สะปะริสายะ อินทะเถเรนะ จะ สังฆะเถเรนะ จะ ฐาปิตัง เจติยัง สิระสา  นะมามิ

            อุตตะรายะ  ทิสายะ เรณูนะคะรัสมิง สะปะริสายะ อินทะเถเรนะ จะ สังฆะเถเรนะ จะ ฐาปิตัง เจติยัง สิระสา  นะมามิ

ประวัติพระพุทธรัตนมงคลทศพลญาณเรณูนคราภิบาล
ประธานอุโบสถ
เป็นพระพุทธรูปที่ก่อสร้างด้วยอิฐ ถือปูน เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ( โดยฝีมือช่างชาวเวียดนาม) สูง ๒.๙๐ ม. กว้าง ๑.๘๙ ม. โดยมี พระโมคคัลลานะพระสารีบุตร ซึ่งเป็นพระอัครสาวกทั้ง ๒ องค์ อยู่ด้านข้างพระอัครสาวกนี้มีขนาดสูง ๑.๐๙ ซ.ม.หน้าตักกว้าง ๕๙ ซ.ม.เท่ากัน
ทั้ง ๒ องค์ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๘ ได้มีการลงลักปิดทอง โดย คุณกรองพรรณ รังสิกุล พร้อมครอบครัว เป็นเจ้าภาพในการลงลักปิดทองครั้งนี้

ประวัติหลวงพ่อพระองค์แสน  พระคู่บ้านคู่เมืองเรณูนคร

            พระองค์แสน เป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ สร้างมานานไม่มีหลักฐานแน่นอน น้ำหนัก ๑๒๐ กิโลกรัม ( เท่ากับ หนักหนึ่งแสน)   สูง ๘๙ ซ.ม. กว้าง ๕๕ ซ.ม. ตันทั้งองค์ ลักษณะงดงามน่าเคารพเลื่อมใส เป็นพระคู่บ้านคู่เมืองชาวเรณูนคร มีความศักดิ์สิทธิ์อภินิหาร คือ การยังฝนให้ตกในวันสงกรานต์ หรือปีไหนแห้งแล้ง แห่ไปตามถนนให้ชาวบ้านชาวเมืองได้สรงน้ำ และขอฝนตามประเพณี จะมีปรากฏการณ์คลึ้มฟ้า ฝนจะตกลงมาอย่างน่าอัศจรรย์ในขณะแห่สรงน้ำ จะมีให้เห็นเกือบทุกครั้ง และจะมีในวัดถัดๆไป ชาวบ้านชาวเมืองได้รับน้ำฝนทำไร่ทำนา ได้รับความร่มเย็นเป็นสุขและอุดมสมบรูณ์ อนึ่งองค์หลวงพ่อพระองค์แสน ยังมีอภินิหารทางโชคลาภ แคล้วคลาด ปราศจากอุปสรรคอุปัทวเหตุอันตรายด้วย ประชาชนจึงเคารพศรัทธาเลื่อมใสในหลวงพ่อพระองค์แสนตลอดมา

           อุโบสถจัตุรมุขวัดธาตุเรณู
            วางศิลาฤกษ์ วันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๔๖ เริ่มสร้างเมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๔๖ ภายในกว้าง ๗.๒๐ เมตร ยาว ๒๓ เมตร รอบนอกกว้าง ๒๘ เมตร ยาว ๔๑ เมตร สร้างด้วยอิฐถือปูน เสริมเหล็กทั้งหลัง มุงด้วยกระเบื้องแบบสุโขทัย ช่อฟ้าใบระกา หน้าบรรณ์ (จั่ว) คันทวย แท่นพระประธาน ซุ้มประตู หน้าต่าง ติดลวดลายด้วยกระเบื้องเคลือบดินเผา สูงจากพื้นดินถึงหลังคา ๑๓.๗๐ เมตร สูงจากพื้นภายในถึงเพดาน ๖ เมตร สิ้นค่าก่อสร้างไป ๑๘ ล้านกว่าบาท สร้างเสร็จสมบรูณ์ในปี ๒๕๕๒ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา วันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ ผูกพัทธสีมาฝังลูกนิมิตปิดทอง ในวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๕๒

ประวัติ ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ( โพธิลังกา)

       ต้นศรีมหาโพธิ์( โพธิลังกา) ได้นำกิ่งมาจากประเทศศรีลังกาโดยทางการประเทศลังกา นำมามอบให้เป็นของขวัญแก่สมเด็จพระวันรัตซึ่งขณะนั้น ท่านได้เดินทางไปร่วมงานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ พร้อมกับ นาย สุรสีห์ วีรวงศ์ ผู้เป็นเหรัญญิก
       เมื่อกลับมา นายสุรสีห์ วีรวงศ์ ได้ขอต้นพระศรีมหาโพธิ์นั้นไปปลูกที่วัดธาตุเรณู ท่านได้อนุญาตและได้มอบให้ พระกิตติวงค์เวที (สุวรรณ) และพระอมรเมธี (สมุทร) พร้อมนายสุรสีห์ วีรวงศ์ นำมามอบให้พระพนมเจติยานุรักษ์ เจ้าคณะจังหวัดนครพนม ทำการปลูก เมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๐ เวลา ๐๙.๕๕ น. ท่ามกลางสาธุชนเป็นจำนวนมาก โดยมีนายสิทธิ์ ณ นครพนม นายอำเภอธาตุพนมเป็นประธานฝ่ายฆราวาส

ประวัติชาวผู้ไทยเรณูนคร

ความเป็นมาของชาวผู้ไทยในอำเภอเรณูนคร

ชาวผู้ไทย เป็นชนเผ่าไทยสาขาหนึ่งที่มีขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปวัฒนธรรม ความเป็นอยู่เฉพาะกลุ่ม ได้อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานาน จึงขยายเผ่าพันธุ์และกระจายไปอยู่ในท้องถิ่นต่าง ๆ แถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยโดยเฉพาะที่จังหวัดนครพนม ในอำเภอเรณูนคร จะมีชาวผู้ไทยรวมกลุ่มอาศัยอยู่หนาแน่น และยังคงยึดมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณีสืบทอดกันต่อ ๆ มา ดังนั้น เพื่อความเข้าใจในเรื่องราวภูมิหลังของกลุ่มชนชาวผู้ไทยในอำเภอเรณูนคร จึงกล่าวถึงส่วนสำคัญที่เกี่ยวข้อง คือ ถิ่นฐานเดิมและการอพยพ การดำรงวิถีชีวิตประจำวันขนบธรรมเนียมประเพณี ว่าด้วยเรื่อง ความเชื่อ ศาสนา และประเพณี การต้อนรับแขก ดังจะได้กล่าวถึงรายละเอียดตามลำดับต่อไปนี้

ถิ่นฐานเดิมและการอพยพ

ชาวผู้ไทยในอำเภอเรณูนครเป็นชนชาติในภาคอีสาน มีภูมิลำเนา เดิมอยู่ที่เมืองแถง สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวไว้ในคำพงศาวดารเมืองแถงและพงศาวดารเมืองไลว่า “เมืองแถง เมืองไล อยู่ในแคว้นสิบสองจุไทย กล่าวกันมาว่าแรกที่ชนชาติไทยจะอพยพมาสยามประเทศ แต่ดึกดำบรรพ์ตั้งอยู่ที่แว่นแคว้นสิบสองจุไทยนี้ก่อน คำว่าสิบสองจุไทยตรงกับสิบสองเจ้าไท เพราะแต่เดิมไทยที่ตั้งอยู่ในแว่นแคว้นนั้นอยู่แยกกันเป็นสิบสองอาณาเขต แม้ทุกวันนี้พลเมืองที่อยู่ในที่นั้นก็เป็นไทย โดยมากเรียกกันว่า “ผู้ไทย” เขตแดนท้องที่พวกผู้ไทอยู่ในแว่นแคว้นอันกว้างนี้ ข้างเหนือไปจนถึงมณฑลฮุนหนำแดนจีนข้างตะวันออก ไปจนถึงมณฑลตังเกี๋ยแดนญวณ ข้างตะวันตกต่อแดนสิบสองปันนา ซึ่งขึ้นตรงต่อพม่าที่กล่าวมาแล้ว ข้างใต้ต่อกับกรุงศรีสัตนาคนหุต ต่อมาแคว้นสิบสองจุไทตกเป็นเมืองอาณานิคมของฝรั่งเศส เมื่อ ร.ศ.๑๑๒
( พ.ศ.๒๔๓๖) จึงได้รวมเอาหัวเมืองผู้ไทยกับเวียดนามเหนือเข้าไว้ด้วยกัน เมื่อได้เอกราชจากฝรั่งเศส จึงเปลี่ยนชื่อจากเมืองแถงเป็นเมืองเดียนเบียนฟู  แต่พงศาวดารล้านช้างเรียกเมืองนี้ว่า “เมืองน้ำน้อยอ้อยหนู”

สมเด็จพระมาหาวีรวงศ์(อ้วน ติสฺโส)ได้กล่าวไว้ในประวัติผู้ไทย ของถวิล ทองสว่างรัตน์ ว่า “เมืองน้ำน้อยอ้อยหนูบังเกิดการอัตคัดอดยาก และท้าวก่าผู้เป็นหัวหน้าของชาวผู้ไทย มีการแก่งแย่งไม่พอใจกับเจ้าเมืองน้ำน้อยอ้อยหนู เป็นเหตุให้ชาวผู้ไทยอพยพมาอยู่ในประเทศลาว และเกิดการกระจัดกระจายเข้าไปอยู่ในแขวงเชียงขวางบ้าง แขวงเวียงจันทร์บ้าง แขวงหลวงพระบางบ้าง ส่วนชาวผู้ไทยเรณูนครได้อพยพไปตั้งถิ่นฐานอยู่ที่วัง อยู่ในอาณาเขตของเมืองเวียงจันทร์ ชึ่งอยู่ติดกับดินแดนของญวนทางใต้ เส้นขนานที่ ๑๗ อยู่ตรงกับทิศตะวันออกของอำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม”

            ในแผ่นดินเมืองวังที่ผู้ไทยอพยพเข้าไปตั้งภูมิลำเนาอยู่นี้ มีพวกข่าอาศัยอยู่ก่อนแล้ว จึงเกิดการแก่งแย่งชิงอำนาจการปกครองระหว่างชาวผู้ไทยกับพวกข่า แต่ด้วยการปฏิภาณของชาวผู้ไทยใช้กลอุบายในการยิงหน้าไม้ การเผาพริกไปรมควันพวกข่าที่อยู่ในถ้ำ จึงเอาชนะพวกข่าได้ เจ้าอนุรุทธกุมารเจ้าเมืองเวียงจันทร์เห็นความฉลาดของท้าวก่าห้วหน้าชาวผู้ไทย จึงแต่งตั้งให้เป็นพระยาก่าปกครองเมืองวังขึ้นตรงต่อเมืองเวียงจันทร์ และประทานสาวสนมชื่อนางลาวมาให้เป็นภรรยา และให้ครู(พระสงฆ์) อีกรูปหนึ่งไปตั้งวัดอยู่ในเมืองวังเพื่อช่วยแนะนำสั่งสอนทางพระพุทธศาสนา นางลาวเป็นหัวหน้าช่วยแนะนำการทำบุญให้ทานแก่ชาวผู้ไทยจึงมีการเลื่อมใสนับถือพระพุทธศาสนา รู้จักการบุญกุศลตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ชาวผู้ไทยอาศัยอยู่ในเมืองวังมานานนับหลายปี จนกระทั่งวันพฤหัสบดีที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ.๒๓๘๔ ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระมหาสงครามแม่ทัพไทยและเจ้าอุปราช
(ติสสะ) ซึ่งเป็นพระอนุชาของเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทร์ แต่ยอมสวามิภักดิ์ต่อกรุงเทพมหานคร ไม่ร่วมเป็นกบฏด้วย ยกกองทัพไทยข้ามแม่น้ำเข้าไปตีเมืองวัง เมืองตะโปน เมืองพิณ เมืองระนอง เมืองเชียงรม เมืองผาบัง กวาดต้อนผู้คนให้เข้ามาอยู่ประเทศไทย ได้ประมาณ ๒,๕๔๘ คน พระราชทานที่อยู่ให้ตามความสมัครใจ ดังนี้

  • ราชวงศ์เมืองวังกับพวกพ้องท้าวเพี้ยครอบครัว สมัคร

อยู่บ้านกุฉินารายณ์ ขึ้นกับเมืองกาฬสินธุ์

  • ท้าวโรงกลางเมืองวังกับพวกพ้องท้าวเพี้ยครอบครัว

สมัครตั้งอยู่บ้านปะขาวพะงา ขึ้นกับเมืองสกลนคร

  • ท้าวลำดวนเจ้าเมืองคำเกิดกับครอบครัว สมัครอยู่บ้าน

ขอนยางขึ้นกับเมืองกาฬสินธุ์

  • อุปฮาดราชวงศ์เมืองคำม้วนกับพรรคพวกครอบครัว

ขอสมัครอยู่บ้านแซงบาดาล ขึ้นกับเมืองกาฬสินธุ์

  • ท้าวเพี้ยเมืองสูงกับพวกครอบครัว ขอสมัครตั้งอยู่บ้าน

กุสุมาลย์ ขึ้นกับเมืองสกลนคร

  • ท้าวสายนายครัวเมืองวัง ซึ่งบ้านอยู่บางดงหวาย

ธาตุพนม

  • เจ้าเมืองเชียงรม อุปฮาดราชวงศ์ท้าวเพี้ยครอบครัว

ขอสมัครตั้งอยู่บ้านห้วยศีรษะบัวแขวงเมืองนครพนม

  • ครอบครัวขุนป้องพลขันธ์ พระไชยเชษฐาเมืองตะโพน

ขอตั้งอยู่เมืองเขมราฐ“พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวฯโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ยกบ้านที่ครัวตั้งขึ้นเป็นเมืองแล้วตั้งให้นายครัวเป็นเจ้าเมืองมีชื่อต่างๆกันแล้วตั้งอุปฮาดราชวงศ์ท้าวเพี้ยไว้สำหรับเมืองพระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภคตามผู้ใหญ่ผู้น้อยทุกๆเมือง”

            สุรจิตต์ จันทรสาขา กล่าวถึงเมืองเรณูนครในอดีตว่า

            “ในปี พ.ศ.๒๓๔๘ ยังมีชาวเมืองวังกลุ่มหนึ่งที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่ฝั่งขวาแม่น้ำโขง โดยการนำของท้าวเพชร ท้าวสาย เป็นหัวหน้าพาชาว
ผู้ไทย พร้อมด้วยท้าวไพน้องเท้าเพชร บุตรพระยาเตโช ท้าวบุตรและท้าว
อินทิสารทั้งสองคนพี่เขยของท้าวสาย นำทางชาวผู้ไทยกลุ่มใหญ่ไปตั้งอยู่ที่บ้านดงหวาย หรือบุ่งหวาย แขวงเมืองนครพนม และได้จัดขี้ผึ้งหนัก ๑๐ ชั่ง เป็นเครื่องราชบรรณาการส่งให้แก่พระสุนทรราชวงศาและพระบรมราชา
เจ้าเมืองนครพนมมีท้าวมนตรีเมืองเรณูนครคุมลงไปส่งกรุงเทพฯ
(จดหมายเหตุ ร.๓ จ.ศ.๑๐๒๓ เลขที่ ๒๖ หอสมุดแห่งชาติ)

            “ในปี พ.ศ.๒๓๘๕ ท้าวสายนายครัวเมืองวัง ซึ่งตั้งอยู่ในแขวง เมืองนครพนม จัดนรมาต ๒ ยวด งาช้าง ๔ กิ่ง เร่วหนัก ๓ หาบ ส่งให้เจ้าเมืองนครพนมโดยมีท้าวเพชรกับไพร่คุมไปทูลเกล้าฯถวายที่กรุงเทพฯพร้อมกับเครื่องราชบรรณาการ (จดหมายเหตุ ร.๓ เลขที่ ๔๘ จ.ศ. ๑๒๐๔ หอสมุดแห่งชาติ)

            จากคำบอกเล่าของชาวเรณูนคร เมื่อท้าวเพชรเดินทางกลับกรุงเทพมหานคร ได้ถึงแก่กรรมระหว่างทาง จึงไม่มีโอกาสได้แต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองเรณูนคร จากเอกสารต่าง ๆ ชื่อของท้าวเพชรหายไปตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๘๕ เป็นต้นมา

            ในปี พ.ศ.๒๓๘๗ รัชกาลที่ ๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯยกบ้านดงหวายสายบ่อแก มีนายไพร่รวม ๒,๖๔๘ คน ตั้งขึ้นเป็นเมือง “เรณูนคร” ขึ้นกับเมืองนครพนม แต่งตั้งท้าวสายเป็น “พระแก้วโกมล” เจ้าเมืองเรณูนครคนแรก ตั้งแต่ปีมะโรง ฉศก จ.ศ. ๑๒๐๖ พ.ศ.๒๓๘๗ (จากเอกสาร ร.๓ จ.ศ.๑๒๐๖เลขที่๕๘ หอสมุดแห่งชาติ)

           นอกจากนี้ ยังมีรายละเอียดได้รับการบอกเล่าจากบรรพบุรุษสืบต่อกันมาว่า เมื่ออพยพมาครั้งแรกนั้นพากันมาตั้งบ้านอยู่ ๓ แห่ง คือ

  • บ้านห้วยหัวขัว (สำเนียงผู้ไทยว่า โห้ยโหโข) อยู่บริเวณใต้บ้าน

ท่าคอย ท้องที่ตำบลโพนทอง

  • บ้านหนองจันทร์ อยู่ระหว่างบ้านดงมะเอก ตำบลโพนทองกับ

บ้านโคกกลาง ตำบลเรณู

  • บ้านดงหวาย ที่ตั้งเรณูนครในปัจจุบัน แล้วเรียกชื่อว่า “เมืองเว”

หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “บ้านดงหวายสายบ่อแก” เมื่อได้ยกขึ้นเป็นเมือง
เรณูนครแล้ว จึงได้อพยพราษฎรจากหมู่บ้านทั้ง ๓ แห่ง มารวมอยู่ที่บ้าน
ดงหวาย แต่ชาวเมืองก็ยังคงเรียกขานชื่อเมืองเว  จนติดปาก ตามชื่อบ้านเก่าของตนที่เคยอยู่เมืองวัง

ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๙๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

โปรดเกล้าให้ตั้งหัวเมืองชั้นนอกขึ้นทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ๑๙ เมือง ในจำนวนนี้รวมทั้งเมืองเรณูนครด้วย โดยยกฐานะเป็นเมืองจัตวาขึ้นกับเมืองนครพนม

            “ในปี พ.ศ.๒๔๔๑ (ร.ศ. ๑๑๗ ) ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงประกาศยกเลิกการปกครองตามธรรมเนียมโบราณที่มีตำแหน่งต่างๆได้รับพระราชทานเงินเดือนเป็นครั้งแรก ดังนี้

พระแก้วโกมล (เหม็น โกพลรัตน์)ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการเมือง

หลวงพหล พลเหี้ยมหาญ (กิ่ง) ดำรงตำแหน่ง   ปลัดเมือง

หลวงชาญยุทธกิจ (กา เตโช) ดำรงตำแหน่ง   ยกบัตรเมือง

ขุนพินิจยุทธกรรม(ตูม) ดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยราชการเมือง

ขุนราชกิจ(ดำ)          ดำรงตำแหน่ง มหาดไทยเมือง  

                            ดำรงตำแหน่ง ศาลเมือง

ขุนศรีจางวาง(หมื่น)    ดำรงตำแหน่ง นครบาลเมือง

ขุนไชยจางวาง(บุศดี)   ดำรงตำแหน่ง คลังเมือง

ขุนนคร (สูน)             ดำรงตำแหน่ง โยธาเมือง

ในปี พ.ศ.๒๔๔๓ ทางราชการได้ปรับปรุงการปกครองหัวเมืองขึ้น

ใหม่ โดยจัดแบ่งการปกครองของภาคอีสานเป็น ๓ มณฑล คือ

๑.มณฑลอีสาน

๒.มณฑลอุดร

๓.มณฑลนครราชสีมา

            ในปี พ.ศ.๒๔๔๖ เปลี่ยนมณฑลเป็นบริเวณ แบ่งการปกครองเมืองเป็นอำเภอเรณูนครจึงเป็นอำเภอหนึ่งในบริเวณธาตุพนม ขึ้นอยู่กับมณฑลอุดร

