วัดบ้านหว้าน

ตั้งอยู่เลขที่ ๔๘ บ้านหว้าน หมู่ที่ ๘

ตำบลสำโรงปราสาท อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ


Wat Ban Wan

Samrong Prasat Subdistrict, Prang Ku District ,
Sisaket Province

วัดบ้านหว้าน ตั้งเมื่อวันที่ ๓ เดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๒ ตั้งอยู่เลขที่ ๔๘ บ้านหว้าน หมู่ที่ ๘ ตำบลสำโรงปราสาท อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ ๑๑ ไร่ ๔๘ ตารางวา โฉนดที่ดินเลขที่ ๑๔๐๔๙ ปูชนียวัตถุ

พระประธาน พร้อมด้วยพระอัคร สาวกซ้าย-ขวา ประดิษฐานในพระวิหาร

อาคารเสนาสนะ

ศาลาการเปรียญ กว้าง ๑๖ เมตร ยาว ๓๖ เมตร
สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๔
กุฏิสงฆ์ จำนวน ๘ หลัง เป็นคอนกรีต ๓ หลัง เป็นกุฏิไม้ ๕ หลัง
ศาลาบำเพ็ญกุศล ๑ หลัง สร้างด้วยคอนกรีต

อาณาเขต

  • ทิศเหนือ ประมาณ ๓ เส้น ๑๘ วา จดที่ดินนายณรงค์ มัครชาติ
  • ทิศใต้ ประมาณ ๓ เส้น ๑๘ วา จดที่ดินนายบุญชู งามเปียม
  • ทิศตะวันออก ประมาณ ๓ เส้น ๗ วา จดที่ดินนายเตียว สมบัติวงค์
  • ทิศตะวันตก ประมาณ ๓ เส้น ๗ วา จดที่ดินนายสุข หอบใจ
    มีที่ธรณีสงฆ์จำนวน ๑ แปลง เนื้อที่ ๔ ไร่ ๒ งาน ๗๗ ตารางวา

 

การบริหารและการปกครอง

  • พระอธิการเนม วิมโล ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๔ – ๒๕๕๔
  • พระอธิการรถเสน ธีปธมฺโม พ.ศ. ๒๕๖๐ ถึงปัจจุบัน

พระอธิการเนม วิมโล อดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านหว้าน (เจ้าอวาสรูปแรก)

พระอธิการรถเสน ธีปธมฺโม เจ้าอาวาสวัดบ้านหว้าน


 

ภูมิวิหารกระตึ๊บ บ้านหว้าน

ภูมิวิหาร หรือที่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า “วิหารกระตึ๊บ” สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยาราวพุทธศักราช ๒๐๐๐

ลักษณะของวิหารประกอบด้วยอิฐฝาผนังสีแดง ขนาดกว้าง ๖ นิ้ว ยาว ๑๒ นิ้ว หนา ๓ นิ้ว เรียงต่อกันเป็นผนังสูง ๔ เมตร แบ่งออกเป็น ๒ ชั้น คือ ชั้นนอกกว้าง ๑๒ เมตรยาว ๑๕ เมตร ชั้นในกว้าง ๘ เมตรยาว ๑๐ เมตร อิฐสำหรับปูพื้นชั้นนอกมีขนาดเท่ากับอิฐปูพื้นชั้นในคือมีขนาดกว้าง ๑๒ นิ้ว ยาว ๑๗ นิ้ว หนา ๓ นิ้ว มีประตูเข้าภายในวิหาร ๓ ด้าน คือ ทิศเหนือ ทิศใต้ และที่ยังคงสภาพดีอยู่เพียงด้านเดียวคือ ทิศตะวันออก ระหว่างผนัง ๒ ชั้นนี้ รอบด้านมีห้องเล็ก ๆ ขนาดกว้าง ๑๖๐ เซนติเมตร ยาว ๑๘๐ เซนติเมตร มีทั้งสิ้น ๑๗ ห้อง และแต่ละห้องจะเจาะทะลุเข้าหากันสามารถเดินผ่านและทะลุกันได้ทุกห้อง โดยมีความเชื่อมาแต่โบราณกาลว่าผู้ใดที่ได้เดินลอดทะลุผ่านแต่ละห้องทุกห้อง ๓ รอบจะถือเป็นโชคลาภ ฉะนั้น จึงมีชาวบ้านจำนวนมากที่ใช้วิธีสะเดาะเคราะห์ด้วย การลอดทะลุผ่านทุกห้อง โดยเฉพาะหญิงมีครรภ์เชื่อว่าหากได้ปฏิบัติแล้วจะคลอดบุตรง่ายรวมทั้งแม่และลูกในครรภ์จะมีความปลอดภัย ฉะนั้นประชาชนทั่วไปที่ไปเที่ยวจึงขาดไม่ได้ที่จะปฏิบัติตามความเชื่อที่มีมาครั้งโบราณกาล ภายในใจกลางวิหารมีพระพุทธรูปขนาดหน้าตักกว้าง ๓๒๐ นิ้ว สูง ๔๘๐ นิ้ว ตั้งเป็นองค์พระประธานและมีแท่นพระโมคลา พระสารีบุตรซึ่งองค์พระพุทธรูปได้หักพังลงและชำรุดเสียหาย ปัจจุบันได้นำพระพุทธรูปองค์ใหม่ไปตั้งแทน

โดยสถานที่แห่งนี้เป็นศาสนสถานที่สักการะบูชาของประชาชน ในวันสงกรานต์ถือเป็นประเพณีที่ชาวบ้านทุกคนที่อยู่ในละแวกนั้นจะต้องนำดอกไม้ธูปเทียนไปสักการะ และทำพิธีสงฆ์น้ำเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะในวันขึ้น ๑ ค่ำเดือน ๖ ชาวบ้านกล้วยกว้าง ตลอดจนผู้ที่มีความเลื่อมใสศรัทธาในภูมิวิหารกระตึ๊บจะนำเครื่องเซ่นสังเวยดวงวิญญาณของพระโพธิญาณ โดยเฉพาะที่ขาดไม่ได้คือการจัดทำบั้งไฟเพื่อจุดถวายโดยมีความเชื่อว่าถ้าปีใดไม่ทำบั้งไฟจุดถวายปีนั้นฝนจะไม่ตกต้องตามฤดูกาล และชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนไม่อยู่เย็นเป็นสุข ฉะนั้นจึงเห็นได้ว่าในระหว่างช่วงเดือนพฤษภาคม – เดือนมิถุนายนของทุกปีชาวบ้านหว้าน บ้านตะมุง บ้านขนวน ตำบลสำโรงปราสาท อำเภอปรางค์กู่ จะร่วมกันจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟขึ้นเพื่อเป็นการจุดถวายบูชาดึงวิญญาณของพระโพธิญาณตามความเชื่อที่เคยปฏิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณกาล ตราบเท่าทุกวันนี้ประเพณีดังกล่าวยังถือว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นที่ชาวบ้านยึดถือและจะต้องปฏิบัติให้คงอยู่คู่กับชุมชนตราบนานเท่านาน