หมู่ที่ ๘ ตำบลโพธิ์

ตำบลโพธิ์ อำเภอเมืองศรีษะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ


Wat Phantha

Pho Subdistrict, Mueang Sisaket District,
Sisaket Province

หลวงพ่อไม้ทอง

วัดพานทา เป็นวัดที่มีอยู่ในทะเบียนวัดของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และมีสภาพเป็นวัดตามมาตรา ๓๑ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ เป็นวัดเก่าแก่สร้างขึ้นก่อนพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ ใช้บังคับ

ความเป็นมาของวัดพานทา
วัดพานทา สร้างขึ้นก่อน พ.ศ. ๒๔๔๘ โดยชุมชนโบราณดั้งเดิมสมัยนั้น ก่อนการตั้งวัดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๒๖ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๘ และกลายเป็นวัดร้างไม่มีพระภิกษุอยู่จำพรรษาเป็นเวลานานหลายทศวรรษ ตามคำบอกเล่าของผู้รู้

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๓ เจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษ คือ พระราชจินดามณี วัดมหาพุทธาราม ซึ่งเป็นผู้ปกครองสงฆ์ขณะนั้น จึงได้สั่งให้พระครูเกษม อรรถวาที เป็นผู้นำพระภิกษุ สามเณรมาอยู่จำพรรษา และพัฒนาตั้งวัดขึ้นมาใหม่ โดยได้ชักชวนชาวบ้านประชาชนในชุมชนดั้งเดิม เช่น ชุมชนพันทาใหญ่ ชุมชนพันทาน้อย ชุมชนทุ่งนาดี ชุมชนหัวนา ชุมชนไกรภักดี ชุมชนโนนเขวา เป็นต้น ช่วยกันพัฒนาวัด สร้างเสนาสนะต่าง ๆ เช่น กุฏิสงฆ์ ศาลาการเปรียญ จนเป็นศาสนสถาน ที่สำคัญของชุมชนในการประกอบพิธีทางพระพุทธศาสนา และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๓๑ เดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ สังกัดมหานิกาย

วัดพานทา เป็นวัดเก่าแก่ที่มีความโดดเด่นกว่าวัดอื่น ๆ ในเขตเดียวกันตรงที่เป็นวัดที่มีฐาน “สิม” หรือ พระอุโบสถเก่าแก่ ขนาดบรรจุพระภิกษุสงฆ์ในการทำสังฆกรรม ๒๑ รูป พอดี (ก่อนที่จะมีอุโบสถหลังใหม่ในปัจจุบัน) ซึ่งจากสถาปัตยกรรมการสร้างสิมที่มีขนาดบรรจุพระภิกษุสงฆ์ได้เพียง ๒๑ รูป นั้น ทำให้สันนิษฐานได้ว่า เป็น “สิม” หรือ พระอุโบสถที่อาจสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕

ปัจจุบัน “สิม” ได้รับการบูรณะขึ้นใหม่ จะเห็นรูปปั้นท้าวเวสสุวรรณ ๒ องค์ ยืนเฝ้ารักษาอยู่ด้านหน้า “สิม” ตามความเชื่อเกี่ยวกับท้าวเวสสุวรรณในพระพุทธศาสนาว่า “นอกจากมีบทบาทในฐานะโลกบาลและเทพแห่งความมั่งคั่งแล้ว ยังมีบทบาทในฐานะผู้พิทักษ์พระพุทธศาสนาและพุทธสถาน” อีกด้วย

วัดพานทามีที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ ๒๕ ไร่ ๓ งาน ๒๘ ตารางวา มีโฉนดที่ดิน

อาคารเสนาสนะ

อุโบสถ กว้าง ๗ เมตร ยาว ๒๑ เมตร
วิหารพระพุทธมณีนพรัตน์ (หลวงพ่อไม้ทอง) กว้าง ๕ เมตร ยาว ๙ เมตร
ศาลาการเปรียญหลังใหม่ กำลังก่อสร้าง
หอระฆัง กว้าง ๓ เมตร สูง ๙ เมตร
ศาลาหลวงพ่อทันใจ กว้าง ๙ เมตร ยาว ๑๕ เมตร
ศาลาธรรมสังเวช ๑ หลัง กว้าง ๑๒ เมตร ยาว ๓๒ เมตร
หอฉัน ๑ หลัง กว้าง ๘ เมตร ยาว ๒๔ เมตร
ศาลาเอนกประสงค์ ๑ หลัง
อาคารโรงครัว ๑ หลัง
กุฏิรับรองอาคันตุกะ ๑ หลัง
กุฏิพระสงฆ์ จำนวน ๑๑ หลัง เป็นแบบครึ่งไม้ครึ่งปูน(เดี่ยว) ๓ หลัง กุฏิรวมแบบปูน ๑ หลัง แบบปูน ๑ หลัง แบบไม้ ๓ หลัง แบบไม้เชอร่า ๒ หลัง แบบดิน ๑ หลัง
เมรุแบบไร้มลพิษ ๑ หลัง
อาคารห้องน้ำ ๑๐ ห้อง ๑ หลัง
อาคารห้องน้ำ ๑๒ ห้อง ๑ หลัง
อาคารห้องน้ำ ๓ ห้อง ๑ หลัง
หอแท้งน้ำบาดาล ๑ หลัง

ร่วมทำบุญทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา
ได้ที่ QR CODE วัดพันทา

การบริหารการปกครอง

วัดพานทา มีพระภิกษุเป็นประธานสงฆ์และเจ้าอาวาส ทำหน้าที่ในการบริหารและการปกครองเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ที่ทราบนาม คือ
รูปที่ ๑ พระครูเกษม อรรถวาที พ.ศ. ๒๕๐๓-๒๕๒๐
รูปที่ ๒ พระอธิการอำนวย พ.ศ. ๒๕๒๐-๒๕๓๐
รูปที่ ๓ พระครูปิยวรรณ พ.ศ. ๒๕๓๐-๒๕๔๗
รูปที่ ๔ พระครูผาสุกิจโกศล พ.ศ. ๒๕๔๗-๒๕๖๓
รูปที่ ๕ พระอธิการกัญจน์ กนฺตธมฺโม(ดร.) พ.ศ. ๒๕๖๔–ปัจจุบัน

พระอธิการกัญจน์ กนฺตธมฺโม(ดร.) เจ้าอาวาสวัดพานทา