วัดกัทลิวัน

ตำบลสวนกล้วย อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ


Wat kadtaliwan

Suan Kluay Subdistrict, Kantharalak District,
Sisaket Province

หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต

พระโพธิญาณเถร(ชา สุภทฺโท)

หลวงพ่อเลี่ยม ฐิตธมฺโม อดีตเจ้าอาวาสรูปแรกวัดกัทลิวัน ปัจจุบันเป็นเจ้าอาวาสวัดหนองป่าพง รูปถ่ายขณะจำพรรษาอยู่วัดกัทลิวัน

หลวงปู่คำ อนาลโย อดีตเจ้าอาวาสวัดกัทลิวัน – จำพรรที่วัดนานที่สุดเป็นเวลา ๒๕ ปี (พรรษา) – เจ้าอาวาสรูปแรก ที่อยู่จนมรณภาพที่ วัดกัทลิวัน

หลวงปู่คำ อนาลโย (ตรงกลาง)

พระครูวิมลธรรมรัตน์ (บุญเสริม ธมฺมปาโล)อดีตเจ้าอาวาสวัดกัทลิวัน – พระผู้สร้าง ศาสนสถาน โบสถ์ ศาลาของวัด และมีทักษะการแสดงธรรมเป็นเอกลักษณ์ – เจ้าอาวาสที่อยู่จนมรณภาพที่วัดกัทลิวัน

ความเป็นมา

วัดกัทลิวัน ตั้งอยู่เลขที่ ๑๓ หมู่ที่ ๙ บ้านมะลิวัลย์ ตำบลสวนกล้วย อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย เป็นวัดสาขาที่ ๖ ของวัดหนองป่าพง ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของบ้านมะลิวัลย์ มีเนื้อที่ ๕๘ ไร่  ๒๒ ตารางวา โฉนดที่ดินเลขที่ ๑๕๑
เดิมชื่อว่า “วัดสวนกล้วย” เริ่มสร้างมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๑๒ โดยอาศัยเหตุที่หลวงพ่อพระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา  สุภทฺโท) เจ้าอาวาสวัดหนองป่าพง บ้านพงสว่าง ตำบลโนนผึ้ง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ได้เดินธุดงค์มาพักแรมอยู่ที่ป่าช้าบ้านสวนกล้วย และได้สร้างที่พักสงฆ์ขึ้น มีพระเทพวชิรญาณ (หลวงพ่อเลี่ยม ฐิตธมฺโม) เป็นประธานฝ่ายสงฆ์รูปแรก นายสา วิชาชัย เป็นผู้นำฝ่ายฆราวาส และชาวบ้านได้ร่วมกันสร้างวัดขึ้น ในสมัยนายสา วิชาชัย เป็นผู้ใหญ่บ้าน
ตั้งเป็นวัดขึ้นเมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๘ โดยมีพระอธิการคำ อนาลโย เป็นผู้นำฝ่ายสงฆ์ นายสา วิชาชัย เป็นผู้นำฝ่ายฆราวาส พร้อมชาวบ้านได้ร่วมกันสร้างวัดในสมัยนายสา วิซาชัย เป็นผู้ใหญ่บ้าน และได้ตั้งชื่อวัดว่า “วัดสวนกล้วย” ต่อมาวันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๑ เปลี่ยนชื่อวัดเป็น “วัดกัทลิวัน” ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๘ เขตวิสุงคามสีมา กว้าง ๒๐ เมตร ยาว ๔๐ เมตร
สถานที่สำคัญของวัดกัทลิวัน
๑) อุโบสถ
๒) วิหารหุ่นขี้ผึ้งรูปเหมือนพระเกจิอาจารย์
๓) หอพระ
๔) ศาลาหอฉันและศาลารับภัตตาหาร

อุโบสถ

วิหารหุ่นขี้ผึ้งรูปเหมือนพระเกจิอาจารย์

หลวงปู่ทวด
หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี)
หลวงปู่ชา สุภทฺโท
หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล

