วัดคอนสวรรค์

ตำบลคอนสวรรค์ อำเภอคอนสวรรค์ จังหวัดชัยภูมิ

Wat Khon Sawan

Khon Sawan Subdistrict Khon Sawan District Chaiyaphum Province

 

วัดคอนสวรรค์ ถือเป็นอีกวัดหนึ่งในตำบลคอนสวรรค์ ที่มีความสำคัญ และมีประวัติเล่าขานกันมานานซึ่งภายในวัดยังเป็นที่ประดิษฐานของพระใหญ่ทวารวดีอีกด้วย พระพุทธรูปใหญ่สมัยทวารวดีเป็นสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง อยู่ที่วัดคอนสวรรค์ เป็นพระพุทธรูปหินทรายแกะสลัก องค์ใหญ่รูปทรงสวยงาม สร้างในสมัยทวารวดี ชาวบ้านเรียกว่า “หลวงพ่อใหญ่”

หลวงพ่อใหญ่

พระพุทธรูปใหญ่ (วัดคอนสวรรค์) หรือ หลวงพ่อใหญ่ ประดิษฐานอยู่ภายในวิหารหลังเล็กสีขาววัดคอนสวรรค์ ตำบลคอนสวรรค์ อำเภอคอนสวรรค์ จังหวัดชัยภูมิ เป็นพระพุทธรูปหินทราย ศิลปะทวารวดี อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๖ ซึ่งได้รับอิทธิพลรูปแบบจากศิลปะขอม หลวงพ่อใหญ่เป็นพระคู่บ้านคู่เมืองของชาวอำเภอคอนสวรรค์พระพุทธรูปใหญ่สมัยวัฒนธรรมทวารวดี (วัดคอนสวรรค์) ปางแสดงธรรม (วิตรรกมุทรา) พระหัตถ์ขวายกขึ้น พระหัตถ์ซ้ายแนบพระวรกายครองจีวรห่มคลุม ขนาดวัดรอบองค์พระ ๖๐ นิ้ว สูงจากฐาน ๑๒๔ นิ้วพระเศียรทรงกรวย ผิวเรียบ ไม่มีขมวด พระเกศา พระพักตร์ค่อนข้างกลมคล้ายรูปไข่พระขนงยาวต่อกันเป็นรูปปีกกา พระเนตรหลุบต่ำ พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์หนา พระกรรณยาวเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๘ ขุนบัญชาคดี อดีตนายอำเภอคอนสวรรค์ ได้ร่วมกับชาวบ้านอัญเชิญ หลวงพ่อใหญ่ จากเนินหลวงพ่อใหญ่ในเขตบ้านคอนสวรรค์ มาประดิษฐานที่วัดคอนสวรรค์ ดังที่ปรากฏในปัจจุบัน

ลักษณะพระพุทธรูปสมัยทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 12-16)ได้รับแรงบันดาลใจมาจากศิลปะอินเดียคือ ศิลปะอมราวดี ศิลปะคุปตะ ศิลปะหลังคุปตะ และศิลปะปาละ ที่ มีอิทธิพลมากที่สุดได้แก่ ศิลปะคุปตะ เช่น การครองจีวรห่มคลุม จีวรเรียบไม่มีริ้ว การ ยืนเอียงตนแบบตริภังค์ คือ การยืนเอียงตน ทั้ง 3 ส่วน ได้แก่ พระอังสา (ไหล่) พระโสณี (สะโพก) และพระชงฆ์ (ขา) ต่อมาได้พัฒนารูปแบบให้เป็นแบบพื้นเมืองมากยิ่งขึ้น เช่น พระพักตร์กลมแป้น พระขนงต่อกันเป็นรูปปีกกา พระนาสิกแบน พระโอษฐ์หนาแบะ พระพุทธรูปประทับยืนตรง ไม่ทำตริภังค์ และนิยมแสดงปางวิตรรกะ (ทรงแสดงธรรม) ทั้ง 2 พระหัตถ์ อันเป็นรูปแบบที่เกิดขึ้นในศิลปะทวารวดีโดยเฉพาะ

นอกจากนั้น ยังได้พบพระพุทธรูปนั่งปางสมาธิ ที่นิยมขัดสมาธิราบอย่างหลวมๆ (พระบาทขวาทับพระบาทซ้าย เห็นฝ่าพระบาทเพียงด้านเดียว) อันมีที่มาจากอิทธิพลของศิลปะอมราวดี ต่อมามีอิทธิพลของศิลปะปาละเข้ามา เช่น การทำพระพุทธรูปขัดสมาธิเพชร (การนั่งขัดสมาธิที่เห็นฝ่าพระบาททั้ง 2 ข้าง) ในช่วงสุดท้ายของศิลปะทวารวดีมีอิทธิพลของศิลปะเขมรเข้ามาปะปนอยู่ด้วย ก่อนที่ศิลปะทวารวดีจะค่อยๆ เสื่อมไป และมีอิทธิพลของศิลปะเขมรเข้ามาแทนที่