วัดฟ้าหยาด

ตำบลฟ้าหยาด อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร

Wat Fah Yad

Fah Yad Subdistrict, Mahachana Chai District, Yasothon Province

ความเป็นมา

ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมบรมกษัตริย์ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินปกครองราชอาณาจักรสยาม ต่อจากพระเจ้ากรุงธนบุรีขณะนั้นพระจ้าสิริบุญสารกษัตริย์ผู้ครองเมืองเวียงจันทร์ อาณาจักรล้านนา (ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชสชนลาว) ได้เข้ามารุกรานเมืองชายแดนโดยเข้าโจมตี ที่เมืองนครเขื่อนขันณ์ กาบแก้วบัวบาน (จังหวัดหนองบัวลำภู) พระวอพระตา ผู้ปกครองเมืองได้นำพลออกต่อสู้อย่างกล้าหาญ พระตาเจ้าเมืองถูกปืนถึงแก่อสัญกรรมในที่โรงพยาบาล ระหว่างที่ทำสงครามกันนั้น ได้ให้ท้าวดำสู ท้าวดำสิงห์ อพยพไพร่พลลงมาตามลำน้ำชี เมื่อสร้างเมืองใหม่ ท้าวดำสูได้มาสร้างเมืองสิงห์ท่า (จังหวัดยโสธร) ประชาชนทำมาหากินโดยปกติสุข ประชาชนส่วนหนึ่งได้แยกย้ายหาทำเล ที่ทำกินแห่งใหม่ลงมาตามแม่น้ำชี จนพบเนินพื้นที่กว้างขวางน้ำท่วมไม่ถึง และยังเป็ยชัยภูมิที่ดี จึงได้ถากถางเป็นที่ทำมาหากินและตั้งบ้านเรือน จนมีผู้อพยพเข้ามาตั้งบ้านเรือนมากขึ้นเป็นชุมชนและหมู่บ้านแล้วได้มีการตั้งวัดเพื่อให้ลูกหลานได้ศึกษา ประชาชนได้ทำบุญขึ้นเป็นครั้งแรกชื่อว่า วัดหลวง (บริเวณที่ตั้งการประปาส่วนภูมิภาค) ต่อมาได้ย้ายลงมาทางทิศใต้ห่างจากสถานที่เดิมประมาณ ๓๐๐ เมตร เหตุที่ย้ายเพราะบริเวณที่ตั้งเดิมอยู่ริมฝั่งชี ตลิ่งจะพังทุกปี เมื่อได้ที่ตั้งใหม่ได้ชื่อว่า วัดศรีสุมัง (วัดคุ้ม) อยู่บริเวณที่ทำการไปรษณีย์โทรเลข ก่อสร้างวัดอยู่ประมาณ ๒๐ ปี ได้ย้ายวัดไปสร้างใหม่อีกครั้ง ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ เหตุที่ย้ายเพราะวัดอยู่ในเขตชุมชนไม่เหมาะแก่การปฏิบัติธรรมของพระภิกษุสงฆ์

ในระหว่างที่ประชาชนจัดเตรียมพื้นที่ที่จะสร้างวัด ซึ่งอยู่ในช่วงต้นฤดูฝนได้เกิดพายุฝนฟ้าคะนองฟ้าร้องคำรามอย่างน่ากลัวเป็นเวลานาน ชาวบ้านเกิดความหวาดกลัว ได้นำเครื่องมือถากถางไปซ่อนไว้โคนต้นไม้ใหญ่แล้วพากันกลับบ้าน จากนั้นฟ้าผ่าลงมาบริเวณต้นไม้ใหญ่นั้น ทำให้บริเวณโดยรอบสว่างไสวไปทั่ว เมื่อพายุฝนฟ้าคะนองสงบลงชาวบ้านได้ไปตรวจดูบริเวณที่ตนนำเครื่องมือไปซ่อนไว้พบว่าพร้าได้หักออกเป็น ๒ ท่อน เมื่อได้ทำการสร้างวัดเสร็จ จึงตั้งชื่อว่า “วัดฟ้าหยาด”

เหตุที่ได้ชื่อว่า “วัดฟ้าหยาด” มีข้อสันนิษฐาน ๓ ประการ คือ

  1. มาจากปรากฏการณ์ พายุฝนฟ้าคะนอง ฟ้าแลบ ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า มีแสงสว่างไสวไปทั่วบริเวณที่จะสร้างวัด
  2. มาจากฟ้าผ่าพร้าของชาวบ้านหักเป็น ๒ ท่อน
  3. มาจากชื่อบ้านฟ้าหยาดที่มีมาแต่เดิมเพื่อให้สอดคล้องกับชื่อหมู่บ้าน

การตั้งวัดฟ้าหยาด

วัดฟ้าหยาดตั้งอยู่เลขที่ ๙๐ หมู่ที่ ๔ บ้านฟ้าหยาด ตำบลฟ้าหยาด อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ได้รับอนุญาตให้ตั้งเมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๓๔๑ ผูกพัทธสีมาเมื่อ พ.ศ.๒๓๕๙ บนเนื้อที่ ๒๗ ไร่ ๖๐ ตารางวา

มีอาคารเสนาสนะ

  1. พระอุโบสถ (โบสถ์,สิม) สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๙
  2. ศาลาการเปรียญ (หลังใหม่) สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๒
  3. ศาลาการเปรียญ (หลังใหม่) สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๕
  4. กุฏิสงฆ์จำนวน 
  5. ศาลาบำเพ็ญกุศล (ร่มเย็น)
  6. ศาลาธรรมาธิปไตย
  7. โรงเรียนมัธยม ๒ ชั้น
  8. หอระฆัง
  9. โรงครัว
  10.  ห้องน้ำ,ห้องสุขา
  11.  โรงเรียนปริยัติ 

เจ้าอาวาสวัดฟ้าหยาด

เนื่องด้วยวัดฟ้าหยาดได้ตั้งมาเป็นเวลานาน การสืบค้นหลักฐานและการบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ก็ไม่สามารถบอกได้ว่า เจ้าอาวาสองค์แรก คือท่านใด เท่าที่สืบค้นได้มีดังนี้

  1. หลวงพ่ออรินทุม พ.ศ.๒๓๗๙ – พ.ศ.๒๔๑๕
  2. หลวงพ่อแอ๋ง พ.ศ.๒๔๑๗ – พ.ศ.๒๔๓๗
  3. หลวงพ่อพระครูปลัดพัน พ.ศ.๒๔๔๐ – พ.ศ.๒๔๗๐
  4. หลวงพ่อบู่ ถาวโร พ.ศ.๒๔๗๒ – พ.ศ.๒๔๙๒
  5. หลวงพ่อพระครูชยาภินันท์ (ชู ชาคโร) พ.ศ.๒๔๙๕ – พ.ศ.๒๔๙๙
  6. หลวงพ่อพระครูจันทรคุณ รักษาการเจ้าอาวาส
  7. หลวงพ่อพระครูมหาชัยชิโนบล (พระมหาจำปา ญาณงฺกโร ป.ธ.๖) พ.ศ.๒๕๐๑ – พ.ศ.๒๕๔๓
  8. พระครูสถิตนภคุณ (ยืน กตปุญฺโญ ป.ธ.๖ ศศ.ม.) พ.ศ.๒๕๔๔ – ปัจจุบัน