ตำบลสันทราย อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่

วัดศรีมงคล

องค์รูปเหมือนครูบาศรีวิชัย

ประวัติวัดศรีมงคล

เพื่อทำให้ให้เข้าใจประวัติวัดศรีมงคล จึงจำเป็นต้องรู้ความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ของเมืองฝางก่อน เมืองฝางเป็นเมืองเก่าแก่เมืองหนึ่งในประวัติศาสตร์ล้านนาไทย ความเป็นมาถึงปัจจุบันรวม ๙ ยุค
ยุคที่ ๑ ยุคพระเจ้าลวจักราช (ท่านจำเนียรมา) สร้างเมืองฝางครั้งแรก พ.ศ.1184 ตามประวัติเมืองฝาง ตอนนั้นมีเวียงในเมืองฝาง จำนวน ๑๒ เวียง ได้แก่ เวียงฝาง เวียงฮ่อ เวียงแช่ เวียงทราย เวียงมัลลิกา เวียงไชยปราการ เวียงสุทโท
เวียงสันทราย เวียงด้ง เวียงป่าบง เวียงป่าฮัก เวียงป่าโยง
ยุคที่ ๒ ยุคขอมสร้างเมืองอุมงคเสลางขึ้น แทนเมืองฝางที่ร้างไป พ.ศ. ๑๓๐๐
ยุคที่ ๓ ยุคพระเจ้าพรหมมหาราช ทรงปราบขอมและสร้างเมืองฝางขึ้นอีกครั้ง พ.ศ. ๑๕๙๙
ยุคที่ ๔ ยุคราชวงศ์เม็งรายสร้างเมืองเชียงราย พ.ศ.1805 สร้างเมืองฝางขึ้นใหม่ในปี พ.ศ. ๑๘๐๘ และได้สร้างเมืองเชียงใหม่ในปี พ.ศ. ๑๘๓๖
ยุคที่ ๕ ยุคพม่าปกครองล้านนาไทย ระหว่าง พ.ศ. ๒๐๐๐  – ๒๑๙๑

พระอุโบสถ

 

ยุคที่ ๖ ยุคพระเจ้าฝางอุดมสิน พ.ศ. ๒๑๕๕ – ๒๑๗๗
ยุคที่ ๗ ยุคพระเจ้ากาวิละกู้เมืองเชียงใหม่ พ.ศ. ๒๓๑๗ โปรดให้พระยาสุรินทร์มาปกครองเมืองฝาง พ.ศ. ๒๓๒๙ กระทั้งเมืองฝางร้างไปอีกครั้ง
ยุคที่ ๘ ยุคตั้งเมืองฝางใหม่ โดยพญาสุริโยยศและเจ้ามหาวงศ์ แม่ริม ขึ้นมาล่าสัตว์เห็นเมืองฝางยังคงสภาพพอจะบูรณะขึ้นมาใหม่ ได้ประกอบกับเมืองฝางมีความอุดมสมบูรณ์ ในสมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท์ ได้เกณฑ์ชาวบ้านจากอำเภอ                     ต่างๆ       รอบเมืองเชียงใหม่ เมืองลำพูน ขึ้นมาอยู่อาศัยทำมาหากินในเมืองฝาง
ยุคที่ ๙ ยุคปัจจุบัน

