วัดบักดอง

ตำบลบักดอง อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ

Wat Bak Dong

Bak Dong Subdistrict, Khun Han District,
Sisaket Province

พระประธานประจำอุโบสถ
แบบจำลองวิหารหลวงพ่อพระเงิน

ประวัติวัดบักดอง

     วัดบักดอง ก่อตั้งขึ้นเมื่อประมาณปีพุทธศักราช ๒๔๑๑ ชื่อ "วัดกันทราวาส" และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๒ หลังจากนั้น เมื่อพระครูวีรปัญญาภรณ์ ได้มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสและเจ้าคณะตำบลบักดอง
เห็นว่าอุโบสถมีความชำรุดทรุดโทรมมากแล้ว ใช้ประกอบสังฆกรรมไม่ได้ เกรงจะเกิดอันตราย ได้รื้ออุโบสถหลังเก่าและได้มีการสวดถอนเขตวิสุงคามสีมา สร้างอุโบสถหลังใหม่และได้ขอพระราชทานเขตวิสุงคามสีมาใหม่ ได้รับเขตวิสุงคามสีมาอีกครั้ง เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๑

พื้นที่วัด
วัดบักดอง ตั้งอยู่ที่บ้านบักดอง หมู่ที่ ๓ ตำบลบักดอง อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ มีพื้นที่ ๑๓ ไร่ ๓ งาน ๔๓ ตารางวา มีพื้นที่ติดกับพื้นที่ต่าง ๆ ดังนี้
– ทิศตะวันออก มีพื้นติดกับถนนหลวง
– ทิศใต้ มีพื้นที่ติดกับถนนสาธารณะ
– ทิศตะวันตก มีพื้นที่ติดกับที่ชาวบ้านบักดองหมู่ที่ ๓
– ทิศเหนือ มีพื้นที่ติดกับที่ชาวบ้านบักดองหมู่ที่ ๓

การบริหารการปกครอง

ตั้งแต่ก่อตั้งวัดมาในปี พ.ศ. ๒๔๑๑ ไม่ปรากฏปีที่ดำรงตำแหน่งของเจ้าอาวาส แต่ปรากฏชื่อพระสงฆ์ทั้งที่เป็นเจ้าอาวาสและที่มา
จำพรรษาตามลำดับ ดังนี้
๑. หลวงพ่อนาค ไม่ปรากฏปี
๒. หลวงพ่อวัน ไม่ปรากฏปี
๓. หลวงพ่ออุด ไม่ปรากฏปี
๔. หลวงพ่อพัฒน์ อนาลโย ไม่ปรากฏปี
๕. หลวงพ่อผาง ก่อนที่จะไปสร้างวัดหลักหิน
๖. หลวงพ่อมา ไม่ปรากฏปี
๗. หลวงพ่อปุด (จากวัดหลักหิน) ประมาณ พ.ศ. ๒๕๑๖
๗. หลวงพ่อเยียน ไม่ปรากฏปี
๙. พระเมิง ไม่ปรากฏปี
๑๐. พระสมุทร ไม่ปรากฏปี
๑๑. พระสำเริง พานจันทร์ ไม่ปรากฏปี
๑๒. พระทิม จากวัดสำโรงเกียรติ
๑๓. พระบาง (จากบ้านโคกท่อน) ไม่ปรากฏปี
๑๔. พระครูวีรปัญญาภรณ์ (มี วีรปัญโญ) พ.ศ. ๒๕๑๙ – ๒๕๔๖
๑๕. พระอธิการปัญญา ปัญญาวุฑโฒ พ.ศ. ๒๕๔๗ – ๒๕๕๒
๑๖. พระมหายุทธกิจ ปัญญาวุโธ พ.ศ. ๒๕๕๓ ถึงปัจจุบัน

อาคารเสนาสนะ

  • อุโบสถ
  • ศาลาการเปรียญ
  • ศาลาหอฉัน
  • กุฏิสงฆ์
  • ฌาปนสถานและศาลาพักศพอย่างละ ๑ หลัง
  • ซุ้มประตู ๒ ด้าน (ทิศตะวันออกและทิศเหนือ)
  • ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนเกณฑ์

ประวัติหลวงพ่อพระเงิน


พ.ศ. ๒๔๔๔ – ๒๔๔๕ ในยุคปฏิรูปการปกครอง (ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์) ท้าวบุญจันทร์ น้องชายพระยาขุขันธ์ ร่วมมือกับท้าวทัน บุตรพระยาขุขันธ์ และหลวงรัตนกรมการเมืองที่หมดอำนาจ หนีไปตั้งตัวเป็นผู้มีบุญอยู่ที่สันเขาบรรทัดเขตเมืองขุขันธ์ (บริเวณที่เป็นอาณาเขตเมืองกันทรารักษ์หรือบ้านบักดองในปัจจุบัน) ราษฎรเข้าเป็นพรรคพวกจำนวนมากประมาณ ๖,๐๐๐ คน พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ได้โปรดให้ร้อยโทหวั่น ร้อยตรีเจริญ ร้อยตรีอินไปตรวจเมืองขุขันธ์และนำกำลังไปจับท้าวบุญจันทร์ ร้อยโทหวั่นได้ร่วมกับกรมการเมืองขุขันธ์นำกำลังไปจับท้าวบุญจันทร์ ปะทะกันถึงขั้นตะลุมบอนกับกองระวังหน้าของท้าวบุญจันทร์ เมื่อวันที่ ๑๑ และ ๑๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๔ ยังผลให้ท้าวบุญจันทร์ตายในที่รบ ณ บริเวณพนมปีกา (ซำปีกา) กำลังของท้าวบุญจันทร์เป็นเพียงชาวบ้านที่ไม่ได้รับการฝึกแบบทหาร อาวุธก็ไม่มี จึงพ่ายแพ้แตกหนีไปโดยง่าย กำลังของร้อยโทหวั่นได้ตรวจตราตลอดท้องที่เมืองขุขันธ์ เมืองศรีสะเกษ ก็ไม่พบว่ามีผู้มีบุญอีก เหตุการณ์ก็สงบเรียบร้อย

