วัดเดียงตะวันตก

ตำบลเวียงเหนือ อำเภอกันทรลักษ์ ศรีสะเกษ

Wat Diang Tawan Tok

Wiang Nuea Subdistrict, Kantharalak District,
Sisaket Province

ประวัติวัดเดียงตะวันตก

วัดเดียงตะวันตก ตั้งอยู่ที่บ้านเดียงตะวันตก เลขที่ ๑๑๙ หมู่ที่ ๓ ตำบลเวียงเหนือ อำเภอกันทรลักษ์
จังหวัดศรีสะเกษ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย วัดเดียงตะวันตก ตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๐

แต่เดิมชื่อ “วัดปิ่นธรรมาราม” ด้วยไม่สอดคล้องกับชื่อหมู่บ้าน ชาวบ้านได้ขอเปลี่ยนเป็น “วัดเดียงตะวันตก” จนถึงปัจจุบันนี้ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๑๔ เดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๓ เขตวิสุงคามสีมา กว้าง ๓๐ เมตร ยาว ๖๐ เมตร ที่ดินที่ตั้งวัด มีเนื้อที่ ๑๒ ไร่ ๓ งาน ๗ ตารางวา

ปูชนียวัตถุ

  • พระประธานประจำอุโบสถ ปางสะดุ้งมาร ขนาดหน้าตัก กว้าง ๓.๙ เมตร สูง ๓ เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๗
  • พระประธานประจำศาลาการเปรียญ ปางสมาธิ ขนาดหน้าตัก กว้าง ๒.๕ เมตร สูง ๒.๕ เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๔
พระประธานประจำอุโบสถ

อาคารเสนาสนะ

  • อุโบสถ กว้าง ๓๐ เมตร ยาว ๖๐ เมตร อาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๗
  • ศาลาการเปรียญ กว้าง ๒๐ เมตร ยาว ๔๔ เมตร อาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๘
  • กุฏิสงฆ์ จำนวน ๖ หลัง อาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก จำนวน ๒ หลัง อาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ จำนวน ๔ หลัง
  • ศาลาอเนกประสงค์ กว้าง ๑๕ เมตร ยาว ๔๘ เมตร อาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๔
  • ศาลาบำเพ็ญกุศล กว้าง ๒๐ เมตร ยาว ๓๐ เมตร อาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๖๑
    นอกจากนี้มีอาคารเสนาสนะต่าง ๆ ดังนี้ ฌาปนสถาน จำนวน ๑ หลัง หอระฆัง จำนวน ๑ หลัง และโรงครัว จำนวน ๑ หลัง

การศึกษา

  • มีโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนก ธรรมเปิดสอนเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๗
  • มีศูนย์อบรมเด็กก่อนเกณฑ์ในวัด เปิดสอนเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๖
  • มีหน่วยอบรมประจำตำบล (อ.ป.ต.) แต่งตั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๓

การบริหารการปกครอง

ลำดับเจ้าอาวาสและผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ดังนี้
มีเจ้าอาวาส ๔ รูป ผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส ๗ รูป
๑. พระเมี๊ยะ สีลวณฺโณ
๒. พระเลิศ ปภากโร
๓. พระเทียน สนฺตจิตฺโต
๔. เจ้าอธิการกลั่น จนฺทโชโต น.ธ. ตรี
เป็นเจ้าอาวาส เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๘ – ๒๕๑๔
๕. เจ้าอธิการบุญเรน จนฺทวํโส น.ธ. เอก
เป็นเจ้าอาวาส เมื่อวันที่ ๘ เดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ – ๒๕๒๔
๖. พระสวัสดิ์ โสปาโก
เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๔ – ๒๕๒๕
๗. พระสา กิตฺติปาโล
เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๕ – ๒๕๒๗
๘. พระแฮม สุคนฺโท น.ธ. ตรี
เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๗ – ๒๕๓๔
๙. พระครูสุคนธสารคุณ (แฮม สุคนฺโท) น.ธ. โท
เป็นเจ้าอาวาส เมื่อวันที่ ๓๐ เดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๔ – ๒๕๔๕
๑๐. พระประสันติ์ สนฺติธมฺโม น.ธ. เอก
เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส เมื่อวันที่ ๑๐ เดือนมีนาคม
พ.ศ. พ.ศ. ๒๕๔๕ – ๒๕๔๖
๑๑. พระครูสันติธรรมกิจ (ประสันติ์ สนฺติธมฺโม) น.ธ. เอก ป.ตรี เป็นเจ้าอาวาส เมื่อวันที่ ๑๙ เดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖
ถึงปัจจุบัน

พระสา กิตฺติปาโล
ผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส
เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๕ – ๒๕๒๗

พระครูสุคนธสารคุณ
ผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส
อดีตเจ้าอาวาส พ.ศ. ๒๕๓๔ – ๒๕๔๕

ประวัติพระครูสันติธรรมกิจ

พระครูสันติธรรมกิจ (ประสันติ์ สนฺติธมฺโม) น.ธ. เอก ป.ตรี เจ้าอาวาสวัดเดียงตะวันตก


