วัดบกจันทร์นคร

ตำบลห้วยเหนือ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ


WAT BOK CHAN NAKHON

Huai Nuea Subdistrict, Khukhan District,
Sisaket Province

ประวัติวัดบกจันทร์นคร

             วัดบกจันทร์นคร ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเมืองขุขันธ์ (บริเวณบ้านบก ตำบลห้วยเหนือ อำเภอขุขันธ์ในปัจจุบัน) ทำการก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๖ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชการที่ ๑ โดยพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน (บุญจันทร์) เจ้าเมืองขุขันธ์คนที่ ๓ ได้ย้ายที่ทำการเมืองไปตั้งบริเวณดังกล่าวแล้ว เพราะบ้านบกเป็นชาวเวียงจันทร์อพยพมาอาศัยอยู่เมื่อปี ๒๓๒๒ ได้สร้างวัดขึ้น ตั้งชื่อว่า “วัดบกจันทร์นคร” เพื่อเป็นอนุสรณ์ของชาวเวียงจันทร์และกำหนดให้เป็นวัดประจำเมืองเป็นที่ประกอบพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาและประกอบศาสนพิธีอื่น ๆ

  • วัดอยู่กลางชุมชนสองกลุ่มทางทิศตะวันตกของวัด เรียกตามภาษาท้องถิ่นว่า (สรอกกะนงเวียง) แปลได้ความว่า บ้านในวังหรือในเวียง ส่วนหมู่บ้านทางทิศตะวันออกของวัดหรือคุ้มคุณตาบุญถึง ขุขันธิน บุตรยาขุขันธ์ฯ (ท้าวปัญญา ขุขันธิน) เรียกว่า บ้านบก แต่เดิมวัดมีเนื้อที่ ๙ ไร่เศษ ต่อมาขุนศรีสุภาพพงษ์ (บุญนาค ศรีสุภาพ) บุตรเขยของพระยาขุขันธ์ฯ (ท้าวปัญญา ขุขันธิน) ได้ถวายที่ดินทางทิศตะวันออกให้วัดจำนวนประมาณ ๕ ไร่
  • สมัยก่อนอุโบสถวัดบ้านบกหลังคามุงด้วยกระเบื้องไม้ไม่มีมีผนังทั้งสี่ด้านภายในอุโบสถมีพระพุทธรูปโบราณสององค์และพระไม้หนึ่งองค์เป็นประธาน ลักษณะศิลปะลาวล้านช้าง (หรือลาวช้าง) พระพุทธรูปสององค์นี้คงจะนำมาจากประเทศลาวเมื่อครั้งหลวงปราบเชียงขันร่วมทัพไปตีกรุงศรีสัตนคนหุต (เวียงจันทร์) พ.ศ. ๒๓๒๑ โดยสมเด็จพระยามหากษัตริย์ศึกพระยศในขณะนั้นทรงเป็นแม่ทัพ และโบราณวัตถุอีกหลายชิ้นล้วนเป็นฝีมือลาวล้านช้างทั้งสิ้น ต่อมาภายหลังสิ่งของโบราณเหล่านี้ได้สูญหายไปเกือบทั้งหมด หน้าอุโบสถมีเจดีย์เก่าแก่หนึ่งองค์ เรียกแต่โบราณมาว่า เจดีย์สิม เป็นเจดีย์เก่าแก่คู่มากับวัด (เล่ากันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์มาก)

  • กลางปี พ.ศ. ๒๕๑๔ วัดบกไม่มีเจ้าอาวาสปกครอง คณะกรรมการวัดจึงแต่งตั้งให้พระวิฑูรย์ ศิษย์ท่านพระครูประกาศธรรมวัตรหลวงพ่อสาย วัดตะเคียนราม อ.ภูสิงห์ รักษาการอาวาส ภายหลังอุโบสถ ซึ่งได้บูรณะใหม่เรียบร้อยแล้วได้สร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ เป็นขนาดหนึ่งเมตรครอบพระพุทธรูปองค์เดิม (พระไม้) เป็นพระประธานในอุโบสถ ต่อมานายบุญถึง ขุขันธิน นายสวาท ไชยโพธิ์และชาวบ้านบกได้ร่วมกันสร้างประพุทธรูป พระประธานองค์ใหม่ในอุโบสถขนาดใหญ่ ดังที่ท่านได้เห็นในปัจจุบันนี้