            ในปี พ.ศ.๒๔๕๐ ประกาศยกเลิกคำว่าบริเวณเปลี่ยนเป็นเมือง อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน เรณูนครจึงเป็นอำเภอหนึ่งของเมืองนครพนม มีการจัดแบ่งการปกครองออกเป็น ๔ ตำบลดังนี้

  • คุ้มตะวันออก นับจากวัดธาตุเรณูขึ้นไปทางเหนือเป็นโพนทอง
  • คุ้มทางเหนือ ถัดขึ้นไปเป็นตำบลบัวชุม
  • คุ้มกลาง เป็นตำบลโพนสวรรค์
  • คุ้มใต้ เป็นตำบลตะพานหิน

            มีกำนันปกครองทุกตำบล ต่อมาพระแก้วโกมล(เหม็น) ลาออกทางราชการจึงแต่งตั้งให้ ท้าวก่า เตโช ซึ่งเป็นราชวงศ์ในขณะนั้นเป็นนายอำเภอเป็นคนแรกของอำเภอเรณูนครคนแรก ให้ชื่อว่า “หลวงชาญยุทธกิจ” ปกครองเมืองประมาณ ๔-๕ ปี

            ในปี พ.ศ.๒๔๕๑ ย้ายอำเภอไปตั้งที่บ้านธาตุพนม ซึ่งอยู่ริมแม่น้ำโขง เรียกว่า อำเภอธาตุพนม สืบเนื่องมาจากสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกรม กระทรวงมหาดไทย ขณะนั้นเสด็จไปตรวจราชการมณฑลอุดร และมณฑลอีสาน ทรงตรวจราชการ ที่อำเภอเรณูนคร เห็นว่าอำเภอ
เรณูนครนี้อยู่ห่างไกลแม่น้ำการคมนาคมไม่สะดวก จึงให้ย้ายที่ทำการของอำเภอ ดังนั้นอำเภอเรณู เห็นว่าอำเภอเรณูนครจึงลดฐานะเป็นตำบล โดยแบ่งออกเป็น ๒ ตำบลดังนี้

  • คุ้มตะวันออกเรียกว่า ตำบลโพนทอง นายปุ้ย สิงห์คะ

เป็นกำนัน มีบรรดาศักดิ์ว่า “ขุนโพนทองธรรมราษฎร์”

  • คุ้มตำบลบัวชุม ตำบลโพนสวรรค์และตำบลตะพานหินเดิม

เป็นตำบลเรณู มีนายคำฟั่น โกพลรัตน์ เป็นกำนัน มีบรรดาศักดิ์ว่า “ ขุนเรณูนิติกร”จึงทำให้คำว่า “เรณูนคร”หายไปจากทำเนียบ กระทรวงมหาดไทย
ในฐานะ “อำเภอ”นานถึง ๕๓ ปี

ในวันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๓ ทางราชการประกาศยกฐานะตำบลเรณู ตำบลโพนทอง และตำบลท่าลาด ขึ้นเป็นกิ่งอำเภอเรณูนคร ตั้งที่ว่าการอำเภอเรณูนคร และขึ้นอยู่ในเขตการปกครองของอำเภอธาตุพนม

            ในวันที่ ๒๒ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๑๘ ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๙๒ ตอนที่ ๑๖๖ ลงวันที่ ๒๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๑๘ ประกาศยกฐานะกิ่งอำเภอเรณูนคร เป็นอำเภอเรณูนคร ขึ้นกับจังหวัดนครพนมมาจนถึงปัจจุบันนี้

            จากเหตุการณ์ดังกล่าว จะเห็นการอพยพของชนชาวไทยเรณูนคร จากถิ่นเดิมอยู่ที่เมืองเดียนเบียนฟู แล้วอพยพเข้าไปอยู่ในประเทศลาว ได้ตั้งภูมิลำเนาอยู่ที่เมืองวัง (บางตำราก็เรียกว่าเมืองวังอ่างคำบ้าง เมืองวังเวียงบ้าง) ในแขวงเวียงจันทร์ ต่อมาเมื่อรัชกาลที่ ๓ ปราบ กบฏเจ้าอนุวงศ์เมืองเวียงจันทร์ จึงได้กวาดต้อนชาวผู้ไทยที่อาศัยอยู่ในเมืองวังเข้ามาอยู่ในประเทศไทย ส่วนหนึ่งอพยพมาอยู่ที่บ้านดงหวายสายบ่อแก ในปัจจุบันก็คือ อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม

            ดังนั้น เผ่าพันธุ์ของชนชาวผู้ไทย น่าจะมีการผสมผสานเชื้อชาติกันอยู่บ้างและจากหลักฐานที่ว่า ในขณะที่ชาวผู้ไทยอพยพมาตั้งภูมิลำเนาอยู่ในเมืองวัง เจ้าอนุรุทธกุมารได้ประทานนางลาวให้มาเป็นภรรยาของพระยากา และให้พระครูอีก ๑ รูป ไปตั้งวัดอยู่ในเมืองวัง ชาวผู้ไทยเรณูนครจึงได้รับการถ่ายทอดการดำรงชีวิตประจำวันขนบธรรมเนียมประเพณี ความเชื่อ ศาสนา และศิลปวัฒนธรรมด้าน ต่างๆ จากประเทศลาวมาอย่างเต็มที่ ต่อเมื่อได้เข้ามาตั้งรกรากอยู่ที่บ้านดงหวายสายบ่อแก จังหวัดนครพนม ชาวผู้ไทยจึงได้นำศิลปวัฒนธรรมต่างๆ เหล่านั้นติดตัวเข้ามายึดถือปฏิบัติสืบทอดกันต่อ ๆ มาเป็นสังคมที่มีวัฒนธรรมอันดีงามมาจนถึงปัจจุบันนี้

คติธรรมคำกลอน

โดย พระครูเรณูนคราภิรักษ์  (ธวัช  ธมฺมเตโช) *

พระธาตุเรณูปูชนียวัตถุ

สร้างบรรจุไตรปิฎกธรรมคำสอน

แลอัฐิธาตุพระมุนินชินวร

เป็นอนุสรณ์ให้รำลึกนึกถึงคุณ

เมื่อเราตายมลายสิ้นทั้งอินทรีย์

ไม่ได้มีอะไรไปอุดหนุน

ทรัพย์สมบัติสิ่งมีค่าหาเป็นทุน

ก็เจือจุนชั่วชีวิตควรคิดกัน

พระธาตุสร้างขึ้นมาเป็นค่าเปรียบ

เพื่อให้เทียบคุณค่าหาสุขสันต์

สุขโลกนี้มีทรัพย์นับหมื่นพัน

เป็นสวรรค์ปุถุชนคนเกิดมา

แต่ความทุกข์มีได้ในสมบัติ

เมื่อวิบัติเสื่อมไปอาลัยหา

เรื่องของโลกเป็นเช่นที่กล่าวมา

ทุกข์นินทาเสื่อมลาภยศมีมานาน

พระพุทธองค์สอนธรรมให้เหนือโลก

ให้สิ้นโศกสิ้นภัยในสงสาร

รูปเสียงกลิ่นรสสัมผัสกำจัดมาร

ไม่ต้องการเบื่อหน่ายคลายกังวล

 บรรพชนคนดีจึงมีจิต

 ช่วยกันคิดกันสร้างทางกุศล

สร้างพระธาตุฝากไว้ให้เรายล

ควรที่ชนรุ่นเราเคารพเอย ฯ

การนินทากาเลเหมือนเทน้ำ

ไม่ชอกช้ำเหมือนเอามีดมากรีดหิน

แม้แต่องค์พระปฏิมายังราคิน

มนุษย์เดินดินหรือจะสิ้นคนติเตียน

เป็นช่างกลึงต้องอาศัยช่างชัก

เป็นช่างสลักต้องอาศัยช่างเขียน

เป็นช่างรู้ต้องอาศัยช่างเรียน

ช่างติเตียนไม่ต้องอาศัยช่างใดเอย ฯ

ร่มไม้เย็นพักผ่อนหายร้อนอาตม์

ร่มเงาญาติเย็นสบายหายเงียบเหงา

ร่มพ่อแม่เย็นสุขทุกข์บางเบา

เกิดเย็นเกล้าเคล้าคลุกอยู่ทุกยาม

ร่มอาจารย์กันเขลาเกิดเชาวน์กล้า

ร่มราชากันศัตรูให้รู้ขาม

ร่มพระพุทธกันร้อนผ่อนรุกราม

ให้โลกสามเย็นชื่นกว่าอื่นใด ฯ

ถ้าหมั่นเรียนเรียนอะไรก็ต้องรู้

ถ้าหมั่นดูดูอะไรก็ต้องเห็น

ถ้าหมั่นทำทำอะไรก็ต้องเป็น

ถ้าไม่เล่นหมั่นแต่ทำก็จำเริญ

 ถึงสูงศักดิ์อัครฐานสักปานไหน

ถึงวิไลเลิศฟ้าน่าสรรเสริญ

ถึงเก่งกาจฉลาดล้ำร่ำรวยเงิน

ถ้าเพลิดเพลินไร้ศีลธรรมก็ต่ำคน

จงอ่อนน้อมถ่อมตนให้คนรัก

อย่าเห่อศักดิ์ทะนงตังจะมัวหมอง

เพราะถ่อมลงสูงระหงส์เป็นพงษ์ทอง

แต่จองหองใฝ่สูงถูกจูงลง

มียศศักดิ์สูงเยี่ยมจงเจียมจิต

อย่ามัวคิดฟุ้งเฟ้อละเมอหลง

รู้สิ่งใดดีจริงเกียรติยิ่งยง

ยิ่งถ่อมลงยิ่งเฟื่องกระเดื่องนาม

ขอตั้งจิตอธิษฐานอุทิศผล

บุญกุศลนี้แผ่ไปให้ไพศาล

ถึงบิดามารดาครูอาจารย์

ทั้งวงศ์วานญาติสนิทกัน

ขอแผ่ให้สรรพสัตว์ทุกข์จนคนยากไร้

มีส่วนได้ในกุศลดลสุขสันต์

ขอแผ่ให้เจ้ากรรมนายเวรและเทวัญ

ขอแบ่งปันแผ่บุญให้ทั่วกันเทอญ ฯ

*ปัจจุบัน  พระราชรัตนากร

       ทิศ ๖

ทิศ ๖ เป็นหลักธรรมข้อปฏิบัติของคฤหัสถ์ เพื่อเป็นธรรมปฏิบัติระหว่างศิษย์ที่มีความกตัญญูกตเวที เคารพนับถือในท่านพระครูประภัสร์สุตคุณ ได้ร่วมกันจัดตั้งงานทำบุญอายุครบ   ๘๐ ปี ถวายในวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๕๔ อันเป็นวันเกิดของท่านพระครูฯ จึงขอนำเรื่อง ทิศ ๖ มาเป็นบรรณาการ ดังต่อไปนี้

             คำว่า ทิศ หมายถึง ด้าน, ข้าง, ทางเหนือ, ทางใต้, ตะวันออก, ตะวันตก ในทางธรรม หมายถึง บุคคลต่างๆ หลายประเภท ที่เราจะต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์ ในทางสังคมอยู่เสมอ ดังนั้นในหลักธรรมของคฤหัสถ์ผู้ครองเรือน ท่านจึงจัดทิศไว้ ๖ ทิศ คือ

  • ปุรัตถิมทิศ ทิศเบื้องหน้า คือ ทิศตะวันออก ได้แก่ มารดาบิดา
  • ทักขิณทิศ ทิศเบื้องขาว คือ ทิศใต้ ได้แก่ ครู อาจารย์
  • ปัจฉิมทิศ ทิศเบื้องหลัง คือ ทิศตะวันตก ได้แก่บุตรภรรยา
  • อุตตรทิศ ทิศเบื้องซ้าย คือ ทิศเหนือ ได้แก่  มิตรสหาย
  • เหฏฐิมทิศ ทิศเบื้องต่ำ คือ ทิศเบื้องล่าง ได้แก่ บ่าวคนรับใช้ และคนงาน
  • อุปริมทิศ ทิศเบื้องบน คือ ทิศเบื้องสูง ได้แก่ สมณพราหมณ์ คือพระสงฆ์
  • ปุรัตถิมทิศ ทิศเบื้องหน้า คือ ทิศตะวันออก ได้แก่ มารดา บิดาเพราะเป็นผู้มีอุปการะแก่บุตรธิดามาก่อน บุตรธิดาพึงบำรุงท่านด้วยสถาน ๕
  • ท่านได้เลี้ยงเรามาแล้ว เลี้ยงท่านตอบ
  • ช่วยทำกิจการงานของท่านดำรงวงศ์สกุล
  • ประพฤติตนให้เหมาะสมกับคำเป็นทายาทที่จะได้รับทรัพย์มรดก
  • เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ทำบุญอุทิศให้ท่าน

มารดา-บิดา ได้รับบำรุงดังนี้แล้ว  ย่อมอนุเคราะห์บุตรธิดา  ด้วยสถาน ๖

  • ห้ามปรามมิให้ทำชั่ว
  • ให้ตั้งอยู่ในความดี
  • ให้ศึกษาศิลปวิทยา
  • หาคู่ครอง คือ ภรรยาสามีที่สมควรให้
  • มอบมรดกทรัพย์สมบัติให้ ในโอกาสอันสมควร
  • มอบมรดกทรัพย์สมบัติให้ ในโอกาสอันสมควร
  • ทักขิณทิศ ทิศเบื้องขวา คือ ทิศใต้ ได้แก่ ครูอาจารย์ เพราะเป็นทักขิเณยบุคคล ผู้ควรแก่การบูชา ศิษย์พึงบำรุงครูอาจารย์ด้วยสถาน ๕

     (๑) ด้วยลุกขึ้นยืนต้อนรับ

     (๒) ด้วยเข้าไปยืนคอยรับใช้ คือ เข้าไปหาเพื่อบำรุงปรึกษาซักถาม และรับคำแนะนำ เป็นต้น

     (๓) ด้วยเชื่อฟัง รู้จักฟังเพื่อให้เกิดปัญญา ความรู้ความเข้าใจมีใจรัก ใฝ่ใจเรียน เรียนด้วยศรัทธา

     (๔) ด้วยการอุปัฏฐาก คือ ปรนนิบัติ ช่วยบริการ

     (๕) ด้วยการเรียนศิลปวิทยาโดยเคารพ คือ เอาจริง เอาจังถือเป็นกิจอันสำคัญของศิษย์

     ครูอาจารย์ ได้รับบำรุงดังนี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์ศิษย์ด้วยสถาน ๕

  • แนะนำ ฝึกฝนให้เป็นคนดี
  • ให้เรียนดี คือ สอนให้เข้าใจแจ่มแจ้ง
  • บอกสอนศิลปวิทยาให้สิ้นเชิง ไม่ปิดบังอำพราง
  • ยกย่องให้เกิดในหมู่คณะเพื่อนฝูง
  • ทำความป้องกันในทิศทั้งหลาย คือ สร้างเครื่องคุ้มกันภัยในทุกทิศ สอนให้รู้จักเลี้ยงตัวรักษาคน ในอันที่จะดำเนินชีวิตให้เป็นไปด้วยดี ไม่ให้อดอยาก
  • ปัจฉิมทิศ ทิศเบื้องหลัง คือ ทิศตะวันตก ได้แก่บุตรภรรยา เพราะ

ติดตามเป็นกำลังสนับสนุนอยู่ข้างหลัง สามีพึงบำรุงภรรยาด้วยสถาน ๕

(๑)  ด้วยยกย่องนับถือให้เกียรติสมกับฐานะที่เป็นภรรยา

(๒)  ด้วยไม่ดูหมิ่น

(๓)  ด้วยไม่ประพฤตินอกใจ

(๔)  ด้วยมอบความเป็นใหญ่ในกิจการงานบ้านให้

(๕) ด้วยให้เครื่องแต่งตัว หาเครื่องประดับมาให้เป็นของขวัญตามโอกาส

ภรรยา ได้รับบำรุงดังนี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์สามีด้วยสถาน ๕

(๑ ) จัดการงานบ้านให้เรียบร้อยดี

(๒)  สงเคราะห์ญาติมิตรฝ่ายสามีและฝ่ายตนด้วยดี

(๓)  ไม่ประพฤตินอกใจสามี

(๔)  รักษาทรัพย์สมบัติที่สามีหามาได้ไว้เป็นอย่างดี

(๕)  ขยันไม่เกียจคร้านในกิจการงานทั้งปวง

๔. อุตตรทิศ  ทิศเบื้องซ้าย  คือ  ทิศเหนือ  ได้แก่มิตรสหายเพราะเป็นผู้ช่วยให้ข้ามพ้นอุปสรรคภัยอันตราย เป็นกำลังสนับสนุนให้บรรลุถึงความสำเร็จ บุคคลพึงบำรุงมิตรสหายด้วยสถาน  ๕

(๑) ด้วยการเผื่อแผ่แบ่งปัน

(๒) ด้วยการเจรจาถ้อยคำไพเราะ คือ พูดจามีน้ำใจ

(๓) ด้วยการประพฤติประโยชน์ คือ การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน

(๔) ด้วยความเป็นผู้มีตนเสมอ คือ ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันได้

(๕) ด้วยไม่แกล้งกล่าวให้คลาดจากความเป็นจริง คือ ซื่อสัตย์จริงใจต่อกัน

มิตรสหาย ได้รับการบำรุงดังนี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์ตอบด้วยสถาน ๕

(๑ ) รักษามิตรผู้ประมาทแล้ว คือ เมื่อเพื่อนประมาทช่วยรักษาป้องกัน

(๒) รักษาทรัพย์ของมิตรผู้ประมาทแล้ว คือ เมื่อเพื่อนประมาทช่วยรักษาทรัพย์สมบัติของเพื่อนไว้

(๓) เมื่อมีภัย เอาเป็นที่พึ่งพำนักได้

(๔) ไม่ทิ้งในยามวิบัติทุกข์ยาก

(๕) นับถือตลอดถึงวงศ์ญาติของมิตร

๕. เหฏฐิมทิศ ทิศเบื้องต่ำ คือ ทิศเบื้องล่าง ได้แก่บ่าว คนรับใช้และคนงาน เพราะเป็นผู้ช่วยทำงานต่างๆ เป็นฐานกำลังให้นายพึงบำรุงด้วยสถาน ๕

(๑ )จัดการงานให้ทำตามความเหมาะสมกับกำลังความสามารถ

(๒) ให้อาคารค่าจ้างรางวัล สมควรแก่งานและความเป็นอยู่

(๓) จัดสวัสดิการดี มีรักษาพยาบาล ในเวลาเจ็บไข้เป็นต้น

(๔) แจกของมีรสแปลกๆ ให้กิน คือ ได้ของแปลกๆ พิเศษมาแบ่งปันให้

(๕.) ปล่อยในสมัย คือ ให้มีวันหยุด และ พักผ่อนหย่อนใจตามโอกาสอันสมควร

บ่าว คนรับใช้ และคนงาน ได้บำรุงนี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์นายด้วยสถาน ๕

