วัดลัฏฐิกวัน

ประวัติวัดลัฏฐิกวัน

          ก่อนที่จะกล่าวถึงประวัติและความเป็นมาของวัดลัฏฐิกวันมีความจำเป็นต้องเท้าความถึง พระคุณเจ้า ๒ รูปเสียก่อน เพราะท่านทั้งสองมีความผูกพันกับวัดนี้อย่างใกล้ชิด ไม่เช่นนั้นประวัติและความเป็นมาอาจจะไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร คือ ท่านหอ หรือพระอุปัชฌาย์หอ เป็นบุตรของเท้าเมืองโครกหัวหน้าชาวสะผ่ายคอนโค ที่อพยพมาจากนครจำปาศักดิ์ มาอยู่ร่วมกับชาวชะโนดในตอนตั้งใหม่ ๆ เมืองโครก เป็นต้นตระกูลของชาวหว้านใหญ่ เมืองโคตร ท่าหอเป็นคู่กับพระกัสสปะผู้เป็นหลานชาย แต่เกิดปีเดียวกัน คือ เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๒๖๙ พออายุได้ ๑๓ ปี ได้เข้าบรรพชาเป็นสามเณรที่วัดมโนภิรมย์ บ้านชะโนด ศึกษาพระธรรมวินัย พระไตรปิฎกคัมภีร์ต่าง ๆ แตกฉานไต่ครั้งเป็นสามเณร พออายุครบ ๒๐ ปี อุปสมบทที่วัดเดิม ๑ ปี ต่อมาได้ส่งไปศึกษาต่อที่นครเวียงจันทร์ทั้งคู่ สอบได้บาลีชั้นสูงได้รับสมณศักดิ์เป็นพระอุปัชฌาย์

          พระอุปัชฌาย์ ส่วนพระกัสสปะได้เป็นพระครูมีความชอบจนพระเจ้าแผ่นดินเวียงจันทร์พระราชทานวัสดุก่อสร้าง พร้อมด้วยนายช่างสถาปัตยกรรม ๓ คน มาสร้างโบสถ์ และพัทธสีมา วัดมโนภิรมย์ บ้านชะโนด ในปี ๒๒๙๖ และเสร็จเรียบร้อยเมื่อ พ.ศ. ๒๒๙๙

          โดยที่ท่านบำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐาน เมื่อสร้างเสร็จท่านได้มอบให้พระครูกัสสปะเป็นเจ้าอาวาสวัดมโนภิรมย์ แล้วท่านได้ออกไปตั้งบำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐาน ณ ป่าโนนรัง เหนือวัดเดิมออกไปประมาณ ๑๐ เส้นเศษ ต่อมาได้ย้ายไปศึกษาต่อที่กรุงเทพ ฯ แล้วมรณภาพที่กรุงเทพ ฯ

          อีกท่านหนึ่งคือพระอุปัชฌาย์บุ หรือพระบุ พระคุณเจ้ารูปนี้เป็นพระรุ่นหลัง ๆ สมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี่เอง เคยได้รับนิมนต์มาเป็นเจ้าอาวาสวัดมโนภิรมย์ แต่กลับไปปฏิสังขรณ์วัดที่บ้านเดิม คือ บ้านท่าสะโน ภายหลังจากบ้านชะโนดถูกไฟไหม้ในปี พ.ศ. ๒๔๔๗ ญาติโยมชาวชะโนดได้ตามไปนิมนต์อ้อนวอนให้มาซ่อมแซมวัดมโนภิรมย์ ท่านจึงรับนิมนต์นำชาวบ้านซ่อมแซม ใน พ.ศ. ๒๔๔๘ ใช้เวลาซ่อมแซม ๖ ปี คือ เสร็จเรียบร้อยใน พ.ศ. ๒๔๕๓ ต่อจากนั้นท่านได้กลับไปสร้างวัดอีกแห่งหนึ่งที่ท่านสะโนพร้อมทั้งปฏิสังขรณ์วัดเก่าด้วย

          ในขณะที่ท่านอยู่ที่วัดท่าสะโนก็ดี อยู่ที่วัดมโนภิรมย์บ้านชะโนดก็ดี นอกจากที่ท่านจะใช้เวลาศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎก และคัมภีร์ต่าง ๆ ซึ่งอยู่ในวัดทั้ง ๒ เป็นจำนวนมาก ท่านยังใฝ่ใจศึกษาศิลปกรรม สถาปัตยกรรม ทั้งจากตำราและของจริงที่บรรดามีในวัดมโนภิรมย์ จนมีความสามารถในด้านศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมอย่างกว้างขวาง จนพระเถระและ เกจิอาจารย์หลาย ๆ ท่านยอมรับ เช่น พระครูโลกอุดร เจ้าอาวาสวัดมีชื่อหลายแห่งมาขอแบบ และนิมนต์ไปก่อสร้างถาวรวัตถุในพุทธศาสนา

          วัดลัฏฐิกวัน แปลว่า “สวนตาลหนุ่ม” แรกสร้างใหม่ ๆ ชาวบ้านนิยมเรียกว่า “วัดป่า” เนื่องจากตั้งอยู่ในป่าดอนสูง เรียกกันว่า “ป่าโนนรัง” ซึ่งก่อนหน้านั้นบ้านชะโนดมีบ้านเรือนเฉพาะแต่ชายฝั่งแม่น้ำโขงเท่านั้น เหนือวัดมโนภิรมย์ไปตามริมห้วยจะไม่มีบ้านเรือน และไร่สวนเลย เพิ่งจะมีหลัง พ.ศ. ๒๔๖๕  มานี่เอง ณ โนนรังอันเป็นที่ตั้งวัดลัฏฐิกวันปัจจุบันก่อน พ.ศ. ๒๔๕๘ มีที่บำเพ็ญสมณธรรมของท่านหอห่างจากวัดมโนภิรมย์มาทางเหนือตามริมห้วยชะโนด ๒๓๑ วา พระบุนันทวโร จึงกำหนดที่แห่งนี้เป็นที่สร้างวัดใหม่

