วัดเพชรบุรี  ได้เป็นศูนย์รวมใจของพุทธศาสนิกชนชาวตำบลทุ่งมนและตำบลสมุดมานานอย่างน้อย ๒๒๑ กว่าปีแล้ว  ในปี พ.ศ. ๒๓๔๒ ได้รับการอนุญาตให้ตั้งวัดอย่างเป็นทางการ  ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับการประกาศจัดตั้งหมู่บ้านตาปาง  ตำบลทุ่งมน  อำเภอปราสาท  จังหวัดสุรินทร์  อีกด้วย  จึงตั้งข้อสันนิษฐานว่า  “เมื่อหลวงพ่อเพชร  หลวงพ่อแก้ว  นำพาคณะสงฆ์และญาติโยมมาร่วมสร้างวัดใหม่แล้ว  ประชาชนชาวบ้านทุ่งมนที่เคารพศรัทธาเลื่อมใสก็ได้พากันเทครัวอพยพย้ายครัวเรือนมาตั้งถิ่นฐานที่อยู่ใหม่ตรงบริเวณบ้านตาปาง  บ้านตาดอก  บ้านสมุด  เพื่อที่จะได้ร่วมกันทำนุบำรุงอุปถัมภ์ค้ำชูวัดแห่งใหม่นี้ด้วย”  การปกครองท้องที่ของราชการบ้านเมืองนั้น ในปีพุทธศักราช ๒๕๓๐  อยู่ในเขตพื้นที่บ้านตาปาง  หมู่ที่  ๖  ตำบลทุ่งมน  อำเภอปราสาท  จังหวัดสุรินทร์  ต่อมาภายหลังเมื่อมีการแบ่งเขตการปกครองคณะสงฆ์ตำบลทุ่งมนขึ้นมาใหม่   วัดเพชรบุรีจึงถูกเปลี่ยนแปลงจัดให้อยู่ในเขตการปกครองท้องที่บ้านทุ่งมน  หมู่ที่  ๒  ตำบลทุ่งมน  อำเภอปราสาท  จังหวัดสุรินทร์  และในปีพุทธศักราช ๒๕๓๖  ทางหน่วยงานราชการได้แบ่งแยกเขตการปกครองของตำบลทุ่งมนออกเป็น  ๒  ตำบลคือ  ๑. ตำบลทุ่งมน  มี  ๑๑  หมู่บ้าน ๒. ตำบลสมุด  มี  ๘  หมู่บ้าน   วัดเพชรบุรีจึงเป็นส่วนหนึ่งในเขตการปกครองท้องที่ของบ้านทุ่งมนตะวันออก  บ้านเลขที่ ๑๐๖  หมู่ที่  ๑  ตำบลสมุด  อำเภอปราสาท  จังหวัดสุรินทร์  ๓๒๑๔๐

วัดเพชรบุรี  เป็นวัดราษฏร์  สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งวัดเมื่อวันที่ ๖ เดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๓๔๒  ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่  ๒๗  เดือนพฤศจิกายน  พ.ศ. ๒๓๗๑ เขตวิสุงคามสีมา กว้าง  ๘  เมตร  ยาว  ๑๖  เมตร  เดิมชาวบ้านนิยมเรียกว่า “วัดทุ่งมนตะวันออก” โดยตั้งแต่แรกบุกเบิกสร้างวัดนั้นที่ดินตรงนี้เป็นที่ดินป่าไม้รกทึบ  ภายหลังมีนายกฤษ – นางอี แก้วแบน, นายแก้ว – นางกลัด  ลับแล,
นายบูรณ์  ศรีราม, นายมี –นางมิ่ง  จงมีเสร็จ, นายกอง  จงมีเสร็จ (พี่ชายหลวงพ่อแก้ว) และพุทธศาสนิกชนประชาชนชาวบ้านร่วมกันมอบถวายหนังสือเอกสารที่ดินให้วัดเมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๕ และได้อาราธนานิมนต์พระเดชพระคุณหลวงปู่เพชร  พำนักจำพรรษาเป็นเจ้าอาวาสวัดรูปแรกด้วย  ภายหลังจากหลวงปู่เพชรมรณภาพแล้ว  หลวงปู่แก้วก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสรูปใหม่และเจ้าเมืองสุรินทร์ในสมัยนั้นได้ออกว่าราชการตรวจเยี่ยมวัดพอดี  เจ้าเมืองสุรินทร์รับทราบว่า “วัดแห่งนี้หลวงปู่เพชรเป็นผู้นำพาคณะสงฆ์และประชาชนบุกเบิกสร้างวัดมาโดยตลอด”  เจ้าเมืองสุรินทร์จึงได้ ขอเทิดทูนเกียรติคุณของหลวงปู่เพชรและตั้งชื่อวัดทุ่งมนตะวันออกใหม่ว่า  “วัดเพชรบุรี” 

