ตำบลวังผาง อำเภอเวียงหนองล่อง จังหวัดลำพูน

วัดบ้านดงหลวง

วัดบ้านดงหลวง

วัดบ้านดงหลวง ตั้งอยู่เลขที่ ๔๒๖ หมู่ที่ ๕ ตำบลวังผาง อำเภอเวียงหนองล่อง จังหวัดลำพูน สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ปัจจุบันมี พระครูสุตกัลยาณกิจ เป็นเจ้าอาวาส และเลขานุการเจ้าคณะอำเภอเวียงหนองล่อง

ความเป็นมาของหมู่บ้านดงหลวง

บ้านดงหลวง หรือ บ้านดงสบลี้ เหตุที่เรียกเช่นนี้ เพราะในอดีตสภาพที่ตั้งเป็นพื้นที่ที่มีอาณาเขตกว้างใหญ่ มีลักษณะภูมิประเทศเป็นป่าดงทึบมีต้นไม้ขนาดใหญ่ปกคลุมทั่วบริเวณหมู่บ้าน เมื่อนำชื่อหมู่บ้านมาแยกคำออกจากกันจะทำให้ทราบถึงความหมาย ของชื่อหมูบ้านที่ชัดเจนขึ้น

คำว่า “ดง” หมายถึง ป่า ที่มีต้นไม้ใหญ่ขึ้นหนาแน่น
คำว่า “หลวง” เป็นภาษาพื้นเมือง หมายถึง ใหญ่

เมื่อคำสองคำมารวมกัน จึงหมายถึงพื้นที่ที่มีอาณาเขตกว้างใหญ่ที่ปกคลุมไปด้วยต้นไม้นานาพันธุ์

ส่วนชื่อ “บ้านดงสบลี้” เป็นอีกชื่อหนึ่ง ที่ใช้เรียกชื่อหมสู่บ้าน
คำว่า ดง (ตามความหมาย ที่ได้อธิบายแล้วข้างต้น) คำว่า “สบ” เป็นภาษาพื้นเมือง ความหมาย การบรรจบ ส่วนคำว่า “ลี้” หมายถึง ชื่อของสาบแม่น้ำ ชื่อว่า แม่น้ำลี้
ดังนั้นลักษณะของพื้นที่บ้านดงหลวง มีแม่น้ำสองสาย คือ สายน้ำปิง และสายน้ำลี้ โดยสายน้ำลี้ไหลมาบรรจบสายแม่น้ำปิงบริเวณท้ายหมู่บ้าน จึงเรียกอีกชื่อว่า “บ้านดงสบลี้”

การตั้งหมู่บ้าน สันนิษฐานว่าประมาณ ปี พ.ศ. ๒๓๗๔ ได้มีราษฎรจากจังหวัดเชียงใหม่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานเพื่อทำมาหากิน ต่อมามีราษฎรจากอำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ เข้ามาจับจองที่ดินเพิ่มขึ้นอีกด้วยความอุดมสมบูรณ์ที่มีแม่น้ำไหลผ่านหมู่บ้านถึงสองสาย เหมาะแก่การเกษตรกรรม จึงมีผู้คนเข้ามาอยู่อาศัยมากขึ้น จนกลายเป็นหมู่บ้านที่มีประชากรหนาแน่นตามลำดับ ปัจจุบันบ้านดงหลวงอยู่ในเขตรับผิดชอบของสำนักงานเทศบาลตำบลวังผาง อำเภอเวียงหนองล่อง จังหวัดลำพูน

               พ่อหนานเฉลิม ปัญญาดง ให้ข้อมูลว่า “ในสมัยท่านครูบาคำ คันธิโย อดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านดงหลวง ท่านได้เล่าให้ฟังว่า มีประชาชนจากบ้านสันทรายมหาวงศ์ จังหวัดเชียงใหม่ เข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณบ้านดงหลวง”

พระอธิการศรี สิริธัมโม ให้ข้อมูลว่า “ท่านเคยทราบว่ามีเจ้ามหาวงศ์เป็นผู้มาก่อตั้งบ้านดงหลวง”

พ่อหลวงเฮือน สิงห์หล้า ให้ข้อมูลว่า “บ้านดงหลวงตามที่ผู่เฒ่าผู่แก่เล่าให้ตนฟังว่า แรกเริ่มเดิมทีนั้นมีบ้านเรือนในบริเวณหมู่บ้านหมู่บ้านดงหลวงอยู่กระจัดกระจายกันเพียง จำนวน 7 หลังคาเรือนเท่านั้น”

