วัดป่าสุทธาวาส
ตำบลธาตุเชิงชุม อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร
Wat Pa Sutthawat
That Choeng Chum Subdistrict, Mueang Sakon Nakhon District, Sakon Nakhon Province
ความเป็นมา
วัดป่าสุทธาวาส ตั้งอยู่ที่ ๑๓๙๖ หมู่ที่ ๑๐ ตำบลธาตุเชิงชุม อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร และตั้งอยู่ใกล้เทือกเขาภูพาน เดิมที่ตรงนี้เรียกว่า ดงบาก อยู่ทางทิศใต้ของตัวเมืองสกลนคร ของบึงหนองหาร ห่างจากศูนย์ราชการปัจจุบันประมาณ ๒๕๐ เมตร (ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของวัด) เมื่อ ๓๐ ปีก่อนนี้
วัดป่าสุทธาวาสแห่งนี้ ตั้งอยู่กลางป่า มีสัตว์ป่านานาชนิด ปัจจุบันเป็นวัดที่ตั้งอยู่กลางเมือง และเป็นวัดที่ประชาชนให้ความสนใจ ในแต่ละวันจะมีนักทัศนาจร นักทัศนศึกษาผ่านไป ผ่านมาแวะชมศึกษาไม่เคยขาด วัดป่าสุทธาวาสนี้สร้างขึ้น เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๙ โดย หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล ธุดงค์มาพักเป็นองค์แรก ต่อมา ขุนอุพัทธ์ระบิน (เพชร ภูลวรรณ) จ่าศาลคนแรกของจังหวัดสกลนคร ได้เกิดศรัทธายกกรรมสิทธิ์ที่ดินของตนถวายให้เป็นที่พักสงฆ์จนเป็นวัดขึ้น ในเนื้อที่ ๑๐ ไร่ ๓ งาน ต่อมามีผู้ถวายที่ดินเพิ่มขึ้น เป็นจำนวนถึง ๒๗ ไร่ ๑ งาน ๓๐ ตารางวา ในปัจจุบัน และต่อมาได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๖ เดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๔๕๖ เริ่มสร้างอุโบสถ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๔ และ ฝังลูกนิมิต เมื่อวันที่ ๙ เดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๐
สิ่งสำคัญภายในวัด / ปูชนียวัตถุ
๑. อุโบสถ
เมื่อทำการฌาปนกิจศพพระอาจารย์ มั่น ภูริทตฺโต เสร็จแล้ว บรรดาศิษยานุศิษย์ ซึ่งมีพระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) เจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี เป็นประธาน ได้ประชุมปรึกษากันและ เห็นควรสร้างอุโบสถตรงที่ทำการฌาปนกิจศพของท่าน เพื่อใช้เป็นที่ทำสังฆกรรมของพระภิกษุเป็นศรีสง่าแก่พระพุทธศาสนาและ วัดป่าสุทธาวาส อุโบสถมีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมเป็นลักษณะหลังคาซ้อน ๒ ชั้น มีมุขยื่นออกมา ทั้งด้านหน้า และด้านหลัง ทำลานล้อมรอบตัวอาคาร มีเสารองรับที่เชิงชายล้อมทั้งตัว มีความกว้าง ๙ เมตร ยาว ๒๐ เมตร ตัวอาคารยกพื้นสูง ๒.๗๐ เมตร ความสูงจากพื้นภายในถึงฝ้าเพดาน ๙.๗๐ เมตร เสาระเบียงอยู่ข้างนอก หลังคาด้านบนมีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ คันทวย มีรวงผึ้ง ลวดลายเป็นดอกประดับ ผนังด้านนอกและตามเสา ด้านข้างมีหน้าต่าง ด้านละ ๗ ช่อง ประตูหน้าต่างขอบล่างอยู่ในระดับเดียวกัน พระภิกษุ สามารถเข้าทำสังฆกรรมได้ทุกทาง และหากเต็มข้างใน ล้นออกมาข้างนอกก็ไม่เสียหัตถบาส มีประตูทางเข้าทั้งด้านหน้า และด้านหลัง ภายในอุโบสถทำเรียบง่ายพื้นปูด้วยไม้เนื้อแข็ง เพดานสูงเพื่อระบายอากาศ เวลาพระภิกษุทำสังฆกรรม เสียงจะไม่ก้อง