(๑ ) ลุกขึ้นทำการงานก่อนนาย

(๒) เลิกการงานทีหลังนาย

(๓) ถือเอาแต่ของที่นายให้

(๔) ทำการงานให้เรียบร้อยและดีขึ้น

(๕) นำเกียรติคุณความดีของนายไปสรรเสริญที่นั้นๆ

๖. อุปริมทิศ ทิศเบื้องบน คือ ทิศเบื้องสูง ได้แก่สมณพราหมณ์ คือ

พระสงฆ์ เพราะเป็นผู้สูงด้วยคุณธรรม และเป็นผู้นำทางจิตใจคฤหัสถ์พึงบำรุงด้วยสถาน ๕

(๑ ) ด้วยกายกรรม คือ ทำสิ่งใด ทำอะไรๆ ก็ทำประกอบด้วย เมตตา

(๒)   ด้วยวจีกรรม คือ พูดสิ่งใดๆ พูดอะไรๆ ก็พูดประกอบด้วย เมตตา

(๓) ด้วยมโนกรรม คือ คิดสิ่งใด คิดอะไรๆ ก็คิดประกอบด้วย เมตตา

(๔) ด้วยความเป็นผู้ไม่ปิดประตูบ้าน มิได้ห้ามเข้าบ้านเรือน คือ ต้อนรับด้วยความเต็มใจ

(๕.) ด้วยให้อามิสทาน คือ อุปถัมภ์ด้วยปัจจัย ๔

สมณพราหมณ์ คือ พระสงฆ์ ได้รับบำรุงนี้แล้วย่อมอนุเคราะห์

คฤหัสถ์ ด้วยสถาน ๖

(๑) ห้ามไม่ให้กระทำชั่ว

(๒) ให้ตั้งอยู่ในความดี

(๓) อนุเคราะห์ด้วยน้ำใจอันงาม คือ ด้วยความปรารถนาดี

(๔) ให้ได้ฟังในสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง

(๕) ทำสิ่งที่เคยฟังแล้วให้แจ่มแจ้ง

(๖) บอกทางสวรรค์ คือ ทางชีวิตที่มีความสุขความเจริญให้

หมายเหตุ

ครู        คือ ผู้สั่งสอน

อาจารย์  คือ ผู้สั่งสอนวิชาความรู้และดูแลความประพฤติ

ศิษย์       คือ นักเรียนผู้รับการอบรม

มิตร     คือ เพื่อน ความมีน้ำใจ เอื้อเฟื้อ รักใคร่ประณีประนอมกัน

สหาย     คือ เพื่อนร่วมสุขร่วมทุกข์

บุญ – บาป

 ก่อนที่จะพูดจะเขียนถึงวิธีทำบุญนั้น  ใคร่จะขอทำความเข้าใจ ถึงเรื่องบุญ–เรื่องบาปเสียก่อนว่า “บุญ-บาป คืออะไร” เพราะเรื่องบุญเป็นเรื่องใหญ่ที่อยู่ ในความคิดคำนึง ต้องการและใฝ่ฝันของพุทธศาสนิกชน เรื่องบาป เป็นเรื่องที่ทุกคนเกียจกลัว และไม่ต้องการให้เกิดขึ้นแก่ตน เมื่อรู้จัก บุญ-บาปแล้วก็จะได้หาวิธีสร้างบุญให้เกิด และละเว้นสิ่งที่เป็นบาปได้โดยถูกต้องและง่ายขึ้น ก่อนอื่นต้องพิจารณาถึงสภาพของจิต ต้องรู้จักจิตเสียก่อนจึงจะรู้จัก บุญ-บาป คนที่ไม่รู้จักจิต จะรู้จักบุญ-บาป ไม่ได้ เพราะว่าบุญและบาปเป็นลักษณะหรือคุณภาพของจิตแยกกันไม่ได้ ไม่เหมือนวัตถุสิ่งของอย่างอื่นที่จะแยกออกไปดูได้ต่างหาก ตัวอย่างเช่นคนกับเสื้อผ้า แยกออกจากกันได้ เพราะแยกแล้วคนก็ยังเป็นตัวคนอยู่ เสื้อผ้าก็ยังเป็นเสื้อผ้าอยู่ ทีนี้เสื้อกับ “ความสะอาด” หรือ “ความสกปรก” ของเสื้อ แยกกันไม่ได้เพราะความสะอาดหรือความสกปรกของเสื้อตัวใด มันก็เป็นอาการของเสื้อตัวนั้น ที่ว่าแยกไม่ได้หมายความว่าถ้าแยกแล้วอีกอย่างหนึ่งจะหายไป ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น เสื้อตัวที่ท่านเพิ่งซื้อมาใหม่ๆมันมี “ความสะอาด” อยู่เต็มที่ครั้นใช้ไปๆ ความสะอาดก็หายไปกลายเป็นเสื้อสกปรก ถ้าจะถามว่า “ความสะอาดที่หายไปนั้น เวลานี้มันอยู่ที่ไหน” ท่านเองก็ตอบไม่ได้ เพราะไม่รู้ไม่เห็นตัว “ความสะอาด” นั้น ถ้าแยกออกจากเสื้อไปแล้วมันก็จะออกไปเลย ความสกปรกก็เช่นกัน ของอย่างนี้แหละข้าพเจ้าบอกว่า “ของแยกกันไม่ได้” เพราะมันเป็นอาการที่แสดงออกจากสิ่งนั้น

ความสะอาดของเสื้อ ก็อยู่กับเสื้อ

ความคมของมีด  ก็อยู่กับมีด

ความสวยงามของคน  ก็อยู่กับคน

ตกลงว่า ถ้าเราจะดูความสะอาดของเสื้อ ต้องดูเสื้อด้วย จะให้แยกเอาแต่ความสะอาดมาให้ดูต่างหาก  เสื้อไม่ต้องเอามาทำไม่ได้  จะดูความคมของมีด  ก็ต้องดูมีดด้วย จะแยกเอาแต่ความคมของมีดมาทำไม่ได้ ความงามของคนก็เช่นกันจะดูความงาม ก็ต้องดูคนด้วยจะแยกเอาแต่ความงามมาดู
ทำไม่ได้ นี่พูดถึงเฉพาะฝ่ายดี ข้างฝ่ายเสียก็เหมือนกัน เช่นความขี้เหร่เราจะแยกความขี้เหร่ไว้ต่างหากแยกคนไว้ต่างหาก ทำไม่ได้ เห็นความขี้เหร่ก็ต้องเห็นคนด้วย ถ้ามันแยกออกจากกันได้เผื่อว่าใครมีรูปร่างขี้เหร่ จะไปขอเจียดความสวยความงามจากคนอื่นได้บ้าง

            บุญ-บาป กับจิตเหมือนกัน ทั้งสองอย่างมีคุณสมบัติของจิต อยากจะรู้จักบาปก็ต้องรู้จักจิตด้วย เมื่อรู้จักจิตแล้วก็รู้จักบุญ-บาป ได้หลายแง่ทีเดียว เช่นว่า บุญ-บาปอยู่ที่ไหน ทำบุญ-ทำบาปไม่ดีอย่างไร ที่ว่าได้บุญได้บาปนั้น ได้อย่างไร ได้เมื่อไหร่ เหล่านี้เป็นต้น เมื่อท่านรู้จักจิตของท่านพอสมควรแล้ว ท่านก็จะตอบได้เอง
            ในตัวเราแต่ละคนนี้ มีธรรมชาติชนิดหนึ่งอาศัยอยู่ซึ่งเรียกกันว่า จิต คนที่ยังมีชีวิตอยู่  มีจิตคนละดวง และเป็นที่ทราบและรับรองกันทั่วไปว่า จิตเป็นผู้ครองร่างกาย เป็นผู้บังคับบัญชาร่างกายให้พูดให้ทำให้เขียนให้อ่าน นอกจากใช้ให้ทำแล้ว ยังเป็นผู้กำหนดลายละเอียดในการทำนั้นด้วย เช่น สั่งให้ปากพูด กำหนดให้ด้วยว่า ให้พูดว่าอย่างไร พูดชมหรือนินทาเขา คำพูดสุภาพหรือหยาบคาย จิตเป็นผู้สั่งทั้งนั้น นอกจากหน้าที่ทางครองร่างกายแล้วจิตยังเป็นศูนย์กลางของความสุขความทุกข์ทั้งสิ้นที่เราได้รับในชีวิตของเรา ความจริงข้อนี้เราเห็นกันอยู่ทั่วไปแล้ว จึงจะไม่ขอพูดมากให้ยาวความ

            เมื่อก่อนที่พระพุทธเจ้าจะมาตรัสรู้ ก็ได้มีคนทั้งหลายคิดถึงเรื่องสุข เรื่องทุกข์ สบายใจไม่สบายใจมากันนมนานแล้ว แต่ทว่าคิดกันเขวไปไม่ได้ผลโดยถูกต้อง เช่นใจตัวไม่สบายก็เข้าใจว่า มีภูตผีปีศาจหรือผู้วิเศษตนหนึ่งขึ้นโกรธ ทำไม่สบายใจ จึงแก้ไขโดยปลอบใจผู้วิเศษนั้นเช่น การฆ่าสัตว์บูชายัญจำนวนร้อยๆ ถ้าเป็นคนบุญหนักศักดิ์ใหญ่ ก็ถึงกับฆ่าคนบูชายัญก็มี เรื่องของเรื่องก็คือจะเอาใจผู้วิเศษเพื่อท่านจะได้รักษา “โรคไม่สบายใจ” ให้แก่ตัว เขาทำกันอย่างนี้มาตั้งแต่โบร่ำโบราณแล้ว

            ครั้นเมื่อพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้แล้ว ทรงค้นพบข้อเท็จจริงและนำออกแสดงแก่ชาวโลก เป็นทัศนะใหม่ ใครจะทำดี ใครจะทำชั่ว ใครจะสุข ใครจะทุกข์ สำคัญที่จิตของคนนั้น คนใจร้าย เวลาทำ เวลาพูด ก็ทำความร้าย พูดคำร้าย คนใจดี เวลาทำ เวลาพูดก็เป็นคำดี มันสำคัญอยู่ที่ใจของเรา เรื่องสุข เรื่องทุกข์เหมือนกัน เมื่อสุขใจ ตัวเรามันก็สุข นั่งอยู่ในกระท่อมโกโรโกโส ก็นั่งหัวเราะได้เมื่อใจสบาย แต่ถ้าทุกข์ใจเสียแล้ว แม้จะอยู่บนกองเงินกองทอง ก็ร้องไห้จะเป็นจะตายได้เหมือนกันสำคัญที่ใจ

            สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังทรงค้นพบข้อเท็จจริงลึกซึ้งลงไปอีก ธาตุแท้จริงทุกดวง เป็นธาตุอย่างเดียวกัน การที่จิตแต่ละดวงมีคุณภาพไปต่างๆกันนั้น หาได้เกิดจากธาตุแท้ของจิตไม่ แต่เกิดจากอำนาจของกิเลสเข้าครอบงำจิตจึงทำให้คุณภาพของจิตเสียหายไปและถ้าปฏิบัติจิตโดยถูกวิธีแล้ว ก็จะสามารถปรับปรุงคุณภาพของจิตให้ดีขึ้นได้ เหมือนคนเป็นไข้จนซูบผอมแล้ว ถ้ารักษาถูกวิธีก็อาจหายไข้ได้และอ้วนพีตามเดิมได้ฉะนั้น

             ตกลงว่าคุณภาพจิตอาจเสียได้ก็ดีได้ก็ได้ เป็นไปได้ทั้งสองอย่าง พูดถึงคำว่า “เสีย” เสียก่อนคำว่า เสีย เป็นคำรวมคือบอกให้รู้ว่าไม่มีความเสียของสิ่งต่างๆ มีหลายอย่าง เช่น ชำรุด ผุพัง แตกหัก บูดเน่า ขาด เปรอะเปื้อน เป็นต้น อาการทั้งหมดนี้ถ้าเราจะพูดคำรวมต้องพูดว่า “เสีย” อาการเสียคุณภาพของจิตก็เหมือนกัน ถ้าจะซอยออกไปอีกก็มีหลายอย่างเช่น เศร้าหมอง อำมหิต ต่ำทราม โหดร้าย เหลวไหล เป็นต้น

            แต่คำว่าเสียของจิตนั้นท่านใช้คำรวมว่า “บาป

            รวมความว่า สิ่งของทั้งหลายเวลาคุณภาพผันแปรไปทางเลวลง เราก็เรียกอาการนี้ว่า “เสีย” ซึ่งเป็นคำรวม บอกว่ามันเลวลง มันใช้ไม่ได้ คำว่า “บาป” ก็เหมือนกันเป็นคำรวมบอกว่าคุณภาพของจิตเลวลง หากจะแปลคำว่า บาป นี้เป็นภาษาไทยแปลได้หลายอย่าง เช่น แปลว่า เลว ลามก สกปรก ทราม เสีย เศร้าหมอง เป็นต้นได้ทั้งนั้น ฉะนั้นขอให้ท่านผู้อ่านโปรดเข้าใจว่า อาการที่จิตแปรสภาพไปข้างเสียนี่เองเรียกว่า “บาป” ที่ว่าทำบาปๆ นั้นก็หมายความว่า ทำให้จิตเสียคุณภาพ ที่ว่าได้บาป ก็คือได้ความเสียเข้ามาไว้ในจิต ว่ามาถึงตรงนี้ท่านก็รู้จัก “บาป” แล้วใช่ไหม?

            ทีนี้ บุญ ก็ตรงกันข้ามกับ บาป ในทางวัตถุสิ่งของ คำที่ตรงกันข้ามกับเสียคือคำว่า ดี คำว่าดี เป็นคำรวมบอกถึงความเจริญขึ้น เช่นคำว่า ใส สะอาด งอกงาม สดชื่น แข็งแรง ทนทาน เป็นต้น  คุณภาพอย่างนี้เราใช้คำรวมๆ ว่าดี ถ้าเป็นคุณภาพของจิตท่านเรียกว่า “บุญ” คำว่าบุญตรงกับคำว่าดีนั่นเอง คือดีตรงกันข้ามกับคำว่าเสีย และบุญตรงกันข้ามกับคำว่าบาป การทำทุกอย่างนี้ที่ทำให้คุณภาพจิตดีขึ้นเรียกรวมๆกันว่า “ทำบุญ”คือว่าที่ได้บุญๆก็คือได้ทำความดีของจิต เพียงเท่านี้ท่านก็รู้จัก “บุญ” แล้วใช่ไหม?

            รวมความว่า ความสูญเสียคุณภาพอันดีของจิตลงไปด้วยอำนาจแห่งกิเลส เรียกว่า บาป ความพัฒนาการขึ้นคุณภาพของจิตเรียกว่าบุญ

            การทำอะไรให้คุณภาพของจิตเสื่อมเสียไป เรียกว่า ทำบาป และการทำให้คุณภาพจิตดีขึ้นเรียกว่า ทำบุญ

            คนที่มีความเสียอยู่ในคุณภาพจิต เรียกว่า คนมีบาป และคนที่ความดีงามอยู่ในคุณภาพของจิตเรียกว่า คนมีบุญ ด้วยเหตุนี้ บุญก็ดี บาปก็ดี จึงเกิดอยู่ในจิต มีอยู่ในใจ สำนวนพูดของชาวบ้านเรา เวลาชมผู้มีบุญเราก็พูดกันตรงๆว่าคนใจบุญ เวลาติเตียนคนบาป เราก็พูดตรงๆว่า “คนใจบาปหยาบช้า” คือว่ากันที่ใจไม่มีใครว่า “คนตาบุญ” หรือ “คนมือบาป” ว่ากันที่ใจเท่านั้น

วิธีทำบุญ

สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรื่องวิธีทำบุญไว้ในคัมภีร์อัฏฐกนิบาต อังคุตรนิกาย ที่เรียกว่า “บุญกิริยาวัตถุ” มีอยู่ ๒ นัย คือ บุญกิริยาวัตถุ ๓ และบุญกิริยาวัตถุ ๑๐

บุญกิริยาวัตถุ ๓

๑.ทานมัย            บุญที่สำเร็จด้วยการให้

๒.ศีลมัย              บุญที่สำเร็จจากการรักษาศีล

๓.ภาวนามัย         บุญที่สำเร็จจากการเจริญสมาธิภาวนา

คำว่า “มัย” ที่ต่อท้ายคำว่า ทาน ศีล ภาวนา นั้น ซึ่งแปลว่า “สำเร็จด้วย” เป็นเพียงคำศัพท์นั้นๆ ให้เป็นคุณบทของคำว่า “บุญ” เท่านั้น เช่นคำว่า ทานมัย บุญสำเร็จด้วยการให้ เป็นต้น

บุญกิริยาวัตถุ ๑๐

            ๑. ทานมัย           บุญที่สำเร็จด้วยการให้

๒. ศีลมัย             บุญที่สำเร็จจากการรักษาศีล

๓. ภาวนามัย        บุญที่สำเร็จจากการเจริญสมาธิภาวนา

๔. อปจายนามัย    บุญที่เกิดจากความอ่อนน้อมถ่อมตน

๕. ไวยยาวัจจมัย    บุญสำเร็จด้วยการขวนขวายช่วยทำกิจชอบ

๖. ปัตติทานมัย     บุญสำเร็จด้วยการให้ส่วนบุญ

๗. ปัตตานโมทนามัย  บุญสำเร็จด้วยการอนุโมทนาส่วนบุญ

๘. ธัมมัสสวยมัย    บุญสำเร็จด้วยการฟังธรรม

๙. ธัมมเทศนามัย   บุญสำเร็จด้วยการเทศน์การสอนธรรม

๑๐.ทิฎฐุชุกัมม์      บุญสำเร็จด้วยการทำความเห็นให้ตรง

ความหมายของคำว่าบุญกิริยาวัตถุ

            คำว่า “บุญกิริยาวัตถุ” เป็นคำสมาส คือหลายคำต่อกันเข้าเป็น
คำเดียว คำสมาสอย่างนี้ถ้าอยากจะทราบความหมายต้องแยกศัพท์ออกดู เช่นคำว่าบุญกิริยาวัตถุ แยกเป็น ๓ คำ คือ

            บุญ        แปลว่า    บุญ

            กิริยา      แปลว่า    ทำ

            วัตถุ       แปลว่า    วิธี

            เมื่อต่อกันเข้าแล้วก็ได้ความหมายตรงตัว คือ

            บุญ +  กริยา + วัตถุ

            บุญ      ทำ       วิธี

            ภาษาบาลี เวลาแปลต้องแปลถอยหลัง ดังนั้น คำว่าบุญกิริยาวัตถุ จึงแปลว่า “วิธีทำบุญ” หมายความว่า บุญ คือความสะอาดของจิต หรือคุณภาพอันดีของจิต เราจะทำเอาได้ด้วยวิธีเหล่านี้ คือให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา และข้ออื่นๆที่เขียนไว้แล้วนั้น นี้เป็นวิธีทำบุญในพระพุทธศาสนา หากจะมีคำถามว่า “ก็การปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนาไม่ใช่เป็นการทำบุญทั้งหมดดอกหรือ”ข้อคำถามนี้ก็ต้องตอบว่าถูกแล้ว การปฏิบัติธรรมะทุกข้อเป็นการทำจิตให้บริสุทธิ์สะอาดโดยตรง ทำให้คุณภาพจิตดีขึ้น การปฏิบัติธรรมะทุกข้อจึงเป็นการทำบุญที่ถูกจุดเลยทีเดียว เมื่ออธิบายอย่างนี้ อาจจะถูกถามอีกว่า “ถ้าอย่างนั้นบุญกิริยาวัตถุก็น่าจะมีมากกว่าสิบอย่าง เพราะเหตุใดพระพุทธองค์จึงตรัสไว้แต่เพียง ๑๐ ข้อเท่านี้” ข้อนี้ควรจะแถลงว่ามีบุญอย่างอื่นๆ แม้จะมีมากเช่นการปฏิบัติธรรมะมีการรัก เอ็นดู สงสาร เป็นต้น ก็รวมลงอยู่ในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ดังที่กล่าวมาแล้วเบื้องต้น

ก็รวมอยู่ในบุญกิริยาวัตถุ ๓ ได้เช่นกัน

            เวยยาวัจจะ

            ปัตติทานะ                 ๓ ข้อนี้เป็นแขนงของทานรวมทานมัย

            ปัตตานุโมทนามัย

            อปจายนะ                  เป็นแขนงของศีล รวมลงในศีลมัย

            ธัมมัสสวนะ

            ธัมเทศนา                  ๓ ข้อนี้เป็นแขนงของภาวนามัย

            ทิฏฐุชุกัมม์

            ดังนั้น การทำบุญโดยวิธีอย่างอื่นนอกเหนือจาก ๑๐ วิธีที่กล่าวมานี้ แม้จะมีมากอย่าง ก็ขอเป็นปลีกย่อย ที่อาจจะรวมลงใน ทาน ศีล ภาวนา นี้คล้าย ๆ กับ ทาน ศีล ภาวนา เป็นหัวหน้าสาย

