วัดพระธาตุดอยสะเก็ด พระอารามหลวง
ในสมัยพุทธกาล เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ธรรมแล้ว ได้นำเอาธรรมะออกเผยแผ่แก่ชาวชนบทน้อยใหญ่ ในชมพูทวีปจนได้มีผู้รู้แจ้งเห็นจริงในสัจธรรมเป็นจำนวนมาก ในกาลนั้น พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงปาฏิหาริย์มาปรากฏกายทิพย์ณ บนดอยแห่งนี้ แล้วทรงเปล่งพระฉัพพรรณรังสีสว่างเจิดจ้าไปทั่ว ขณะนั้นได้มีพญานาคคู่หนึ่งอาศัยอยู่ในหนองบัว ได้เห็นฉัพพรรณรังสี ก็เกิดความแปลกใจพากันเลื้อยขึ้นสู่บนดอย แล้วได้เห็นพระพุทธองค์ บังเกิดความเลื่อมใส จึงแปลงกายเป็นชายหนุ่มหญิงสาวมาเข้าเฝ้า พร้อมกับได้นำดอกบัวมาถวาย พระพุทธองค์ทรงรับเอาดอกบัวแล้วจึงทรงแสดงธรรมโปรด และประทานพระเกศาธาตุแก่พญานาคแปลงคู่นั้น พญานาคจึงได้อธิษฐานสร้างเจดีย์หิน แล้วนำเอาพระบรมเกศาธาตุบรรจุประดิษฐานไว้บนดอยแห่งนี้ ต่อมาได้มีนายพรานที่หาของป่าได้มาพบเห็นเจดีย์มีลักษณะสวยงาม จึงเกิดอัศจรรย์แล้วได้นำเอาก้อนหินมาก่อเป็นรูปเจดีย์ขึ้น กลางคืนได้ฝันว่าเจดีย์ที่ตนพบนั้นเป็นที่บรรจุพระบรมเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า จึงได้บอกกล่าวชักชวนประชาชนในแถบนั้นขึ้นไปสักการะบูชา และเรียกชื่อภูเขาแห่งนี้ว่า“ดอยเส้นเกศ” บ้าง
“ดอยสะเก็ด” บ้าง ที่เรียกว่าดอยเส้นเกศนั้น เพราะเรียกตาม พระเกศาธาตุที่เรียกว่าดอยสะเก็ดเพราะเรียกเพี้ยนสำเนียงตามที่พญานาคลอกคราบ(ชาวเหนือเรียกสะเก็ด หรือสละเกล็ด) คือ ถอดหรือลอกคราบนั้นเอง ดอยแห่งนี้ได้มีพุทธศาสนิกชนขึ้นมานมัสการเจดีย์หิน อันเป็นที่บรรจุพระบรมเกศาธาตุมากขึ้นจึงได้ก่อเจดีย์ปูนเสริมให้ใหญ่ และมั่นคงกว่าเดิม ต่อมาได้มี พระภิกษุรูปหนึ่งชื่อว่า“ครูบาเก๋” จากอำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน มาสร้างวิหารและบูรณะเจดีย์พร้อมทั้งสถาปนาขึ้นเป็นวัด เรียกว่า “วัดพระธาตุดอยสะเก็ด”
วัดพระธาตุดอยสะเก็ด พระอารามหลวงพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญวัดพัฒนาตัวอย่างที่มีผลงานดีเด่นสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดเชียงใหม่ แห่งที่ ๑๐ ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราช
ข้อมูลพื้นฐาน
เลขที่ ๓๐๔ หมู่ที่ ๖ ตำบลเชิงดอย อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ มีเนื้อที่ทั้งหมด ๓๓๙ ไร่ ๓ งาน ๘๖ ตารางวา ได้รับการตั้งวัดเมื่อวันที่ ๖ มกราคม พ.ศ. ๒๑๕๕ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๑ได้รับการยกวัดเป็นพระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดสามัญ เมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๕
ประวัติรอยพระพุทธบาทเมืองโยนกวัดพระธาตุดอยสะเก็ด พระอารามหลวง
รอยพระพุทธบาทนี้มีความยาว ๓๑ เซนติเมตร คาดว่าระดับความสูงของเจ้าของรอยสูง ๒.๐๕ เมตร ค้นพบด้วยบุญบารมีและความอัศจรรย์ กล่าวคือในวันเสาร์ที่ ๒๐ เดือน มีนาคม๒๕๕๓ (วันขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๕) หลวงพ่อพระราชโพธิวรคุณ (ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่ พระโพธิรังษี)ได้ปรารภกันว่าเมื่อ ๓ วันก่อน ได้ฝันเห็นดอยโพธิรังษี(ม่อนถ้ำ) มีแสงสว่างไสว หลวงพ่อฯ พร้อมด้วยคนงานวัด ๓ คนสามเณร ๙ รูป จึงชวนกันเดินเข้าไปในป่า สักพักก็ไปยืนบนกลุ่มก้อนหิน หลวงพ่อฯ ก็เอาร่มที่ถือไปด้วยทิ่มแทงใบไม้แห้ง และให้คนงานเอาไม้กวาดกวาดดู ระหว่างที่คนงานกวาดไปได้สักพัก คนงานวัดได้พูดขึ้นว่า “หลวงพ่อ มีรอยเท้าคน” จึงเดินมาดูเห็นรอยลายเส้นหินเป็นธรรมชาติ จึงสันนิษฐานว่าคงเป็นรอยพระพุทธบาท ที่ทรงเปล่งพระฉัพพรรณรังสี เจริญเตโชธาตุ ด้วยพุทธปาฏิหาริย์จึงมีปรากฏการณ์ให้หินนิ่มยุบไปตามรอยพระบาทและปรากฏให้พบเห็น
ทำเนียบเจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยสะเก็ด
๑. พระอภิวงศ์ (ครูบากาวิชัย) พ.ศ. ๒๔๔๘-๒๔๗๒
๒. พระครูมงคลคุณาทร(ครูบาหมื่น) พ.ศ. ๒๔๗๓-๒๔๗๕
๓. พระใบฎีกา พรหมบาล พ.ศ. ๒๔๘๕-๒๔๘๘
๔. พระครูรัตนปัญญาญาณ (สม ธมมธีโร ป.ธ.๔) พ.ศ. ๒๔๘๙-๒๕o๘
๕. พระมหาเสน่ห์ ปภสสโร พ.ศ. ๒๕๐๕-๒๕o๘
๖. พระครูวินิตสุภาจาร(ไสว สุภาจาโร) พ.ศ. ๒๕๐๙-๒๕๑๔
๗. พระใบฎีกา ธวัชชัย ฐานิสสโร พ.ศ. ๒๕๑๕-๒๕๑๘
๘. พระเสน่ห์ รมณียจิตโต พ.ศ. ๒๕๑๙-๒๕๒๐
๙. พระครูมงคลศีลวงศ์ (กุศล คนธวโร) พ.ศ. ๒๕๒๐-๒๕๒๒ (สมณศักดิ์สุดท้ายที่ พระเทพวิสุทธิคุณ)
๑๐. พระราชโพธิวรคุณ(พายัพ ฐิตปุญโญ ป.ธ.๖) พ.ศ. ๒๕๒๓-๒๕๕๕ (วัดราษฎร์ พ.ศ. ๒๕๕๕-ปัจจุบัน(พระอารามหลวง)
ภาพจิตกรรมฝาผนัง
ภาพมุมสูง
คลิกเพื่อนำทาง