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ทรงวิตกในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้มีสารตราพระราชสีห์ใหญ่ที่ ๔๕/๑๒๖๑๔ ลงวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๔๔๔ ให้มีพระยาศักดาภิเดชวรฤทธิ์ ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลบูรพาส่งข้าหลวงไปตรวจตราเมืองขุขันธ์ และช่วยราชการทางเมืองขุขันธ์ด้วย

ในเหตุการณ์ที่ปราบกบฏท้าวบุญจันทร์ในครั้งนั้น กลุ่มชนที่กระจัดกระจายเกิดความไม่พอใจ นำโดยนายสิงโต สอดแก้ว นำผู้คนไปเผาเมืองพระกันทรลักษณ์ และบ้านยายยู (นางทองอยู่ เจริญศรีเมือง) เป็นเมียพระกันทรลักษณ์บาล (อ่อน)
ซึ่งเป็นที่เก็บทรัพย์สมบัติ เช่น เงินกำไล เครื่องประดับต่าง ๆ เป็นต้น เงินที่เสียหาย จาการเผาเมืองในครั้งนั้น ยายยูจึงนำมาหล่อเป็นหลวงพ่อพระเงิน และสมัยต่อมาได้ยุบเมืองกันทรลักษณ์ ให้ขึ้นตรงต่อเมืองขุขันธ์ ต่อมาเรียกว่า ตำบลบักดอง
หลวงพ่อพระเงินเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หล่อด้วยเงินแท้ที่ได้รับความเสียหายจากการเผาเมืองในครั้งนั้น น้ำหนัก ๔๒.๙ กิโลกรัม หน้าตักกว้าง ๑๗ นิ้ว สูง ๓๖ นิ้ว เป็นพระพุทธรูปที่มีความงดงาม เป็นที่เคารพสักการะของชาวบ้านบักดอง สันนิษฐานว่าน่าจะมีอายุประมาณกว่า ๑๐๐ ปี ปัจจุบันประดิษฐานที่วัดบักดอง ตำบลบักดอง อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ

พระมหายุทธกิจ ปญฺญาวุโธ น.ธ.เอก ป.ธ. ๙ ปริญญาโท
เจ้าอาวาสวัดบักดอง รองเจ้าคณะอำเภอขุนหาญ

ประวัติพระมหายุทธกิจ ปญฺญาวุโธ

พระมหายุทธกิจ ฉายา ปญฺญาวุโธ วิทยฐานะ ป.ธ. ๙
วัดศรีโสดา ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
นักธรรมชั้นเอก วัดบางไผ่ ตำบลบางรักพัฒนา
อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี

สถานะเดิม
ชื่อ ยุทธกิจ นามสกุล นามชื่น
เกิดวันที่ ๕ เดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๑๖ ปีฉลู
บิดา นายทพย์ นามชื่น มารดา นางแหวน นามชื่น
บ้านเลขที่ ๑๘๒ หมู่ที่ ๗ ตำบลพราน อำเภอขุนหาญ
จังหวัดศรีสะเกษ


การบรรพชาอุปสมบท

การบรรพชาสามเณร
วันที่ ๒๙ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๕ วัดทุ่งเลน ตำบลพราน อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ
– พระอุปัชฌาย์ เจ้าอธิการวัชรินทร์ อธิปญฺโญ วัดกันจด ตำบลกระหวัน อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ

การอุปสมบท

วันที่ ๑๓ เดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๘ วัดทุ่งเลน ตำบลพราน อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ
– พระอุปัชฌาย์ พระครูปัญญาวัชรคุณ วัดกันจด ตำบลกระหวัน อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ
– พระกรรมวาจาจารย์ พระอธิการโน็ว นรินฺโท วัดม่วงแยก ตำบลพราน อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ
– พระอนุสาวนาจารย์ พระอธิการพยนต์ ปภสฺสโร วัดทุ่งเลน ตำบลพราน อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ


วิทยฐานะ

  • พ.ศ. ๒๕๒๙ จบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ โรงเรียนบ้านทุ่งเลน ตำบลพราน อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ
  • พ.ศ. ๒๕๓๘ สอบผ่านนักธรรมชั้นเอก สำนักศาสนศึกษา วัดบางไผ่ ตำบลบางรักพัฒนา อำเภอบางบัวทอง
    จังหวัดนนทบุรี สำนักเรียนคณะจังหวัดนนทบุรี
  • พ.ศ. ๒๕๕๐ สอบผ่านประโยค ป.ธ. ๙ สำนักศาสนศึกษาวัดศรีโสดา ตำบลสุทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
    การศึกพาพิเศษ
  • พ.ศ. ๒๕๔๓ จบพุทธศาสตรบัณฑิด(พธ.บ) (การสอนภาษาไทย) มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
  • พ.ศ. ๒๕๕๑ จบศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการสอนภาษาไทย คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
    ความชำนาญการ ใช้คอมพิวเตอร์ และการเทศนา

งานปกครอง
พ.ศ. ๒๕๕๓ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดบักดอง ตามตราตั้งที่ ๓๗/๒๕๕๓

ภาพในอดีตวัดบักดอง