ความอธิบายบุญกิริยาวัตถุ

คำว่า “บุญกิริยาวัตถุ” นี้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยา วชิรญาณวโรรส ทรงแปลไว้ว่า “เหตุเป็นที่ตั้งแห่งการบำเพ็ญบุญ เรียกว่า บุญกิริยาวัตถุ” ซึ่งแปลง่ายๆเอาใจความชัดว่า “วิธีทำบุญ” จะได้อธิบายตามลำดับไป

วิธีทำบุญลำดับที่ ๑ ทาน

            คำว่า “ทาน” คือการให้อันเป็นวิธีทำบุญลำดับที่ ๑ นี้มีประเด็นที่จะต้องอธิบายมาก แต่ข้าพเจ้าจะอธิบายแบบผนวก คือ รวมมาอธิบายเป็นเรื่องๆ ที่ผู้อ่านจำเป็นจะต้องทราบเช่น

  • ความมุ่งหมายของการให้ทาน
  • ข้อที่ควรทราบ และ
  • ผลของทาน
  • ทาน คือการให้นี้มีความมุ่งหมายอยู่ ๒ อย่างคือ
  • ทาน การให้เพื่อบูชาคุณ หรือเพื่อฟอกกิเลสในใจของผู้ให้
  • ทาน การให้เพื่อมุ่งการสงเคราะห์ผู้รับ

การให้วัตถุสิ่งของหรือปัจจัยเป็นต้นแก่บุคคลผู้มีอุปการคุณแก่ตน มีมารดา,บิดา,ครูอาจารย์ หรือผู้มีพระคุณแก่ตนก่อนเป็นต้น ได้ชื่อว่าให้เพื่อบูชาคุณโดยตรง ให้แก่พระสงฆ์เป็นได้ทั้งบูชาคุณและเพื่อกำจัดกิเลส คือมัจฉริยะเป็นต้น การให้แก่ผู้ยากจน คนขอทาน หรือแม้แต่สัตว์ดิรัจฉานได้ชื่อว่า ให้เพื่อการสงเคราะห์ มุ่งให้ผู้รับได้ประโยชน์

            เมื่อพูดถึงการมุ่งหมายในการบำเพ็ญทานสองอย่างทำให้นึกถึงสำนวนพูดของชาวบ้านที่ว่า “ทำบุญทำทาน” เวลาให้แก่พระเรียกทำบุญ แต่การให้กับคนยากจนเรียกว่าทำทาน ทำไมจึงใช้ต่างกันเช่นนี้ แม้จะเป็นเพียงสำนวนพูดของชาวบ้าน ซึ่งเป็นเรื่องของภาษาพาไป แต่ครั้นพิจารณาตามหลักธรรมะแล้ว รู้สึกว่าสำนวนนี้ช่างเหมาะเจาะเหลือเกิน คือการให้มีอยู่สองความมุ่งหมายดังกล่าวแล้ว การให้แก่พระ ผู้มุ่งหมายเพื่อชำระจิตของตนให้สะอาดเป็นสำคัญ มิได้ถือว่าพระท่านยากจนเราจึงให้ มิใช่อย่างนั้น บางทีพระท่านเป็นถึงเจ้าคุณหรือสมเด็จ เจ้าภาพถวายเพียงผ้าสบงหนึ่งผืนและดอกไม้ธูปเทียนเท่านั้น ซึ่งของอย่างนี้กุฏิท่านก็มีเยอะแล้ว แต่ผู้ถวายก็มิได้เอาฐานะของท่านมาเป็นเกณฑ์พิจารณาว่าท่านมีแล้วหรือไม่ แต่เอาจิตใจขอตัวเองเป็นเกณฑ์เกิดศรัทธาต้องการบุญจึงให้ การให้ในลักษณะนี้เป็นการมุ่งทำจิตของตัวเองให้บริสุทธิ์ สะอาด การทำจิตบริสุทธิ์สะอาดเช่นนี้ ทางธรรมะเรียกว่าทำบุญ และเป็นการทำความสะอาดจิตตรงตัว ทั้งพระสงฆ์นั้น พุทธศาสนิกชนก็นิยมเรียกว่าเป็นบุญเขต คือเนื้อนาบุญ ดังนั้น สำนวนที่เรียกการให้ของพระสงฆ์ว่า“ทำบุญ”นั้นจึงชอบด้วยเหตุผลในทางปฏิบัติดีแท้
            ส่วนการทำบุญแก่คนยากจน เช่นการให้แก่ขอทาน เจตนาของผู้ให้มีเพียงผิวเผินกว่าให้พระ คือเห็นเขาจนแล้วเกิดความสงสาร ทนสงสารไม่ไหวจึงให้ทรัพย์เขา เป็นการช่วยเหลือแก้ความจนให้แก่เขา การให้เพื่อสงเคราะห์อย่างนี้ ผู้ให้มิได้มุ่งหมายเพื่อชำระกิเลสอะไรหนักหนา เพียงเกิดความสงสารก็เลยให้บางทีไม่ได้สงสารเสียด้วยซ้ำ เกิดความรำคาญก็เลยให้ เพื่อแก้รำคาญ การให้ประเภทนี้ เจตนาของผู้ให้สุดอยู่แค่ให้เท่านั้น แต่คำว่าให้ๆนี้ภาษาบาลีก็ใช้คำว่า “ทาน” เหมือนกันชาวบ้านจึงใช้สำนวนพูดว่า ทำทาน แม้คนขอทานเองเวลาเขาร้องขอทาน เขาก็บอกว่า “เชิญทำทานเจ้าข้า คุณนายเจ้าขา” อย่างนี้นับว่าเขาใช้สำนวนถูกต้องดี

            รวมความว่า วัตถุประสงค์ของการให้ทานมีอยู่สองอย่างคือ ให้เพื่อฟอกกิเลสในใจของเรากับให้ทานเพื่อช่วยสงเคราะห์แก่ผู้รับทั้งสองอย่างนี้เป็นบุญด้วยกันทั้งนั้น

  • ข้อควรทราบในการบำเพ็ญทาน

ข้อที่ท่านผู้อ่านควรจะทราบในการบำเพ็ญทาน นั้น มีอยู่ ๒ อย่างคือ

  • ทานสมบัติ
  • ทานวิธี

            การทำทานจะบังเกิดผล คือ บุญมากน้อยเพียงใดหรือไม่ มีหลักที่เราจะต้องใส่ใจอยู่ ๓ หลัก เรียกว่าทานสมบัติ คือ

  • วัตถุ
  • เจตนา
  • บุคคล

            ทั้งสามข้อนี้ท่านผู้อ่านจะต้องจำไว้ให้ดีเมื่อจำได้และเข้าใจความหมายแล้วต่อไปจะวินิจฉัยได้เองว่า ทำทานอย่างไรจึงจะได้บุญมาก

ก.วัตถุ

            หมายถึง สิ่งของที่จะให้ บางทีก็เรียกเต็มศัพท์ว่า ทานวัตถุ แปลว่า ของสำหรับทานในบาลีแสดงทานวัตถุไว้ ๑๐ อย่างคือ

๑.  อนฺนํ             ข้าว  หมายถึงอาหาร

๒.  ปานํ              น้ำดื่ม  เช่น  น้ำหวาน  บ่อน้ำ  ถังน้ำ

๓. วตฺถํ              ผ้า  เช่น  ผ้านุ่ง  ผ้าห่ม  ผ้าเช็ดตัว

๔.  ยานํ              ยานพาหนะ เครื่องอุปกรณ์การไป  เช่น  ร่ม  รองเท้า  ถนน  สะพาน

๕.  มาลา            ดอกไม้  ต้นไม้ดอก  ต้นไม้ใบ

๖.  คนฺธํ              ของหอม  เครื่องกำจัดกลิ่นชั่ว

๗.  วิเลปนํ           เครื่องตบแต่ง  เช่น  ธงทิวและเครื่องย้อมเครื่องทา

๘.  เสยฺยา           ที่นอน  ที่อยู่  เช่น  เสื่อ  หมอน  มุ้ง

๙.  วสถํ              ที่พัก  เครื่องรับรอง  ศาลา  ม้านั่ง

๑๐.ปทีเปยฺยํ        ประทีป  ธูป  เครื่องแสงสว่าง 

ทานวัตถุ  ๑๐  อย่างนี้  เป็นเกณฑ์พิจารณาในขั้นแรกว่าของที่ควรให้ มีอะไรบ้าง เมื่อรู้จักของที่ควรแล้ว ยังต้องรู้จักกาลที่ควรให้ด้วย เช่นจะถวายอาหารแก่พระ จะต้องถวายในช่วงที่ท่านฉันได้ เป็นต้น นอกจากนี้แล้ว การจัดของถวายพระ จะต้องยึดหลักปัจจัยสี่เป็นเกณฑ์ คือ ๑ จีวร หมายถึงผ้าที่จะต้องใช้นุ่งห่มทุกชนิด ๒ บิณฑบาต หมายถึง อาหารเลี้ยงชีพ ๓ เสนาสนะ หมายถึงที่อยู่อาศัย รวมทั้ง ตู้,โต๊ะ,เก้าอี้ เป็นต้น ๔ คิลานเภสัช หมายถึงยารักษาโรคทุกชนิด สิ่งของเหล่านี้ท่านแสดงไว้พอเป็นตัวอย่าง แม้ของอื่นที่เป็นประโยชน์แก่การบำเพ็ญสมณะธรรมของพระสงฆ์ ก็ให้ถือว่าเป็นวัตถุทานด้วย เช่น หนังสือเรียน เครื่องเขียน เป็นต้น อนึ่งของที่เราเตรียมไว้ถวายพระ นอกจากเรียกวัตถุแล้ว ยังมีอีกคำหนึ่งที่เราใช้กันมากคือคำว่า ไทยทานหรือไทยธรรม ทั้งคำนี้หมายถึงของที่จัดเตรีมไว้ถวายพระเช่น “วัตถุทาน”
            สิ่งของทำบุญนั้น จะต้องเป็นของที่เราหาได้ด้วยความสุจริต ไม่ใช่ลัก ปล้น ฉ้อโกงใครมา จึงเป็นวัตถุทานอันประเสริฐทำบุญแล้วได้บุญมาก

ข เจตนา

            เจตนาคือความตั้งใจทุกครั้งทุกคราวที่เราตั้งใจ จิตจะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นตามมากตามน้อยของเรื่องความตั้งใจ ตัวความตั้งใจนี้แหละเรียกเจตนา เจตนาในการให้ทานนั้นเรียกกันเต็มที่ว่าจาคะเจตนา ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่จะเกิดความสะอาดแห่งจิต ที่เรียกว่าได้บุญ การทำทานนั้นมีวัตถุที่ให้จะมีมากและดีวิเศษแค่ไหนถึงพระผู้รับจะเป็นผู้บริสุทธิ์หรือจะเป็นเจ้าฟ้าเจ้าคุณชั้นไหนก็ตาม ถ้าเจตนาของผู้ให้ทานไม่ดีเสียอย่างเดียว ก็ได้บุญไม่เต็มที่ หรืออาจไม่ได้เลยก็ได้ เหมือนเราอยากได้ความสะอาดของเสื้อผ้า แม้ว่าสบู่ดี มีน้ำสะอาด แต่เราไม่ได้ซักอย่างถูกวิธี สักแต่ว่าจับๆวางๆ ไม่ฟอกให้ถึงที่เราก็จะไม่ได้ความสะอาดของผ้าอย่างเต็มที่อยู่นั่นเอง ฉะนั้น เวลาที่เราจะให้ทานก็ต้องเจตนาว่า “เราจะทำบุญ คือ ทำจิตของเราให้บริสุทธิ์จากกิเลส” ตั้งใจอย่างนี้แล้วจึงจะตรงเป้าหมายส่วนการตั้งใจผิดฉะนั้น เช่น

            ทำบุญเพื่อให้คนทั้งหลายรู้ว่าเราใจบุญ

            ทำบุญเพื่อหาเสียง

            ทำบุญเพื่อผูกไมตรีกับพระ

            ทำบุญเพื่อความสนุกเฮฮา

            ทำบุญเพื่อญาติพี่น้องเอาเงินมาลงขัน

            ทำบุญเอาของขวัญของช่วย

            ตั้งใจอย่างนี้ไม่ตรงเป้าหมาย บุญเกิดในใจได้น้อย หรืออาจไม่ได้เลย ดีนะ ดีอยู่ บ้างแต่ดีน้อย

เจตนา ๓ กาล

            เจตนาในการให้ทานที่ถือว่าบริสุทธิ์เต็มที่นั้น จะต้องบริสุทธิ์ครบทั้ง ๓ กาล คือ
            ๑. ปุพพเจตนา หมายถึง เจตนาก่อนที่จะให้ เช่นตั้งใจว่าพรุ่งนี้เราจะทำบุญเลี้ยงพระ ในระหว่างเตรียมการก่อนจะถึงเวลาเลี้ยงจริง ช่วงนี้ก็รักษาเจตนาให้บริสุทธิ์ผุดผ่อง มิให้เศร้าหมองด้วยเหตุใดทั้งสิ้น

  • มุญจนเจตนา หมายถึงเจตนาขณะที่ให้ เช่น ในขณะที่เราเลี้ยง

พระก็มีใจเอิบอิ่ม ยินดี ไม่ยอมให้จิตโมโหโทโสตลอดเวลา

  • อปราปรเจตนา หมายถึง เจตนาหลังจากที่ได้ให้ทานแล้ว เช่น

หลังจากทำบุญเลี้ยงพระแล้วก็มีจิตเอิบอิ่ม ยินดีในทางของตน

            อย่างนี้จึงได้ชื่อว่าเจตนาบริสุทธิ์ทั้ง ๓ กาล ได้บุญเต็มที่ คือจิตได้ความสะอาดเต็มที่

            บางคนถูกเขาชักชวนให้ร่วมบุญ ตัวเองไม่เต็มใจ แต่ขัดไม่ได้จึงร่วมทำบุญไปอย่างนี้เป็นต้น เรียกว่า เสียปุพพเจตนา 
            บางคนทำบุญ เช่น กำลังเลี้ยงพระอยู่ มีคนมาทำให้เสียอารมณ์ เช่นตำหนิเขาว่า ของอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่ควรนำมาถวายพระ หรือของน้อยไป มากไป หรือทำให้โกรธในขณะนั้นด้วยเหตุใด ก็ตาม อย่างนี้เรียกว่า เสียบุญจนเจตนา
            บางคนทำบุญสุนทานเต็มที่ เสร็จงานบุญแล้วรู้ว่าเงินทองหมดเปลืองไปมาก กลับคิดเสียดาย บ่นกะปอดกะแปด อย่างนี้ เรียกว่า เสีย อปราปรเจตนา

รวมความว่า เจตนาทั้ง ๓ กาล เป็นหลักสำคัญในการวินิจฉัยผลบุญ เศรษฐี บริจาคเงินแสนเงินล้านทำบุญ แต่อาจได้บุญน้อยกว่าคนยากจนที่ทำบุญด้วยข้าวทัพพี เดียวก็ได้ ก็เพราะได้เปรียบเสียเปรียบกันในทางเจตนานี้เอง

ค. บุคคล

 บุคคล หมายถึง บุคคล ๒ ฝ่ายที่เกี่ยวกับทานนั้นคือ ๑. ผู้ให้
๒. ผู้รับ ผู้ให้ ภาษาทางศาสนาเรียกว่าทายก ผู้รับเรียกว่า ปฏิคาหก ทั้งสองคำนี้มีใช้กันมากในสำนวน ของพระ ท่านผู้อ่านต้องจำไว้ให้ดี ถึงแม้ว่าเจตนาจะดี วัตถุจะดี แต่ถ้าบุคคลไม่ดี ผลทาน ก็ไม่เต็มที่ ดังนั้นผู้ที่เกี่ยวข้องกับทานจะต้องดีด้วยกันทั้งสองฝ่าย

ทายก ผู้ให้ต้องเป็น ผู้มีศีล มีธรรม ฉะนั้น ก่อนถวายทาน จึงมีประเพณีรับศีลก่อน

ปฏิคาหก ผู้รับ คนนี้สำคัญมาก และสำคัญยิ่งกว่าผู้ให้เสียด้วย แม้พระพุทธ องค์ก็ทรงตรัสย้ำแล้วซ้ำอีก ให้เรารู้จักเลือกปฏิคาหก คือให้เลือก ทำบุญกับพระสงฆ์ ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบด้วยสิกขาวินัย และตรัสเปรียบเทียบ ไว้ว่า นาที่ไม่ดีมีหญ้าขึ้น รกรุงรังปลูกข้าวก็ได้ข้าวน้อย นักบวชที่ไม่ตั้งใจปฏิบัติในสิกขาวินัยก็เหมือนนาที่เต็ม ด้วยหญ้า ถึงทำบุญมากก็ได้บุญน้อย การทำบุญกับนักบวชที่ทุศีล ก็เท่ากับเราให้กำลัง แก่ผู้ผิด ให้มีกำลังที่จะเหยียบ พระศาสนาให้ล่มจมเร็วเข้า และการให้แก่บุคคล เช่นนี้ย่อมเป็นการยากมากที่ทายกจะทำเจตนาให้บริสุทธิ์ทั้ง ๓ กาลได้ พระพุทธองค์ เมื่อตรัสสอนพุทธบริษัท ทำบุญด้วยการให้แล้ว จึงตรัสสำทับไว้อีกว่า  

วิเจยุย ทานํ สุคตปปสตฺถํ 

การเลือกให้ อันพระสุคตเจ้าสรรเสริญแล้ว

สรุปว่า การบำเพ็ญทานนั้น เราจะต้องพยายามทำให้ทานของเราประกอบด้วย สมบัติ ๓ อย่าง คือ ๑ วัตถุ ๒ เจตนา ๓ บุคคล ทั้ง ๓ นี้เรียกว่า ทานสมบัติ คือ ลักษณะทานที่สมบูรณ์แบบตามหลักการที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้แล้ว

๒. ทานวิธี

วิธีบำเพ็ญทานนั้น เมื่อถือหลักเจตนาเป็นที่ตั้ง ก็แบ่งออกเป็น ๒ วิธี คือ

๑. ปาฏิปุคคลิกทาน ให้โดยเจาะจงพระผู้รับ

๒. สังฆทาน ให้โดยไม่เจาะจงพระผู้รับ

            ปาฏิปุคคลิกทาน ให้เจาะจงบุคคล หมายถึง ผู้เป็นเจ้าภาพเจาะจงเพราะ จะนิมนต์มารับไทยทาน เช่น เราจะทำบุญบ้านเลี้ยงพระ ๙ รูป เราเจาะจงว่า นิมนต์พระรูปนั้น ๆ เจ้าคุณนั้น พระครูนั้น ท่านมหานี้ หลวงตาโน้น เป็นต้น เจาะจงนิมนต์ อย่างนี้ เรียกว่า ปาฏิปุคคลิกทาน

สังฆทาน เจ้าภาพไม่เจาะจงพระรูปนั้นรูปนี้ เวลาจะนิมนต์พระก็ไปที่วัด เข้าไปหาสมภาร หรือไปหาพระเจ้าหน้าที่ผู้จัดการเรื่องกิจนิมนต์ของวัด ซึ่งเรียกตามศัพท์ ทางพระวินัยว่า พระ “ภัตตุทเทสก์” เรียนกับท่านว่า “กระผมจะทำบุญจึงขอพระสงฆ์ ไปรับเทยยทาน ๙ รูป” เสร็จแล้วทางวัดท่านจะจัดไปให้ตามจำนวนที่ต้องการ และ ไม่เลือกรูปนั้นรูปนี้ จัดให้ตามลำดับที่มาถึง เมื่อท่านจัดพระมาให้จะเป็นรูปใดก็ตาม เจ้าภาพก็พึงยินดีถวายทานแก่ท่าน อย่างนี้เรียกว่า สังฆทาน ปาฏิปุคคลิกทาน กับสังฆทานนั้น ต่างกันโดยเจตนา การให้ทานเจาะจงผู้รับ ทายกมีเจตนาแคบ หรือใจแคบ ส่วนสังฆทานนั้น ผู้ให้มีเจตนากว้างเผื่อแผ่มาก ไม่เห็นแก่ที่รักที่ชัง เพราะเหตุนั้น พระพุทธองค์จึงทรงสรรเสริญสังฆทาน ว่ามีผลมากกว่า ปาฏิปุคคลิกทาน

