วัดบ้านหนองจิก
ตำบลภูฝ้าย อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ
ความเป็นมา
วัดบ้านหนองจิก ตั้งอยู่ที่ ๒๐๓ หมู่ที่ ๒ บ้านหนองจิก ตำบลภูฝ้าย อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ได้เริ่มก่อตั้งเป็นที่พักสงฆ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๗ ในเนื้อที่ ๗ ไร่ ๒ งาน โดยมีพระลึม เป็นหัวหน้าที่พักสงฆ์รูปแรก ต่อมาได้ดำเนินการขออนุญาตสร้างวัดและได้รับการอนุญาตจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โดยเห็นชอบของพระมหาเถรสมาคม ให้นายเทียนชัย ใจกัด ผู้ใหญ่บ้านหนองจิกในสมัยนั้น เป็นผู้สร้างวัดขึ้นที่บ้านหนองจิก หมู่ที่ ๒ ตำบลภูฝ้าย อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ และเมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๕๒ ได้มีการประกาศจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เรื่องตั้งวัดในพระพุทธศาสนาโดยมีพระอธิการสว่าง ปัญญาทีโป ปัจจุบันที่พระครูปลัดสว่าง ปัญญาทีโปเป็นเจ้าอาวาสรูปแรกจนถึงปัจจุบัน
ประวัติของหลวงปู่แสน ปสันโน
ชาติภูมิ หลวงปู่แสน ปสันโน นามเดิมชื่อ แสน คุ้มครอง เกิดเมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๑ ตรงกับวันศุกร์ ขึ้น ๑๐ ค่ำเดือน ๑๐ ปีมะแม ณ บ้านโพรง ตำบลไพรบึง อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ (ปัจจุบัน ต.ไพรบึง อ.ไพรบึง จ.ศรีสะเกษ) บิดาชื่อ เอี้ยง และมารดาชื่อ ผัน คุ้มครอง มีพี่น้องรวม ๖ คน
บรรพชา อุปสมบท เมื่อครั้งยังเด็กเป็นลูกศิษย์อยู่ที่วัดบ้านโพรงและพี่ชาย ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านโพรงในสมัยนั้น ให้การเลี้ยงดู เรียนจบชั้น ป.๔
ต่อมาได้บรรพชาที่วัดบ้านโพรง และได้ไปศึกษาเรียนหนังสือกับหลวงพ่อมุม อินฺทปญฺโญ วัดปราสาทเยอใต้ พระเกจิชื่อดัง ทั้งได้ศึกษาตำราพระเวททั้งภาษาขอมและภาษาธรรมด้วย เดินทางไปมาระหว่างบ้านปราสาทเยอใต้และบ้านโพรง กระทั่งอายุ ๒๑ ปี เข้าพิธีอุปสมบท และยังคงเรียนวิชากับหลวงพ่อมุม อินฺทปญฺโญ อย่างต่อเนื่อง หลวงปู่แสน ท่านได้เอาใจใส่ฝึกฝน วิชาความรู้ต่างๆ ที่ได้รับการถ่ายทอดจากพระอาจารย์จนมีความเชี่ยวชาญทางด้านวิปัสสนากรรมฐาน
ครั้นอายุ ๒๔ ปี ได้ลาสิกขาเพื่อมาช่วยงานทางบ้านที่มีฐานะยากจน เป็น “หมอธรรม” ได้ศึกษาอยู่กับ หมอธรรมญา บ้านหนองหญ้าปล้องเป็นระยะเวลาหลายปีเพื่อรักษาคน ปฏิบัติธรรม ช่วยเหลือคนเจ็บไข้ได้ป่วย ขณะที่เป็นคาราวาส ยามเว้นว่างจากการทำเกษตรกรรม ก็ชักชวนเพื่อนหมอธรรมด้วยกันเดินทางไปเขมร เพื่อศึกษาวิทยาคมเพิ่มเติม ได้พบพระผู้ใหญ่และพระอาจารย์จากทางเขมรมากมาย โดยเลือกเรียนเฉพาะวิชาที่เกี่ยวกับการช่วยเหลือและรักษาผู้คนเท่านั้น
อุปสมบทครั้งที่ ๒
เมื่อหมดภาระทางบ้าน กลับเข้าสู่ใต้ร่มกาสาวพัสตร์อีกครั้ง โดยไปจำพรรษาที่บ้านกุดเสล่า อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ แต่ยังคงปฏิบัติธุดงค์ มักออกธุดงค์ไปตามเทือกเขาพนมดงรักเป็นนิตย์
ต่อมาหลวงตาวัน สหธรรมิกรุ่นน้องได้ไปกราบนิมนต์ให้มาช่วยสร้างวัด โดยเจ้าคณะอำเภอกันทรลักษ์ อนุญาตให้หลวงปู่แสนไปอยู่ที่วัดอรุณสว่างวราราม (วัดบ้านกราม) แต่ด้วยท่านรักสมถะ ปีต่อมาจึงได้ย้ายมาจำพรรษาอยู่ที่สำนักสงฆ์โนนไทย (วัดกูไทยสามัคคีในปัจจุบัน) อยู่ถึง ๓ ปี
กระทั่งเห็นสภาพวัดบ้านหนองจิก ที่จะกลายเป็นวัดร้าง เนื่องจากมีพระภิกษุจำพรรษาน้อยและไม่มีผู้ดูแลพัฒนา ท่านจึงย้ายจากสำนักสงฆ์โนนไทย ไปจำพรรษาที่วัดบ้านหนองจิกและทำนุบำรุงวัด จนวัดมีพระเข้ามารับช่วงต่อ จำพรรษาอยู่เป็นเวลา ๔ ปี โยมญาติจากวัดบ้านโพรง ที่ท่านบวชเป็นสามเณร เดินทางมานิมนต์ให้ไปจำพรรษาเพื่อช่วยพัฒนาซึ่งก็ได้รับความเมตตาไปจำพรรษาที่วัดบ้านโพรง ทำนุบำรุงวัดจนเจริญขึ้น พออายุย่างเข้า ๙๓ ปี ดำรงตำแหน่งรักษาการเจ้าอาวาสวัดในช่วงนั้น จนเมื่อหลวงปู่แสน อายุ ๙๗ ปี ลูกหลานเป็นห่วงสุขภาพ จึงพาชาวบ้านไปนิมนต์กลับมาจำพรรษาที่วัดบ้านหนองจิก หลวงปู่แสน ปสันโน ได้มรณภาพ เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2562
วัตถุมงคล
ของหลวงปู่แสน ท่านได้รับความนิยม อย่างรวดเร็ว ด้วยเนื่องจากวัตถุมงคลของท่านมีประสบการณ์แคล้วคลาดปลอดภัย ผู้นำไปใช้มีโชคลาภมากมาย จึงทำให้ท่านมีชื่อเสียงภายในเวลาอันรวดเร็ว และเป็นที่นิยม แสนนิยม ทั้งในประเทศและต่างประเทศ