        หลวงปู่แก้ว เจ้าอาวาสวัดเพชรบุรีรูปที่ ๒ ได้สั่งสอนคณะสงฆ์และนำพาญาติโยม  ศึกษาธรรม  ปฏิบัติธรรมกัมมัฏฐาน  ด้วยความวิริยะอุตสาหะอย่างยิ่ง  จนเป็นที่ประจักษ์ตาต่อเจ้าคณะผู้ปกครองคณะสงฆ์ในยุคนั้น จึงได้ออกประกาศแต่งตั้งให้หลวงปู่แก้วเป็นอุปัชฌายะ  มีตำแหน่งหน้าที่เป็นประธานในการให้บรรพชาอุปสมบทให้แก่กุลบุตร ได้สั่งสอนกุลบุตรให้เว้นกิจควรเว้น ประพฤติกิจควรประพฤติ  ในหลักธรรมแห่งพระพุทธศาสนาตลอดไป  พุทธศาสนิกชนศิษยานุศิษย์จึงเรียกหลวงปู่แก้วอย่างเป็นทางการว่า  “หลวงปู่พระอุปัชฌาย์แก้ว”

ภายหลังจากที่หลวงปู่พระอุปัชฌาย์แก้วมรณภาพแล้ว ได้มีบูรพาจารย์หลายรูปคือ  หลวงปู่วาง  หลวงปู่วอน  หลวงปู่เสาร์  หลวงปู่ลาน ครองวัดดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสตามลำดับมาบางรูปก็มรณภาพ  บางรูปก็ลาสิขาบท  บางรูปก็อยู่ครองวัดนานหลายปีพรรษา จวบจนมาถึงยุคสมัยของพระครูอนุรักษ์สัจธรรม (หลวงปู่จริง สุวณฺณโชโต) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดเพชรบุรี  ท่านได้ช่วยเหลือชุมชนสังคมประเทศชาติเป็นที่เคารพศรัทธาเลื่อมใสมากมาย จึงได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าคณะตำบลทุ่งมน  ปกครองคณะสงฆ์ทั้งตำบลทุ่งมน และในฐานะเจ้าอาวาสผู้ปกครองวัดเพชรบุรีได้ดำรินำพาคณะพระภิกษุสงฆ์ที่บวชอยู่ด้วยกันในยุคนั้น พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์บอกบุญญาติโยมให้พุทธศาสนิกชนทุกท่านร่วมสร้างกุฎิสงฆ์ด้วยไม้หลังใหญ่ ๒ ชั้น จำนวน ๑๒  ห้อง สร้างเสร็จเมื่อ  พ.ศ. ๒๔๙๒  (มีสลักปีที่สร้างเสร็จไว้ที่หน้าบันของกุฎิ) และในปีเดียวกันนั้น วันที่ ๑๖ เดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๒  สังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง ได้ออกหนังสือแต่งตั้งให้  เจ้าอธิการจริง สุวณฺณโชโต  วัดเพชรบุรี ตำบลทุ่งมน อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์  เป็นอุปัชฌายะในเขตตำบลทุ่งมน  มีตำแหน่งหน้าที่เป็นประธานในการให้บรรพชาอุปสมบท  ตามบทบัญญัติแห่งสังฆาณัติระเบียบพระอุปัชฌายะ  พุทธศักราช  ๒๔๘๗ หลวงปู่จริง สุวณฺณโชโต ได้นำพาศิษยานุศิษย์ทั่วทุกสารทิศ ร่วมสร้างสาธารณูปการต่าง ๆ เช่นสร้างโรงเรียน  โรงพยาบาท และอื่น ๆ อีกมากมายตลอดชีวิตของท่าน และเมื่อวันที่ ๒๗ เดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๑๕  หลวงปู่จริงได้มรณภาพลงด้วยโรคชราอย่างสงบ 