ทีนี้พูดถึงของที่ถวายพระ การถวายโดยปาฏิปุคคลิกทานนั้น ของทั้งหมด ตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่พระรูปที่เราถวายนั้น ท่านจะใช้เองหรือจะให้ใครไปก็ได้ ไม่ผิด วินัย ส่วนของที่ถวายเป็นสังฆทาน แบ่งเป็นสองอย่าง ของใดที่เป็นลหุภัณฑ์ เช่นของผม กินของใช้ที่ไม่ถาวร พระรูปที่รับนั้นย่อมมีสิทธิ์ในของนั้นทุกประการ ส่วนของใดที่เป็น ครุภัณฑ์ คือของใช้ที่ถาวร ย่อมตกเป็นของ สงฆ์ พระรูปนั้นจะใช้ก็ได้ แต่ต้องใช้ในฐานะ เป็นของสงฆ์ (คือยืมสงฆ์ใช้) จะยกให้แก่ใครไม่ได้ ตัวอย่างเช่น เราถวายสังฆทาน โดย จัดอาหารใส่ใน
กาละมัง หรือถังสังกะสี เป็นต้น ถวายพระไป พระที่รู้พระวินัย ท่าน ก็จะฉันอาหารนั้น ส่วนภาชนะที่ใส่ไปมีกาละมัง เป็นต้น ท่านก็จะส่งเข้าห้องสังฆภัณฑ์ ไป (คือห้องเก็บของของสงฆ์) พระที่รู้วินัยจะปฏิบัติต่อของสงฆ์อย่างนี้

. ผลของทาน

ผลโดยตรงของการให้ทานนั้น คือการทำจิตให้บริสุทธิ์ สะอาด ปราศจากการ รบกวนของกิเลส ดังได้บรรยายมาแล้วเบื้องต้น นอกจากนั้นยังมีผลที่เกิดแก่ผู้ให้ใน ปัจจุบันดังพระมาลีว่า ทท์ มิตตานิ คนฺถติ แปลว่า ผู้ให้ย่อมผูกมิตรไมตรีไว้ได้ ททํ ปิโย โหติ ภชนฺติ นํ พหู แปลว่า ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก คนหมู่มากย่อมคบเขา ททโต ปุญญํ ปวฑฒติ บุญของผู้ให้ย่อมเจริญฯ แม้ในอนาคตคือในชาติต่อไป ผลของทาน ยังบันดาลให้ผู้ที่ได้รับความสุขดัง
พระมาลีว่า  ปุพเพ ทานาทิกํ กตฺวา อิทานิ ลภตี สุขํ แปลว่า บุคคลให้ทานเป็นตันในปางก่อน ย่อมได้สุขในบัดนี้ ฯ อนึ่งผู้ให้ทานยังสามารถส่งผลของทานให้แก่ญาติ ๆ ที่ตายไปแล้วได้อีกด้วย ดังพระมาลีว่า

ยถา วาริวหา ปูรา ปริปูเรนฺติ สาครํ

เอวเมว อิโต ทินฺนํ เปตานํ อุปกปฺปติ

แปลว่า ห้วงน้ำที่เต็ม ย่อมยังสาครให้เต็มได้ฉันใด ทานที่ให้แต่โลกนี้ ย่อม สำเร็จแก่ผู้ละไปแล้ว ฉันนั้นแล ฯ

ข้อนี้มีคำสอนทางพระศาสนาเป็นเครื่องยืนยัน คือมีพระสูตรอยู่สูตรหนึ่งชื่อ “ชาณุโสณิสูตร” เป็นสูตรที่บันทึกคำโต้ตอบเรื่องนี้ ระหว่างพราหมณ์คนหนึ่งกับ พระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าขอนำมาเสนอโดยสังเขป เรื่องมีอยู่ว่า พราหมณ์คนหนึ่ง ชื่อว่า สาณุโสณิ เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้วทูลถามว่า “ข้าแต่พระโคดม พวกข้าพระองค์นี้ เป็นพราหมณ์ นิยมให้ทาน แล้วปรารถนาว่า “ขอให้ทานนี้จงสำเร็จผล แก่ญาติพี่น้อง ผู้ล่วงลับไปแล้ว” ดังนี้จึงขอทูลถามว่า พวกญาติพี่น้องที่ตายไปแล้วเหล่านั้น เขาจะได้ รับผลทานหรือไม่?”    
            ตรัสตอบว่า “พราหมณ์ ถ้าเขาอยู่ในฐานะที่ควรจะได้รับเขาก็ได้รับ แต่ถ้า เขาอยู่ในฐานะที่ไม่ควรจะได้รับ เขาก็ไม่ได้รับ” พราหมณ์ซักว่า “ข้าแต่พระโคดม ถ้า เช่นนั้น ฐานะไหนบ้างควรได้รับ และฐานะไหนบ้างไม่ควรได้รับ” ตรัสตอบว่า “พราหมณ์คนบางคนในโลกนี้ กระทำการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ทำผิดประเวณี โป้ปด พูดจาหยาบคาย ส่อเสียด ยุยง พูดสำรากเหลวไหล มีใจละโมบ เพ่งเล็งทรัพย์ของคนอื่นเขา ผูกพยาบาทเขา เห็นผิดทำนองคลองธรรม ครั้นสิ้นชีพแล้ว ย่อมตกนรก เสวยผลกรรมที่ทำไว้เป็นอาหาร สัตว์ผู้เกิดในนรกนั้นไม่อาจที่จะได้รับผลทานที่ญาติมิตรอุทิศ ไปให้ นี้เป็น  อะฐานะที่ ๑ (คือเป็นฐานะที่รับผลทานที่มีผู้อุทิศไปให้ไม่ได้)

            บางคนทำบาปกรรมเช่นนั้นแล้ว ตายไปตกนรกแล้ว พ้นจากนรกมาเกิดเป็น สัตว์เดรัจฉาน หากินหญ้าและใบไม้ตามประสาสัตว์ แม้ญาติมิตรจะอุทิศผลบุญไปให้ ก็ไม่ได้รับ นี้เป็นอะฐานะที่ ๒

บางคนเมื่อยังมีชีวิตสร้างบุญกุศลพอประมาณ ตั้งมั่นในมนุษยธรรม ครั้น สิ้นชีพแล้ว ก็กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก แล้วก็ทำมาหากินอย่างมนุษย์
ผู้เกิดเป็นมนุษย์ เช่นนี้ แม้ญาติมิตรจะอุทิศส่วนกุศลไปให้ ก็ไม่ได้รับ นี้เป็น
อะฐานะที่ ๓

บางคนในชาตินี้ ทำบุญกุศลไว้มาก สิ้นชีพแล้วไปเกิดในสวรรค์ เป็นเทวบุตร เทพธิดา เสวยแต่ของทิพย์ แม้ญาติมิตรอุทิศส่วนกุศลไปให้ ก็ไม่ถึงไม่ได้รับ นี้เป็น อะฐานะที่ ๔

ส่วนคนบางคนในโลกนี้ มีจิตเจือด้วยบาป กระทำแต่อกุศล มีปาณาติบาต (การฆ่าสัตว์) เป็นต้น ครั้นตายแล้วไปเกิดเป็นเปรต (หรือตายแล้วไปตกนรกพ้น จากนรกแล้ว มาเกิดเป็นเปรต) อด ๆ อยาก ๆ อาศัยผลทาน ที่ญาติมิตรอุทิศไปให้ จากโลกนี้จึงอยู่ได้ เปรตจำพวกนี้เรียกว่า “ปรทัตตูปชีวีเปรต” จำพวกเปรตนี้เท่านั้น อยู่ในฐานะที่จะได้รับผลทานที่ญาติอุทิศให้ฯ

พราหมณ์ทูลถามต่อไปว่า “ข้าแต่พระโคดม ถ้าสมมติว่าญาติสายโลหิตของเรา แม้แต่คนเดียวก็ไม่มีไปเกิดเป็นเปรตเลยแล้วใครจะเป็นผู้รับผลของทานที่เราอุทิศ ไปนั้น” ตรัสตอบว่า “พราหมณ์ ถึงญาติสายโลหิตจะไม่มีญาติชั้นอื่น (ไม่ถึงกับสาย โลหิตแต่เป็นเพื่อนสนิทมิตรสหาย) ก็ยังมีและจะเป็นผู้รับผลทานนั้น” พราหมณ์ยัง ทูลถามต่อไปอีกว่า “ถ้าสมมติว่าญาติ
ชั้นใด ๆ ก็ไม่มีเลยแม้แต่คนเดียว ใครจะรับ ผลทานนั้นละ ท่านพระโคดม ตรัสตอบว่า “พราหมณ์เอ๋ย เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่มีญาติ พี่น้องของเราไปตกอยู่ในฐานะเช่นนั้นแม้แต่คนเดียว อย่างที่ท่านว่า แต่เอาเถอะถึง จะไม่มีใครรับผลทานที่เราอุทิศไปให้นั้นเลยตัวเราผู้ทำก็ไม่ได้ผล” นี้เป็นพระดำรัสสุดท้ายของพระพุทธองค์ฯ
            จากใจความในชาณุโสณิสูตรนี้ สรุปได้ว่า ฐานะที่สัตว์ผู้ไปเกิดในที่นั้นแล้ว อาจจะได้รับผลบุญที่ญาติอุทิศให้มีอยู่ฐานะเดียวเท่านั้น คือผู้ที่เกิดเป็น ปรทัตตูปชีวีเปรต และถ้าแม้ว่าไม่มีผู้ใดรับผลบุญนั้นเลย ผู้ทำบุญเองก็ได้รับผลบุญนั้นเต็มที่อยู่แล้ว ฯ

ความรู้เบ็ดเตล็ดเกี่ยวกับทาน
            ทานแบ่งตามสิ่งที่ให้มี ๒ อย่าง คือ
            ๑. อามิสทาน ให้สิ่งของต่าง ๆ 
            ๒. ธรรมทาน ให้ธรรม เช่น แสดงธรรม สอนธรรม อบรม ตักเตือน เป็นต้นๆ มีพระพุทธวจนะว่า สพพทานํ  ธมฺมทานํ  ชินาติ ธรรมทาน ย่อม
(มีผล) ชนะทาน ทั้งปวงฯ
            ทานแบ่งตามพฤติการณ์ของทายกมี ๒ ชั้น คือ

         ๑. ทาสทาน ให้อย่างดูหมิ่น ดูหมิ่นของทาน หรือดูหมิ่นปฏิคาหก ผู้รับ ทำเหมือนให้แก่คนใช้

        ๒. สหายทาน ให้โดยขาดคารวะ ถือเสียว่าแบ่งปันให้ปฏิคาหกได้กินได้ใช้ คือ ตีเสมอ เหมือนให้แก่เพื่อนฝูง

         ๓. สามิทาน ให้ด้วยความเคารพ คือ เคารพต่อไทยทานด้วย เคารพต่อปฏิคาหกด้วย เข้าในลักษณะเทิดทูนให้เหมือนให้แก่ผู้เป็นนายฯ ใน ๓ อย่างนี้ สามทาน เป็นทานอันประเสริฐ มีผลมากฯ

ทานแบ่งตามบารมี ๓ ชั้น คือ

๑. ชั้นต่ำ ทานปารมี หมายถึง การให้สรรพวัตถุ ดังได้กล่าวแล้ว

๒. ชั้นกลาง ทานอุปปารมี หมายถึง การให้ของหวงแหน ของรักเสมอด้วย ชีวิต เช่นให้บุตร ภรรยา ดังทานของพระเวสสันดร

๓. ชั้นสูง ทานปรมัตถบารมี หมายถึง การให้ชีวิต คือยอมสละชีวิตของตน เพื่อให้ผู้อื่นได้รับประโยชน์

ทั้งหมดที่ว่ามานี้ เป็นการอธิบายวิธีทำบุญในเรื่องการให้ทานโดยสังเขป จะขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ก่อน ยังมีวิธีทำบุญที่จะต้องอธิบายข้างหน้าอีกมากฯ

วิธีทำบุญลำดับที่ ๒ ศีล

              การทำบุญด้วยการบำเพ็ญทานที่กล่าวมาแล้วเบื้องต้นนั้น เป็นการลงทั้งทุน ทั้งแรง ถ้าทำทานเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ลงทุนน้อยใช้แรงน้อย เช่นจะทำบุญตักบาตรพระ ตอนเช้าสักสองสามองค์ ก็ลงทุนลงแรงเพียงเล็กน้อยก็สำเร็จได้ ถ้าจะเลี้ยงพระสัก เก้าองค์สิบองค์ ก็เพิ่มค่าใช้จ่าย เพิ่มการลงแรง ขวนขวายมากขึ้น จะทำบุญทอดกฐิน สักกอง ค่าใช้จ่ายและการลงแรงก็ยิ่งเพิ่มขึ้น ตามลำดับของงานที่เล็กใหญ่ เรียกว่า ลงทั้งทุนทั้งแรง แต่การทำบุญลำดับที่ ๒ นี้ เป็นการลงแรงอย่างเดียว คนที่ไม่มีทรัพย์ เลยแม้แต่สตางค์เดียวก็ทำได้ ถึงเป็นการลงแรงก็ไม่มีการขุดแบกหามให้เหนื่อยกาย อะไร เป็นเพียงการตั้งใจรักษาศีลเท่านั้น การรักษาศีลนั้น โดยความหมายในทางปฏิบัติเป็นการเว้นจากการกระทำที่ไม่ดี คือมีเจตนา (ตั้งใจ) งดเว้นจากการกระทำที่ไม่ดีนั้น ฆ่ากันก็ไม่ดี ลักกันกินก็ไม่ดี ผิดลูกเขาเมียเขาก็ไม่ดี โกหกกันก็ไม่ดี กินเหล้าเมายา ทำให้เสียสตางค์ก็ไม่ดี เป็นต้น การรักษาศีลก็คือการงดเว้นจากการกระทำที่ไม่ดีเหล่านี้เสีย บรรดาการกระทำที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าไม่ดีนั้น บางที บางคน อาจจะไม่เห็น ด้วย เพราะสภาพจิตของเขายังมืดมัวอยู่ หรือจิตยังมีอาการผิดปรกติ เพราะถูกกิเลส ครอบงำ ไม่ต้องอื่นไกลดูแค่ว่าคำพูดหยาบคายต่าง ๆ หรือคำด่าว่าเจ็บ ๆ แสบ ๆ พระสอนว่าไม่ดีและถ้าใจเขาอยู่ในสภาพปรกติ เขาก็เห็นด้วย รู้สึกว่าขยะแขยงที่จะพูด จะฟังคำหยาบคาย แต่ที่นี้ถ้าใจเขาตกอยู่ในอำนาจความโกรธ คือกำลังโกรธจัด คำหยาบ ๆ คาย ๆ ที่เคยรังเกียจก็ไม่รังเกียจเสียแล้ว ยืนพูดปาว ๆ ได้อย่างสบาย บางทีถึงกับตะโกนด่ากันสุดเสียง ข้างถนนหนทาง เด็กมุงดูกันออกแน่นก็ยังไม่รังเกียจ
สักนิด อย่างนี้ท่านผู้อ่านก็คงเคยเห็น มาแล้วใช่ไหม? พระท่านตรัสสอนว่า ฆ่าสัตว์ ไม่ดี พวกชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยก็มีแยะ บางคนเห็นด้วยเฉพาะบางอย่าง เช่น เห็นว่าฆ่าคนเท่านั้นไม่ดี ฆ่าสัตว์เดียรฉานไม่เป็นไร บางคนเห็นว่า ฆ่าสัตว์เดียรฉานที่มีคุณไม่ดี สัตว์เดียรฉานนอกนี้ไม่เป็นไร บางคนเห็นว่าแม้สัตว์
อื่น ๆ ที่มันไม่ทำอันตรายแก่เราก็ไม่ควรฆ่า ส่วนพวกที่มันทำอันตรายเราฆ่าได้ อย่างนี้เป็นต้น ทำไมคนเหมือนกันจึงมีความคิดเห็นไม่เหมือนกัน ก็เพราะ
พื้นเพจิตใจของแต่ละคนไม่เท่ากัน ใครที่ใจสะอาดมาก แม้ความชั่วเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็มองเห็นได้ แต่ใครที่มีใจสกปรกมืดมิด แม้ความผิดจะมากก็มองไม่เห็น เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นท่านผู้อ่านจะต้องไม่ลืมว่า พระพุทธเจ้านั้นพระองค์มีพระทัยบริสุทธิ์ สะอาด ยิ่งกว่าพวกเรา ๆ หลายแสนหลายล้านเท่า ท่านจึงทรงเห็นอะไรได้ละเอียดถี่ถ้วนกว่าพวกเรามาก เราจึงควรจะหันมาปรับปรุงพื้นเพจิตใจของเราให้เขยิบขึ้นไปหาท่าน แล้วเราก็จะเห็นได้อย่างท่านฯ

ประเภทของศีล

ประเภทหรือจำนวนของศีลที่เราจะต้องรักษาตามภาวะของแต่
ละคนเพื่อให้ เกิดบุญกุศลนั้น มี ๔ ประเภท คือ

ก. ศีล ๕ สำหรับคฤหัสถ์รักษา

๑. ปาณาติปาตา เวรมณี งดเว้นจากการฆ่าสัตว์

๒. อทินนาทานา เวรมณี งดเว้นจากการลักทรัพย์

๓. กาเมสุ มิจฉาจารา เวรมณี งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม

๔. มุสาวาทา เวรมณี งดเว้นจากการพูดปด

๕. สุราเมรยมัจชปมาทัฏฐานา เวรมณี งดเว้นจากการดื่มน้ำเมา

ข. ศีล ๕ สำหรับคฤหัสถ์ผู้ปฏิบัติเคร่งครัดสูงขึ้นไป

คือห้ามอย่างศีล ๕ นั้นด้วย และข้อ ๓ ของศีล ๕ เปลี่ยนเป็น อพรหมจริยา เวรมณี งดเว้นจากกรรมอันเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์ ข้อ ๔, ๕ เหมือนศีล ๕ และเพิ่มมาอีก ๓ ข้อคือ
            ๖. วิกาลโภชนาเวรมณี งดเว้นการ การบริโภคอาหารในเวลาอันผิด ข้อต่อไปประมวลศีล ๒ ข้อเข้าด้วยกันรวมเป็นข้อที่
            ๗. นัจจะ คีตะ วาทิตะ วิสูกะ ทัสสนะ มาลา คันธะ วิเลปะนะ ธารณะ มัณฑะนะ วิภูสะนัฏฐานา  เวรมณี งดเว้นจากดูฟ้อนรำ ขับร้อง และประโคมเครื่องดนตรี บรรดา เป็นข้าศึกแก่กุศล และอันทัดทรงตกแต่งประดับประดาร่างกาย ด้วยดอกไม้และของ หอม และเครื่องลูบไล้ให้เกิดยั่วยวนต่าง ๆ

๘. อุจจาสยนะ มหาสยนา  เวรมณี งดเว้นจากที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่ ภายในใส่นุ่นและสำลี ฯ

ค. ศีล ๑๐ สำหรับสามเณรรักษา คือ

ห้ามอย่างศีล ๕ นั้นด้วย แต่ขยายข้อที่ ๗ ออกเป็น ๒ ข้อ และเพิ่มเข้ามา อีก ๑ ข้อ ดังนี้

