วัดศรีตระกูลชัย

ตำบลบักดอง อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ

ประวัติการก่อสร้างวัดศรีตระกูลชัย

ชื่อเดิมบ้านตระกูลชัย มีชื่อว่าบ้านตาปรก หมู่ที่ ๑ ตำบลบักดอง อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ แยกมาเป็นบ้านตระกูลชัย หมู่ ๑๔ ตำบลบักดอง เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๖ เริ่มก่อตั้งวัดเมื่อปี ๒๕๔๗ ชื่อว่า ที่พักสงฆ์ศรีตระกูลชัย ชื่งมีพระครูวิโรจน์วีราภรณ์ เจ้าคณะตำบลบักดองเป็นผู้ตั้งชื่อให้ นายมนูญ เทศกูล เป็นผู้ใหญ่บ้าน นายสนั่น แก้วธรรม นายวิรัช เทศกูล เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน นายชัยศรี เทศกูล นายจิงโก้ แก้วธรรม นายบุญธรรม อินโบราณ นายประสิทธิ์ บุญเฟรือง เป็น ส.อบต.บักดอง นายยู มุ่งมาตร นายสุพรรณ บุญเฟรือง นายนวน อินโบราณ นายดิน ดอกพวง ผู้อาวุโสให้การสนับสนุนพร้อมชาวบ้านทั้งหมู่บ้านให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี นายมนูญ เทศกูลผู้ใหญ่บ้านได้แลเห็นความสำคัญของหมู่บ้านในอนาคตของลูกหลานและการไปทำบุญของชาวบ้านก็ห่างไกลจากบ้านเดิม อีกทั้งประชากรก็มากขึ้น ก็เลยปรึกษากันขอที่ดินจากนางชิน บุญเฟรืองในราคากันเอง ๒๖๐,๐๐๐ บาท และซื้อเพิ่มเติมอีกหลายท่าน รวมเงินที่ซื้อทั้งหมด ๓๖๐,๐๐๐๐ บาท รวมเนื้อที่สร้างวัดทั้งหมด ๑๓ ไร่ ๔๕ ตารางวา เมื่อได้ที่ดินแล้วนายมนูญ เทศกูล ผู้ใหญ่บ้านได้กำหนดวันก่อสร้างขึ้นในวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ ได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านทั้งกำลังกายและกำลังทรัพย์ ใครมีไม้ตามท้องไร่ท้องนาก็นำมาบริจาคและชวยกันเลื่อยไม้เพื่อทำกุฏิและศาลาหอฉันช่วยกัน ๓ เดือน ก็สำเร็จ ได้กฏิ ๒ หลัง ศาลาหอฉันและทำบุญ ๑ หลัง ห้องน้ำห้องส้วมอีกหลายห้อง เสร็จก็ได้นิมนต์พระสมเกียรติ อคฺครปญฺโญจากบ้านม่วงแยกมาเป็นหัวหน้าที่พักสงฆ์พร้อมบวชลูกหลานมาจำพรรษาอีกหลายรูป และมีผู้มีจิตศรัทธาสร้างกุฏิให้อีก ๑ หลัง คือ นายเสกสรร เลาฉัตติกุลและนายมะลิ ทองละมุลจนมาถึงปี ๒๕๔๙ เปลี่ยนหัวหน้าที่พักสงฆ์ มีพระสาสวัติ สิทฺธิวโร พระลูกหลานบ้านตระกูลชัยมาเป็นหัวหน้าที่พักสงฆ์ ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๙ เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๙ นายมนูญ เทศกูล พร้อมผู้ช่วย ส.อบต.และชาวบ้านตระกูลชัย ได้มีมติร่วมกันให้มีการสร้างศาลาการเปรียญหลังใหญ่ กว้าง ๑๖ เมตร ยาว ๓๖ เมตร ๙ ห้อง ออกแบบโดยนายช่างสุพจน์ พงค์วันพร้อมผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้านช่วยกันเทเสาเทคานจนเป็นโครงศาลา เมื่อปี ๒๕๕๔ ได้เปลี่ยนหัวหน้าที่พักสงฆ์ โดยมีพระครูปลัดสังวร โชติวํโส จากบางกรวย นนทบุรีมาเป็นหัวหน้าที่พักสงฆ์แทนองค์เก่า โดยการชักนำของพระครูวิโรจน์วีราภรณ์ มีนายวิรัช เทศทูลเป็นผู้ใหญ่บ้าน นายเดียม แก้วธรรม นายสุเทียน เทศกูลผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน พร้อมด้วยชาวบ้านตระกูลชัยและผู้มีศรัทธาจากกรุงเทพ จากนนทบุรีและลูกหลานชาวบ้านตระกูลชัย ทำผ้าป่าจากกรุงเทพ มาช่วย และสายบุญต่าง ๆ จากอำเภอขุนหาญ จนศาลาหลังใหญ่เสร็จสมบูรณ์ ได้ขอจัดตั้งวัดเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๔ จนถึงวันที่ ๒๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๖ ทางสำนักพุทธศาสนาก็ได้ประกาศให้เป็นวัดที่ถูกต้อง