ประวัติวัดศรีมงคล ตำบลสันทราย อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เดิมชื่อว่าวัดสันทราย เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างในสมัยพระเจ้าฝางอุดมสิน  – พระนางสามผิว ระหว่าง พ.ศ. ๒๑๕๕ – ๒๑๗๗ มีประวัติศาสตร์เมืองฝาง ตอนนั้นมีเวียงในเมืองฝาง จำนวน ๑๐ เวียง ได้แก่ เวียงฝาง เวียงฮ่อ เวียงหวาย เวียงชัย เวียงสุทโธ เวียงสันทราย เวียงป่าป้าง เวียงป่าฮัก เวียงป่าโยง เวียงส้มสุก  วัดสันทราย(วัดศรีมงคล)จัดได้ว่าเป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่ง ในเวียงสันทรายในสมัยพระเจ้าฝางอุดมสิน  – พระนางสามผิว  ได้บูรณะปรับปรุงขึ้นใหม่ในปี พ.ศ.๒๔๓๐ เดิมเป็นวัดร้างในดงไม้ส้าน คงเหลือให้เห็นแต่เจดีย์เก่าแก่ มีฐานกว้าง ๙ ศอก ยาว ๙ สูง ๑๒ ศอก ตั้งอยู่ในบริเวณองค์เจดีย์ในปัจจุบัน ต่อมาได้มีการบูรณะขึ้นใหม่โดยการนำของ “เจ้าหลวงมหาวงศ์แม่ริม” เรียกว่า “เจ้าหลวง” ขึ้นมาปกครองเมืองฝางเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๖ เจ้าหลวงมหาวงศ์แม่ริม พร้อมด้วย “เจ้าแม่กัลยา” ผู้เป็นชายา “เจ้าคำตั้น” น้องชาย และ “เจ้าแก้วมุงเมือง” ผู้เป็นบุตรชาย พร้อมบริวาร มี พญาพิทักษ์ ท้าวเสมอใจ ท้าวธนูแสนเมืองขว้าง ท้าวอุด ท้ายชัยมงคล กับครอบครัว ทาส ๒๕ ครอบครัว และนิมนต์ “พระเกษรปรมติกาจารย์” เจ้าคณะสงฆ์พร้อมด้วยพระภิกษุ – สามเณรอีกหลายรูป ได้จ้างพวกขมุและแขกมาแผ้วถาง แต่ได้มีพงหญ้ามากเป็นป่าแขมหญ้าอ้อและหญ้าป่าเลาไม่สามารถจะตัดได้หมด จึงได้ใช้ช้างที่มีอยู่ประมาณ ๑๐๐ เชือก เหยียบหญ้าให้ราบ พร้อมกันนั้นยังขุดเหมืองเอาน้ำไหลเข้าบ้าน ลำเหมืองห้วยงู เหมืองเจ้าแม่มาวไหลเข้านาปั้น ๑ ถึงนาปั้น ๙ ที่โต้งโปงยังปรากฎอยู่ทุกวันนี้เมื่อปรับปรุงเมืองเข้าที่แล้ว จึงเริ่มบูรณะปฎิสังขรณ์ปูชนียสถานประจำเมือง เช่น สร้างพระพุทธรูป ที่ถ้ำตับเตา ปรับปรุงวัดพระบาทอุดม วัดเสาหิน วัดสันทราย(วัดศรีมงคล)

วัดศรีมงคล(วัดสันทราย) ในขณะนั้น ร่วมกับศรัทธาและชาวบ้านในสมัยนั้นพัฒนาสร้างวัดร่วมกัน โดยการนำคือ พ่อแก่อินตา ทรายทอง นายหมื่น เป็งสลี นายกุณา  วงศ์เมธา นายกันธา เตจ๊ะแก้ว  นายจันทร์ ทาธิจันทร์ นายโหม้ อินต๊ะ  นายธิ อ้อลาย นายตา ทรายปัญญา นายแก้ว ยาวิเชียร ร่วมกันตัดไม้ส้านขนาดใหญ่ออก และได้ขุดพบพระสิงห์ ๑ สมัยเชียงแสนและพระพุทธรูปพระฝางอีกหลายองค์ จึงเป็นหลักฐานได้ว่าวัดสันทรายเป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งของเมืองฝาง วัดสันทราย เมื่อได้บูรณะขึ้นใหม่เหล่าผู้นำได้ตั้งชื่อวัดว่า  “วัดทรายมูล” ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดศรีมงคล” ตามนามต้นโพธิ์ (ต้นไม้สะหลี๋หลวงประจำวัดศรีมงคล) และตามนามท้าวชัยมงคลมาจนถึงปัจจุบัน