          พระบุ นันทวโร ได้กลับไปอยู่บ้านเดิม ๕ ปี การซ่อมแซมต่อเติมและปฏิสังขรณ์ทุกอย่างเรียบร้อย โดยที่ท่านอยู่ในตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดมโนภิรมย์อยู่ ท่านจึงมอบหน้าที่ให้พระแพงซึ่งเป็นพระลูกวัดที่มีอาวุโสเป็นผู้ปกครองภิกษุสามเณรในวัดมโนภิรมย์ ท่านจึงไปสร้างวัดใหม่ ณ ป่าโนนรัง ดังกล่าวแล้ว

          วัดลัฏฐิกวัน สร้างขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๖ ปีเถาะ พ.ศ. ๒๔๕๘  โดยสร้างพัทธสีมาขึ้นแทนที่บำเพ็ญสมณะธรรมของท่านหอให้สมบูรณ์แบบในปีเดียวกันนั่นเองได้สร้างพระเจดีย์ขึ้น จากนั้นการก่อสร้างวัดใหม่ก็ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง มีกุฏิรูปจตุรมุข ศาลาการเปรียญ รอยพระพุทธบาทจำลอง สังเวชนียสถานจำลอง คือ สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน และถวายพระเพลิง สระโบกขรณีจำลอง ปลูกตาลไว้ เป็นกำแพงชั้นใน จึงให้ชื่อว่า “วัดลัฏฐิกวัน”

โบราณสถานและปูชนียสถานที่มีในวัดนี้ คือ

๑. พัทธสีมา สร้างขึ้นแทนของเดิม ภายในเป็นพระพุทธรูปตอนแสดงปฐมเทศนาแก่ปัญจวัคคีย์ มีภาพเขียนผนังแสดงเรื่องชาดก ๑๐ ชาติ

๒. พระธรรมเจดีย์ เป็นเจดีย์ขนาดกลาง กว้างด้านละ ๒ วา ๒ ศอก สูง ๖ วา ๒ ศอก รูปทรง จำลองพระธาตุพนมองค์เดิมก่อนที่กรมศิลปากรมาปฏิสังขรณ์ ภายในบรรจุพระไตรปิฎกที่เหลือจากไฟไหม้ ซึ่งใช้การไม่ได้ จึงเรียก “พระธรรมเจดีย์” มีงานนมัสการทุกปีมาจนถึงบัดนี้ แต่พระธรรมเจดีย์ได้พังทลายตามสังขารธรรมเมื่อวันที่ ๑๑ เดือน สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๖ เวลา ๐๖.๐๐ น.

๓. รอยพระพุทธบาทจำลอง ขนาดกว้าง ๖๐ ซ.ม. ยาว ๑๒๐ ซ.ม. เป็นหินดานแกะสลักตามพุทธประวัติ

๔. สระโบกขรณีจำลอง กว้าง ๑๐ วา ด้านเท่า จำลองรูปรามเกียรติ์แสดงกำเนิดฝน ปัจจุบันชำรุดผุพังไปมากแล้วแต่ยังเหลือให้เห็นต้องรออยู่

๕.สังเวชนียสถาน มีพุทธประวัติตอนประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน และถวายพระเพลิงเป็นพระพุทธรูปและรูปปั้นด้วยอิฐปูน แต่ประณีตสวยงาม มีมณฑปหลังคาที่เต็มไปด้วยศิลปกรรม และลวดลายควรแก่การสักการะบูชา นอกนั้นมีพระเจ้า ๕ พระองค์สร้างไว้ในศาลาโรงธรรม ส่วนกุฎิได้มีการเปลี่ยนแปลงซ่อมแซมหลายครั้งแล้ว ศาลาโรงธรรมชำรุดรื้อและสร้างใหม่ขึ้นแทนแล้วนับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๐ เป็นต้นมา ได้มีการก่อสร้างเสนาสนะและถาวรวัตถุในวัดดังนี้ คือ

(๑) โบสถ์วัดลัฏฐิกวัน เดิมพระพุทธรูปปางตรัสรู้ และผจญมารนั้น เป็นพระพุทธรูปกลางแจ้งไม่มีมณฑปหลังคา พระครูโอภธรรมกิจเจ้าอาวาส และทายกทายิกา เห็นว่าควรมีหลังคา จึงคิดสร้างมณฑปขึ้นมุงหลังคา ก็มีพระเถระหลายรูปแนะนำสร้างเป็นรูปวิหารเสีย เพราะวัดนี้ยังไม่มีวิหาร จึงพร้อมกันสร้างเป็นวิหารขึ้นโดยภายในยึดเอาพระพุทธรูปองค์เดิมเป็นประธานเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๐

(๒) ศาลาการเปรียญ เนื่องจากศาลาเก่าเป็นศาลาขนาดเล็กซึ่งเหมาะสำหรับสมัยนั้น โครงสร้างเป็นไม้ทั้งสิ้น พื้นเป็นอิฐปูน ส่วนไม้ได้ชำรุดผุพังไปตามเวลา เจ้าอาวาส ทายกทายิกา และพุทธศาสนิกชน จึงพร้อมใจกันก่อสร้างขึ้นใหม่เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๙ และเสร็จเรียบร้อยเรียบร้อยเมื่อพ.ศ. ๒๕๓๐ ซึ่งเป็นปีที่บ้านชะโนดมีอายุครบ ๓๐๐ ปีและปัจจุบันวัดมีอายุ ๙๓ ปี