ประวัติวัดบ้านดงหลวง

               เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๑๘ ได้มีการก่อตั้งวัด โดยตั้งชื่อว่า “วัดบ้านดงหลวง” ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ ๑๒ ไร่ ๒ งาน ๓๑ ตารางวา มีที่ธรณีสงฆ์ จำนวน ๒ แปลง เนื้อที่ ๙ ไร่ ๙๕ ตารางวา เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๙ คณะศรัทธาชาวบ้านได้ทำการสร้างอุโบสถขึ้น โดยมีท่านครูบาอภิวงษ์ เป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านดงหลวงในสมัยนั้นได้ร่วมกัยสร้างขึ้น

เสนาสนะ ปูชนียวัตถุสำคัญ

อาคารเสนาสนะ ประกอบไปด้วย วิหาร ศาลาการเปรียญ กุฏิสงฆ์ ศาลาทรงไทย หอระฆัง หอมณฑป ธาตุเจดีย์

ปูชนียวัตถุสำคัญ พระประธานในวิหารเป็นพระพุทธรูปปูนปั้น และมีพระประธานในศาลาทรงทยเป็นพระพุทธรูปเนื้อโลหะ

ภาพมุมสูง

การบริหารและการปกครอง

               วัดดงหลวง มีเจ้าอาวาสปกครอง เท่าที่ทราบนาม คือ

รูปที่ ๑ พระอธิการวงศ์ษา หรือ ครูบาวงศ์ (ไม่ทราบฉายา และปี พ.ศ.ที่แน่นอน)
รูปที่ ๒ พระอธิการปัญญา หรือ ครูบาปัญญา (ไม่ทราบฉายา และปี พ.ศ.ที่แน่นอน)
รูปที่ ๓ ครูบาคำ คนฺธิโย หรือ ครูบาคำ (มรณภาพปี พ.ศ.  ๒๕๒๒ รวมอายุ ๘๔ ปี พรรษา ๖๔)
รูปที่ ๔ พระครูจันทร์ ฉนฺทโสภี ปี ๒๕๒๒ – ๒๕๓๖ มรณภาพ ๒๕๓๖ อายุ ๕๓ ปี พรรษา ๓๓)
รูปที่ ๕ พระอธิการศรี สิริธมฺโม ปี ๒๕๓๖ – ๒๕๕๐ มรณภาพ ๒๕๕๐ อายุ ๕๖ ปี พรรษา ๓๖)
รูปที่ ๖ พระครูถวิล สุจิณฺโณ ปี ๒๕๕๐ – ๒๕๕๓
รูปที่ ๗ พระมหาจำลอง กลฺยาณสิริ ปี ๒๕๔๔ – ปัจจุบันเป็น พระครูสุตกัลยาณกิจ เลขานุการเจ้าคณะอำเภอเวียงหนองล่อง

พระครูสุตกัลยาณกิจ เจ้าอาวาสวัดบ้านดงหลวง เลขานุการเจ้าคณะอำเภอเวียงหนองล่อง

ปฏิทินประเพณีสำคัญของหมู่บ้าน

เดือนเมือง                                         ประเพณี/วันสำคัญ


เดือนเกี๋ยง                                          – ประเพณีการถวายผ้ากฐิน/จุลกฐิน
เดือนยี่                                                – ประเพณียี่เป็ง
– ตั้งธรรมหลวง หรือเทศน์มหาชาติ เวสสันดรชาดก (เป็นบางปี)
เดือนสาม                                           – ประเพณีเข้ารุกขมูล/เข้าโสสานกรรม(เข้ากร๋รม)
เดือนสี่                                               – ประเพณีตานเข้าใหม่ ตามหลัวหิงไฟพระเจ้า/และสรงน้ำธาตุเจดีย์
เดือนห้า                                             – ประเพณีมาฆบูชา
เดือนหก                                            – ประเพณีสรงน้ำกู่อัฐิ ท่านครูบาคำ คันธิโย
เดือนเจ็ด                                            – ประเพณีปีใหม่/ประเพณีแห่ไม้ค้ำโพธิ์
เดือนแปด                                          – ประเพณีปอยแห่ลูกแก้ว (ปัจจุบันปรับเป็นบวชภาคฤดูร้อน ๑ – ๑๓  เมษายน ของทุกปี)
เดือนเก้า                                            – ประเพณีเลี้ยงผีปู่ย่า
เดือนสิบ                                            – ประเพณีการฟังเทศน์ ฟังธรรม (ในพรรษา)
เดือนสิบเอ็ด                                      – ประเพณีการฟังเทศน์ ฟังธรรม (ในพรรษา)
เดือนสิบสอง                                    – ประเพณีเดือนสิบสองเป็ง/สลากภัตต์/เทศน์ปุพพเปตพลี

คลิกเพื่อนำทาง