  • ประชาชนชาวอำเภอขุขันธ์ ได้ร่วมบริจาคทรัพย์ในการครั้งนี้ด้วย ด้วยพระประธานองค์ใหม่นี้เมื่อสร้างเสร็จได้ให้ประชาชนนำสิ่งของมีค่าหรือวัตถุมงคลไปบรรจุในช่องอก (พระอุระ) เมื่อพิธีบรรจุเสร็จสิ้นแล้วช่างทำการปิดพระอุระอย่างถาวร เมื่อมีการสร้างพระประธานองค์ใหม่ภายในอุโบสถ พระพุทธรูปโบราณสององค์ก็ถูกขโมยยอดพระเศียรไป เนื่องจากสามารถถอดออกได้ ของเก่าหล่อด้วยโลหะสำฤทธิ์ฝีมืองดงามมาก ต่อมาช่างได้ทำของใหม่สวมไว้แทนของเก่าที่ถูกขโมยไปแต่ฝีมือทำไม่ได้เหมือนนัก จึงดูไม่เข้ากับยุคสมัยเท่าที่ควร ต่อมาทางวัดได้ทาสีพระพุทธรูปโบราณทั้งสององค์ ซึ่งถ้าหากไม่รู้ก็จะดูว่าเป็นของใหม่ ที่วัดบ้านบกมีพระพุทธรูปโบราณ อายุไม่ต่ำกว่า ๓๐๐-๔๐๐ ปี ฝีมือชาวล้านช้าง เป็นมรดกตกทอดมาให้เห็นดังเช่นทุกวันนี้ ชุมชนวัดจันทร์นคร ในอดีตมีชุมชนอยู่ ๒ ชุมชน อยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน ๑. ชุมชนที่ประกอบด้วย บ้านบกและบ้านแดงจะมีภาษาพูดเป็นภาษาลาว มีวัฒนธรรมคล้าย ๆ ชาวลาว เนื่องจากเป็นกลุ่มชนที่เมื่อครั้งที่ไทยชนะศึกสงครามที่เวียงจันทร์แล้วหลวงปราบได้กวาดต้อนเอาพลเมืองชาวลาวกลับมาด้วย โดยเฉพาะได้นางคำเวียง หญิงหม้ายตระกูลสูงพร้อมบริวารให้มาพำนักตั้งหลักแหล่ง ณ บ้านบก โดยท่านได้นางคำเวียง เป็นภรรยา มีลูกชายติดนางคำเวียงมาด้วยก็คือ “ พระไกร “ หรือ พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน เจ้าเมืองคนที่ ๓ นั่นเอง ซึ่งยังมีทายาทเชื้อสายชาวลาว ปรากฏอยู่ ณ ชุมชนบ้านบกและบ้านแดงจนทุกวันนี้ ๒. ชุมชนที่อยู่คุ้มทิศตะวันตกของวัดจันทร์นคร เป็นชนเผ่าที่พูดเขมร เรียกคุ้มนี้ว่า คุ้มบ้านวัง หรือบ้านเสียง (ซรกกะนงเวียง) เป็นบ้านที่อยู่ของเจ้าเมืองขุขันธ์เดิม ปัจจุบันอุโบสถหลังเก่าได้รื้อไปหมดแล้ว
  • เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๔ และได้ก่อสร้างอุโบสถหลังใหม่ โดยโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กทรงไทยประยุกต์ ซึ่งได้ทำการออกแบบ ควบคุมการก่อสร้างโดยนายแสวง น้อยวงศ์ แล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ โดยการนำของพระครูจันทนาคราภิวัฒน์ (บุญส่ง สิริจนฺโท) อดีตเจ้าอาวาสวัดบกจันทร์นครและผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการวัด ทายกทยิกา ไวยาวัจกร ข้าราชการ พ่อค้าประชาชน สิ้นงบประมาณ ทั้งสิ้น ๖,๖๘๑,๙๕๙ บาท ดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน

ลำดับเจ้าอาวาสวัดบกจันทร์นคร

๑. พระปลัดชัย

๒. พระจันทร์

๓. พระน้อม

๔. พระคำ

๕. พระอินทร์

๖. พระพิน

๗. พระเลี้ยง

๘. พระพรหม

๙. พระสงค์

๑๐. พระรักธิเบศน์

๑๑. พระนุช

๑๒. พระสวัสดิ์

๑๓. พระอธิการไฮ้ อินฺทสุวณฺโณ

๑๔. พระบุญล้อม ปภากโร

๑๕. พระสมุห์ศรี กิตติสทฺโท           (พ.ศ. ๒๔๙๔-๒๕๐๑)

๑๖. พระบุญช่วย กิตติโสภโณ         (พ.ศ. ๒๕๐๑-๒๕๐๔)

๑๗. พระชิต ชิตธมุโม

๑๘. พระแสน กลฺยาโน

๑๙. พระสุทน จนทาโก

๒๐. พระวิฑูร (ลม) ปภากโร            (พ.ศ. ๒๕๑๓-๒๕๑๕)

๒๑. พระริม จนฺทวํโส                    (พ.ศ. ๒๕๑๕-๒๕๑๘)

๒๒. พระสว่าง อภิชาโต                 (พ.ศ. ๒๕๑๘-๒๕๑๙)

๒๓. พระอธิการเพื่อย เถรวํโส          (พ.ศ. ๒๕๑๙-๒๕๓๒)

๒๔. พระสวัสดิ์ สุทธปญฺโญ             (พ.ศ. ๒๕๓๒-๒๕๓๓)

๒๕. พระครูจันทนคราภิวัฒน์ (บุญส่ง สิริจนฺโท) (พ.ศ. ๒๕๓๓-๒๕๕๐)

๒๖. พระอธิการสุเพียร สุธีโร           (พ.ศ. ๒๕๕๐-๒๕๕๓)

๒๗. พระอธิการสุริยนต์ พลสนีโย      (พ.ศ. ๒๕๕๓ – ๒๕๖๐)

๒๘. พระปลัดจันทร์ จนฺทวํโส          (พ.ศ. ๒๕๖๑ – ปัจจุบัน)

เสนาสนะ

๑. อุโบสถ
๒. เจดีย์หลักคำ
๓. ศาลาการเปรียญ
๔. ลานธรรม ลานใจ
๕. ซุ้มประตู
๖. กุฏิสงฆ์
๗. เมรุ
๘. ศาลาธรรมสังเวช

ปูชนียวัตถุ

๑. พระประธานประจำอุโบสถ พระพุทธรูปปางสมาธิ
๒. พระพุทธรูปปางสมาธิ (หลวงพ่อสมปรารถนา)
๓. พระพุทธรูปปางไสยาสน์ (พระไม้ตะเคียน)

อาณาเขต

  • ทิศเหนือ จรดทางสาธารณะ
  • ทิศใต้ จรดชุมชน
  • ทิศตะวันออก จรดทางสาธารณะ
  • ทิศตะวันตก จรดทางสาธารณะ