ศาลาการเปรียญ

ต่อมาได้จอแต่งตั้งเจ้าอาวาส ในวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๕๖ ผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้านตระกูลชัยจึงได้พร้อมใจกันจัดงานเฉลิมฉลองเพื่อแสดงความยินดีที่ทุกคนได้ร่วมแรงร่วมใจช่วยกันมาตลอด ๑๐ ปี จนได้รับความสำเร็จและได้ใช้ในงานใหญ่ ๆ ของพระพุทธศาสนิกชนมาหลายครั้งจนถึงปัจจุบัน

ผู้เรียบเรียงประวัติความเป็นมาของการสร้างวัด

พระครูปลัดสังวรณ์ โชติวํโส เจ้าอาวาส

นายมนูญ เทศกูล อดีตผู้ใหญ่บ้านตระกูลชัย

นายวิรัช เทศกูล ผู้ใหญ่บ้านตระกูลชัย

นายเดียม แก้วธรรม – นายสุเทียน เทศกูล ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน

นายบุญธรรม อินโบราณ นายจิงโก้ แก้วธรรม ส.อบต.บักดอง

ปูชนียวัตถุ

๑. พระประธานประจำศาลาการเปรียญ
พระพุทธโสธร / พระพุทธชินราช

๒. รูปเหมือนสมเด็จพุทธาจารย์โต พรหฺมรํสี

๓. พระสิวลี

พระครูปลัดสังวรณ์ โชติวํโส
เจ้าอาวาสวัดศรีตระกูลชัย รูปปัจจุบัน

ประวัติพระครูปลัดสังวรณ์ โชติวํโส

  • เกิดที่บ้านหนองแล้ง หมู่ที่ ๘ ตำบลสิ อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ
  • อุปสมบทที่ วัดบางไกรใน อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี เมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๓๒ พระอุปัชฌาย์พระครูนนทภัทรประดิษฐ์ พระกรรมวาจาจารย์ พระครูนนทโสกณ พระอนุสาวมาจารย์ พระครูกิตติวัชรวิสุทธิ์
  • พ.ศ. ๒๕๓๙ เป็นพระครูสมุห์
  • พ.ศ. ๒๕๕๓ เป็นพระครูปลัด ฐานาของพระราชสุวรรณเมธี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพฯ ปี พ.ศ. ๒๕๕๔ จึงย้ายมาเป็นหัวหน้าที่พักสงฆ์ศรีตระกูลชัย ตำบลบักดอง อำเภอขุมหาญ จังหวัดศรีสะเกษ เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๕๔ โดยการชักชวนของพระครูวิโรจน์วีราภรณ์ เจ้าคณะตำบลบักดอง
  • วันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๕๖ สำนักพุทธศาสนาประกาศให้เป็นวัดโดยสมบูรณ์ จึงได้รับแต่งตั้งเจ้าอาวาสในวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๕๖ จนถึงปัจจุบัน

ข้อมูลทั่วไปของหมู่บ้านตระกูลชัย

เดิมบ้านตระกูลชัยอยู่ในพื้นที่ของบ้านตาปรก หมู่ที่ ๑ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๖ ได้แยกออกมาตั้งเป็นหมู่บ้านตระกูลชัยหมู่ที่ ๑๔ นายประสิทธิ์ เทศกูล เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก เหตุที่ชื่อตระกูลชัย เพราะมีผักบุ้งขึ้นอยู่จำนวนมาก ซึ่งภาษาถิ่นเรียกว่า “ตระกูล” อยู่ห่างจากอำเภอประมาณ ๔ กิโลเมตร