เมื่อพูดถึงแลนด์มาร์คในจังหวัดเชียงราย ผู้คนส่วนใหญ่คงนึกถึงพิพิธภัณฑ์บ้านดำของอาจารย์ถวัลย์ หรือ วัดร่องขุ่นของอาจารย์เฉลิมชัย แต่เมื่อไม่นานมานี้ได้เกิดสถาปัตยกรรมแห่งใหม่ที่โดดเด่นสะดุดตาคือวัดร่องเสือเต้น

ตั้งอยู่หมู่บ้านร่องเสือเต้น ต.ริมกก อ.เมือง จ.เชียงราย โดยตั้งอยู่ริมแม่น้ำกก ฝั่งด้านซ้ายทางทิศตะวันออกของเทศบาลนครเมืองเชียงราย ไม่ไกลจากตัวเมืองเชียงรายมากนัก ในอดีตสถานที่แห่งนี้เคยเป็นที่ตั้งของวัดร้าง เมื่อ 80-100 ปีก่อน จากคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่เล่าว่า

ในสมัยนั้นยังไม่มีบ้านเรือนและผู้คนอาศัยอยู่มากนัก สัตว์ป่าจึงมีจำนวนมากโดยเฉพาะเสือ ชาวบ้านที่ผ่านแถวนั้นมักชอบเห็นเสือกระโดดข้ามร่องน้ำไปมา จึงเรียกบริเวณนี้ต่อๆกันมาว่า “ร่องเสือเต้น” รวมทั้งได้เรียกหมู่บ้านใกล้เคียงบริเวณนี้ว่า “บ้านร่องเสือเต้น” อีกด้วย วัดร่องเสือเต้นถูกสร้างขึ้นเนื่องจากชาวบ้านร่องเสือเต้นไม่มีที่ทำบุญในหมู่บ้าน เวลาทำบุญในวันสำคัญต้องไปทำบุญที่วัดอื่น ทำให้คนในหมู่บ้านต่างกระจัดกระจายกันไป จึงได้ร่วมกันบูรณะวัดร้างแห่งนี้ เพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านร่องเสือเต้น

และเป็นที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาใน วันสำคัญ จึงสร้างวัดแห่งนี้ขึ้นและให้ชื่อว่า “วัดร่องเสือเต้น” ความโดดเด่นของวันร่องเสือเต้นที่เห็นได้ชัดคือ วิหารวัดร่องเสือเต้น สร้างและออกแบบโดยศิลปินพื้นบ้านชาวเชียงราย นายพุทธา กาบแก้ว หรือที่คนรู้จัดในนาม สล่านก หลังจากที่จบการศึกษาใหม่ๆก็มีโอกาสได้มาเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ในการสร้างวัดร่องขุ่น จนได้ซึมซับศิลปะแนวพุทธศิลป์มาจากอาจารย์เฉลิมชัย เรียกว่า ศิษย์ก้นกุฏิเลยก็ว่าได้ การสร้างวิหารวัดร่องเสือเต้น สร้างขึ้นเมื่อ วันที่ 27 ตุลาคม 2548 โดยมีขนาดกว้าง 13 เมตร ยาว 48 เมตร สร้างเสร็จเมื่อ วันที่ 22 มกราคม 2559 ร่วมใช้เวลาก่อสร้างแล้วเสร็จถึง 11 ปี