วัดอาวอย

เลขที่ ๑๕๐ หมู่ที่ ๒

ตำบลโสน อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ


Wat Avoy

Sano Subdistrict, Khukhan District,
Sisaket Province

วัดอาวอย  สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ได้รับวิสุงคามสีมา วันที่ ๑๒ เดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๘

สาเหตุการสร้างวัด

         เมื่อ ก่อนปี พ.ศ. ๒๔๘0 พ่อทายกคูณ อดีตพ่อกำนันผาย พ่อทายกเหลี่ยง และคนเฒ่าคนแก่หลายท่านได้ปรึกษาหารือกันเพื่อสร้างวัด มีพ่อกำนันทองคำ จินดาวงษ์ เป็นผู้นำ โดยคุณยายเนียม  อัจนา และคุณยายเข็มมา น้อยสงวนพร้อมครอบครัว บริจาคที่ดินสร้างวัด ๖ ไร่ พ่อกำนันทองคำ  จินดาวงษ์พร้อมด้วยกรรมการหมู่บ้านทายกทายิกา จึงได้นำพาชาวบ้านร่วมกันถากถางป่าตรงที่จะสร้างวัด ปรับพื้นที่ ให้สม่ำเสมอ พอเป็นที่จะสร้างศาลาทำบุญได้ และได้รับบริจาคเรือนไม้จาก พ่อหวัง  มะนารถ บ้านละลม มาทำกุฏิศาลา ชาวบ้านจึงได้นำเกวียนไปรื้อขนมาสร้างกุฏิศาลา ๑ หลัง เมื่อสร้างวัดแล้วจำเป็นต้องมีพระมาอยู่จำพรรษา จึงตกลงกันออกไปนิมนต์พระ มีชาวบ้านรู้จัก หลวงตากฤษ์ วัดบ้านแทง ชาวบ้านจึงนิมนต์มาอยู่จำพรรษา และ พระหลวงตามา ที่มาปรักกลดใกล้ๆ หมู่บ้าน ชาวบ้านก็นิมนต์หลวงปู่มา เข้ามาอยู่จำพรรษาด้วย ในปีแรกของการสร้างวัดจึงได้พระมาอยู่จำพรรษา 2 รูป ผู้นำหมู่บ้านก็ช่วยกันพัฒนาวัดมาตลอด ในช่วงหนึ่งที่ทางวัดได้เป็นที่รองรับประชาชนในเขตจังหวัดทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล มาเป็นจำนวนมากทั้งจังหวัดขุขันธ์

สมัยนั้นรัฐบาลประกาศสร้างสนามบินขึ้นบริเวณป่าดงทิศเหนือเขาพนมดงรักลงมา ห่างจากบ้านอาวอย ด้านทิศใต้ไปประมาณ ๑ กิโลเมตร

  • ทิศเหนือ  จดริมฝังลำห้วยวังยูง ห้วยกะโหงก
  • ทิศใต้  จดหนองไฮ ปัจจุบันคือ หมู่บ้านสนามสามัคคีบริเวณที่ตั้งวัดสนามสามัคคีและบริเวณโรงเรียนบ้านสนามทั้งหมด
  • ทิศตะวันออก  จดริมห้วยตึ๊กชู
  • ทิศตะวันตก จดริมหนองพะแนง อ่างหนองโคตร

จากเอกสารในราชกิจจานุเบกษา วันที่ ๗ เดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๕  เล่ม ๓๙ หน้า ๓๓๗ เสวกเอก พระยาพินิจนัยนิเทศ เจ้ากรมกรมกัลปนา ได้นำความขึ้นกราบบังคมทูล พระกรุณาทราบ ฝ่าลอองธุรี พระบาท ทรงอนุโมทนาในส่วนกุศลนั้นด้วย ด้วยการสร้างสนามสำหรับเครื่องบินขึ้น และลงประจำจังหวัดขุขันธ์ สุรินทร์ ซึ่ง สมุหะ เทศาภิบาล มณฑลอุบลได้จัดการทำนั้นสำเร็จเป็นสนามที่ใช้ราชการได้แล้ว กระทรวงกลาโหม จึงได้ขึ้น ทะเบียนสนามทั้ง ๒ นี้เป็นสนามบิน ขึ้น-ลง แล้ว

