ตั้งอยู่ที่บ้านภูมินทร์ อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน ใกล้กับพิพิธภัณฑสถาน-แห่งชาติน่าน เดิมชื่อ “วัดพรหมมินทร์” เป็นวัดที่แปลกกว่าวัดอื่น ๆ คือ โบสถ์และวิหารสร้างเป็นอาคารหลังเดียวกันประตูไม้ทั้งสี่ทิศ แกะสลักลวดลายโดยช่างฝีมือล้านนาสวยงามมาก นอกจากนี้ฝาผนังยังแสดงถึงชีวิตและ วัฒนธรรมของยุคสมัยที่ผ่านมาตามพงศาวดารของเมืองน่าน วัดภูมินทร์สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2139 โดยพระเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์ เจ้าผู้ครอง เมืองน่านได้สร้างขึ้นหลังจากที่ครองนครน่านได้ 6 ปี มีปรากฏในคัมภีร์เมือง เหนือว่าเดิมชื่อ “วัดพรหมมินทร์” ซึ่งเป็นชื่อของเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์ ผู้สร้างวัด แต่ตอนหลังชื่อวัดได้เพี้ยนไปจากเดิมเป็น วัดภูมินทร์

สิ่งที่น่าสนใจของวัดภูมินทร์

1. พระอุโบสถจตุรมุข
ความสวยแปลกของวัดภูมินทร์ที่ไม่เหมือนใคร และไม่มีใครเหมือน เป็นหนึ่งเดียวในประเทศไทยก็คือ เป็นพระอุโบสถทรงจตุรมุข พระประธานจตุรพักตร์ นาคสะดุ้งขนาดใหญ่แห่แหนพระอุโบสถเทินไว้กลางลำตัวนาค พระอุโบสถจตุรมุขนี้กรมศิลปกรได้สันนิษฐานว่า เป็นพระอุโบสถจตุรมุขหลังแรกของ ประเทศไทยพระอุโบสถ ตรงใจกลางประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่ 4 องค์ หันพระพักตร์ออก ด้านประตูทั้งสี่ทิศ หันเบื้องพระปฤษฏางค์ ชนกันประทับ นั่งบนฐานชุกชี เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ผู้ที่ไปชมความงามของ พระอุโบสถนี้ไม่ว่าจะเดินขึ้นบันไดทิศใด จะพบพระพักตร์ของพระพุทธรูปทุกด้าน

2. ภาพจิตรกรรมฝาผนัง
วัดภูมินทร์ได้รับการบูรณะครั้งใหญ่สมัยเจ้าอนันตวรฤทธิเดช เมื่อ พ.ศ.2410 (ปลายสมัยรัชกาลที่ 4) ใช้เวลาซ่อม นานถึง 7 ปี จิตรกรรมฝาผนังในวิหาร หลวงเขียนขึ้นในช่วงนี้ ภาพจิตรกรรมหรือ “ฮูบแต้ม” ในวัดภูมินทร์เป็นชาดกในพุทธศาสนา แต่ถ้าพิจารณารายละเอียดของวิถีชีวิตของคนเมืองในสมัยนั้น มีภาพที่น่าสนใจอยู่หลายภาพ ภาพเด่น คือ ภาพปู่ม่านย่าม่าน ซึ่งเป็นคำเรียกผู้ชายผู้หญิงชาวไทลื้อในสมัยโบราณกระซิบสนทนากัน ผู้ชายสักหมึก ผู้หญิงแต่งกายไทลื้ออย่างเต็มยศ ภาพวาดของหนุ่มสาวคู่นี้มีความประณีตมาก ภาพนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นภาพที่งามเป็นเยี่ยมของวัดภูมินทร์

ภาพธรรมเนียมการอยู่ข่วง ของชาวไทลื้อ พ่อแม่จะอนุญาตให้หนุ่มสาวพบปะกันที่ชานบ้านในเวลาค่ำ ขณะหญิงสาวกำลังปั่นฝ้าย หรือ “อยู่ข่วง” หากสาวเจ้า ตกลงปลงใจด้วยก็จะจัดพิธีแต่งงาน หรือที่เรียกว่า “เอาคำไป ป่องกั๋น” หรือเป็นทองแผ่นเดียวกัน การค้าขาย แลกเปลี่ยนในชุมชน ภาพชาวพื้นเมือง ซึ่งอาจเป็นชาวเขา “เป๊อะ” ของป่าบนศรีษะเพื่อนำมาแลกเปลี่ยนกับคน ชีวิตความเป็นอยู่ของคนเมืองน่าน หญิงสาวกำลังทอผ้าด้วยกี่พื้น เมือง นอกชานมีเรือนเล็กๆ ตั้งหม้อน้ำดินเผาที่เรียกว่า “ร้านน้ำ”ส่วนชายหนุ่มไว้ผมทรงหลักแจว หรือ ทรงมหาดไทย แสดงให้เห็นอิทธิพลตะวันตกที่เข้ามา ผสมผสานในวิถีพื้นเมืองน่าน ภาพชาวต่างประเทศ ที่เข้ามาเมืองน่าน ช่วงรัชกาลที่ 5 ทรงผม และเครื่องแต่งกายของผู้หญิงเป็นรูปแบบดียวกับที่กำลัง เป็นที่นิยมในยุโรปขณะนั้น นอกจากนี้เป็นภาพจิตรกรรม ฝาผนังเรื่องราวของพุทธประวัติคันธกุมารและเนมีราชชาดก มีสิ่งที่น่าตื่นเต้น เประทับ ใจที่สุดคือ ภาพบุคคลขนาดใหญ่เท่าตัวคน ที่อาจมีชีวิตอยู่จริงในเวลานั้นความใหญ่โตมโหฬารของภาพบุคคล 6 ภาพ มิใช่จะทำให้คนชมต้องตะลึงเท่านั้น หากภาพวาดมีความงดงามมากเพราะบรรยายถึงอาภรณ์ การแต่งกาย ของหญิงชาย โดยเฉพาะสามารถถ่ายทอดอารมณชีวิตชีวาและแสดงถึงลีลาอัน อ่อนช้อยได้เป็นอย่างดีภาพเหล่า นี้ส่วนมากเขียนอยู่บนบานประตู ซึ่งเมื่อเปิดประตูออก บานประตูจะบังภาพไปบางส่วน

3. สถูปเจดีย์พระมาลัยโปรดโลก
ภายในก็จะเป็นรูปปั้นจำลองนรกสำหรับคนที่ทำบาปว่าจะได้รับผลกรรมเช่นไร เพื่อเป็นการย้ำเตือนใจ

ที่อยู่ :ถนนสุริยพงษ์ ตำบลในเวียง อำเภอเมือง จังหวัดน่าน 55000
เบอร์โทรศัพท์ :054-521127, 054-771-897

การเดินทางไปวัดภูมินทร์

ใช้ทางหลวงหมายเลข 1091 เข้าสู่ตัวเมืองน่าน วิ่งบนถนนสุริยพงษ์เรื่อยมาจนเจอสี่แยกถนนสุริยพงษ์ตัดกับถนนผากอง จะเห็นวัดภูมินทร์อยู่ทางขวามือติดกับข่วงเมือง