พระประธาน มีชื่อว่า พระพุทธสุโขทัยธรรมาธิราช องคาพยพศรีอยุธยามหามุนี โดยนางแต้ม ทับมณี อาชีพขายดอกไม้หน้าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) ต่อมาได้สมรสกับทหารเรือ มีบุตรด้วยกัน ๒ คน และบุตรทั้งสอง ก็ได้รับราชการเป็นทหารเรือ เช่นเดียวกับบิดาเมื่อครอบครัวมั่นคงแล้ว จึงคิดอยากทำบุญ สร้างพระประธานในอุโบสถเมื่อทราบข่าวว่า วัดป่าสุทธาวาสยังไม่มีพระประธานจึงได้แสวงหา และทราบว่า ผู้บังคับบัญชาของบุตรชาย ซึ่งมีบ้านอยู่ใกล้กันนั้น มีพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยและสมัยอยุธยาอย่างละ ๑ องค์ ในตอนนั้นมีการขโมยตัดเศียรพระระบาดหนัก พระพุทธรูปทั้งสององค์นี้ ก็ถูกตัดเศียรสลับกัน กล่าวคือ เศียรของพระสมัยอยุธยาต่อกับองค์พระสุโขทัย และเศียรพระสุโขทัย ต่อกับองค์พระสมัยอยุธยา นางแต้ม ทับมณี จึงได้ขอเช่าพระพุทธรูปจากผู้บังคับบัญชาของบุตรชายได้ องค์ที่เศียรเป็นสมัยสุโขทัยองค์พระเป็นสมัยอยุธยา และได้นำมาถวายเป็นพระประธานในอุโบสถวัดป่าสุทธาวาส
๒. พิพิธภัณฑ์อัฐบริขารพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ
เนื่องจากพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต เป็นพระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระ มีปฏิปทาควรค่าแก่การเทิดทูนเคารพบูชาของเหล่าพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย โดยเฉพาะผู้ที่เป็นสานุศิษย์ของท่านนั้น บรรดาอัฐบริขารของใช้สอยต่างๆ จึงมีคุณค่าทางจิตใจและในด้านอนุสสติในตัวท่าน ภายหลังจากฌาปนกิจศพของท่านแล้ว ปรากฏว่าเครื่องอัฐบริขารสิ่งของเครื่องใช้ได้กระจัดกระจายไปอยู่ในที่ต่างๆหลายแห่ง เพราะบรรดาลูกศิษย์ได้นำไปเก็บรักษาไว้เพื่อเป็นการเคารพบูชาและเป็นอนุสสติหรือเพื่อความเป็นสิริมงคล
เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๕๑๒ ดร.เชาว์ ณ ศีลวันต์ ซึ่งเป็นศิษย์ของท่านด้วยได้เดินทางมายังวัดป่าสุทธาวาส พบเห็นอัฐบริขารและเครื่องใช้สอยของท่าน จำนวนหนึ่งที่เก็บไว้ในตู้เก่า ๆ ในกุฏิเล็ก ๆ ทำให้ท่านรู้สึกว่าอัฐบริขารเหล่านี้เป็นของที่มีคุณค่าอันหาประมาณมิได้ โดยเฉพาะสำหรับบรรดาศิษย์ในสายของพระอาจารย์มั่น ท่านจึงเห็นเป็นภาระหน้าที่ ที่จะต้องดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง อันที่จะรวบรวมเก็บรักษาไว้ในที่อันควร และเพื่อประโยชน์แก่อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาหาความรู้ประวัติและจะได้เคารพศรัทธาในตัวท่านมากขึ้น จึงมีความดำริโดยหลักการว่าควรสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์จัดรวบรวมอัฐบริขารและเครื่องใช้สอยเท่าที่จะพึงหาได้ รวมถึงอัฐิธาตุของท่านนั้น นำมาเก็บรักษาไว้ในลักษณะอันควรเหมาะสมแก่การเคารพและระลึกถึงพระคุณของท่านประการหนึ่ง เพื่อแสดงถึงปฏิปทาความเป็นสมณะอันแท้จริงของท่านประการหนึ่งและประการสุดท้าย เพื่อจัดเป็นมูลเหตุแห่งศรัทธาของผู้พบเห็น