ปัจจุบันถนนสาย ๒๔ ตัดผ่าน ในสมัยที่ยังเป็นจังหวัดขุขันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดขุขันธ์ ได้เกณฑ์ประชาชนทั่วทั้งจังหวัดมาสร้าง มาถากถางป่าดงดิบ มีประชาชนพลัดกันเข้ามาทำงานเป็นจำนวนมาก สถานที่พักเลือกได้ตามอัธยาศัย ใต้ถุนศาลาวัด บนศาลาวัดอาวอย เต็มไปด้วยประชาชนจากอำเภอต่าง ๆ  ตามร่มไม้บริเวณสนามวัดเต็มไปด้วยผู้คนที่มาทำงาน บางคนเจ็บไข้ได้ป่วย เพราะทนต่อสภาพโรคไข้มาลาเรียไม่ได้ น้ำดื่มน้ำใช้ในลำห้วย จากหลักฐานตามราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๓๙ หน้า ๓๓๗ วันที่ ๗ เดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๕ คำแถลงการณ์ของเสนาธิการทหารบก เรื่อง สนามบินสำหรับ จังหวัดขุขันธ์และสุรินทร์ เสวกเอก พระยาพินิจนัยนิเทศ เจ้ากรมกรมกัลปนา ขอบใจ และชมเชย มหาเสวกตรี พระยาศรีธรรมศกราช นายทหารพิเศษ ของกรมอากาศยานกับอำมาตย์เอก พระยาวิเศษไชยชาญ ผู้ว่าราชการจังหวัดขุขันธ์ อำมาตย์โท พระสำเริง นฤปการ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เป็นต้น

        ปัจจุบัน วัดอาวอยได้เริ่มพัฒนา มาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๓  โดย พระครูสุตธรรมวิวัฒน์ เจ้าอาวาสพร้อมคณะกรรมการหมู่บ้านกรรมการวัด ได้เริ่มบูรณปฏิสังขรณ์และก่อสร้างถาวรวัตถุวัดให้มั่นคงแข็งแรงปราณีตสวยงามมากขึ้น เป็นลักษณะวัดและวัง ร่มรื่น เป็นรมณียสถาน  คือ ลักษณะทรงไทยประยุกต์ หลายหลัง ก่ออิฐฉาบปูน โครงเหล็ก โดยอาศัยความศรัทธาและการนำของเจ้าอาวาสและพระภิกษุสามเณรได้นำพาพุทธศาสนิกชนชาวบ้านอาวอยทั้ง ๔ หมู่ พัฒนา และทำกิจกรรมตามประเพณีต่าง ๆ โดย แบ่งการพัฒนาออกเป็น  ๔  ด้าน ได้แก่ ด้านศาสนวัตถุ ด้านศาสนบุคคล ด้านศาสนธรรม และด้านศาสนพิธี 

อาคารเสนาสนะ

อุโบสถ กว้าง ๕ เมตร ยาว ๑๒ เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๓ อาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก
ศาลาการเปรียญ กว้าง ๑๘.๕๐ เมตร ยาว ๓๒ เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๒ อาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก
หอสวดมนต์ กว้าง ๑๒ เมตร ยาว ๑๒ เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๗ อาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก
กุฏิสงฆ์ ๗ หลัง เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ๔ หลัง อาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ ๓ หลัง
ศาลาอเนกประสงค์ กว้าง ๒ เมตร ยาว ๓ เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๘ อาคารครึ่งตึกครึ่งไม้
ศาลาบำเพ็ญกุศล กว้าง ๑๕ เมตร ยาว ๒๑ เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๔ อาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก
นอกจากนี้มีอาคารเสนาสนะต่าง ๆ ดังนี้
เจดีย์ศรีปัตจันตทวาราม เจดีย์บรรจุบรมสารีริกธาตุ ๑ หลัง, หอระฆัง ๑ หลัง, หอกลอง ๑ หลัง, หอสรง ๑ หลัง, ฌาปนสถาน ๑ หลัง, หอระฆัง ๑ หลัง, หอกลอง ๑ หลัง, โรงครัว ๑ หลัง, เรือนเก็บพัสดุ ๑ หลัง และเรือนรับรอง ๑ หลัง