หอพระ

ศาลาหอฉันและศาลารับภัตตาหาร

ความเป็นมาการสร้างอุโบสถวัดกัทลิวัน
เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ครั้งที่หลวงปู่ชามาที่บ้านสวนกล้วย ได้มาปักกรดที่ป่าช้า(บริเวณวัดกัทลิวัน ในปัจจุบัน) ได้พูดกับญาติโยมที่มาสนทนาธรรมด้วยว่า “ถ้ามีโบสถ์ ๒ ชั้นอยู่บริเวณนี้ก็จะดีนะ คงเย็นสบาย” (พ่อบัวจันทร์ คำแสง ผู้ให้ข้อมูล) เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๗ ก่อนที่หลวงพ่อบุญเสริมจะมาอยู่ที่วัดกัทลิวัน ประมาณ ๒-๓ วัน นางไสว สอนไชยญาติ ได้ฝันว่า หลวงพ่อชา สุภัทโท ได้มาเข้าร่างหลวงปู่คำ อนาลโย พอตื่นขึ้นก็เล่าให้สามีและคนอื่น ๆ ฟัง และต่างคนก็เชื่อว่า เป็นนิมิตรหมายอันดีที่บารมีหลวงปู่ชาได้แผ่ไพศาลมาถึงวัดบ้านเรา เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๙ หลังจากที่หลวงพ่อบุญเสริม ธมฺมปาโล ได้มาจำพรรษาอยู่ที่วัดกัทลิวันได้ ๒ ปี หลวงปู่เลี่ยม ฐิตธมฺโม เจ้าอาวาสวัดหนองป่าพงไม่ทราบว่ามีเหตุผลอะไรมาดลใจให้ท่านมาแนะนำ ให้หลวงพ่อบุญเสริม สร้างโบสถ์ ขนาดกว้าง ๑๘ เมตร ยาว ๓๒ เมตร แต่หลวงพ่อบุญเสริมมีความคิดว่าจะไม่สร้างอะไร เพราะช่วงอยู่ที่วัดหนองป่าพง ก็คลุกคลีกับการสร้างศาสนสถานมามากพอสมควร อยากสร้างคน อยากพัฒนาคนมากกว่า วัดหนองป่าพงมีญาติโยม มีคนมาทำบุญมาก ปัจจัยไทยธรรมก็พลอยได้มากไปด้วยจึงมีงบประมาณพอที่สามารถสร้างศาสนสถานได้ ต่างกับวัดกัทลิวัน เงินที่ญาติโยมมาทำบุญในแต่ละปีก็พอได้ใช้จ่ายในวัดเท่านั้น ถ้าหากมีการสร้าง ชาวบ้านอาจจะเดือนร้อนพากันรับภาระไปด้วย ในช่วงนั้นหลวงพ่อบุญเสริม จึงกราบเรียนหลวงปู่เลี่ยมว่าตอนนี้ยังไม่พร้อมขอเลื่อนไปก่อน ความคิดการสร้างโบสถ์จึงต้องระงับไป