๗. นัจจะคีตะวาทิตวิสูกะทัสสะนา เวรมณี  งดเว้นการฟ้อนรำ
ขับร้อง ประโคมเครื่องดนตรี

๘. มาลาคันธะวิเลปะนะธาระณะมัณฑะนะวิภูสะนัฏฐานา เวรมณี งดเว้นการการทัดทรงระเบียบดอกไม้  ของหอม เครื่องลูบไล้  เครื่องประดับตกแต่งร่างกาย

๙. อุจจาสะยะนะมะหาสะยะนา  เวรมณี งดเว้นจากการนอนที่นอนอันสูงและใหญ่ ภายในใส่นุ่นและสำลี

๑๐. ชาตะรูปะระชะตะปะฏิคคหะนา  เวรมณี งดเว้นจากการรับเงินทองมาเป็น ของตัวเอง

ฆ. ศีล ๒๒๗ อันเป็นศีลของพระภิกษุ ซึ่งเริ่มต้นห้ามตั้งแต่ ศีล ๑๐ ข้อ ที่กล่าวมาแล้วนี้ด้วย และข้อที่ทรงบัญญัติเป็นสิกขาบทเพิ่มเติมมาอีก ตามที่ภิกษุกระทำ ผิดจนรวมได้ ๒๒๗ ข้อ เริ่มตั้งแต่ที่มีโทษเบาถึงหนักที่สุดฯ

การรักษาศีล คือรักษาปรกติ

คำว่า ศีล แปลว่าปรกติ ที่ว่า “รักษาศีล” ๆ นั้น ก็คือตั้งใจรักษาปรกติของตนนั้นเอง ทีนี้ต้องทำความเข้าใจเรื่องปรกติก่อน แล้วจะเข้าใจเรื่องรักษาศีลได้ดีขึ้น ทุกสิ่งทุกอย่างมันมีความปรกติของมันอยู่ทั้งนั้น เช่น  
            ดวงอาทิตย์ ขึ้นทางทิศตะวันออกเวลาเช้า ส่องแสงสว่างตลอดวันแล้วหาย ไปทางทิศตะวันตกในเวลาเย็น การขึ้น การส่องแสง และการหายลับไปอย่างนี้ เป็น ปรกติของดวงอาทิตย์ เพราะพระอาทิตย์ได้เป็นอย่างนี้อยู่ทุกวี่ทุกวัน ถ้าดวงอาทิตย์ เกิดมีอันเป็นไปอย่างอื่น นอกจากนี้เช่นทุกวันเคยขึ้นทางด้านตะวันออก แต่นี่โผล่ขึ้น ทางด้านตะวันตก กลางวันเคยส่องแสง แต่กลับไม่ส่องแสง อย่างนี้เป็นต้นเรียกว่า ผิดปรกติ 
            ฤดูฝน ตามปรกติต้องมีฝนตก ถ้าถึงฤดูฝนแล้วเกิดฝนไม่ตก
ก็เรียกว่า ผิด ปรกติของฤดู 
            ปรกติของคนต้องหายใจเข้าออก การกลั้นลมหายใจเป็นการผิดปรกติ 
            ปรกติของอวัยวะทุกส่วนต้องใช้งานได้เรียบร้อย หูต้องใช้ฟังได้
ตาต้องใช้ ดูได้ ถ้าหูเกิดฟังไม่ได้ยิน ตาดูอะไรไม่เห็น ก็เรียกว่าผิดปรกติ

              เกี่ยวกับสถานการณ์ทั้งหลาย ความสงบเรียบร้อยเป็นความปรกติ ดังที่เรา พูดกันว่า “เหตุการณ์ปรกติ” ทีนี้ถ้าเกิดโจรปล้น เกิดจลาจลวุ่นวาย หรือเกิดไฟไหม้ ก็เรียกว่า ผิดปรกติ ที่ยกเอาความปรกติของสิ่งต่าง ๆ มาเล่าในที่นี้ก็เพื่อให้ท่านผู้อ่าน เข้าใจและจับใจความได้ว่า คำว่า ปรกติๆ นั้น หมายความว่าอย่างไร ได้พูดไว้แล้วว่า การรักษาศีลนั้นก็คือการรักษาปรกติของตนเอง ลองยกมาพิจารณาดูซิว่า ข้อห้ามในศีลทั้ง ๕ ข้อนั้น มันตรงกันข้ามกับปรกติของคนใช่ไหม? ขอให้เราช่วยกันหยิบยกขึ้นมาพิจารณาดูทีละข้อซิ
            การฆ่ากับการไม่ฆ่า อย่างไหนเป็นปรกติของคน? แน่นอนปรกติของคนไม่ฆ่ากัน ถ้าการฆ่าเป็นปรกติของคน ตัวเราเองก็อาจโดนคนอื่นฆ่าตายไปนานแล้ว เท่านี้ก็เห็นได้แล้วว่าปรกติของคนต้องไม่ฆ่ากัน ส่วนการฆ่ากันเป็นการทำผิดปรกติ โดยนัยนี้ การรักษาศีลข้อที่ ๑ คือ ตั้งใจไม่ฆ่า ก็คือการตั้งใจอยู่ในปรกติเดิมของตนนั่นเอง
            การขโมยกับการไม่ขโมยละ อย่างไหนเป็นปรกติของคน? ตอบได้แล้วใช่ไหม? การไม่ขโมยนั่นแหล่ะเป็นปรกติของคน ปรกติของคนต้องทำมาหากินในทางสุจริต ไม่ใช่แย่งกันกิน ลักกันกิน โกงกันกิน ไม่เหมือนไก่ ไก่นั้นถ้าหากินด้วยกันตั้งแต่สองตัวขึ้นไปมันต้องแย่งกันกิน ตัวหนึ่งคุ้ยเขี่ยหาอาหาร อีกตัวหนึ่งแอบขโมยจิกกิน ประเดี๋ยวตัวที่คุ้ยก็ตีตัวที่ขโมย ปรกติของไก่เป็นแบบนี้ ไม่เหมือนปรกติของคนถ้าใครเกิดแย่งกันกิน ขโมยกันกิน ก็ผิดปรกติของคน แต่ไพร่ไปอยู่ในปรกติของไก่ การรักษาศีลข้อ ที่ ๒ คือ ตั้งใจไม่ขโมยของคนอื่น ที่แท้ก็คืออยู่ในปรกติเดิมของตนนั่นเอง

              เกี่ยวกับประเวณี ปรกติของคนย่อมหวงแหนประเวณี และเห็นอกเห็นใจ คนอื่นในเรื่องนี้ ไม่เหมือนพวกเดียรฉาน ที่ต้องเสพส่ำส่อน เพราะปรกติของมันเป็น อย่างนั้น เราเป็นคนก็ต้องอยู่ในปรกติของคน คือไม่ล่วงเกิน ประเวณี การรักษาศีล ข้อที่ ๓ จึงเป็นการตั้งใจอยู่ในปรกติของตนเหมือนกัน ฯ
            เกี่ยวกับการพูด ตามปกติเราพูดความจริงกันเป็นพื้นไม่ใช่โกหกกันเรื่อย ฉะนั้น การรักษาศีลข้อที่ ๔ คือตั้งใจงดเว้นการเท็จ ที่แท้ก็คงอยู่ในปรกติเดิมของตนนั่นเอง

            เกี่ยวกับการดื่มสุรา คนเราไม่ใช่ว่าจะต้องดื่มสุราอยู่เรื่อยไป เพราะแม้คนที่ติดสุราขนาดไหน ก็คงทำไม่ได้ ใครขืนทำก็ตาย ปกติของคนคือดื่มน้ำบริสุทธิ์ ไม่ใช่ดื่มเหล้า ส่วนการดื่มเหล้าเป็นการทำผิดปกติ ฉะนั้น การรักษาศีลข้อที่ ๕ คือเว้นจากการดื่มสุรา ก็เป็นการอยู่ในปกติเดิมของตนอีกแหละ

ศีล-วัตร

บางท่านอาจจะสงสัย ในข้อที่ว่า   “การรักษาศีลเป็นการรักษาปรกติหรืออยู่ในปรกติเดิม”  แต่เหตุไฉนศีล ๘ ศีล  ๑o จึงห้ามในสิ่งที่เป็นปรกติอยู่แล้ว เช่น ห้ามเสพเมถุน และห้ามรับประทานอาหารในเวลาเย็น เพราะปรกติของมนุษย์ก็ต้องเสพกามและต้องกินอาหารจะไม่ค้านกับที่อธิบายมาแล้วหรือ ? ข้อชี้แจงว่า ศีลที่รักษาปรกตินั้น มุ่งเอาศีลห้าโดยตรง ส่วนศีลชั้นสูง เลยศีลห้าขึ้นไป มีลักษณะความหมายต่างจากศีลห้า เป็นการปฏิบัติเคร่งครัดยิ่งขึ้นเข้าลักษณะเป็น “วัตร” ท่านผู้อ่านคงจะเคยได้ยินคำว่า “ ศีลวัตร ” หรือ “ ศีลพรต ”หรือคำว่า “บำเพ็ญพรต” คำว่า “พรต” กับคำว่า “วัตร” เป็นคำเดียวกัน หมายถึงข้อปฏิบัติ เพื่อฝึกฝนตัวเองให้สามารถถอนใจจากกามารมณ์ได้ทีละน้อยๆ เป็นทางนำไปสู่การละกิเลสได้เด็ดขาดต่อไป ข้อปฏิบัติในขั้นวัตร เป็นการฝืนปรกติของคนยิ่งวัตรชั้นสูงขั้นพระภิกษุยิ่งฝืนปรกติเอามากทีเดียว เช่น เรื่องกาม ศีลพระ ห้ามอย่างศีลแปดนั้นด้วย ห้ามถูกต้องร่างกายหญิง ห้ามจับต้องของเนื่องด้วยกายหญิง ห้ามพูดเกี้ยวหญิง ห้ามพูดเคาะหญิง ห้ามนั่งนอนในที่มุงบังอันเดียวกับหญิง ห้ามอยู่ในลับหูลับตากับหญิง ถ้าไม่มีผู้ชายอยู่เป็นเพื่อน ห้ามพูดกับหญิงเกิน ๖ คำ ฯลฯ

         ท่านผู้อ่านลองสังเกตดูความหมายแห่งข้อห้ามตามที่เรียงไว้นี้ดูเถอะ จะเห็นได้ว่าเริ่มต้นจริงๆ เพียงห้ามผิดลูกผิดเมียเขาเท่านั้น แล้วก็ค่อยๆ เคร่งครัดเข้าเรื่อยจนกระทั่งว่า ถ้าไม่มีผู้ชายที่รู้เดียงสาอยู่ด้วย พูดกันได้เพียง ๖ คำเท่านั้น การที่วางข้อห้ามรัดตัวหนักเข้าโดยลำดับอย่างนี้ ก็เพื่อถอนจิตออกจากราคะให้เข้าสู่นิพพานตามแนวทางของพุทธศาสนา

ศีลทำให้เกิดบุญ

            ก่อนจะจบเรื่องศีล ควรจะพิจารณาตรงนี้หน่อย คือ ข้อที่ว่า รักษาศีลได้บุญได้อย่างไร ได้ขึ้นตรงจุดไหน เราต้องศึกษากันด้วยเหตุผล ไม่ใช่นึกเอาเฉยๆ ว่า “ถ้าทำตามที่พระว่าแล้วบุญจะงอกขึ้นมา หรือเลื่อนมาจากฟากฟ้า ไม่ใช่อย่างนั้น”         

        การรักษาศีล เป็นการทำบุญโดยตรง ทำใน ๒ ลักษณะ คือ

         ๑. เป็นการรักษาบุญเก่า และ

         ๒. เป็นการสร้างบุญใหม่

            ที่ว่ารักษาบุญเก่านั้น หมายความว่า ศีลเป็นเครื่องกีดขวางกิเลส
มิให้กำเริบขึ้น ซึ่งจะทำให้บุญคือความสะอาดแห่งจิตของเราลดลง

            ท่านผู้อ่านย่อมจะทราบอยู่แล้วว่า จิตของสามัญชน คือคนธรรมดาอย่างเราๆ ท่านๆ นี้ถ้าดูกันในเชิงปฏิบัติธรรมแล้ว จิตก็คือสนามรบระหว่างกิเลส กับธรรมะนั้นเอง เราต้องการธรรมะคือ ความถูก ความดี ความขาวสะอาด ความบริสุทธิ์ผุดผ่อง ซึ่งรวมเรียกว่า บุญ เราต้องการสิ่งนี้ แต่ขณะเดียวกัน กิเลสก็พยายามบุกรุกเข้ามายึดครองจิตของเรา  ทำให้เรามีงานอย่างหนึ่งที่ต้องทำอยู่ตลอดเวลา คืองานต่อสู้กับกิเลส ก็เหมือนรบกับข้าศึกภายนอกอย่างนั้นเอง ถ้าเรายังตีโต้ไม่ได้ก็ต้องยับยั้งการรุกคืบหน้าของข้าศึกไว้ก่อน ตรึงข้าศึกไว้กับที่ก่อนรบกับกิเลสเหมือนกัน เมื่อยังทำลายล้างมันยังไม่ได้ ก็ต้องยับยั้งการลุกลามของกิเลสไว้ก่อน การรักษาศีลก็คือวิธีการยับยั้งการลุกลามของกิเลสนั้นเอง

          กิเลสมันจะกำเริบได้ ก็เพราะได้แสดงฤทธิ์เดชออกมาตามเรื่องของมัน เช่น กิเลส โลภะ ซึ่งค่อยดลใจให้เราอยากลักขโมยเอาทรัพย์ของผู้อื่น ยิ่งเราลักได้ โกงได้เท่าไหร่ มันก็ยิ่งกำเริบเท่ากับเราให้น้ำให้ปุ๋ยแก่มันเอง หรือกิเลสโทสะ มันให้มีอันอยากทำลายคนอื่น ยิ่งเราฆ่าเราทำลายคนอื่น มันก็ยิ่งกำเริบใหญ่ เหมือนให้เชื้อแก่ไฟ ไฟก็ยิ่งได้ใจ หรือกิเลสโมหะ มันปกคลุมใจให้ลุ่มหลงอยู่แล้วยิ่งไปยุ่งกับสุรานารีจนไม่มีขอบเขต โมหะมันก็ยิ่งทับถมหนักเข้าไปอีก การที่กิเลสลุกลามหนักขึ้นนั้นก็หมายความว่า บุญ คือความบริสุทธิ์สะอาดแห่งจิต ซึ่งเรามีเป็นทุนอยู่เดิม ได้ถูกรุกรานถูกทำลาย ให้เหลือน้อยเข้า อย่างไรต่อไป ?

           ทีนี้การรักษาศีล คือการเว้นจากการทำชั่ว ตามที่พระตรัสไว้นั้นเป็นการกำจัดขอบเขตกิเลสไม่ให้กำเริบต่อไป และเป็นการยับยั้งการรุกของกิเลสไว้ได้ เหมือนตรึงข้าศึกไว้กับที่แล้วตัดทางเสบียงเสียด้วย ซึ่งเป็นประโยชน์ในการบดขยี้ให้แหลกรานต่อไป ทหารที่ยั้งข้าศึกไว้ ไม่ให้โอกาสข้าศึกรุกคืบหน้า ย่อมได้ชื่อว่า เป็นผู้รักษาประเทศของฝ่ายตนไว้ได้ด้วยคนรักษาศีล ไม่ให้โอกาสแก่กิเลสรุกคืบหน้า ก็ย่อมได้ชื่อว่า เป็นผู้รักษาบุญเก่าของตนไว้ได้เหมือนกัน

          ประเด็นที่สอง ที่ว่าเป็นการสร้างบุญใหม่นั้น ความสังเขปว่า การรักษาศีลนั้น สำเร็จอยู่ที่เจตนา คือตั้งใจ ตั้งใจงด ตั้งใจไม่ทำผลเกิดขึ้นตรงจุดที่เราตั้งใจนี้แหละความตั้งใจเกิดขึ้นในใจดวงใด ก็ฟอกใจดวงนั้นให้สะอาดขึ้น ทุกครั้งที่ตั้งใจ แม้เพียงขณะจิตใจเดียวก็เกิดผล จิตจะมีการเปลี่ยนแปลงสภาพของจิตเอง ทุกครั้งที่มีการตั้งใจ ถ้าตั้งใจทำชั่ว จิตก็จะเลวลง ถ้าตั้งใจทำดี จิตก็ดีขึ้น ผุดผ่องขึ้น การตั้งใจรักษาศีลนั้นเป็นการตั้งใจทำความดีอย่างหนึ่ง และมีผลทำให้จิตผุดผ่องขึ้น การที่จิตเกิดความผุดผ่องนั้นแหละ เรียกว่า “ได้บุญ” คนรักษาศีลได้บุญอย่างนี้

วิธีทำบุญลำดับ ๓ ภาวนา

           คำว่า ภาวนา เป็นคำที่พูดกันติดปากของชาวพุทธ ความเข้าใจของชาวบ้าน เข้าใจว่า คำว่า ภาวนา หมายถึงการนั่งขัดสมาธิหลับตา แล้วก็ว่าคำบริกรรมที่เรียกว่านั่งภาวนา การเข้าใจอย่างนี้ก็ถูกอยู่ไม่ผิด แต่ว่าถ้าเข้าใจเพียงเท่านี้มักจะทำให้ท้อใจไม่อยากภาวนา แล้วก็พากันเหมาเอาว่า เรื่องจำศีลภาวนาเป็นงานของคนแก่ เข้าวัด เข้าวาแล้ว ถ้าหนุ่มๆสาวๆเกิดไปสนใจกับการภาวนาเข้าบ้าง ก็มักจะถูกเพ่งเล็งว่าเป็นคนอกหักมาแล้วที่จริงศัพท์ว่า ภาวนาเป็นศัพท์ธรรมะศัพท์หนึ่ง ที่รวมความหมายซาบซึ้งอย่างที่สุด คือมีความหมายทั้งเบื้องต่ำเบื้องสูงแต่คนไปมองแต่ที่สูงสุดยอดก็เลยท้อใจเสียก่อน เพราะคิดว่าภาวนา ไม่มีความจำเป็นสำหรับชีวิตของผู้ครองเรือน

ภาวนา ๔ ความมุ่งหมาย

            ก่อนที่จะทำความเข้าใจความหมายของคำว่า ภาวนา ในวิธีทำบุญนี้ว่ามีความหมายอย่างไร ได้โปรดอ่านและพิจารณาคำแปล คัมภีร์อรรถกถา ดังต่อไปนี้ ดู

“……เจตนาของบุคคลผู้พิจารณาไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็ดี เจตนาของผู้ได้ฌานก็ดีเจตนาอันประกอบด้วยวิจัยงานและศึกษาศิลปวิทยาก็ดี เรียกว่า บุญกิริยาวัตถุอันสำเร็จด้วยภาวนา”

            จากคำแปลของพระอรรถกถาจารย์ที่ยกมานี้ ท่านจะเห็นได้แล้วว่า การบำเพ็ญภาวนานั้น มีความหมายเป็นชั้น ๆ มิใช่เรื่องนั่งหลับตาภาวนาเท่านั้น ความในอรรถกถานั้น ท่านจัดลำดับจากบนลงมาล่าง คือว่าตั้งแต่วิปัสสนาลงมาหางานธรรมดา ถ้าจะศึกษาอย่างแบบไทย ๆ ควรจะเรียงลำดับเสียใหม่ เป็น คำว่า ภาวนา นั้น หมายถึง งานเหล่านี้คือ

            ๑. การศึกษา

            ๒. การทำงานด้วยการพินิจพิเคราะห์

            ๓. การทำจิตให้สงบ ( เรียกว่า สมถภาวนา)

            ๔. การพิจารณาไตรลักษณ์ (เรียกว่า วิปัสสนาภาวนา)