เริ่มก่อสร้างอาคารเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๖ โดยมีพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และผู้ว่าราชการ จังหวัดสกลนครเป็นประธานฝ่ายฆราวาส มีนางไขศรี ต้นศิริ เป็นสถาปนิก นายชวลิต แก่นมณี เป็นวิศวกร ได้ทำ พิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อ วันที่ ๑๑ เดือนพฤศจิกายน ๒๕๑๖ โดยมีพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร เป็นประธานฝ่ายสงฆ์
การก่อสร้างได้ดำเนินการต่อเนื่องไปอีกจนแล้วเสร็จ และได้ทำพิธีเปิดเมื่อวันอาทิตย์ ที่ ๒ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ ในวันงานคณะกรรมการจัดงาน ฯ ได้กราบทูลอาราธนา สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก (วาสน์ วาสโน) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เสด็จทรงเป็นองค์ประธานในงาน
๓. เจดีย์พิพิธภัณฑ์หลวงปู่หลุย จันทสาโร
เหตุที่ เจดีย์พิพิธภัณฑ์หลวงปู่หลุย จันทสาโร ตั้งอยู่ในวัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร ที่เดียวกับเจดีย์พิพิธภัณฑ์อัฐบริขารของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต แทนที่จะเป็นวัดถ้ำผาบิ่ง ตำบลนาแก อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ที่ท่านเคยเป็นเจ้าอาวาสนั้น สืบเนื่องจากในสมัยหนึ่งเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๘ หลวงปู่หลุยได้สร้าง วัดป่าภูริทัตตถิราวาส (วัดป่าบ้านหนองผือ) ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ถวายแด่หลวงปู่มั่นผู้เป็นครูบาอาจารย์ และหลวงปู่มั่น ได้จำพรรษา ในช่วงบั้นปลายชีวิตนานถึง ๕ พรรษา วัดป่าบ้านหนองผือ ถือเป็นศูนย์กลางสำคัญในการศึกษาปฏิบัติธรรมของพระธุดงค์กรรมฐานจึงเป็นอานิสงส์ของหลวงปู่หลุยที่ได้สร้างวัดถวายหลวงปู่มั่น ครั้นเมื่อหลวงปู่หลุยมรณภาพ เมื่อวันที่ ๒๕ เดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเพลิงศพ แล้วมีพระราชกระแสว่า “ควรสร้างเจดีย์ที่วัดป่าสุทธาวาส อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร ที่วัดนี้มีอัฐิธาตุของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ ท่านจะได้อยู่ใกล้กัน
เจดีย์พิพิธภัณฑ์หลวงปู่หลุย มีชื่อเป็นทางการว่า “จันทสารเจติยานุสรณ์” เพื่อเป็นสถานที่บรรจุอัฐิธาตุ ของท่าน เจดีย์นี้ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงร่างเป็นต้นแบบพระราชทาน เป็นรูปเจดีย์ที่มีลักษณะเรียบง่ายและได้สัดส่วนงดงาม แบ่งออกเป็น ๓ ส่วนคือ
๑. ส่วนเรือนยอด ทำเป็นรูปทรงดอกบัวเหลี่ยม
๒. ส่วนเรือนเจดีย์ ทำเป็นรูปทรงระฆังคว่ำ ๒ ชั้น ชั้นแรกทำเป็นซุ้ม ทางเข้าภายใน ๓ ทาง ภายในจัดแสดงเครื่องอัฐบริขารและเครื่องใช้ต่างๆ และมีรูปปั้นหุ่นขี้ผึ้งขนาดเท่าองค์จริงของหลวงปู่หลุยประดิษฐานอยู่ เบื้องหน้าของรูปปั้นมีตู้กระจกทรงปิรามิดบรรจุอัฐิธาตุของท่าน
