วัดหลวงขุนวิน

วัดหลวงขุนวิน ตั้งอยู่เลขที่ ๗๖ หมู่ ๑๖ บ้านสันปูเลย ตำบลดอนเปา อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ อยู่ในเขตพื้นที่ป่าต้นน้ำขุนวิน ได้รับอนุญาตให้ตั้งวัด เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๕ สภาพแวดล้อมโดยยรอบวัดยังเป็นป่าใหญ่ที่อุดมสมบรูณ์ ห่างจากวัดประมาณ ๑๐ กิโลเมตร พบรอยพระพุทธบาท เรียกว่า “พระพุทธบาทย่ำหวิด” สืบเนืองมาจากตำนานพื้นเมือง ลักษณะเดียวกับตำนานพระเจ้าเลียบโลกที่กล่าวถึงสมัยพุทธกาลที่พุทธองค์เสด็จมาโปรดเวไนยสัตว์บริเวณที่แห่งนี้ และย่ำพระบาทลงบนหินก้อนหนึ่ง กว้าง X ยาวประมาณ ๐.๕ X ๑ เมตร เหตุที่ก้อนหินมีขนาดเล็กนิ้วพระบาทจึงหายแหว่งไปไม่ครบ จึงเรียก “พระพุทธบาทย่ำหวิด”  และเรียกเพี้ยนต่อๆ กันมากลายเป็น “เมืองวิน”

ตามตำนานเล่าว่าพระพุทธองค์ได้ประทานพระเกศาธาตุ ๕ เส้นให้ชาวลัวะ ชาวลัวะจึงสร้างเจดีย์เพื่อบรรจุเกศาธาตุนั้นโดยก่อเจดีย์ ๕ ยอดไว้ที่บ้านหลวง ซึ่งตามประวัติวัดระบุว่า เป็นวัดเดียวกับวัดหลวงขุนวิน (วัดบ้านหลวงขุนวิน) เนื้อหาประวัติศาสตร์วัดจากคัมภีร์ใบลานระบุว่า ในปี พ.ศ. ๑๗๖๐ เจ้าหมื่นคำชาว (สืบเชื้อสายมาจากน้องชายขุนหลวงวิลังคะ แห่งเวียงลัวะ) ได้ทำนุบำรุงวัดนี้มี “ครูบาปัญญาวงศา” เป็นเจ้าอาวาส ตั้งแต่ พ.ศ. ๑๗๖๐ – ๑๘๐๒ ต่อจากนั้นประวัติวัดไม่ได้มีการบันทึกไว้ พบข้อมูลอีกครั้งใน พ.ศ. ๒๔๙๗ ว่ามีพรานชาวกระเหรี่ยงพบวัดร้างแห่งนี้จึงได้นิมนต์ครูบาอุ่นเรือน สุภทฺโท ซึ่งเป็นลูกศิษย์ครูบาเจ้าศรีวิชัยมาบูรณะขึ้นใหม่อีกครั้ง ต่อมาครูบาอุ่นเรือนได้นิมนต์ครูบาอภิชัยขาวปี สหรรมิกผู้พี่มาช่วยกันเป็นประธานสร้างพระวิหาร บูรณะพระเจดีย์ ฉลองสมโภชเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๑ 

ความสำคัญของวัด เป็นวัดเก่าแก่ที่ผ่านการทิ้งร้างมาหลายยุคสมัย สันนิษฐาน ครูบาเจ้าศรีวิชัยเคยมาวางรากฐานบูรณะซ่อมแซ่มก่อนหน้าที่ลูกศิษย์ของท่าน (ครูบาอุ่นเรือน) จะมาบูรณะ เนื่องจากพบว่า ศาสนสถานหลายสิ่งภายในวัด เช่น หอธรรม (หอไตรไม้) ศาลาบาตรมีรูปเสือบนหน้าบน ภาพถ่ายครูบาเจ้าศรีวิชัยใต้ต้นไทรบริเวณหอฉันทิศเหนือของเจดีย์ที่พบที่วัดศรีโสดาเป็นภาพเดียวกัน อีกทั้งรอยพระพุทธบาทที่ห่างจากวัดแห่งนี้ ๑๐ กิโลเมตรนั้น ครูบาเจ้าศรีวิชัยเคยไปสร้างมณฑปครอบไว้ แต่ต่อมาเกิดไฟไหม้ ชาวบ้านจึงได้นิมนต์ “ครูบาเทือง นาถสีโล” มาทำมณฑปหลังใหม่