ปี พ.ศ. ๒๕๔๓ หลวงพ่อบุญเสริม ธมฺมปาโล และพระอาจารย์สิโณ ฐิตคุโณ ได้ไปกราบนมัสการพระเถระผู้ใหญ่ ที่ภาคเหนือ ขณะที่ได้พำนักอยู่กับ พระอธิการวิไล ธีปธมฺโม เจ้าอาวาสวัดป่าขันติธรรม จังหวัดลำพูน ก็มีพนักงานขายเครื่องมือแพทย์คนหนึ่งไปกราบหลวงพ่อ และแนะนำตัวเองว่าอยู่จังหวัดเพชรบุรี เป็นลูกพระนารายณ์มาเกิด ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะก่อนหน้านั้นเขาได้รับอุบัติเหตุรถยนต์พลิกคว่ำสภาพรถยนต์พังยับเยิน แต่เขากลับไม่เป็นอะไร ๒ วันผ่านมาเขามานั่งทบทวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ขณะนั่งอยู่นั้น จิตเป็นสมาธิรวมเป็นหนึ่งและมีความรู้สึกว่าร่างของเขาได้มี ๒ ร่าง ร่างหนึ่งกำลังนั่งสมาธิ อีกร่างหนึ่งลอยออกมาจากร่างเดิม และในบัดดลนั้นก็เห็นภาพ หลวงปู่มั่น เดินมา และถามว่าอยากจะบวชเป็นพระอรหันต์ หรือจะเป็นเทพดี ในขณะนั้นก็มีพระนารายณ์ลอยมาและได้กราบหลวงปู่มั่นว่าให้เขาเป็นมนุษย์อย่างนี้แหละเขาจะได้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์และพระพุทธศาสนา หลังจากนั้นภาพต่าง ๆ ก็หายไปเขาได้กราบนมัสการหลวงพ่อว่าขอให้สร้างโบสถ์ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา หลวงพ่อก็ตอบไปว่าไม่สร้างหรอกจะรอให้เทวดามาสร้างให้ เขาก็บอกว่าเทวดาจะช่วยสร้างไม่ได้ถ้าหลวงพ่อไม่ลงมือสร้างเองก่อนที่เทวดาจะช่วยสร้าง พระต้องลงมือสร้างก่อนหลวงพ่อไม่จำเป็นต้องมีเงิน แต่ถ้าลงมือสร้างจะมีคนมาช่วยสร้างให้ไม่ต้องเป็นห่วง ขณะนี้มีคนจำนวนมากกำลังรอสร้างโบสถ์กับหลวงพ่อ และก่อนสร้างโบสถ์ขอให้หลวงพ่อขึ้นพญานาคเผือก เกล็ดทองยาว ๙ วาหันหัวเข้าวัดด้วยเพราะที่วัดเป็นทางผ่านของพญานาค
ปาฏิหาริย์ขณะดำเนินการก่อสร้าง
หลวงพ่อบุญเสริมกลับมาจากการไปกราบคารวะพระเถระผู้ใหญ่ที่ภาคเหนือ ก็มาทบทวนว่าจะสร้างโบสถ์หรือไม่อย่างไรดี จริงหรือที่คนผู้นั้นบอกว่าจะมีคนช่วยสร้างในขณะที่คิดลังเลสงสัยอยู่นั้นก็มีเด็กวัดคนหนึ่งวิ่งหน้าตาตื่นเข้ามาในกุฏิ บอกหลวงพ่อว่า “หลวงพ่อ ๆ งูเผือกตัวหนึ่งนอนอยู่หน้ากุฏิครับ” หลวงพ่อรีบออกไปดูและบอกว่าอาจจะเป็นพญานาคมาบอกให้สร้างโบสถ์ ท่านก็เลยพูดไปว่า “ไป ออกไปอยู่ที่เดิม จะสร้างโบสถ์ให้อยู่หรอก” แล้วงูเผือกตัวนั้นก็เลื้อยเข้าพงหญ้าใต้ต้นเปือยหายไป จากนั้นหลวงพ่อได้ติดต่อช่างปั้นพญานาคหันหัวเข้าวัด ขณะที่ช่างกำลังปั้นพญานาคอยู่นั้นก็มีคนขับรถไถนาคันใหญ่ขับผ่านมาและทักท้วงว่า “เว้ย ๆ ช่างผีบ้าบ่อมีวัดได๋ดอกเขาปั้นพญานาคหันหัวเข้าวัด” พอพูดจบปรากฎว่ารถที่ขับมาถลาลงข้างถนน โชคดีที่ไม่ตกถนน คนขับถึงกับอกสั่นขวัญเสีย และนอกจากนี้ยังถือว่าเป็นครั้งแรกของวัดที่มีคนมาขอบวชมากที่สุดจำนวน ๒๕ คน ทั้ง ๆ ที่เป็นช่วงออกพรรษา ถือว่าท่านเหล่านั้นเป็นบริวารของหลวงพ่อที่จะมาร่วมสร้างโบสถ์ ตามที่คนขายเครื่องมือแพทย์แนะนำหลวงพ่อเมื่อครั้งที่ไปภาคเหนือ
การดำเนินการก่อสร้าง
หลวงพ่อบุญเสริม ตัดสินใจสร้างโบสถ์แล้ว ก็ได้ทำพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อ วันพฤหัสบดีที่ ๑๗ เดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๓ ตรงกับวันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๔ ปีมะโรง ขนาดกว้าง ๑๘ เมตร ยาว ๓๒ เมตร สูง ๒ ชั้น โดยมี พระอาจารย์สิโณ ฐิตคุโณ เป็นบุคคลที่มีความสำคัญที่ทำให้โบสถ์วัดกัทสิวัน สวยงามอย่างที่เห็น ท่านเป็นช่างไฟฟ้าที่มีความชำนาญและเป็นผู้ที่มีความสามารถในด้านการก่อสร้าง ท่านเคยทำงานร่วมกับหลวงพ่อ เมื่อครั้งที่ดำเนินการก่อสร้างพระเจดีย์ พระโพธิญาณเถรที่วัดหนองป่าพงเป็นเพื่อนสหธรรมมิกที่หลวงพ่อบุญเสริม ให้ความรักให้ความเคารพและความไว้วางใจตลอดมา
การใช้งบประมาณในการก่อสร้าง หลวงพ่อไม่เคยเรี่ยไร แต่ไม่เคยอยู่นิ่ง หลวงพ่อจะได้รับกิจนิมนต์ไปเทศน์ อบรมในสถานที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศโดยไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย จนบางครั้งร่างกายสู้ไม่ใหว ท่านจำเป็นจึงต้องขอพักไม่รับกิจนิมนต์ ปัจจัยที่ญาติโยมมาทำบุญนอกจากทุ่มไปกับการก่อสร้างโบสถ์แล้ว หลวงพ่อยังนำปัจจัยช่วยเหลือชาวบ้าน ช่วยเหลือเด็ก และเยาวชนที่ยากจน ชาวบ้านสวนกล้วยมะลิวัลย์ได้เห็นความตั้งใจจริงในการพัฒนาวัดของหลวงพ่อ ถึงแม้จะยากจนแต่ไม่จนน้ำใจ เขาเหล่านั้นได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจช่วยเหลือหลวงพ่อก่อสร้างโบสถ์ด้วยความสามัคคีด้วยความขยันอดทน การก่อสร้างส่วนใหญ่จึงเป็นการใช้แรงงานชาวบ้าน เยาวชน นักเรียน ร่วมกันสร้างโดยไม่เสียค่าจ้างช่าง ฆราวาสเป็นแรงงาน พระอาจารย์เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง
การก่อสร้างสำเร็จเสร็จสิ้นเรียบร้อยไปด้วยดี เมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๑ ด้วยงบประมาณ ๕ ล้านบาท และตอนหลังได้ก่อสร้างควบคู่ไปกับศาลาโรงฉันซึ่งใช้งบประมาณจำนวน ๓ ล้านบาท รวมงบประมาณในการก่อสร้างทั้งโบสถ์และศาลาโรงฉัน ใช้งบประมาณ ๘ ล้านบาท รวมระยะเวลาในการก่อสร้าง ๘ ปี ๗ เดือน ๑๕ วัน นับเป็นโบสถ์และศาลาโรงฉันที่สร้างด้วยพลังศรัทธา พลังแห่งความสามัคคี ทั้งคนในหมู่บ้านทุกระดับ ทุกเพศ ทุกวัย และญาติธรรมที่อยู่ใกล้ไกลได้มาร่วมเป็นเจ้าภาพ มาร่วมเป็นเจ้าของแห่งมหาบุญอันยิ่งใหญ่นี้
การบริหารการปกครอง