๓. ส่วนฐาน ที่ยกพื้นสูงรองรับองค์เจดีย์นั้น ทำเป็นห้องแสดงนิทรรศการเรื่องโลกมืดด้วยอวิชชา,พระสัมมาสัมพุทธเจ้าอุบัติในโลก, อริยสัจสี่, พระพุทธดำรัสตรัสสั่ง, พระสังคายนาครั้งที่ ๑, พระเถระประกาศพระศาสนา, คณะสงฆ์ไทยฝ่ายธรรมยุต และมีภาพของหลวงปู่เสาร์ กันตสีโล, หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต และหลวงปู่หลุย จันทสาโร
๔. กุฏิบูชาธรรมหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
ก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๒ โดยการนำของท่านเจ้าคุณพระราชวิสุทธินายก (พรมมา จตฺตภโย) เจ้าคณะจังหวัดสกลนคร (ธ)/เจ้าอาวาสวัดป่าสุทธาวาส พระอธิการสุธรรม สุธมฺโม เจ้าอาวาสวัดป่าหนองไผ่ เจ้าอธิการถาวร ญาณวีโร เจ้าคณะตำบลกุดบาก เขต ๒ (ธ)/เจ้าอาวาสวัดถ้ำโพรง พระอาจารย์บัณฑิต จนฺทวณฺโณ วัดป่าอุดมสมพร พร้อมคณะญาติโยมในจังหวัดสกลนคร มีความเห็นร่วมกันว่าเป็นการสมควรที่จะมีสถานที่ที่เหมาะสม สงบ และมีความร่มรื่น สำหรับใช้รับรองหลวงตามหาบัว ได้พักผ่อนอิริยาบถเมื่อท่านได้เดินทางมากราบนมัสการหลวงปู่มั่น ซึ่งท่านมักจะเดินทางมาบ่อยครั้ง ด้วยเหตุที่หลวงตาท่านได้ให้ความเคารพต่อหลวงปู่มั่นเป็นอันมาก และเดินทางมานมัสการหลวงปู่มั่น ณ วัดป่าสุทธาวาส ไม่เคยขาด จากวัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี มาถึง วัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร ระยะทางกว่า ๒๐๐ กิโลเมตร ด้วยความสูงวัยย่อมเหน็ดเหนื่อยต่อการเดินทางเป็นอันมาก จึงได้เลือกพื้นที่ที่ใกล้กับอาคารพิพิธภัณฑ์หลวงปู่มั่น เป็นสถานที่ก่อสร้าง เนื่องจากเป็นสถานที่ที่สงบ มีความร่มรื่นทั้งยังใกล้เคียงกับสถานที่เดิมที่ท่านเคยปฏิบัติธรรมร่วมกับหลวงปู่มั่นอีกด้วย แบบแปลนกุฏิ เป็นลักษณะทรงไทยภาคอีสานได้ถอดแบบและปรับปรุงมาจากแบบกุฏิหลังเก่าของหลวงปู่มั่น ณ วัดป่านาคนิมิตต์ ตำบลตองโขบ อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร เริ่มยกเสาเอกเมื่อวันพุธที่ ๘ เดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๒ (แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ปีฉลู ซึ่งเป็นวันเข้าพรรษาพอดี) การก่อสร้างใช้ไม้ที่ได้รับการบริจาคจากชาวสกลนคร และต้องเป็นไม้ตายยืนต้นเท่านั้น ไม่มีการนำไม้ที่ตัดใหม่มาใช้ประกอบเพื่อให้เป็นไปตามปฏิปทาขององค์หลวงตา ไม้แป้นเกล็ดที่ใช้ทำหลังคาก็เป็นไม้หลังคาเก่าที่ชาวบ้านได้ใช้งานมาแล้วทั้งสิ้น การดำเนินการก่อสร้างใช้ระยะเวลาทั้งสิ้นประมาณ ๓ เดือน แล้วเสร็จเมื่อคราวออกพรรษาในปีนั้นเอง สิ้นงบประมาณในการก่อสร้างประมาณ ๕๕,๐๐๐ บาท (ไม่รวมมูลค่าไม้ที่ได้รับถวายมาบางส่วน)
เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์ ท่านเจ้าคุณพระราชวิสุทธินายก ได้ทำพิธีมอบถวายแด่องค์ หลวงตา ซึ่งท่านก็เมตตารับและอนุโมทนาต่อกุศลเจตนา แม้กระนั้นท่านก็ยังไม่ได้มีโอกาสได้ขึ้นไปพักผ่อนอริยาบถตามเจตนารมณ์ของคณะญาติโยมเสียที จนกระทั่งเมื่อวันเสาร์ ที่ ๓๐ เดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๕๓ ( ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ปีฉลู ) อันตรงกับการจัดงานวันบูรพาจารย์ ซึ่งทางวัดป่าสุทธาวาส จัดบำเพ็ญกุศลถวายแด่หลวงปู่มั่น เป็นประจำทุกปี หลวงตาท่านจึงได้มีโอกาสได้ขึ้นไปพักผ่อนอิริยาบถเป็นครั้งแรก ทั้งยังมีเมตตาเทศนาให้กับคณะญาติโยมได้รับฟังเพื่อเป็นสติเตือนใจพร้อมอนุโมทนา อีกครั้งมีการบันทึกกันไว้ว่า องค์หลวงตาได้เมตตาขึ้นพักผ่อนอิริยาบถนับแต่นั้น มาอีก ๒๒ ครั้ง รวมทั้งหมดเป็น ๒๓ ครั้ง โดยวาระสุดท้ายซึ่งท่านได้มาพักคือวันพฤหัสบดีที่ ๑๖ เดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ แล้วท่านก็ไม่ได้กลับขึ้นพักอีกเลยเนื่องจากท่านอาพาธหนักจึงไม่สามารถเดินทางสะดวก จนกระทั่ง องค์ท่านได้ละสังขารไป เมื่อวันที่ ๓๐ เดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๕๔ ต่อมาทางวัดป่าสุทธาวาสจึงมีการจัดสร้างรูปหล่อท่านขึ้น เพื่อเป็นการบูชาธรรมที่ท่านได้มีเมตตาอบรมสั่งสอน ได้ทำพิธีหล่อรูปเหมือน ขึ้นเมื่อวันพุธที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๕๔ (ขึ้น ๑๔ ค่ำเดือน ๗ ปีเถาะ) โดยมี พระราชญาณมุนี (บุญมี ฐิตปุญฺโญ) ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดสกลนคร (ธรรมยุต) เป็นประธาน และประกอบพิธีอัญเชิญขึ้นประดิษฐานบนกุฏิพร้อมบรรจุอัฐิธาตุของท่าน เมื่อวันเสาร์ที่ ๑๒ เดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๔ (ขึ้น ๑๓ ค่ำเดือน ๙ ปีเถาะ ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันเกิดของหลวงตา) เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนและพุทธศาสนิกชนได้มีโอกาสกราบไหว้ และรำลึกถึงพระคุณของท่านสืบไป
รายนามเจ้าอาวาส
๑. หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล เจ้าอาวาสองค์ที่ ๑ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๔
๒. หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต เจ้าอาวาสองค์ที่ ๒ ต่อจากหลวงปู่เสาร์
๓. พระอาจารย์หล้า อาภากโร เจ้าอาวาส องค์ที่ ๓ ต่อจากหลวงปู่มั่น
๔. พระอาจารย์พรหม จิรปุญฺโณ เจ้าอาวาส องค์ที่ ๔ ต่อจากหลวงปู่หล้า
๕. พระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสฺโส ) เจ้าอาวาส องค์ที่ ๕ เมื่อ ปี พ.ศ. ๒๔๘๓ – ๒๔๘๙
๖. พระครูอุดมธรรมคุณ (ทองสุก สุจิตฺโต) เจ้าอาวาส องค์ที่ ๖ เมื่อ ปี พ.ศ. ๒๔๘๙ – ๒๕๐๘
๗. พระอุดมสังวรวิสุทธิเถร (วัน อุตฺตโม) เจ้าอาวาส องค์ที่ ๗ เมื่อ ก.พ. – ก.ค. ปี พ.ศ. ๒๕๐๙
๘. พระญาณสิทธาจารย์ (สิม พุทฺธาจาโร) เจ้าอาวาส องค์ที่ ๘ เมื่อ ก.ค. – พ.ย. ปี พ.ศ. ๒๕๐๙
๙. พระครูภาวนาทัศนวิสุทธิ์ (แว่น ธนปาโล) เจ้าอาวาส องค์ที่ ๙ เมื่อ ปี พ.ศ. ๒๕๑๐ – ๒๕๒๒
๑๐. พระวิบูลธรรมภาณ (ประมูล รวิวํโส) เจ้าอาวาส องค์ที่ ๑๐ เมื่อ ปี พ.ศ. ๒๕๓๓ – ๒๕๓๖
๑๑. พระสอย ธมฺมรกฺขิตฺโต รักษาการเจ้าอาวาส ปี พ.ศ. ๒๕๓๖ – ๒๕๓๗
๑๒. พระรัชมงคลนายก (คำดี ปญฺโญภาโส) เจ้าอาวาส องค์ที่ ๑๒ เมื่อ ปี พ.ศ. ๒๕๓๗ – ๒๕๔๙
๑๓. พระราชวิสุทธินายก (พรมมา จตฺตภโย) รับหน้าที่เจ้าอาวาส องค์ที่ ๑๓ เมื่อ 29 มกราคม ปี พ.ศ. ๒๕๕๐ ถึงปัจจุบัน