กลุ่มที่ ๑ ดั้งเดิม ได้แก่ วิหารไม้ เจดีย์ หอธรรม ที่สร้างโดยครูบาเจ้าศรีวิชัย

กลุ่มที่ ๒ กุฏิไม้เป็นอาคารหลังสูงแบบไทใหญ่ สอดรับกับกุฏิเก่าของครูบาอุ่นเรือน

กลุ่มที่ ๓ อุโบสถและวิหารหลังใหม่ ที่ภายในประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์แกะสลักจากไม้จำปาทั้งต้น

facebook : วัดหลวงขุนวิน

ประวัติหลวงหลวงพ่อจรัญ ทกฺขญาโณ เจ้าอาวาสวัดหลวงขุนวิน

ชื่อ พระอธิการ จรัญ  ฉายา ทกฺขณาโณ อุปสมบทเมื่ออายุ ๒๗ ปี ณ วันที่ ๑๓ เดือน กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๙ เวลา ๑๙.๓๑ น. วัด สังฆทาน ตำบล บางไผ่ อำเภอ เมือง จังหวัด นนทบุรี ให้ ณ วันที่ ๑๘ เดือน ตุลาคม ๒๕๔๘ โดยมี พระอุปัชฌาย์ พระปรีชานนทโมลี พระกรรมวาจาจารย์ พระครูนนทสารวิจิตร
หลวงพ่อจรัญ ทกฺขญาโณ เดิมเป็นคนจังหวัดน่าน ขณะทำงานที่กรุงเทพฯ มีความสนใจศึกษาและฝึกปฏิบัติจนเกิดศรัทธา และบวชที่วัดสังฆทาน ในปี พ.ศ. ๒๕๒๙ เมื่ออายุได้ ๒๗ ปี พรรษาแรกจำพรรษาที่อุ้มผาง จังหวัดตาก และผ่านการเก็บอารมณ์ที่วัดหนองไผ่เจริญธรรม จังหวัดสุพรรณบุรี รวม ๔ ปี ต่อมาท่านธุดงค์ไปทางภาคเหนือเพื่อการปฏิบัติ จนพบวัดพันต้น ซึ่งเป็นวัดร้างอยู่กลางทุ่ง ที่อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งตามประวัตินั้นเป็นวัดที่จัดให้มีการทำสังคายนาพระไตรปิฎก มีพระมาประชุมกันพันองค์ หรือพันต้น ท่านเห็นว่าเป็นสถานที่สัปปายะ เหมาะแก่การฝึกปฏิบัติจึงอยู่จำพรรษาที่วัดนี้เป็นเวลา ๒ ปี ซึ่งในปีสุดท้ายนั้นมีพระจากวัดสังฆทานธุดงค์ผ่านมา ท่านจึงบอกทางไปจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยให้ตัดตรงผ่านเส้นทางนี้ไป ท่านจึงพบวัดหลวงขุนวินโดยบังเอิญ ซึ่งขณะนั้นพระอาจารย์สมบูรณ์ รตนญาโณ (ลูกศิษย์หลวงพ่อสนิท ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่สังวาลย์ วัดทุ่งสามัคคีธรรม จังหวัดสุพรรณบุรี) เป็นผู้ดูแลวัดได้ ๘ ปีแล้ว พระอาจารย์สมบูรณ์จึงดีใจที่ได้พบพระจากวัดสังฆทาน และยกวัดให้หลวงพ่อจรัญ ทกฺขญาโณ ดูแลวัดสืบต่อไป ในปลายปี พ.ศ. ๒๕๓๙ นั้นเอง หลวงพ่อจรัญ ทกฺขญาโณ จึงอยู่ที่วัดหลวงขุนวินเรื่อยมา ซึ่งเดิมทีตั้งใจจะอยู่เงียบๆ แต่มีพระท่านขึ้นไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นหมู่คณะ และดูแลปกครองกันจนเป็นสาขาหนึ่งของวัดสังฆทาน ช่วยกันบูรณะและดูแลวัดเรื่อยมา 

facebook : หลวงพ่อจรัญ ทักขญาโณ วัดหลวงขุนวินและธรรมสถานเดือนเต็มดวง

จุดชมวิว

ภาพมุมสูง

ช่องทางการติดต่อ โทร. ๐๖๓ ๘๐๑ ๗๓๖๘ วัดหลวงขุนวิน ๐๘๑ ๙๒๙ ๐๒๔๖ คุณณัฐพงษ์ รัตนารังสรรค์

facebook : ศูนย์ท่องเที่ยว วัดหลวงขุนวิน-บ้านห้วยหยวก จ.เชียงใหม่

8]คลิกเพื่อนำทาง