หลังจากหลวงปู่จริงได้มรณภาพแล้ว คณะสงฆ์วัดเพชรบุรีและญาติโยมพุทธศาสนิกชน นำโดย นายบรัน บานบัว  กำนันตำบลทุ่งมน ได้อาราธนานิมนต์พระครูประสาทพรหมคุณ (หลวงปู่หงษ์  พรหมปัญโญ)  มาพำนักจำพรรษาเป็นเจ้าอาวาสวัดเพชรบุรีสืบต่อไปจนท่านมรณภาพละสังขาร เมื่อวันที่ ๕ เดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ และในยุคสมัยของหลวงปู่หงษ์  พรหมปัญโญ  ถือได้ว่าเป็นยุคที่รุ่งเรืองมาก  หลวงปู่หงษ์ท่านสร้างชื่อเสียงให้วัดเพชรบุรีได้เป็นที่รู้จักของพุทธศาสนิกชนทั่วโลก โดยเฉพาะเรื่องที่หลวงปู่หงษ์ได้นำพาให้ทุกคนอนุรักษ์ป่าไม้หลายพันไร่  ขุดสระเป็นแหล่งกักเก็บน้ำ สร้างฝายกั้นน้ำเอาไว้ใช้ในหน้าแล้ง  จนได้รับพระราชทานธง “พิทักษ์ป่า  เพื่อรักษาชีวิต” สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง  เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๐ และสุดท้ายของชีวิตหลวงปู่หงส์ ก่อนมรณภาพหลายปีได้มีการเขียนบันทึกข้อความพินัยกรรมไว้ว่า  ขอให้ศิษยานุศิษย์บรรจุสังขารของหลวงปู่ไว้ในโลงแก้วให้ ศิษยานุศิษย์ได้กราบสักการะบูชาตลอดไป

ลำดับเจ้าอาวาสตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ลำดับที่ 1 หลวงปู่เพชร        ผู้นำพาคณะสงฆ์และพุทธศาสนิกชนสร้างวัดเพชรบุรี  ตั้งแต่ต้น
ยุครัตนโกสินทร์  รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

ลำดับที่ 2 หลวงปู่แก้ว  ผู้ได้ร่วมสร้างวัดเพชรบุรีในยุคสมัยของหลวงพ่อเพชรด้วย

ลำดับที่ 3 หลวงปู่วาง          

ลำดับที่ 4 หลวงปู่วอน         

ลำดับที่ 5 หลวงปู่เสาร์        

ลำดับที่ 6 หลวงปู่ลาน  สมใจหวัง

ลำดับที่ 7 พระครูอนุรักษ์สัจธรรม (หลวงปู่จริง  สุวณฺณโชโต)  

ลำดับที่ 8 พระครูประสาทพรหมคุณ (หลวงปู่หงษ์  พฺรหฺมปญฺโญ)     

ลำดับที่ 9 พระเอกลักษณ์ สุจิณฺโณ ปกครองวัดตั้งแต่วันที่ ๓๑  มีนาคม  ๒๕๖๑   ถึงปัจจุบัน