วัดตาอุด
ตั้งอยู่ที่บ้านตาอุด เลขที่ ๒๐ หมู่ที่ ๑
ตำบลตาอุด อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ
Wat Ta Ud
Ta Ud Subdistrict, Khukhan District,
Sisaket Province
วัดตาอุด สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย วัดตั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๒ มีเรื่องราวเล่าสืบต่อกันมาอย่างชั่วนานว่าพ่ออุด ท่านเป็นคนลาวเวียงจันทร์ ซึ่งเป็นภูมิลำเนาดั้งเดิมของท่าน ด้วยอาศัยข้าวยากหมากแพงฝนตกไม่ตามฤดูกาล ความเป็นอยู่ลำบากหรืออย่างไรไม่ทราบ ท่านจึงได้พาหมู่คณะเดินทางรอนแรมตามลำน้ำโขงผ่านมาหลายถิ่นหลายแห่ง
จนกระทั้งมาพบเจอสถานที่แห่งนี้ จึงได้ปรึกษากับหมู่คณะที่ร่วมเดินทางมาปักหลักศึกษาภูมิศาสตร์พื้นที่ ก็ทราบชัดได้ว่าสถานที่แห่งนี้อุดมสมบูรณ์ไปด้วยผืนป่ารกทึบประกอบด้วย ป่าไม้นานาพันธ์ุ สิงสาราสัตว์มีมากมาย น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การทำเกษตรกรรม จึงได้ประชุมหมู่คณะว่าจะปักหลักทำมาหากินตั้งรกรากบ้านเรือนกันอยู่ ณ สถานที่แห่งนี้ โดยมีคุณพ่ออุดเป็นหัวหน้านำพาชุมชนคณะประกอบสัมมาอาชีพเป็นหลัก เมื่อบ้านเมืองมีความเป็นปึกแผ่นอยู่ดีกินดีแล้ว ท่านจึงประชุมชาวบ้านหมู่คณะสร้างวัดเพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจ เพื่อประโยชน์ในการใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ เป็นต้นว่าใช้เป็นที่อยู่อาศัยพักจำพรรษาของพระภิกษุสงฆ์ที่เดินทางรอนแรมมาด้วยกันตั้งแต่เมืองเวียงจันทร์ ใช้เป็นสถานที่ทำวัตรสวดมนต์จำศีลภาวนาของอุบาสก อุบาสิกา เมื่อสร้างกุฏิเสนาสนะสมบูรณ์แล้วจึงกราบนิมนต์หลวงพ่อสำเร็จบุ้ยที่เดินทางมาด้วยกันซึ่งพักจำวัดอยู่ในป่าเขามาพักในบริเวณกุฏิเสนาสนะที่ชาวบ้านจัดถวาย
ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๓ เขตวิสุงคามสีมา กว้าง ๒๐ เมตร ยาว ๓๐ เมตร
อาคารเสนาสนะ
- อุโบสถ กว้าง ๑๒ เมตร ยาว ๒๐ เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๘ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก
- ศาลาการเปรียญ กว้าง ๑๘ เมตร ยาว ๓๙ เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๙ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก
- กุฏิสงฆ์ จำนวน ๙ หลัง เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก จำนวน ๔ หลัง เป็นอาคารไม้ จำนวน ๕ หลัง
นอกจากนี้มีอาคารเสนาสนะต่าง ๆ ดังนี้ ฌาปนสถาน จำนวน ๑ หลัง หอระฆัง จำนวน ๑ หลัง โรงครัว จำนวน ๑ หลัง เรือนเก็บพัสดุ จำนวน ๑ หลัง
ปูชนียวัตถุ
- พระประธานประจำอุโบสถ ปางมารวิชัย ขนาดหน้าตัก กว้าง ๒ เมตร สูง ๓.๕ เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕
- พระประธานประจำศาลาการเปรียญ ปางเรือนแก้ว ขนาดหน้าตัก กว้าง ๑ เมตร สูง ๒ เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๓
ลำดับเจ้าอาวาสตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ดังนี้
๑. พระสำเร็จมุ้ย เจ้าอาวาส
๒. พระเจ้าหัวตาเหล่ เจ้าอาวาส
๓. พระจันทร์ เจ้าอาวาส
๔. พระจันทร์ พิมศร เจ้าอาวาส
๕. พระหลิว นางแพง เจ้าอาวาส
๖. พระจำปา ชาคโร เจ้าอาวาส
๗. พระสุข สุจิณฺโณ เจ้าอาวาส
๘. พระกลัด กตปุญฺโญ เจ้าอาวาส
๙. พระสอน อนงฺคโณ เจ้าอาวาส
๑๐. พระหนุ่ย สมาจาโร เจ้าอาวาส
๑๑. พระครูโอถาสสาธุกิจ (เภาร์) โอภาโส – พ.ศ. ๒๕๖๔ ๑๒. พระครูกิตติภัทราภิวัฒน์ (คำภา อุตมะ กิตฺติภทฺโท) พ.ศ. ๒๕๖๔ – ปัจจุบันอาณาเขต
ที่ดินที่ตั้งวัด มีเนื้อที่ ๓๓ ไร่
ทิศเหนือ จดทางสาธารณประโยชน์
ทิศใต้ จดที่นายทองคำ สิทธิศร
ทิศตะวันออก จดที่นางเยี่ยม โคตมา
ทิศตะวันตก จดทางสาธารณประโยชน์
การเผยแผ่พระพุทธศาสนา
– มีหน่วยอบรมประจำตำบล (อ.ป.ต.) แต่งตั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๑