            ความหมายทั้งสี่นี้ ข้าพเจ้าถอดใจความจากคำแปลอรรถกถานั่นเองคือตั้งข้อที่ ๑  จากปลาย ย้อนคืนไปหาต้น โปรดเทียบหัวข้อที่ข้าพเจ้าเรียงไว้ กับคำแปลอรรถกถาดูอีกที จะได้เข้าใจวิธีสรรค์ธรรมะ จากสำนวนวัดมาเป็นสำนวนบ้านให้เข้าใจง่ายๆ

            ตกลงเราจับความได้ว่าการทำบุญด้วยการภาวนานั้น หมายถึง ทำในสี่อย่างนี้ ซึ่งโดยหลักการแล้ว ภาวนาเป็นเครื่องแก้โมหะ พูดง่ายๆ คือ เป็นวิธีแก้โง่ ทำใจให้หายโง่ให้ฉลาดขึ้นเรียกสั้น ๆ ว่า ภาวนา และความหมายที่พระอรรถกถาจารย์ให้ไว้ก็ตรงกับวัตถุประสงค์อย่างเหมาะเจาะทีเดียว

ขอขยายความอีกสักนิดจะได้เลิกล้มความคิดความเข้าใจที่ว่า “ภาวนาเป็นงานของคนแก่” นั้นเสียที เพราะความจริงภาวนาเป็นงานของคนที่ต้องการความฉลาดทุกคนทีเดียว

              ๑. การศึกษา

              ความหมายอันดับแรกของภาวนาคือการศึกษาความรู้เข้าตัว เช่น

  • เรียนหนังสือ
  • อ่านหนังสือ
  • ฝึกฝน
  • ฟังเทศน์
  • ฟังปาฐกถา
  • ไปดูงาน
  • ไปชมศิลปวัตถุ
  • นำตนไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี
  • สนทนาหาความรู้
  • ถามเอาความรู้
  • แต่งหนังสือ
    ฯลฯ

การทำในสิ่งเหล่านี้ เป็นการอบรมตนให้ฉลาดขึ้น ให้หายโง่ (กำจัดโมหะ) เป็นส่วนหนึ่งของภาวนา

            ๒. การทำงานด้วยการพินิจพิเคราะห์      

คือ หมายความว่า ทำด้วยเหตุผล ใช้ปัญญาพิจารณาด้วยตรงกับลักษณะเหล่านี้

  • รู้จักเลือกทำแต่งานที่เป็นประโยชน์
  • รู้จักวางแผนงานให้เหมาะเจาะ
  • รู้จักปรับปรุงงานให้ดีขึ้น
  • รู้จักค้นคว้าทำงานให้ก้าวหน้า
  • รู้จักตรวจตรางาน
  • รู้จักทำงานถูกกาลเทศะ
  • รู้จักทำงานให้ถูกต้อง ฯลฯ

            การทำงานอย่างนี้เป็นการทำด้วยปัญญา ไม่ใช่ทำด้วยความโง่ ทำ

อย่างนี้ยิ่งทำมากเข้าจิตใจยิ่งฉลาดและผ่องใส เป็นส่วนหนึ่งของการบำเพ็ญภาวนา

            ท่านเห็นแล้วใช่ไหมว่า สองความหมายที่ว่ามานี้ เป็นประโยชน์แก่ผู้

ครองเรือนเพียงใด ภาวนา เหมาะแก่ชีวิตหนุ่มสาวหรือไม่ ? ท่านตอบเองได้แล้วใช่ไหม ?

           ต่อไปนี้เป็นความหมายชั้นสูงขึ้นไป

            ๓. การทำจิตให้สงบ

            ๔. การพิจารณาไตรลักษณ์

            สองหลักนี้จะต้องอธิบายควบกัน เพราะเป็นงานต่อเนื่องกัน จะว่างานงบเดียวกันเลยก็เห็นจะไม่ผิด เหมือนการเคี้ยวอาหารแล้วกลืนลงท้อง เคี้ยวกับกลืนมันต่อเนื่องกัน จึงขอว่าต่อกันเลย

            ในหัวข้อหมายเลข ๓ การทำจิตให้สงบ ตรงกับภาษาธรรมะว่าสมถะและ หมายเลข ๔ การพิจารณาไตรลักษณ์ ก็ตรงกับคำว่า วิปัสสนา

            จะได้อธิบายสมถะกับวิปัสสนา พอเป็นแนวทางที่ท่านผู้อ่านจะได้ค้นคว้า ต่อไป

     สมถะ

            หมายถึงการทำจิตให้สงบ คือ จิตของเรานี้ ปล่อยไว้ตามปกติมันฟุ้งซ่านคิดโน่นคิดนี่อยู่ตลอดเวลา เรียกว่าคิดขึ้นเหนือล่องใต้ ดำดินบินบน ไม่หยุดนิ่งเอาเสียเลย ดูจิตเราเองก็รู้ การที่จิตฟุ้งซ่านอย่างนี้ เสียหายหลายอย่าง คือทำงานเอาดีไม่ค่อยได้ พลั้ง ๆ เผลอ ๆ ถ้าฟุ้งซ่านขณะกำลังเขียนหนังสือ ก็เขียนตกๆ หล่นๆ ถ้าฟุ้งซ่านในขณะกำลังใช้ความคิด ก็คิดไม่เป็นเรื่อง และถ้าเกิดฟุ้งซ่านในเวลาจะหลับจะนอน ก็เลยนอนไม่หลับเอาทีเดียว นี่ทางหนึ่ง ผลเสียเพราะจิตฟุ้งซานที่ร้ายแรงอีกอย่างหนึ่ง คือ การที่จิตฟุ้งซ่านไปตามอารมณ์ต่างๆ นั้น จิตมีโอกาสที่จะเศร้าหมองลงได้มาก เหมือนเด็กที่ซุกซนมาก เนื้อตัวสกปรกมาก เที่ยวเปื้อนโน่นเปื้อนนี่หนักเข้าก็ดูไม่ได้ทางพระพุทธศาสนา มีความมุ่งหมายโดยตรงในการฝึกจิตให้บังเกิดผลและฟอกจิตให้บริสุทธิ์สะอาด ด้วยการใช้สติปัญญาพิจารณาถึงความจริง แต่การที่จะทำความบริสุทธิ์แก่จิตนั้น มีความจำเป็นที่ต้องทำให้จิตหยุดฟุ้งซ่านเสียก่อน เมื่อจิตหยุดฟุ้งซ่านแล้วจะอบรมสั่งสอนจิตอย่างไรจึงค่อยทำ เหมือนเด็กซุกซนเที่ยววิ่งพล่าน ถ้าพ่อแม่จะอาบน้ำให้ ต้องทำให้เด็กหยุดวิ่งเสียก่อน พอเด็กหยุดวิ่งแล้วจึงตรวจดูว่าในตัวเด็กนั้น ตรงไหนเปื้อนอะไร แล้วค่อยล้างค่อยขัดสีให้สะอาด จิตเหมือนกันถ้าจะทำให้บริสุทธิ์ ขั้นแรกต้องทำให้นิ่งก่อนการทำให้จิตสงบนิ่งอยู่ในอารมณ์อันเดียวนี้แหละเรียกว่า

ทำสมถะ

            วิธีทำสมถะ นั้นจะไม่อธิบายในที่นี้ เพียงแต่จะชี้แนวทางการปฏิบัติให้ท่านผู้อ่านทราบว่า ส่วนมากของผู้ทำสมถะ จะใช้วิธีนั่งขัดสมาธิ ตั้งตัวตรง มือทั้งสองวางไว้ที่ตัก เอามือขวาทับมือซ้ายปล่อยส่วนต่างๆ ของร่างกายให้เลือดลมเดินสบายด้วยการนั่งตัวตรงแล้วนึกบริกรรม หรือพิจารณา ตามอารมณ์ของสมถะ ๔๐ อย่างๆ ใดอย่างหนึ่งคือ กสิณ ๑๐ อนุสสติ ๑๐ อสุภะ ๑๐ พรหมวิหาร ๔ อรูปสมาบัติ ๔ อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ จตุตธาตุววัฎฐาน ๑ เรียกว่า อารมณ์ของสมถะกรรมฐาน หรือบางแห่งก็สอนให้ผู้ปฏิบัติ บริกรรมคำว่า “พุทโธ” อย่างเดียว ซึ่งทั้งหมดนี้จะทำให้จิตเลิกฟุ้งซ่านไปทางอื่น มาจดจ่ออยู่กับคำบริกรรมนั้นอย่างเดียว เรียกว่า จิตเป็นสมาธิ สำนวนของนักปฏิบัติ เรียกกันว่า “จิตรวมลงเป็นหนึ่ง” นี่ว่าไว้เพียงตัวอย่าง วิธีอื่นๆยังมีอีกหลายวิธีฯ

วิปัสสนา

            เมื่อจิตสงบตามวิธีการของสมถะแล้ว ในขณะนั้นเอง คือขณะที่จิต

กำลังสงบนั้น ผู้ปฏิบัติก็เริ่มใช้ปัญญาพิจารณาไตรลักษณ์ คือพิจารณาถึงความจริงของสังขารทั้งปวง ซึ่งมีลักษณะ ๓ อย่างคือ

            ๑. เป็นของไม่เที่ยงแท้แปรสภาพ ที่เรียกว่า อนิจฺจํ

            ๒. เป็นของที่ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ที่เรียกว่า ทุกฺขํ

            ๓. เป็นของที่อยู่นอกเหนือการบังคับบัญชาของใคร ๆ ที่เรียกว่า อนตฺตา

            การพิจารณาให้เห็นตามความเป็นจริงทั้ง ๓ อย่างนี้ ให้แจ่มแจ้งในจิตของตน เรียกว่า วิปัสสนาฯ

            การบำเพ็ญสมถะ และวิปัสสนา เป็นวิธีการสร้างความสะอาดแก่จิตโดยตรงเป็นบุญกิริยาวัตถุแท้ จุดสำคัญที่สุด คือการพิจารณาไตรลักษณ์ เมื่อเห็นความจริงแก่ใจแล้ว สรรพสิ่งต่าง ๆ รวมทั้งตัวเราด้วย ล้วนแต่ตกอยู่ในลักษณะ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เช่นนี้แล้ว จิตจะคลายความยึดมั่นในตัวตน เพราะยึดมั่นถือมั่นในตัว “ตน” นี้เอง ความโลภ ความโกรธจึงเกิดขึ้น ที่โลภก็โลภเอามาให้ “ตน” ที่โกรธก็เพราะขัดใจที่เขามาทำไม่ดีแก่ “ตน” เข้าคุกเข้าตาราง ตกนรกอเวจีก็เพราะ “ตน” วิปัสสนา ก็คือการใช้ปัญญาเข้าไปวิจัยใน “ตน” จนเห็นความจริงว่า สิ่งที่เรายึดถือว่า “ตน” นั้น ความจริงมันเป็นอนัตตา คือไม่ใช่ “ตน” เมื่อ “ตน” ถูกละลายออกไปแล้ว ความโลภก็ไม่มี ความโกรธก็ไม่มี ความหลงก็ไม่มี เพราะไม่รู้จะไปมีที่ไหน ทำไม ในเมื่อ “ตน” ไม่มีเสียแล้ว ท่านผู้อ่านโปรดสังเกตว่า จุดนี้แหละที่เป็นจุดละกิเลสได้เด็ดขาดของผู้ปฏิบัติฯ

วิธีทำบุญลำดับที่ ๔ อปจายนะ   หมายถึงความประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตน ต่อบุคคลผู้เจริญที่สุดในตระกูล หรือว่าสถานที่ที่ควรสักการะ ความประพฤติของคนมีทั้งอ่อนน้อมและแข็งกระด้าง ผู้เจริญที่สุดในตระกูล หมายถึงพ่อแม่โดยตรง ผู้มีความอ่อนน้อมคารวะต่อพ่อแม่เสมอหรือต่อครูบาอาจารย์ ผู้ที่มีอุปการคุณแก่ตน หรือต่อท่านผู้ที่เจริญด้วยวัยวุฒิ หรือคุณวุฒิ ย่อมเป็นที่รักใคร่เอ็นดูของท่านเหล่านั้น หรือผู้อื่นที่ได้รู้ได้เห็นเข้า ก็ย่อมชื่นชมยินดี และยกย่องสรรเสริญว่าเป็นคนดี และเป็นที่รักของคนทั่วไป ความอ่อนน้อมต่อท่านที่เจริญวัยวุฒิ เช่น เราเดินไปไหนเห็นคนแก่อายุมากแล้ว ยกมือขึ้นประนมไหว้ก็ดี อ่อนน้อมต่อท่านผู้เจริญด้วยคุณวุฒิ เช่น เราเดินไปเห็นพระสงฆ์ แล้วประนมมือไหว้ก็ดี นอบน้อมต่อสถานที่ เช่น เราเดินผ่านหน้าวัด วัดใดวัดหนึ่ง แล้วนึกถึงพระประธานในโบสถ์ ยกมือประนมไหว้ก็ดี เดินทางไปไหนแม้จะอยู่บนรถก็ตามมองเห็นเจดีย์หรือพระพุทธรูปซึ่งประดิษฐานอยู่ในที่ไกล ยกมือประนมไหว้ก็ดี ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นวิธีทำบุญทั้งนั้น ได้บุญคือความบริสุทธิ์ใจ จิตใจสะอาด คนเราที่มีความประพฤติถ่อมตนต่อคนอื่นนั้น ถ่อมตนต่ำลงมากเท่าไร คนอื่นย่อมเทิดทูนยกยอเราให้สูงมากขึ้นเท่านั้น กวีท่านหนึ่งซึ่งจำชื่อท่านไม่ได้แล้วขออภัยด้วย ท่านเขียนบทกลอนเตือนไว้ว่า

จงอ่อนน้อมถ่อมตนให้คนรัก

อย่าเห่อศักดิ์ทะนงตัวจะมัวหมอง

ถึงถ่อมลงสูงระหงเป็นพงษ์ทอง

แต่จองหองใฝ่สูงถูกจูงลงฯ

            การทำบุญโดยวิธีนี้ ไม่ได้ลงทุนแม้แต่บาทเดียว เพียงลงแรงแค่
ยกมือไหว้เท่านั้น ไม่หนักหนาอะไรฯ

วิธีทำบุญลำดับที่ ๕ ไวยาวัจจะ

            ได้แก่การขวนขวายช่วยเหลือคนอื่นในการทำบุญ คือเห็นคนอื่นเขาจัดงานจัดการทำบุญ เราก็เข้าไปช่วยเหลือ เช่น คนเขาจะทำบุญเลี้ยงพระ เราช่วยไปนิมนต์พระให้ ช่วยจัดสถานที่ ตั้งน้ำดื่ม ใช้ปูอาสนะ หรือช่วยทำอาหารคาวหวาน เป็นต้น แม้เจ้าภาพเขาจะไหว้วานหรือไม่ก็ตาม ก็ยินดีช่วยเหลือ งานทำบุญอย่างอื่นจะเล็กหรือใหญ่ มากหรือน้อยใช้เวลาทำเสร็จเร็วหรือช้าอย่างไรก็ตาม ก็พอใจยินดีช่วยเหลือ ใช้แต่แรงช่วยไม่ต้องใช้เงินทองนี้ก็เป็นวิธีทำบุญอย่างหนึ่ง บุญที่เกิดขึ้นจากการกระทำอย่างนี้ เรียกว่า ไวยาวัจจะมัย บุญสำเร็จจากการขวนขวายช่วยเหลือผู้อื่นในการทำบุญฯ

วิธีทำบุญลำดับที่ ๖ ปัตติทานะ

            หมายถึง การให้ส่วนบุญแก่คนอื่น ทั้งคนที่ยังเป็นอยู่ และที่ตายแล้วให้แก่ คนที่ยังเป็นอยู่ ต้องบอกให้เขารู้ เช่น วันนี้เราไปวัดได้ไหว้พระ รับศีล ฟังเทศน์ นั่งสมาธิ บุญก็เกิดขึ้นจากการปฏิบัติเช่นนี้ของเรา เมื่อกลับไปถึงบ้านแล้ว บอกให้พ่อบ้านหรือแม่บ้าน หรือญาติคนอื่นๆ ก็ได้ให้เขารับทราบว่า “พ่อ-แม่ ฉันไปทำบุญที่วัดมา ขอให้ส่วนบุญที่เกิดจากการกระทำของฉันเป็นของพ่อ-แม่ ด้วยนะ” คนเหล่านั้นได้รับทราบแล้ว จะอนุโมทนาด้วยหรือไม่ก็ตาม แต่เราผู้ให้นั้น บุญเกิดขึ้นแก่เราแล้ว บุญที่เราให้แก่คนอื่นนั้น ไม่ได้เว้าแหว่ง หรือถูกแบ่งไป ของเดิมมีเท่าไรก็ยังอยู่เท่านั้นแถมยังกลับเพิ่มทุกครั้งที่เราให้ ตัวอย่างเช่น สมมติว่าเราไปฟังเทศน์ที่วัด ได้บุญมาเท่า “กำปั้น” หนึ่งกลับไปถึงบ้านแล้วให้บุญแก่ญาติๆ ว่า “ฉันไปฟังเทศน์ได้บุญมาเท่านี้ ขอยกส่วนบุญนี้ให้แก่พวกคุณทั้งหมด” เช่นนี้ บุญที่ยกให้นั้นก็มิได้หมดไปหรือถูกแบ่งไป ยังคงอยู่ตามเดิม แถมยังเกิดบุญเพิ่มขึ้นมาอีกให้บุญเขาหมื่นครั้ง แสนครั้ง บุญก็เกิดขึ้นแก่เราผู้ให้เป็นหมื่นครั้ง แสนครั้ง เช่นกัน ยิ่งให้ก็ยิ่งเกิดเพิ่ม ไม่เหมือนการให้วัตถุสิ่งของแก่คนอื่น ให้ของนั้น ให้มากก็หมดมาก ให้น้อยก็หมดน้อย แต่การให้บุญนี้ยิ่งให้บุญก็ยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะการให้บุญนี้เป็นวิธีทำบุญอย่างหนึ่งซึ่งเรียกว่า “ปัตติทานมัย” แปลว่า “บุญที่สำเร็จจากการให้ส่วนบุญ” หรือ “บุญที่เกิดจากการให้บุญ”

                   การเขียนและพิมพ์หนังสือเล่มนี้ขึ้น ก็เพราะมีจุดประสงค์ใหญ่และสำคัญอยู่ที่ต้องการอธิบายวิธีทำบุญสองอย่างคือ “ปัตติทานะ” และ “ปัตตานุโมทนา” ในจำนวนของการทำบุญทั้งหมด ๑๐ อย่าง ที่พระพุทธตรัสไว้นี้ เพื่อให้ผู้อ่านที่เป็นพุทธบริษัท ได้เข้าใจและปฏิบัติให้ถูกต้อง เพราะเคยเห็นชาวพุทธบางหมู่บางพวกยังเข้าใจ และปฏิบัติผิดๆ อยู่ เช่น เป็นคนตระหนี่บุญ ไม่อยากจะให้บุญของตัวเองแก่ใคร ๆ เพราะเข้าใจว่า “เมื่อให้บุญของตนแก่คนอื่นแล้ว บุญก็จะถูกแบ่งไป หรือหมดไป” นี่เป็นความเข้าใจผิดๆ หารู้ไม่ว่า “การให้ส่วนบุญ หรืออุทิศส่วนบุญเป็นวิธีทำบุญอย่างหนึ่ง” เมื่อเข้าใจผิดก็ย่อมปฏิบัติผิด ๆ ไม่มีการให้ส่วนบุญ ตระหนี่หวงแหนบุญ เพราะเข้าใจว่า “เมื่อให้เขาบุญเราก็จะหมดไป” การเข้าใจผิด ๆ อย่างนี้ อย่าว่าแต่พุทธบริษัทที่เป็นคฤหัสถ์เลย แม้พระบางองค์ก็ยังเข้าใจผิดและพูดผิด ๆ เรื่องนี้ข้าพเจ้าเจ้าประสบมาด้วยตนเอง ขออภัยด้วยที่ยกเรื่องส่วนตัวมาพูด

