ถนนจอมพล ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา
วัดบูรพ์ ตั้งอยู่เลขที่ ๗๓๐ ถนนจอมพล ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา ตั้งวัดเมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ. ๒๒๒๔ สันนิษฐานว่าเป็นวัดที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงโปรดให้สร้างขึ้น และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๒๕๔ ในรัชสมัยของพระเจ้าภูมินทราชา (พระเจ้าท้ายสระ) ตามหลักฐานทะเบียนวัดของกรมการศาสนา มีพื้นที่ทั้งหมด ๑๘ ไร่ ๓ งาน ๙๐ ตารางวา
วัดบูรพ์ เป็น ๑ ใน ๖ ที่ตั้งอยู่ในคูเมืองเก่า เป็นวัดที่ถูกสร้างขึ้นมาพร้อมกับการสร้างเมืองนครราชสีมา หรืออาจจะสร้างมาก่อนการสร้างเมืองก็เป็นไปได้ เพราะว่าตามหลักของการสร้างวัดนั้น ต้องสร้างวัดก่อนจนมี ศาสนวัตถุพร้อมแล้วจึงขออนุญาตสร้างวัดต่อทางการของระบบการปกครอง ดังนั้นจึงสันนิษฐานได้ว่า วัดบูรพ์ น่าจะสร้างมาก่อนที่มีหลักฐานทางการปกครองของบ้านเมืองหรือทางกรมการศาสนา นั้นก็สันนิฐาได้ว่าวัดบูรพ์ เป็นวัดเก่าแก่คู่ชุมชนมาก่อนการสร้างเมือง
ตามหลักฐานที่ค้นคว้ารวบรวมและเรียบเรียงได้จากทางราชการนั้น วัดบูรพ์ จึงมีความเป็นมาดังต่อไปนี้ ตามหนังสือประวัติศาสตร์การสร้างเมืองนครราชสีมา ได้กล่าวถึงการสร้างวัดไว้ว่าในสมัยกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงโปรดให้สร้างเมืองนครราชสีมาให้เป็นหัวเมืองเอกเพราะตั้งอยู่หน้าด่านรับศึกหน้าเสมอมา ทรงให้สร้างค่าย คู ประตู หอรบ และสร้างกำแพงเมืองอย่างมั่นคงแข็งแรงลักษณะผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยม และขุดคูรอบทั้งสี่ทิศ มีประตูเมือง ๔ ด้าน เมื่อสร้างเมืองนครราชสีมาเสร็จแล้ว ได้มีรับสั่งให้สร้างวัดขึ้นประจำเมืองเพื่อให้ประชาชนได้บำเพ็ญบุญกุศล ทรงให้สร้างวัดภายในกำแพงเมืองขึ้น ๖ วัด ด้วยกันกลุ่มวัดทั้ง ๖ วัด เป็นวัดหลวงเหมือนกัน แต่เป็นวัดหลวงนอกทำเนียบเพราะถึงแม้จะเป็นวัดที่เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินจะทรงสร้างไว้ แต่ก็ถูกปล่อยปละละเลยขาดคนสนใจรื้อฟื้นยกสถานะขึ้นเป็นวัดหลวงอย่างสมบูรณ์ วัดบูรพ์เป็นวัดอยู่ในกำแพงเมืองวัด ๑ ในบรรดา ๖ วัดดังกล่าว ฉะนั้นจึงอยู่ภายใต้ระเบียบเทศบัญญัติที่ใช้มาแต่เดิมสมัยย่าโมเหมือนกันคือ ห้ามเผาศพภายในบริเวณวัดซึ่งตั้งอยู่ภายในเขตกำแพงเมืองเด็ดขาด ดังนั้นวัดทั้ง ๖ จึงไม่มีฌาปนสถานหรือเมรุแม้แต่วัดเดียว