ชื่อ พระครูสันติธรรมกิจ ฉายา สนฺติธมฺโม
สมณศักดิ์ที่รับพระราชทาน

  • ๕ ธันวาคม ๒๕๕๑ ชั้นสมณศักดิ์ จร.ชท. ราชทินนาม พระครูสันติธรรมกิจ พัดยศ เจ้าอาวาสวัดราษฎร์ ลำดับชั้นโท
  • ๕ ธันวาคม ๒๕๕๗ ชั้นสมณศักดิ์ จร.ชอ. ราชทินนาม พระครูสันติธรรมกิจ พัดยศ เจ้าอาวาสวัดราษฎร์ ลำดับชั้นเอก

๕ ธันวาคม ๒๕๕๑ พิธีต้อนรับสัญญาบัตรพัดยศ
พระครูเจ้าอาวาสชั้นโทในราชทินนามที่พระครูสันติธรรมกิต

ประวัติเดิมก่อนอุปสมบท
ชื่อ(เดิม) ประสันติ์ นามสกุล(เดิม) สุระชาติ ชื่อเล่น สันติ์ เกิด ๑๙ เดือนมีนาคม ๒๕๑๓
บิดา นายสรส สุระชาติ มารดา นางภา สุระชาติ
ภูมิลำเนาเดิม ที่อยู่เลขที่ ๒๐๗ หมู่ที่ ๓ ตำบลภูฝ้าย อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ


การบรรพชาอุปสมบท
การบรรพชาสามเณร

บรรพชา ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๒๙ วัดจันทอง ตำบลเวียงเหนือ อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ
พระอุปัชฌาย์ เจ้าอธิการบุญเรน จนฺทวํโส
วัดศิริวราวาส ตำบลน้ำอ้อม อำเภอกันทรลักษ์
จังหวัดศรีสะเกษ
การอุปสมบท
อุปสมบท ๓๐ เมษายน ๒๕๓๗ วัดจันทอง ตำบลเวียงเหนือ อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ
พระอุปัชฌาย์ พระครูสุจิตคุณาทร วัดจันทอง ตำบลเวียงเหนือ อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ
พระกรรมวาจาจารย์ พระอธิการสวัสดิ์
พระอนุสาวนาจารย์ พระทวรรณ จนฺทโชโต


วิทยฐานะทางการศึกษา

  • ปีการศึกษา ๒๕๒๖ จบระดับชั้นประถมศึกษาที่ปีที่ ๖ จากโรงเรียนบ้านกุดนาแก้ว ตำบลภูฝ้าย อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ
  • ปีการศึกษา ๒๕๔๐ แผนกธรรม นักธรรมเอก สำนักเรียนคณะจังหวัดศรีสะเกษ วัดจันทอง ตำบลเวียงเหนือ อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ
  • ปีการศึกษา ๒๕๔๙ จบระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ จาก กศน.อำเภอกันทรลักษ์ ตำบลน้ำอ้อม อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ
  • ปีการศึกษา ๒๕๕๗ จบระดับปริญญาตรี สาขาวิชาศิลปศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ตำบลโพธิ์ อำเภอเมือศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ

ตำแหน่ง

  • ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๔๖ ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส วัดเดียงตะวันตก ตำบลเวียงเหนือ อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ
  • ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๔๙ ถึงปัจจุบัน เป็นครูสอนศีลธรรมในโรงเรียน
  • ๙ กันยายน ๒๕๖๓ ได้รับแต่งตั้งเป็น พระวินยาธิการประจำจังหวัดศรีสะเกษ
  • ๑๐ เมษายน ๒๕๖๔ ดำรงตำแหน่ง เลขานุการเจ้าคณะตำบลเวียงเหนือ

การเข้ารับการอบรมหลักสูตร

  • ๒๕ เมษายน ๒๕๕๑ สำเร็จหลักสูตรการอบรมครูสอนพระปริยัติธรรม แผนกธรรม เขตปกครองคณะสงฆ์
    ภาค ๑๐ ณ ศูนย์การคณะสงฆ์ ภาค ๑๐ ตำบลหนองเมือง อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี
  • ๒๗ เมษายน ๒๕๕๕ ผ่านการอบรมเข้มครูสอนพระปริยัติธรรม แผนกธรรม ณ วัดธาตุ พระอารามหลวง อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น

๒๖ สิงหาคม ๒๕๕๔ มอบทุนการศึกษาแก่นักเรียนเรียนดีและยากจน ณ โรงเรียนกันทรลักษ์ธรรมวิทย์

ภาพในอดีตวัดเดียงตะวันตก

ปี ๒๕๔๐ รับหลวงพ่อพระครูสุจิตคุณาทร อดีตเจ้าคณะตำบลสังเม็ก-เวียงเหนือ อดีตพระธรรมฑูตสายที่ ๖
กลับจากประเทศสหรัสอเมริกามาที่วัดจันทอง บ้านเดียงตะวันออก อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ

