วัดป่าวิเวก ตำบลหว้านใหญ่ อำเภอหว้านใหญ่  จังหวัดมุกดาหาร

Wat Pa Vivek Wan Yai Subdistrict, Wan Yai District, Mukdahan Province

ความเป็นมา

วัดป่าวิเวก  ตั้งอยู่บ้านหนองแสง หมู่ที่ ๘ ตำบลหว้านใหญ่ อำเภอหว้านใหญ่ จังหวัดมุกดาหาร สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัด ๑๑ ไร่ ๓๘ ตารางวา อาณาเขตทิศเหนือ จรด โรงเรียนหว้านใหญ่วิทยา ทิศใต้ จรดถนนสาธารณะ ทิศตะวันออก จรด ถนนสาธารณะ ทิศตะวันออก จรด ถนนสาธารณะ  มีที่ธรณีสงฆ์จำนวน ๑ แปลง เนื้อที่ ๖ ไร่ ๙๓ ตารางวา  

วัดป่าวิเวก ตั้งเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๒  การบริหารและการปกครอง มีเจ้าอาวาสเท่าที่ทราบนาม คือ รูปที่ ๑ พระอธิการเกลี้ยง  จนฺทิโย (พระอุปัชฌาย์)  พ.ศ.๒๔๘๘ -๒๕๑๔    รูปที่ ๒  เจ้าอธิการทองจันทร์   สิริจนฺโท  พ.ศ.๒๕๒๗-๒๕๓๖  รูปที่ ๓  พระอธิการต้าย   อคฺคธมฺโม  พ.ศ.๒๕๓๗-๒๕๔๕  และรูปที่ ๔  พระมหาเกษมณี   เตชปญฺโญ  ป.ธ.๙  เจ้าคณะอำเภอหว้านใหญ่  ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๐ จนถึงปัจจุบัน มีการเปิดสอนพระปริยัติธรรมทั้งแผนกธรรม แผนกบาลี และเป็นสนามสอบธรรมสนามหลวง ชั้นตรี ของคณะสงฆ์อำเภอหว้านใหญ่   

ปูชนียวัตถุภายในวัด   มี พระพุทธรูป ปางไสยาสน์  สร้างโดย พระอุปัชฌาย์เกลี้ยง จนฺทิโย พร้อมศิษยานุศิษย์และพี่น้องชาวตำบลหว้านใหญ่ ได้สละกำลังกาย ความคิด และกำลังทรัพย์สร้างพระพุทธไสยาสน์ ลักษณะนอนหันพระเศียรไปทางทิศใต้ หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก ขนาดยาว  ๒๓  เมตร สูงจากฐานล่าง ถึงพระเศียร ๔.๓๖ เมตร ฝ่าพระบาทยาว ๔.๕ เมตร บนฝ่าพระบาท มีรูปแกะสลักพุทธประวัติที่วิจิตรสวยงามมาก สร้างเมื่อวันที่ ๕ เดือนธันวาคม พ.ศ.๒๕๐๕ ตรงกับวันพุธ ขึ้น ๑ ค่ำ เดือนอ้าย ปีขาล แล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๒ เดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๕๐๗ ตรงกับวันพุธ ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๙ ปีมะโรง ระยะเวลาสร้าง ๒ ปี ๘ เดือน ๗ วัน  และล้อมรอบไปด้วยพระพุทธรูปปางต่าง ๆ รอบองค์พระพุทธไสยาสน์  จำนวน  ๒๙  องค์  และมีรอยพระพุทธบาทจำลอง แกะด้วยหินทรายภูเขา   มีรูปปั้นแสดงยมกปาฏิหาริย์ มีแท่นปรินิพพานจำลอง ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า 

ความอัศจรรย์ของพระพุทธไสยาสน์องค์นี้ ปรากฏมีหลายครั้งที่พระปางไสยาสน์ ถูกโจรเจาะเพื่อหาสมบัติและของมีค่าในองค์พระพุทธไสยาสน์ แต่ไม่เคยประสบผลสำเร็จต้องมีอะไรบางสิ่งบางอย่างมาแสดงปาฏิหาริย์ปรากฎให้โจรขโมยได้พบเจออยู่ทุกครั้งที่ขุดเจาะ ซึ่งโจรขโมยเหล่านั้นได้เล่าปากต่อปากเป็นที่โจทน์ขานกันอย่างมาก

อาคารเสนาสนะประกอบด้วย 

 ๑. อุโบสถ (หลังเก่า) สร้างด้วยไม้ทั้งหลัง กว้าง ๖ เมตร ยาว ๑๘ เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๕ และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๘  ต่อมาอุโบสถหลังเก่าได้ชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา  คณะสงฆ์และคณะกรรมาร จึงได้รื้ออุโบสถหลังเก่าที่สร้างด้วยไม้ และได้สร้างอุโบสถหลังใหม่แทน ลักษณะทรงไทยก่ออิฐถือปูน ขนาดกว้าง และยาว เท่าเดิม สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๗

๒. วิหารพระพุทธไสยาสน์ ขนาดกว้าง ๓๐ เมตร ยาว ๓๖ เมตร  สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๕๔๗ แล้วเสร็จ พ.ศ.๒๕๕๔ 

๓. พระเจ้าใหญ่พระพุทธรัตนมหามุนี นาคปรก ขนาดหน้าตัก ๖ เมตร สูง ๙ เมตร มีฐานยกพื้นสูง ๒.๕๐ เมตร และมีพญานาค รายรอบบนฐานพระชั้นสอง ๔ องค์ สร้างเมื่อวันที่ ๒๖ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๘ 

๔. พระเจดีย์ ๑๒ ราศี ประจำปีเกิด เมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๙ 

๕. กุฏิสงฆ์ หลังใหญ่ ๒ ชั้น จำนวน ๑ หลัง กุฏิสงฆ์หลังเล็ก จำนวน ๓ หลัง อาคารสำนักงานเจ้าคณะอำเภอ ๑ หลัง  กุฏิรับรอง ๒ หลัง