เจ้าอาวาสผู้ปกครองดูแลวัดเท่าที่สามารถสืบค้นหาได้ ดังนี้

  • รูปที่ ๑ หลวงพ่อเลี่ยม ฐิตธมฺโม (พระราชภาวนาวิกรม) พ.ศ. ๒๕๑๒-๒๕๑๓
  • รูปที่ ๒ พระครูโพธิสารคุณวัฒน์ (บุญชู ฐิตคุโณ) พ.ศ. ๒๕๑๓-๒๕๑๔
  • รูปที่ ๓ หลวงพ่อหนูแดง ธมฺมทีโป พ.ศ. ๒๕๑๔-๒๕๑๖
  • รูปที่ ๔ หลวงพ่อประสิทธิ์ จนฺทวํโส พ.ศ. ๒๕๑๗-๒๕๑๘
  • รูปที่ ๕ พระอธิการคำ อนาลโย พ.ศ. ๒๕๑๙-๒๕๔๓
  • รูปที่ ๖ พระครูวิมลธรรมรัตน์ (บุญเสริม ธมฺมปาโล) พ.ศ. ๒๕๔๓-๒๕๕๖
  • รูปที่ ๗ พระปิยะณัฐ ติขิโณ พ.ศ. ๒๕๕๖-๒๕๕๘
  • รูปที่ ๘ พระอธิการมนตรี โชติปญฺโญ พ.ศ. ๒๕๕๘ ถึงปัจจุบัน

ประวัติพระอธิการมนตรี โชติปัญโญ

พระอธิการมนตรี โชติปัญโญ เจ้าอาวาสวัดกัทลิวัน

ประวัติก่อนอุปสมบท
เดิมมีชื่อว่า นายมนตรี ศักดิ์สิงห์ ชื่อเล่น มน
เกิดเมื่อวันที่ ๗ เดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๗
บิดา นายบุญมี ศักดิ์สิงห์ มารดา นางคำปอง คำเพราะ
มีพี่น้อง ๔ คน ชาย ๓ คน หญิง ๑ เป็นบุตรคนที่ ๔
การบรรพชาอุปสมบท
อุปสมบทเมื่ออายุ ๒๐ ปี วันที่ ๕ เดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ วัดน้ำอ้อม ตำบลน้ำอ้อม อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ
  • พระอุปัชฌาย์ พระครูวารีคุณากร
  • พระกรรมวาจาจารย์ พระใบฎีกาชนะ อุตฺตโม
  • พระอนุสาวนาจารย์ พระลัมุห์เกียรติบัตร สุภัทโท

ตำแหน่ง
เจ้าอาวาสวัดกัทลิวัน พ.ศ. ๒๕๕๘-ปัจจุบัน