วัดโสภณวิหาร (วัดลุมพุก)
เลขที่ ๘๖ หมู่ที่ ๑ บ้านกันทรารมย์
ตำบลกันทรารมย์ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ
WAT sophon viharn (wat lumpuk)
Kanthararom Subdistrict, Khukhan District,
Sisaket Province
วัดโสภณวิหาร (วัดลุมพุก) สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ๒ ครั้ง ครั้งแรกไม่ปรากฏปี ครั้งที่ ๒ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ในเรื่องของปีที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมานั้นยังไม่ถูกต้อง ขัดกับความเป็นจริง เพราะตามประวัติการสำรวจโดยกองพุทธศาสนสถานกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ ที่ได้ออกสำรวจเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๕ เล่มที่ ๑๖ เจ้าอาวาสในคณะนั้น คือ พระอธิการสงค์ ถาวโร (ถนอม) เป็นเจ้าอาวาสลำดับที่ ๑๓ เป็นผู้ให้ข้อมูลซึ่งขัดแย้งจากความเป็นจริง แต่ยังมีถาวรวัตถุที่สามารถชี้ชัดว่าวัดโสภณวิหารได้รับพระราชทานวิสุคามสีมา ก่อนปี พ.ศ. ๒๔๗๕ นั้นคือ เจดีย์คู่หนึ่งที่มีการจารึกปีที่สร้าง คือ พ.ศ. ๒๔๓๑ มีลักษณะเป็นคู่ มีพระอุโบสถอยู่ตรงกลาง มีพระประธานก่ออิฐถือปูนปางมารวิชัยขัดสมาธิ มีพระนามว่า “พระพุทธโสภณ” อุโบสถได้รับการบูรณะซ่อมแซมครั้งสุดท้าย เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๔ โดยการนำของพระอุปัชฌาย์เสียง หริจนฺโท ปัจจุบันอุโบสถหลังนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน โดยกรมศิลปากร
หลักฐานอีกชิ้นหนึ่งที่บ่งบอกว่าวัดโสภณวิหารสร้างก่อนปี พ.ศ. ๒๔๗๕ คือ คัมภีร์ใบลาน จำนวน ๓ ผูก โดยพระพรมภักดีบริรักษ์ พร้อมด้วยภรรยา มีนามว่า นางนิม อยู่บ้านภูมิสตึง เป็นผู้นำมาถวายโดยมีพระราชโยธีบิดา เป็นผู้จารึก และยังมีวัตถุต่าง ๆ อีกมาก อาทิ พระพุทธรูปทองคำ พระพุทธรูปไม้แกะสลัก เครื่องสำริด ต่าง ๆ วัดมีเนื้อที่อาณาเขตที่ดินจำนวน ๒๒ ไร่ สังกัดการปกครองคณะสงฆ์ตำบลกันทรารมย์ – ปราสาท
วัดโสภณวิหาร หรือ (วัดลุมพุก) ในอดีตที่ผ่านมาเป็นวัดประจำเมือง คือ เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๔๑ ตรงกับรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ทรงดำริถึงเมืองสังขะ เมืองขุขันธ์ เมืองปไทยสมัน ว่าเมืองทั้งสามนี้ พระองค์เคยเสด็จมาการสงครามหลายครั้ง พระองค์จึงทรงโปรดให้แยกเมืองทั้งสามออกจากเมืองพิมาย โดยขึ้นตรงต่อกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๕ ตรงกับวันพฤหัสบดี แรม ๔ ค่ำ เดือน ๕ ปีวอก ตรีศก จุลศักราช ๑๒๓๓ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เจ้าเมืองสังขะได้กราบบังคมทูลขอตั้งบ้านรำปุก (ลุมพุก ในปัจจุบัน) ขึ้นเป็นเมืองกันทรารมย์ ในขณะนั้นเจ้าเมืองสังขะได้ส่งตัวมหาดไทยเมืองสังขะมาเป็นเจ้าเมืองกันทรารมย์ มีนามว่า