พระวิหารพระนอน

วัดศรีมงคล (สันทราย) ตั้งอยู่บ้านเลขที่ ๑ หมู่ที่ ๓ บ้านสันทราย ตำบลสันทราย อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ บริเวณวัดเดิมมีเนื่อที่ ๔ ไร่ ๒ งาน ๗๐ ตารางวา ต่อมาปี พ.ศ. ๒๕๓๕ ผู้มีจิตศรัทธาถวายที่ดินให้ทางวัด เพิ่มอีก ๕ ไร่ ๑๔ ตารางวา ต่อมาปี พ.ศ.๒๕๕๙ ผู้มีจิตศรัทธาถวายที่ดินให้ทางวัด จำนวน ๑ ไร่ ปัจจุบันวัดศรีมงคลมี เนื้อที่ ๑๐ ไร่ ๒ งาน ๘๔ ตารางวา มีเสนาสนะถาวรวัตถุภายในวัด  พระอุโบสถ ศาลาการเปรียญ กุฎิสงฆ์ กุฎิไม้สักทอง พระวิหารพระนอน
อาคารปฎิบัติธรรมครูบาศรีวิชัย ซุ้มประตูวัดสร้างด้วยไม้   ศาลาอเนกประสงค์   พระศรีศากยมุมีมิ่งมงคล (พระพุทธรูปปางไสยาสน์ไม้สองทอง อายุ ๓๐๐ ปี ) องค์รูปเหมือนครูบาศรีวิชัย สมเด็จองค์ปฐมพระพุทธสิกขีทศพลญาณที่ ๑ พระเจ้าทันใจ เมื่อวันจันทร์ ที่ ๒๔ เดือน มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๒ วัดศรีมงคลได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา กว้าง ๒๐ เมตร ยาว ๔๐ เมตร

ลำดับเจ้าอาวาสตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๓๐ – ๒๔๖๐ ไม่ได้มีการบันทึกไว้ เริ่มบันทึกไว้ตั้งแต่

รูปที่ ๑ พระปัน          พ.ศ. ๒๔๖๐ – ๒๔๖๕
รูปที่ ๒ พระดวง  พ.ศ. ๒๔๖๖ – ๒๔๖๘
รูปที่ ๓ พระเมืองใจ๋   พ.ศ. ๒๔๗๐ – ๒๔๗๔
รูปที่ ๔ พระปี๋      พ.ศ.๒๔๗๔ – ๒๔๗๘
รูปที่ ๕ พระสิงห์คำ   พ.ศ. ๒๔๗๙ – ๒๔๘๑
รูปที่ ๖ พระต๋า     พ.ศ. ๒๔๘๒ – ๒๔๘๖
รูปที่ ๗ พระถา          พ.ศ. ๒๔๘๗ – ๒๔๘๘
รูปที่ ๘ พระศร     พ.ศ. ๒๔๘๙ – ๒๔๙๔
รูปที่ ๙ พระเขียว        พ.ศ. ๒๔๙๕ – ๒๕๐๕
รูปที่ ๑๐ พระอธิการทองแดง ญาณโสภโณ พ.ศ.๒๕๐๖ – ๒๕๑๐
รูปที่ ๑๑ พระอิ่นคำ  พ.ศ. ๒๕๑๑ – ๒๕๑๓
รูปที่ ๑๒ พระมูล ถิรฺจิตฺโต พ.ศ. ๒๕๑๔ – ๒๕๑๔
รูปที่ ๑๓ พระชวน  พ.ศ. ๒๕๑๕– ๒๕๑๙
รูปที่ ๑๔ พระพาเมฆ พ.ศ. ๒๕๒๐ –๒๕๒๘
รูปที่ ๑๕ พระอธิการบุญทรง สุทฺธจิตฺโต  พ.ศ. ๒๕๒๕ – ๒๕๒๘
รูปที่ ๑๖  พระจรัญ  พ.ศ. ๒๕๒๙ – ๒๕๓๑
รูปที่ ๑๗ พระครูสุพัฒนมงคล (ชัยยุทธ สิริจนฺโท ) พ.ศ. ๒๕๓๒ – ๒๕๖๓
รูปที่ ๑๘ พระครูศรีสิทธิพิมล ดร. รักษาการแทนเจ้าอาวาส พ.ศ.๒๕๖๓ – ปัจจุบัน

คลิกเพื่อนำทาง