พระครูสุจิตคุณาทร

วางศิลาฤกษ์ศาลาการเปรียญและฉลองตราตั้งเจ้าอาวาสปี ๒๕๔๘ โดยได้รับความเมตตาเป็นประธานในพิธี
พระเดชพระคุณพระสุนทรพุทธิธาดา รองเจ้าคณะจังหวัดในสมัยนั้น และเป็นเจ้าอาวาสวัดเพียนาม

โครงการไทยเข้มแข็ง ขุดลอกหนองเดียง ปี ๒๕๕๓ ได้ค้นพบบ่อน้ำเก่าโบราณ ๙ บ่อ โดยชาวบ้านเชื่อว่าเป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ และได้พัฒนาสร้างเกาะแก้วขึ้นมาในปัจจุบัน

พ่อเสริม ขันทอง
ไวยาวัจกร

พ่อเกิด คมใสย์
ไวยาวัจกร

พ่อสุพิศ กุดประทาย
ผู้ช่วยไวยาวัจกร

บึงชมภูเกร็ดแก้ว

เหรียญท้าวทอง ท้าวชมพู
วัดเดียงตะวันตก ต.เวียงเหนือ อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ

ตำนานดินแดนศักดิ์สิทธิ์แห่งองค์นาคาธิบดี
แถวย่านบ้านเดียงซึ่งมีการกล่าวขานมานานว่าเป็นดินแดนแห่งองค์นาคาธิบดี มีต้นเหตุจากความฝันของชาวบ้านเดียง ในนิมิตเห็นสองบุรุษแต่งกายแบบโบราณบอกว่าตนคือท้าวชมภูและท้าวทอง เชื้อสายพญานาคราชเป็นเจ้าผู้ครองนครแห่งนี้ จะกลับมาด้วยความเป็นห่วงในผืนแผ่นดินที่เคยผูกพัน กลายเป็นเรื่องเล่าสู่กันฟัง

ปีพุทธศักราช ๒๕๕๓ กรมชลประทานได้รับงบประมาณขุดลอกปรับปรุงหนองเดียง ซึ่งเป็นหนองน้ำโบราณให้เป็นโครงการแก้มลิง เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในยามหน้าแล้ง ประมาณเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๕๓ การดำเนินงานนี้ได้นำดินที่ขุดลอกไปถมใส่พื้นที่บางส่วน พบได้ว่ามีเกร็ดแก้วเม็ดเล็ก ๆ ปะปนอยู่ทั่วไป มีประกายแวววาวเมื่อกระทบกับแสงแดด และได้ขุดพบบ่อน้ำโบราณ ๙ บ่อ มีขอนไม้วางเรียงที่ขอบบ่อในแต่ละบ่อ ซึ่งจุดที่ตั้งของบ่อน้ำทั้งเก้ามีลักษณะการจัดวางเหมือนกับบ่อหลักเมืองตามตำนาน

การจัดตั้งเมืองในสมัยโบราณ ซึ่งเป็นยุคของอารยธรรมน้ำ จากเรื่องเล่าในตำนาน กล่าวไว้ว่า จะทำการขุดบ่อน้ำกลางใจเมือง ๙ บ่อ เพื่อให้เป็นหลักเมืองโดยมีฤกษ์ยามความเชื่อว่า ในวันที่ออกพรรษาพญานาคจะขึ้นมาจากบาดาล ไปบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ชาวเมืองจะทำการขุดบ่อน้ำและบวงสรวงอัญเชิญพญานาคราชพิทักษ์รักษาซึ่งการทำพิธีขุดได้เพียงปีละหนึ่งบ่อจนครบเก้าปี จุดที่ตั้งของบ่อน้ำทั้งเก้านี้จะวางตำแหน่งตามลัคนาสมพงษ์นาคราชแบบนาคไหว

จากการขุดพบบ่อน้ำ ที่มีลักษณะเหมือนการจัดตั้งหลักเมืองโบราณ จึงมีการอุปมากันว่าบริเวณหนองเดียง น่าจะเป็นนครในอดีต โดยมีวัดเดียงตะวันตกเป็นส่วนหน้าหรือประตูเมืองชาวบ้านเดียงจึงได้ร่วมใจพัฒนาหนองเดียงให้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธ์ ได้จัดสร้างรูปองค์ท้าวชมภูและท้าวทอง เพื่อประดิษฐานที่ศาลบนเกาะกลางหนองเดียง พร้อมกันเรียกขานตามนิมิตและเกร็ดแก้วที่ขุดพบว่า “บึงชมภูเกร็ดแก้ว”

ในยามค่ำคืน ชาวบ้านรอบหนองเดียงหรือบึงชมภูเกร็ดแก้ว มักจะได้พบเห็นแสงเรืองรองจากบ่อที่ขุดพบ จนเป็นที่เลื่องลือว่าเป็นบ่อพญานาคราช คำบอกเล่าเสียงร่ำลือถึงความอาถรรพ์ ความศักดิ์สิทธิ์ ของดินแดนแห่งนี้ขจรจายออกไปว่าเป็น “ดินแดนศักดิ์สิทธิ์แห่งองค์นาคาธิบดี” จึงมีชาวบ้านทั้งใกล้และไกล เดินทางด้วยศรัทธามาสักการะบูชาโดยไม่ขาดสาย