เจดีย์ศรีปัตจันตทวาราม

ศาลาการเปรียญ

ปูชนียวัตถุ

พระประธานประจำอุโบสถ ปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง ๓๙ นิ้ว สูง ๔๗ นิ้ว สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๕
พระประธานประจำศาลาการเปรียญ ชั้นบน ปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง ๕๙ นิ้ว สูง ๕๙ นิ้ว สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๘
พระประธานประจำศาลาการเปรียญ ชั้นล่าง ปางประธานพร ขนาดหน้าตักกว้าง ๓๙ นิ้ว สูง ๔๗ นิ้ว สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๔
พระประธานประจำหอสรง ปางสะดุ้งมาร ขนาดหน้าตัก กว้าง ๓๙ นิ้ว สูง ๔๗ นิ้ว สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๓
พระประธานประจำศาลาหอฉัน ปางสมาธิ ขนาดหน้าตัก กว้าง ๒๙ นิ้ว สูง ๓๓ นิ้ว สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๙
พระประธานประจำศาลาบำเพ็ญกุศล ปางประธานพร ขนาดหน้าตัก กว้าง ๓๙ นิ้ว สูง ๔๗ นิ้ว สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๕
พระประธานประจำเจดีย์ศรีปัจจันตทวาราม ปางสมาธิ นาคปรก ขนาดหน้าตัก กว้าง ๓๙ นิ้ว สูง ๔๗ นิ้ว สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๖๓

พระประธานประจำอุโบสถ

วิหารหลวงปู่มี (สมชีวิตาธัม)

การเผยแผ่พระพุทธศาสนา

– มีหน่วยอบรมประจำตำบล (อ.ป.ต.) แต่งตั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๖
– มีหน่วยเผยแพร่ศีลธรรมทางพระพุทธศาสนา แต่งตั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๕๖๔ลำดับเจ้าอาวาส

หลวงตากฤษ์ พ.ศ. ๒๔๘๐ – ๒๔๘๓
หลวงตาอินทร์ พ.ศ. ๒๔๘๓ – ๒๔๘๔
หลวงตาอึ่ง พ.ศ. ๒๔๘๔ – ๒๔๘๕
หลวงตาอ่อน พ.ศ. ๒๔๘๘ – ๒๔๙๐
พระอาจารย์ดำ พ.ศ. ๒๔๙๒ – ๒๔๙๕
พระอาจารย์แสวง พ.ศ. ๒๔๙๖ – ๒๔๙๙
พระอาจารย์สุข พ.ศ. ๒๕๐๐ – ๒๕๐๓
พระอธิการเลื่อน นรินโท พ.ศ. ๒๕๐๔ – ๒๕๑๓
พระอาจารย์สุทิน พ.ศ. ๒๕๑๓ – ๒๕๑๔
พระอาจารย์เหรียญ พ.ศ. ๒๕๑๔ – ๒๕๑๕
พระอธิการสุบิน ฐิตธมฺโม พ.ศ. ๒๕๑๖ – ๒๕๑๘
พระอาจารย์ปัต อนนฺโท พ.ศ. ๒๕๑๘ – ๒๕๒๒
พระอาจารย์บรรลือ ฐานุตตโร พ.ศ. ๒๕๒๓ – ๒๕๒๕
พระอาจารย์ทวีเริง ฐิตธมฺโม พ.ศ. ๒๕๒๕ – ๒๕๒๗
พระอาจารย์คูณ อภิวฒฺตโน พ.ศ. ๒๕๒๗ – ๒๕๒๘
พระอธิการก้อน จนฺทสาโร พ.ศ. ๒๕๒๙ – ๒๕๓๓
พระอธิการอ้วน อุตฺตสาโร พ.ศ. ๒๕๓๕ – ๒๕๔๐
พระสุริยนต์ ทสฺสนีโย พ.ศ. ๒๕๔๑ – ๒๕๔๒
พระครูสุตธรรมวิวัฒน์ ดร. พ.ศ. ๒๕๔๓ – ปัจจุบันที่ดินที่ตั้งวัด มีเนื้อที่ ๑๑ ไร่ ๔๐.๕๑ ตารางวา

อาณาเขต       

  • ทิศเหนือ                            จด โรงเรียนบ้านอาวอย
  • ทิศใต้                                 จด ทางสาธารณะ
  • ทิศตะวันออก                    จด ทางสาธารณะ
  • ทิศตะวันตก                       จด ทางสาธารณะ

 

คลิกเพื่อนำทาง