“พระกันทรารุรักษ์” ปี พ.ศ. ๒๔๓๖ พระกันทรานุรักษ์ ได้ถึงแก่กรรมลง ก็ได้ “หลวงสุนทรพิทักษ์” ผู้เป็นบุตรชายมาเป็นเจ้าเมืองสืบมา จนกระทั้งยุบเมืองกันทรารมย์ลงเป็นอำเภอกันทารมย์ ขึ้นตรงต่อเมืองสังขะ (พื้นที่ตำบลกันทรารมย์ในอดีตทั้งหมดขึ้นตรงต่อเมืองสังขะ ไม่ได้ขึ้นตรงต่อเมืองขุขันธ์)
ปี พ.ศ. ๒๔๕๒ จึงโปรดเกล้าให้ข้าหลวงมณฑลอีสาน มีใบบอกให้ยุบอำเภอกันทรารมย์ เป็นตำบลกันทรารมย์ ปี พ.ศ. ๒๔๕๖ ได้โอนตำบลกันทรารมย์ เดิมขึ้นตรงต่อเมืองสังขะ มาขึ้นตรงต่ออำเภอขุขันธ์จนถึงปัจจุบัน
ด้านศาสนธรรม / การเรียนการสอน
๑. วัดโสภณวิหารได้จัดการเรียนการสอนภาษาขอมใบลาน / การจารึก ในช่วงเข้าพรรษาทุก ๆ ปี เพื่อใช้สำหรับเทศนาในโอกาสงานบุญต่าง ๆ อาทิ เทศน์มหาชาติวันออกพรรษา เทศนาในงานศพ ฯลฯ
๒. มีการเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม นักธรรมชั้นตรี โท เอก และเป็นศูนย์การเรียนประจำตำบล คณะสงฆ์กันทรารมย์ – ปราสาทจะจัดการเรียนในช่วงเข้าพรรษาของทุก ๆ ปี
ด้านศาสนวัตถุ
๑. พระอุโบสถ จำนวน ๑ หลัง
๒. ศาลาการเปรียญ จำนวน ๑ หลัง
๓. ศาลาโรงธรรม / หอแจก จำนวน ๑ หลัง
๔. กุฏิพระสงฆ์ จำนวน ๔ หลัง ๓๔ ห้อง
๕. ห้องน้ำ / ห้องสุขา จำนวน ๕ หลัง ๓๐ ห้อง
๖. ศาลาโรงฉัน จำนวน ๑ หลัง
๗. ศาลาธรรมสังเวช จำนวน ๑ หลัง
๘. กุฏิแม่ชี จำนวน ๑ หลัง ๕ ห้อง
๙. หอระฆัง จำนวน ๑ หลัง
๑๐. ศาลาหลักวัด จำนวน ๑ หลัง
๑๑. ศาลาหอสรงน้ำพระ จำนวน ๑ หลัง
๑๒. อาคารอเนกประสงค์ จำนวน ๒ หลัง
๑๓. ตึกแถวหน้าวัด จำนวน ๑ หลัง ๙ ห้อง
อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดกับเขตอำเภอปรางค์กู่
ทิศใต้ ติดกับถนนทางหลวงหมายเลข 24
ทิศตะวันตก ติดต่อกับเขตอำเภอสังขะ
ทิศตะวันออก ติดเขตอำเภอขุขันธ์
ปูชนียวัตถุที่สำคัญของวัด
สิมหรืออุโบสถ แบบศิลปะลาวอายุประมาณ ๔๐๐ ปี ปัจจุบันได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมศิลปากร ภายในอุโบสถประดิษฐานหลวงพ่อพระพุทธโสภณ ซึ่งเป็นพระประธานประจำอุโบสถปางมารวิชัย และมีใบเสมาผุดขึ้นมาข้างในอุโบสถจำนวน ๘ ใบ
เจ้าอาวาส / รักษาการแทนเจ้าอาวาสมีดังนี้
๑. เจ้าอธิการเรียม กิตฺติญาโณ เจ้าอาวาส
๒. เจ้าอธิการอธิการอยู่ สิรินฺธโร เจ้าอาวาส
๓. เจ้าอธิการเสียง หริจนฺโท เจ้าอาวาส / พระอุปัชฌาย์ / เจ้าคณะตำบล
๔. พระเทศ ดอกบัว รักษาการแทน
๕. พระเรือด เตชธมฺโม รักษาการแทน
๖. พระอธิการมาก เตชปญฺโญ เจ้าอาวาส
๗. พระอธิการพรหม กิตฺติโสภโณ เจ้าอาวาส
๘. พระพัก กิตฺติวํโส รักษาการแทน
๙. พระยิน จนฺทวํโส รักษาการแทน
๑๐. พระอธิการวงษ์ อเนกฺกวุฑโฒ เจ้าอาวาส
๑๑. พระบัว ทองพา รักษาการแทน
๑๒. พระบุญเรือง ปญฺญาทีโป รักษาการแทน
๑๓. พระอธิการสงค์ ถาวโร เจ้าอาวาส
๑๔. พระโท อินฺทปญฺโญ รักษาการแทน
๑๕. พระอธิการหา ชุตินฺธโร เจ้าอาวาส
๑๖. พระครูโสภณปัญญาประสุต พ.ศ. ๒๕๓๘ – ปัจจุบันเจ้าคณะตำบลกันทรารมย์ ปราสาท