อุโบสถวัดบูรพ์ เป็นรูปสี่เหลี่ยมสร้างแต่ในสมัยอยุธยา เป็นทรงเรือสำเภา ได้รับการบูรณะปรับปรุงซ่อมแซมมาแล้ว ๓ ครั้งของเดิมนั้นเตี้ย พระครูอรรถโกวิท ได้ทำการบูรณะโดยยกให้สูงขึ้น หลังคาเพดานทำโค้งหลังคาด้านนอกเทปูนประดับกระเบื้อง ดวงดาราที่ติดเพดานเป็นของที่สร้างใหม่ ประตูและหน้าต่างของอุโบสถถูกบูรณะใหม่ทั้งหมดดูลักษณะภายนอกโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมจึงดูเหมือนกับโบสถ์พื้นบ้านทั่วๆ ไปแต่ยังคงลวดลายประดับหน้าจั่วไว้ทั้ง ๒ ด้านซึ่งเป็นลวดลายของเดิมที่แกะด้วยไม้ฝีมือประณีตงดงามมาก ประตูอุโบสถบานใหญ่ด้านหลังมีข้อความจารึกไว้ว่า “สร้าง ศก ๑๒๑ สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นการบูรณะประตูใหญ่บานนั้นว่าสร้างเมื่อ ร.ศ. ๑๒๑ ซึ่งตรงกับ พ.ศ. ๒๔๔๕ อยู่ในสมัยรัชกาลที่ ๕ แล้วมาบูรณะใหม่ใน พ.ศ. ๒๕๑๔
หน้าบันอุโบสถวัดบูรพ์ ทางด้านตะวันออกแกะสลักเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ส่วนด้านทิศตะวันตกแกะสลักเป็นรูปพระยาครุฑยุดนาค ทั้งนี้อยู่ภายในลายกนกก้านขด นอกจากนี้ยังแกะสลักรูปคชสีห์และรูปพระยานาคซึ่งสวยงามมากทั้งด้านหน้าและด้านหลังลายอ่อนโค้งรับกันดี แกะสลักเป็นช่อชั้นลึกมาก โดยเฉพาะลายคชสีห์ชูเด่นมากทีเดียว ภายในอุโบสถมีเสา ๑๐ ต้นเป็นเสาแปดเหลี่ยมที่แฝงหลักธรรมคือมรรค ๘ มีบัวหัวเสา ด้านนอกตัวอุโบสถมีสิ่งที่น่าชมอีกอย่างหนึ่งนั่นคือ หางหงส์ซึ่งมีลักษณะเก่ามากเหมือนกับที่วัดบึง คือทำเป็นรูปพระยานาคประดับกระจกสวยงามทรงคุณค่า ฐานล่างที่รองรับตัวอุโบสถยกสูงราว ๑.๕๐ เมตร ปัจจุบันมองไม่เห็นส่วนโค้งแล้ว ทั้งนี้อาจเป็นเพราะการบูรณะนั่งเอง
กุฏิทรงไทยโคราชเก่าแก่ อายุประมาณกว่า ๑๕๐ ปี เดิมทีเป็นไม้ทั้งหลังและเป็นกุฏิแฝดพื้นเตี้ยมีโถงกลางและมีชานหน้ากุฏิ กุฏิหลังนี้เป็นกุฏิไม้ที่ประดับด้วยลายไม้ฉลุที่สวยงามมากๆ และสันนิษฐานว่าน่าจะใช่เป็นสำนักงานเจ้าคณะจังหวัดในสมัยของท่านเจ้าคุณอรรถจารีสีมาจารย์ ปัจจุบันได้ถูกบูรณะมาแล้ว ๒ ครั้ง ได้บูรณะครั้งที่ ๑ ได้ถูกปรับเปลี่ยนบางส่วน ย้ายหลังแผดด้านหน้าไปไว้ด้านหลังแต่ก็ยังคงรักษาสภาพเดิมอยู่พอสมควร และได้บูรณะครั้งที่ ๒ ทำให้เกิดความสวยงามขึ้นทั้งรูปแบบและลายไม่ฉลุยังคงรักษาไว้ได้อย่างโดดเด่นสวยงามอยากชวนให้มาเช็คอิน
คลิกเพื่อนำทาง