วัดมหาวัน (มหาวนาราม)

ข่าวประชาสัมพันธ์

การประกวด “รูปแบบการออกกำลังกายด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นของผู้สูงอายุ ประจำปี 2565”
ร่วมส่งแรงใจให้ทีม 12 ทีมชมรมฟ้อนเจิงวัดมหาวันลำพูน ได้ที่นี่ คลิก…!!!

วัดมหาวัน มีชื่อเดิมว่า วัดมหาวนาราม สร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ ๑๒๐๔ ในรัชสมัยของพระนางจามเทวี กษัตริย์พระองค์แรกของนครหริภุญชัย วัดมหาวันนอกจากเป็นพระอารามหลวงของพระนางจามเทวีแล้ว ยังเป็นสถานที่บรรจุพระรอด พระพิมพ์ที่สร้างขึ้นเป็นครั้งแรกของโลก และยังเป็นสถานที่ประดิษฐานของพระพุทธสักขีปฎิมากรหรือที่คนทั่วไปเรียกว่า พระรอดหลวง

 

      วัดมหาวัน ตั้งอยู่เลขที่ ๒ หมู่ที่ ๓ ถนนจามเทวี ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ลำพูน มีเนื้อที่ดิน ๕ ไร่ ๑ งาน ๖๒ ตารางวา อาคารเสนาสนะประกอบด้วย อุโบสถ วิหาร ศาลาการเปรียญ กุฏิสงฆ์ หอไตร และหอระฆัง ปูชนีย์วัตถุมี เจดีย์ พระประธานในวิหาร และพระรอดหลวง วัดมหาวันได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ ๒๔๓๗ เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันคือ พระครูพิศาลธรรมนิเทศ (เจริญ โชติธโร)

  คำขวัญของวัดมหาวัน  คือ “พัฒนาวัด จัดวัตถุ ระบุธรรม สัมมนาบุคคล”

 

                               

อาคารเสนาสนะภายในวัด

            ๑.อุโบสถหรือโบสถ์หลังแรก สร้างในสมัยท่านครูบาอุปนันท์เป็นเจ้าอาวาส ไม่ทราบปี พ.ศ. ที่สร้าง โบสถ์ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ในปี พ.ศ. ๒๔๗๓ ในสมัยท่านเจ้าคุณพระญาณมงคล(ครุบาฟู ญาณวิชโย) เป็นเจ้าอาวาส ต่อมาโบสถ์ได้ชำรุดหักพังลงจึงต้องรื้อทิ้งและสร้างใหม่ในปี พ.ศ. ๒๕๐๕ ในสมัยท่านเจ้าคุณพระญาณมงคล(ชุมพล ชุตินฺธโร) เป็นเจ้าอาวาส

            ๒.วิหาร หลังแรกสร้างในสมัยท่านครูบาอุปนันท์เป็นเจ้าอาวาส แต่ไม่ทราบปี พ.ศ ต่อมาวิหารได้เกิดรอยร้าวแยกเป็นทางยาวกว้าง ท่านพระครูพิศาลธรรมนิเทศ (เจริญ โชติโร) เจ้าอาวาสเกรงว่าวิหารทรุกเกิดอันตรายแก่พระภิกษุ สามเณร และอุบาสก อุบาสิกา ที่มาปฏิบัติธรรม จึงรื้อวิหารเก่าและสร้างขึ้นใหม่เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๗ เป็นอาคารชั้นเดียว ก่ออิฐถือปูน เสาคอนกรีตเสริมเหล็ก ประดับดอกปิดทองคำเปลวทั้งหมด มีขนาดกว้าง ๒๕ ศอก ยาว ๕๘ วา ใช้ระยะก่อสร้างเกือบ ๔ ปี จึงเสร็จเรียบร้อยในปี พ.ศ. ๒๕๔๑

            ๓.หอไตร หรือหอธรรม หรือหอพระไตรปิฎก สร้างในปี พ.ศ. ๒๔๗๓ โดยเจ้าหญิงแขกแก้ว ณ ลำพูน เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่เจ้าบุรีรัตน์ (เจ้าน้อยพรหมเทพ ณ ลำพูน) และเจ้าสุนา ณ ลำพูนในสมัยของท่านเจ้าพระญาณมงคล (ครูบาฟู ญาณวิชโย) เป็นเจ้าอาวาส

