DCIM\102MEDIA\DJI_0936.JPG

ตำบลหว้านใหญ่ อำเภอหว้านใหญ่ จังหวัดมุกดาหาร

Wat Phrasimahabodhi

Wan Yai Subdistrict, Wan Yai District, Mukdahan Province

DCIM\102MEDIA\DJI_0939.JPG

ความเป็นมา

สร้างเมื่อ พ.ศ. 2459 เป็นสิมที่ผนัง 3 ด้าน ภายในผนังจะมีธูปแต้มหรือจิตกรรมฝาผนังเรื่องราวของพระเวสสันดรชาดก และภาพเหตุการณ์ที่สมเด็จกรมพระยาดำรงเดชานุภาพเสด็จตรวจหัวเมืองในมณฑลอีสานประทับทั่งอยู่บนเกวียน ภายในวัดยังมีกุฏิเก่าแก่ซึ่งปัจจุบันทำเป็นห้องสมุดประชาชน สร้างโดยช่างชาวเวียดนาม เป็นสถาปัตยกรรมแบบฝรั่งเศส ซึ่งมีซุ้มประตูและหน้าต่างเป็นรูปโค้ง สวยงามแปลกตา แต่งต่างจากศาลาการเปรียญทั่วไปของพุทธศาสนา วัดศรีมหาโพธิ์ เป็นศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชน ชาวอำเภอหว้านใหญ่ เป็นสถานที่ประกอบศาสนพิธีสำคัญและประเพณีต่างๆของชาวอำเภอหว้านใหญ่ บริเวณโดยรอบวัดศรีมหาโพธิ์ มองเห็นทิวทัศน์ที่สวยงามของแม่น้ำโขงซึ่งเป็นเส้นกั้นพรมแดนระหว่างประเทศไทย และ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในฤดูแล้งน้ำโขงบริเวณอำเภอหว้านใหญ่แห้งขอดและจะเกิดเกาะแก่งเล็กน้อยขึ้นตามกลางลำแม่น้ำโขง ประชาชนทั้งสองฝั่งโขงทำไปทำการเกษตรตามเกาะแก่งนั้นเพราะ อุดมไปด้วยแร่ธาตุ ปุ๋ย ทำให้พืชผักเจริญเติบโตเร็วและสวยงาม นอกจากนี้ยังลำน้ำโขงยังเป็นแหล่งทำการประมงของชาวอำเภอหว้านใหญ่อีกด้วย

อุโบสถ (สิม) วัดพระศรีมหาโพธิ์

อุโบสถ (สิม) วัดพระศรีมหาโพธิ์ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๙ โดยขุนวิรุฬคาม (ดี เมืองโคตร) กำนันตำบลหว้านใหญ่ในขณะนั้น ตรงกับรัชสมัยพระพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) อุโบสถมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าวางตัวตามแนวทิศตะวันออก – ทิศตะวันตก หันหน้าไปทางทิศตะวันตก หลังคาอุโบสถเป็นหลังคาทรงจั่วมีชายคาทั้ง ๔ ด้าน คล้ายทรงมะนิลา มีการประดับตกแต่งด้วยไม้แกะสลักในองค์ประกอบต่าง ๆ เช่น คันทวยแกะสลักไม้เป็นรูปนาค หน้าบัน เพดาน คานไม้แกะสลักลวดลายประจำยามและพรรณพฤกษา และประดับกระจก ตัวอาคารตั้งอยู่บนฐานบัวคว่ำมีบันไดทางขึ้นตรงกึ่งกลางด้านหน้าด้านเดียว ส่วนหน้าเป็นพะไล (เพิงโถง) ถัดเข้าไปเป็นประตูทางเข้าอุโบสถ เหนือกรอบประตูมีอักษรไทยระบุ “สร้างพุทธศักราช ๒๔๕๙” โดยห้องแรกก่อเป็นผนังขึ้นมาเตี้ย ลักษณะคล้ายสิมโปร่ง มีผนังทึบเฉพาะห้องช่วงหลัง ซึ่งด้านข้างทั้งสองด้านเจาะเป็นหน้าต่างรูปสี่เหลี่ยมใส่ลูกมะหวดไม้ด้านละ ๑ ช่อง ถัดไปผนังด้านห้องหลังสุดเจาะเป็นช่องรับแสงสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ที่ผนังด้านนอกมีประติมากรรมปูนปั้นประดับ โดยด้านทิศเหนือทำเป็นรูปราหูอมจันทร์ส่วนด้านทิศใต้เป็นรูปไก่อยู่เหนือซุ้มบริเวณห้องหลังสุดประดิษฐานพระประธานเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย ผนังภายในเขียนจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพระเวสสันดรชาดก ๑๓ กัณฑ์ เริ่มจากข้างหลังพระประธานชั้นบนสุด มีอักษรไทยน้อยเขียนกำกับที่ภาพ ลักษณะจิตรกรรมฝีมือช่างพื้นบ้านเทคนิคสีฝุ่น ได้รับอิทธิพลช่างหลวงมาผสมผสานในการเขียนปราสาท ราชวัง โรงช้าง โรงม้า อาศรม ฯลฯ

กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียน และกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานสำคัญของชาติในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๕ ตอนพิเศษ ๔ ง เมื่อวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๔๑ และกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานให้มีพื้นที่โบราณสถานประมาณ ๑ ไร่ ๑ งาน ๕๕.๗๙ ตารางวา สิ่งสำคัญ คือ กุฏิทรงยุโรป และอุโบสถ (สิม)

ในปี พ.ศ. ๒๕๖๐ ได้รับการบูรณะซ่อมแซมตามโครงการบูรณะโบราณสถาน อุโบสถ (สิม) วัดพระศรีมหาโพธิ์ ตำบลหว้านใหญ่ อำเภอหว้านใหญ่ จังหวัดมุกดาหาร จากงบยุทธศาสตร์จังหวัดมุกดาหาร