            ครั้งหนึ่ง เมื่อหลายปีมาแล้ว ข้าพเจ้าถูกนิมนต์ไปเทศน์ต่างจังหวัดในงานทำบุญกฐินของชาวบ้าน เทศน์เป็นปุจฉาวิสัชชนา ๒ ธรรมาสน์ พระคู่เทศน์เป็นเปรียญธรรม ๕ ประโยค ข้าพเจ้าเป็นผู้ถาม ในช่วงหนึ่งของการเทศน์นั้น ข้าพเจ้าถามว่า “คนที่มาช่วยเหลือในงานนี้ก็ดี คนที่เขาเห็นแล้วพลอยยินดีด้วยก็ดี หรือพวกญาติโยมที่มานั่งฟังเทศน์อยู่นี้ก็ดี บุญของเจ้าภาพจะถูกแบ่งมาให้พวกนี้หรือไม่? แต่ก่อนที่ข้าพเจ้าจะถามคำถามนี้ เพื่อไม่ให้คู่เทศน์งงเป็นการเสียหน้า เพื่อช่วยรักษาหน้าของคู่เทศน์ไว้จึงยกบาลีมากล่าวก่อน เพื่อให้ท่านนึกคำตอบได้ถูก ว่า “เย ตตฺถ อนุโมทนฺติ เวยฺยาวจนฺติ เวยฺยาวจฺจํ กโรนฺติ วา น เตน ทกฺขิณา โอณา เตปิ ปุญฺญสฺส ภาคิโน” ยกบาลีขึ้นมากล่าวลอยๆ แล้วจึงมาถามตามคำถามที่ยกมาข้างบนนั้น คิดว่าญาติโยมผู้ฟังคงจะรู้บาลีน้อยคงจะไม่เข้าใจว่า “เราบอกกันก่อนถาม” คิดแค่เพียงว่า ท่านมหาเปรียญ ๕ ประโยค คงจะนึกออกแล้วตอบถูกได้ แต่ ท่านมหาก็ตอบว่า “บุญของเจ้าภาพต้องถูกแบ่งให้ท่านเหล่านั้นด้วย ท่านเหล่านั้นย่อมได้บุญในส่วนนี้ เอาล่ะสิ! ข้าพเจ้าถึงกับอึ้งไปจะบอกว่าไม่ถูก ก็จะเป็นการหักหน้ากันเกินไป จึงอธิบายซ้ำคำตอบของท่านโดยยกบาลีบทนี้มากล่าวอีกและแปลว่า “คนเหล่าใดอนุโมทนาในทานนั้นก็ดีทำการขวนขวายช่วยเหลือในทานนั้นก็ดี ผลทักษิณาของท่านเจ้าภาพก็ไม่บกพร่องไป เพราะเหตุนั้น แม้คนเหล่านั้นก็เป็นผู้มีส่วนแห่งบุญด้วย” แล้วก็อธิบายรวบ ๆ ไปโดยมิได้ค้านคำตอบของท่านมหาจัง ๆ ว่าการทำบุญครั้งนี้เจ้าภาพได้บุญเต็มที่ด้วยทานมัยกุศล ผู้มีจิตอนุโมทนา เป็นปัตตานุโมทามัย ผู้ใดช่วยขวนขวายในงานนี้ก็ได้บุญเป็นไวยาวัจจมัย ผู้ที่นั่งฟังเทศน์อยู่นี้ก็ได้บุญเป็น ธัมมัสสวนะมัย หากได้สละปัจจัยร่วมในกองบุญนี้หรือสละวัตถุสิ่งของร่วมก็ตามย่อมได้บุญเป็นทานมัยหรือทั้งมีใจอนุโมทนาในกองบุญนั้น ก็ได้บุญเพิ่มอีกเป็นปัตตานุโมทนามัย ลงท้ายด้วยการยกบาลีมาอีกว่า “น เตน ทกฺขิณา โอนา” ด้วยประการฉะนี้ (มิได้แปล) คงไม่เป็นการหักหน้าอะไร เพราะเหตุนี้ข้าพเจ้าจึงเป็นห่วงนักทางปฏิบัติเมื่อได้อธิบายและพิมพ์เผยแพร่ออกไปแล้วคงจะเป็นประโยชน์แล้วช่วยให้ชาวพุทธที่ยังเข้าใจผิดอยู่ได้เข้าใจและปฏิบัติได้ถูกต้อง

ส่วนการให้บุญแก่คนที่ตายไปแล้ว เรียกว่า “อุทิศส่วนบุญ” จะตั้งใจอุทิศเงียบ ๆ หรือประกาศต่อหน้าพระสงฆ์ว่า “ข้าพเจ้าขออุทิศส่วนบุญที่เกิดจากการบำเพ็ญครั้งนี้ให้แก่ผู้นั้น ๆ ที่ล่วงลับไปแล้ว” ดังนี้ก็ได้ ส่วนผู้ที่เราให้ส่วนบุญซึ่งยังเป็นอยู่ก็ดี จะได้บุญจากเราหรือไม่ อยู่ที่ตัวเขาเอง เพราะบุญ-บาปอยู่ที่ตัวผู้กระทำ ใครทำใครได้ แต่ที่แน่ ๆ ผู้ให้บุญย่อมได้บุญเพิ่มทุกครั้ง ส่วนผู้รับเขาจะได้บุญจากเราก็ต้องทำการอนุโมทนา อันเป็นการปฏิบัติต่อเนื่อง

วิธีทำบุญลำดับที่ ๗ ปัตตานุโมทนา

         หมายถึงการอนุโมทนาส่วนบุญ คนที่รู้ว่าผู้อื่นให้บุญแก่ตน แล้วชื่นชมยินดีเรียกว่า “อนุโมทนา” ด้วย บุญก็เกิดขึ้นแก่เขา เพราะการกระทำของเขาเอง คือการอนุโมทนา ได้แก่ การชื่นชมยินดีนั่นเอง เห็นคนอื่นเขาทำบุญอย่างใดอย่างหนึ่ง เห็นหรือได้ยินเสียงเขาแห่กฐินผ้าป่าไปทอด เรามีใจชื่นชมยินดีในการกระทำนั้น ก็ชื่อว่าเราอนุโมทนาด้วย หรือจะแสดงออกทางกาย วาจา ด้วยก็ยิ่งดี เช่น ยกมือประนมแล้วพูดว่า “สาธุ ขออนุโมทนาด้วย” เท่านี้แหละบุญก็เกิดขึ้นเป็นปัตตานุโมทนามัย นี่เป็นวิธีทำบุญง่ายๆ ไม่ได้เสียแรงกายมากเพียงยกมือขึ้นประนมเท่านั้น สะตุ้งสตางค์ก็ไม่ต้องเสีย ทำจิตใจให้ชื่นชมยินดีกับเขาเท่านั้นก็เป็นบุญแล้ว ถ้าไม่ยินดีด้วยก็ไม่เป็นไร แต่ไม่ได้บุญจากเขา ถ้าหากตำหนิคนทำบุญ ดูถูกไทยทานของเขา หาว่าเขาทำบุญเพื่อเอาหน้า เพื่อประจบพระ ใช้วัตถุทานเลว ๆ อย่างนี้ นอกจากจะไม่ได้บุญแล้ว ยังได้บาปอีกต่างหาก เพราะเป็นคนมีจิตใจเศร้าหมองไม่บริสุทธิ์ ฯ

            การทำบุญทั้งสองวิธีที่กล่าวมา คือ ปัตติทานะ การให้ส่วนบุญ และปัตตานุโมทนา การอนุโมทนาส่วนบุญ เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน จึงได้อธิบายควบกันมา สำหรับ ปัตติทานะ การให้บุญนั้น ยิ่งให้บุญยิ่งเพิ่มขึ้นทุกครั้งที่ให้ ดังนั้น ในทางปฏิบัติจึงไม่ควรตระหนี่บุญ เรื่องนี้ ข้าพเจ้าต้องขออภัยอีกครั้ง ขอยกเอาเรื่องส่วนตัวมาพูดอีกที คือ “ข้าพเจ้าเคยประกาศขายบุญ และมีคนซื้อเอาบุญของข้าพเจ้ามาแล้ว” เรื่องเป็นยังไง ? เรื่องมีอยู่ว่า ครั้งหนึ่งเมื่อหลายปีมาแล้ว ข้าพเจ้าออกไปบ้านนอกภูมิลำเนาเดิม มีชาวบ้านหนองเต่า ตำบลโหรา ซึ่งห่างจากหมู่บ้านเดิมของข้าพเจ้าประมาณ ๓ กม. ชาวบ้านนี้คิดจะสร้างวัดใหม่ แยกมาจากวัดเดิมที่เคยร่วมบุญซึ่งตั้งอยู่อีกหมู่บ้านหนึ่ง จึงร่วมกันบริจาคเงินซื้อที่ดินสร้างวัดใกล้หมู่บ้านของตน ซื้อที่ได้ยังไม่พอตามกำหนดกฎเกณฑ์การขออนุญาตสร้างวัดของกรมการศาสนาเงินก็หมดก่อน ชาวบ้านนั้นจึงร่วมกันจัดงานวางศิลาฤกษ์สร้างวัดขึ้น เพื่อรวบรวมปัจจัยซื้อที่ดินเพิ่มให้พอตามกฎ มีชาวบ้านมาร่วมทำบุญในครั้งนั้น ๕ หมู่บ้านด้วยกัน แต่ก็มิได้หมายความว่าแต่ละหมู่บ้านมากันทุกครัวเรือน มาเพียงบางส่วนเท่านั้น ข้าพเจ้าประกาศทางเครื่องขยายเสียงว่า “อาตมาขอขายบุญเพิ่มเพื่อเอาเงินซื้อที่ดินสร้างวัดนี้ อาตมาบวชเป็นพระมา ๔o กว่าปี เกือบจะ ๕o ปีแล้ว ได้บำเพ็ญกุศลมาตามฐานะของพระ บุญกุศลเกิดขึ้นแก่อาตมา มากน้อยเท่าใด ขอขายบุญนั้นทั้งหมด เงินที่ได้จากการขายบุญนี้ ยกให้เป็นทุนซื้อที่ดินสร้างวัดทั้งหมด บุญนี้ไม่ได้ตีราคาใครจะซื้อเพียง ๑๐ บาท  ๑๐๐ บาท ๑,๐๐๐ บาทก็ได้ ตามแต่ศรัทธา มีใครจะซื้อไหม ? เท่านั้นแหละ คนทั้งหลายก็ฮือฮากัน คงจะเห็นว่าแปลกดี กระมัง! เพราะตั้งแต่เกิดมาก็ยังไม่เคยเห็นใครขายบุญ ฝ่ายผู้ที่มีศรัทธาต่างก็ควักเงินออกมาซื้อ โดยรวมลงใส่บาตรใบเดียว   มากบ้างน้อยบ้าง  ตามกำลังทรัพย์ของแต่ละคน ปรากฏว่า รวบรวมเงินได้มากพอสมควร ครั้นได้เวลาพอเหมาะแล้ว ข้าพเจ้าจึงประกาศว่า “อาตมา ขอยกบุญของอาตมาทั้งหมด  ให้แก่ท่านผู้ซื้อทุกคน” คนเหล่านั้นก็ประนมมือขึ้นเปล่งวาจาว่า “สาธุ อนุโมทนามิ” พร้อมกัน เรื่องนี้ ท่านผู้อ่านเห็นเป็นยังไง? แปลกไหม? ไม่น่าแปลกหรอกเพราะเป็นวิธีทำบุญการให้บุญแก่คนอื่นนั้น นอกจากบุญของตัวจะไม่หมดไม่เว้าแหว่งหรือถูกแบ่งแล้ว แถมยังมีบุญใหม่เกิดขึ้นมาอีก เพราะการให้บุญนั้น เป็นวิธีทำบุญการให้บุญอย่างหนึ่งใน๑๐อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ส่วนผู้รับบุญนั้นเมื่อเขาอนุโมทนา คือ พลอยยินดีชื่นชมด้วย บุญจึงเกิดขึ้นแก่เขา ไม่ใช่บุญเราของย้ายไปเคลื่อนไปอยู่กับเขา  รู้อย่างนี้แล้วจะทำเป็นโง่ ตระหนี่บุญอยู่ทำไม? ให้ไปเถอะเผื่อแผ่ให้คนอื่นไปเถอะเพราะยิ่งให้บุญยิ่งเพิ่มดังกล่าวแล้ว เพราะรู้อย่างนี้ข้าพเจ้าจึงกล้าประกาศขายบุญ และ เพราะเป็นห่วงผู้ที่ยังไม่รู้จึงได้เขียนเรื่องนี้ขึ้น หวังว่าคงจะเป็นการเปิดใจให้เห็นความถูกต้องยิ่งขึ้น             

วิธีทำบุญลำดับที่ ๘ ธัมมัสสวนะ

 หมายถึง การฟังธรรม การที่เราฟังธรรมด้วยอาการสงบเสงี่ยม ไม่มีอาการลุกลี้ลุกลน หรือคุยกันในขณะฟังธรรมส่งกระแสจิตไปตามธรรมที่พระท่านแสดงมีให้หวั่นไหว เพียงแค่นี้ก็ได้บุญขั้นหนึ่งแล้ว คือมีจิตบริสุทธิ์ไม่ถูกกิเลสรบกวน หากตรึกตรองใคร่ครวญในข้อธรรมนั้น ๆ แล้วนำเอาส่วนที่เป็นประโยชน์ไปปฏิบัติตาม จนเกิดแสงสว่างคือปัญญา รู้แจ้งในสภาวธรรมต่าง ๆ จนกระทั่งบรรลุมรรคผล เหมือนสาวก ของพระทศพลฟังธรรมของพระพุทธเจ้าแล้ว นำเอาไปปฏิบัติได้บรรลุมรรคผลมามากต่อมาก เป็นการได้บุญขั้นสูงขึ้นไปอีก นี้ก็เป็นวิธีทำบุญอย่างหนึ่ง ฟังธรรมแล้วได้ความรู้ได้แนวทางปฏิบัติหนึ่งละ ปฏิบัติตามแนวทางนั้น จนเกิดปัญญาแจ่มแจ้งเห็น
ไตรลักษณ์ สองละ พิจารณาไตรลักษณ์ก็จะเห็นประจักษ์ความจริงแล้วละกิเลสได้ตามลำดับ เป็นการได้บุญตั้งแต่ขั้นจนถึงสูงสุด

วิธีทำบุญลำดับที่ ๙ ธมฺมเทสนา

 การแสดงธรรมก็เป็นวิธีทำบุญอย่างหนึ่ง ผู้แสดงก็ได้บุญผู้ฟังก็ได้ บุญดังที่กล่าวมาแล้วในข้อ ๘ การแสดงธรรมเพื่อมุ่งหวังให้ผู้ฟังเข้าใจ-ธรรมะ แล้วนำไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์เป็นบุญเป็นกุศล ไม่เห็นแก่อามิสปัจจัย ไม่ยกตนข่มท่าน ไม่อวดอ้างความดีของตน จนคนอื่นเขาตำหนิว่าเป็นคนขี้โม้ การสอนธรรมะก็ดี การแนะนำผู้อื่นให้รู้จักผิดชอบชั่วดี ก็ดี การบรรยาย
คำสอนของพระพุทธเจ้าก็ดี เรียกว่า การแสดงธรรม   การกระทำอย่างนี้เป็นการช่วยให้ผู้อื่นได้รับประโยชน์จัดว่าเป็นวิธีทำบุญประการหนึ่ง ฯ

วิธีทำบุญลำดับที่ ๑๐ ทิฏฐุชุกัมม์

            วิธีทำบุญข้อสุดท้าย หมายถึง การทำความเห็นให้ตรง ทิฏฐิ แปลว่า

ความเห็น ทิฏฐิของคนเรามีร้อยแปดพันอย่าง คือ เห็นได้มากมาย ใครจะเห็นอย่างไรก็ได้บางคนเห็นว่า พ่อแม่ไม่มีบุญคุณเขาทำให้เราเกิดตามธรรมชาติของสัตว์ เหมือนความเห็นของพวกถือลัทธิการเมืองบางลัทธิ บางคนเห็นว่าครูบาอาจารย์ก็ไม่มีบุญคุณอะไรเขาทำงานไปตามหน้าที่ที่ได้ถูกจ้างมา เห็นอย่างนี้ เรียกว่า มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิด คือ เห็นไม่ตรง ไม่ถูกต้อง แต่ถ้าเห็นว่า พ่อแม่มีบุญคุณแก่เรา เพราะท่านเลี้ยงเรามาให้เจริญเติบโต ให้ได้รับการศึกษาวิชาความรู้ครูอาจารย์มีพระคุณเพราะท่านเป็นผู้ประสาทวิทยาการให้แก่เรา แนะนำพร่ำเตือนในสิ่งที่ถูกต้อง อย่างนี้ เรียกว่า เห็นถูก เห็นชอบ จัดเป็น สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ สัมมาทิฏฐิ ที่แปลว่า ความเห็นชอบนั้น หมายถึง เห็นด้วยใจ ใจเห็นไม่ใช่ตาเห็น เพราะฉะนั้น เมื่อพระพุทธเจ้าทรงอธิบาย สัมมาทิฏฐิ จึงใช้คำว่า “ญาณ” ซึ่งแปลว่า “ความรู้” ซึ่งเป็นอาการอย่างหนึ่งของจิต ในพระบาลี ใช้ศัพท์ว่า ทุกฺเข ญานํ แปลว่า รู้ทุกข์ ทุ
กฺขสมุทเย ญานํ รู้เหตุเกิดแห่งทุกข์ ทุกฺข นิโรเธ ญานํ รู้ความดับทุกข์ ทุกฺขนิโรธคามินิยา ปฏิปทาย ญานํ รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ตกลงว่า คำว่า ทิฏฐิ ที่เราแปลว่าเห็นนั้น ความหมายที่แท้จริง คือ รู้ รู้อริยสัจจ์ นั้นเอง จึงเรียกว่า สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบเห็นตรง การทำความเห็นให้ตรงตาม ที่ว่ามานี้ ก็เป็นวิธีทำบุญอย่างหนึ่ง

            อย่างไรก็ตาม ขอท่านผู้อ่านโปรดทำความเข้าใจว่าการทำบุญทุกอย่าง ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เราทำนั้น มีความมุ่งหมายอยู่ที่ ให้การกระทำนั้นเป็นเครื่องฟอกใจเราเองให้บริสุทธิ์สะอาดจากกิเลส สิ่งที่ผู้ทำบุญจะได้แน่นอนก็คือความบริสุทธิ์สะอาดนั่นแหละ และตัวความสะอาดบริสุทธิ์นั่นเองแหละที่ทางศาสนาเรียกว่า “บุญ”ส่วนใครทำอะไรจะได้บุญมากหรือน้อยนั้น ปัญหาสำคัญก็อยู่ที่ว่าใครสามารถทำให้จิตของตนเกิดความสะอาดบริสุทธิ์มากน้อยต่างหาก มิได้เอาเงินที่ทุ่มเทลงไปใส่วัดเป็นเกณฑ์ ถวายผ้าไตรสักร้อยสักพันไตร แต่ทำด้วยความโลภ โมโทสัน ก็สู้ถวายผ้าผืนเดียวด้วยจิตอันเปี่ยมด้วยศรัทธาไม่ได้ อย่าลืมว่า ความบริสุทธิ์แห่งจิตนั้น ใคร ๆ จะซื้อเอาด้วยเงินตราหาได้ไม่ฯ

            ท่านผู้อ่านได้ผ่านเรื่องวิธีทำบุญมาแล้ว ครบทุกหลักการ ทราบแล้วว่าการทำบุญในพุทธศาสนา คือทำอะไร ? ทำอย่างไร ? ทำทำไม ?

            ขอเน้นว่า หลักวิธีทำบุญนี้ คือหลักทำความดี ที่จะบังเกิดผลทุกขั้น

ทุกระยะ คือ เป็นผลดีทั้งแก่การดำรงชีวิตในปัจจุบันทั้งแก่ชาตินี้และชาติหน้า ตลอดจนเข้าถึงอมตธรรม อันเป็นผลสูงสุดในพุทธศาสนา ดังบรรยายมา
ฉะนี้ ฯ จบ