                                       

                       

                      

            ๔.หอระฆัง สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๘ ในสมัยท่านเจ้าพระคุณญาณมงคล (ชุมพล ชุตินุธโร) เป็นเจ้าอาวาส

            ๕.วิหารพระรอด สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ .ในสมัยท่านพระครูพิศาลธรรมนิเทศก์ (เจริญ โชติธโร) เป็นเจ้าอาวาส เพื่อเป็นสถานที่เก็บรักษาพระรอดรุ่นยมกปฏิหาริย์ ทั้ง ๕ พิมพ์ พิมพ์ละ ๒๔๒,๐๐๐ องค์

            ๖.ศาลาการเปรียญ เป็นอาคาร ๒ ชั้น สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๕ ในสมัยท่านพระครุพิศาล ธรรมนิเทศ (เจริญ โชติธโร) เป็นเจ้าอาวาส

            ๗.กุฏิสงฆ์ มีหลายหลัง กุฏิสงฆ์หลังที่เก่าแก่ที่สุดชื่อ “ตึกแขกแก้ว” สร้างถวายวัดโดยเจ้าหญิงแขกแก้ว ณ ลำพูน เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๘ เป็นที่พำนักอาศัยของท่านเจ้าคุณพระญาณมงคล (ชุมพล ชุตินุธโร) ตั้งแต่สร้างเสร็จจนกระทั่งท่านถึงแก่มรณภาพ

 

 

ปูชนียวัตถุ

            ๑.เจดีย์ หรือที่บางคนเรียกว่า ”กรุพระรอด” นั้นสร้างครั้งแรกในสมัยพระนางจามเทวี ต่อมาในปีพ.ศ. ๒๕๓๗ ท่านพระครูพิศาลธรรมนิเทศก์ (เจริญ โชติธโร) เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน ได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์เจดีย์ครั้งใหญ่ คือได้ ฉาบปูนและหุ้มทองจังโก้ทั้งองค์ ปิดทองคำเปลวทั้งหมดทำรั้วเหล็กกำแพงปิดทองคำเปลวรอบ ๓ ด้าน

            ๒.พระประธานในวิหาร เป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ปางมารวิชัยสร้างในปี พ.ศ. ๑๖๒๐ โดยพญาสรรพสิทธิ์ กษัตริย์แห่งอาณาจักรหริภุญชัย

            ๓.พระพุทธสักขีปฏิมากร หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า พระรอดหลวงหรือแม่พระรอดนั้น เป็นพระพุทธรูปที่สร้างด้วยหินศิลาสีดำ หน้าตักกว้าง ๑๗ นิ้ว สูง ๓๖ นิ้ว นั่งขัดสมาธิเพชร ปางสมาธิประดิษฐานบนแท่นแก้วที่มีงาช้างข้อตั้งอยู่ด้านหน้าของพระประธานในวิหารเป็นพระพุทธรูป ๑ใน ๓ องค์ ที่พระนางจามเทวีอัญเชิญมาจากเมืองละโว้ เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๑๒๐๔

            ๔.พระรอด เป็นพระพิมพ์ขนาดเล็กที่สุดในบรรดาพระเครื่องสกุลลำพูน สร้างครั้งแรกในรัชสมัยพระนางจามเทวี โดยนารอด (นาร์ท) ฤๅษี คือประมาณ ๑๓๐๐ กว่าปีมาแล้ว ในปัจจุบันนี้พระรอดถูกจัดเป็นพระเครื่อง๑ ใน ๕ องค์ของชุดพระเครื่องเบญจภาคี เป็นที่ต้องการของผู้คนทั่วไป

            ๕. ธรรมมาสน์ทรงปราสาท สร้างในปี พ.ศ. ๒๔๘๖ ปัจจุบันตั้งอยู่ภายในวิหาร ธรรมาสน์ทรงปราสาท ได้รับการบูรณะซ่อมแซมครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ในสมัยพระครูพิศาลธรรมนิเทศก์ (เจริญ โชติธโร) เป็นเจ้าอาวาส

                           

                           

คลิ๊กเพื่อนำทาง