ประวัติวัดโพธิ์ย่อย บ้านยางเมื่อกรุงศรีอยุธยาแตกครั้งสุดท้ายบ้านเมืองถูกพม่าทำลาย ถูกไฟไหม้เกือบไม่มีอะไรเหลือจะเหลือบางส่วนมีวัดหนึ่งไม่ทราบว่าเป็นวัดใดอยู่ในเมืองหลวงเหลืออยู่เพียงกุฏิสงฆ์มีห้องเก็บของเหลืออยู่และในห้องนั้นมีตู้คล้ายกลองปิดไว้มิดชิดแต่มีตัวอักษรเขียนไว้สองตัวคือ ตัว ก และ ถ ทางราชการสมัยฟื้นฟูเมืองไม่ทราบความหมายจึงได้นิมนต์พระสงฆ์ที่มีความรู้ความสามารถให้แปลไขอักษรปริศนาดังกล่าวแต่ไม่มีท่านใดแปลได้ต่อมามีพระธุดงค์มาจากภาคอีสานทราบว่ามาจากอุบลราชธานีซึ่งเป็นพระสงฆ์ที่มีความสามารถทางอาคมท่านสามารถแปลไขปริศนาได้ความว่า ก,ถ คือให้กระถุ้งหรือทุบตู้นั้นจึงกระถุ้งออกภายในตู้นั้นมีสิ่งสำคัญมากมายและมีข้อความสั้น ๆ เขียนไว้ว่า “บ้านยางเพียขัน วัดโพธิ์ย่อย” จึงได้พบคำว่า บ้านยาง วัดโพธิ์ย่อย ตั้งแต่สมัยนั้น ทางราชการจึงให้สืบหาดูว่าบ้านนี้อยู่ที่ใด วัดโพธิ์ย่อย บ้านยาง เป็นวัดราษฎร์และเป็นวัดโบราณไม่ปรากฏนามผู้สร้างแน่นอนที่ชัดเจนแต่สันนิษฐานตามประวัติบ้านยางน่าจะเป็นวัดที่ประชาชนที่มาตั้งหมู่บ้านยุคแรกซึ่งนำโดย ท้าวเพียขัน ซึ่งชาวบ้านยางเชื่อว่า ท่านบรรพชนคนแรกของบ้านยางได้นำประชาชนร่วมกันสร้างขึ้นประมาณพุทธศักราช ๒๒๕๒ – ๒๓๐๑ และสร้างในสมัยเดียวกันกับหมู่บ้าน โดยให้ชื่อว่า วัดโพธิ์ย่อย”ตามลักษณะพื้นที่ ที่มีต้นโพธิ์ขึ้นอยู่กระจายทั่วบริเวณวัด และบริเวณใกล้เคียง ตามหลักฐานที่ปรากฏในกองพุทธศาสนาสถานสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาตินั้น วัดโพธิ์ย่อย ได้รับการประกาศตั้งวัดที่ปรากฏในเอกสารทางราชการเมื่อพุทธศักราช ๒๓๐๑ ในสมัยราชวงษ์บ้านพลูหลวงแห่งกรุงศรีอยุธยาและในปี พ.ศ. ๒๓๐๑ นี้เป็นช่วงระยะเวลาที่คาบเกี่ยวกับการเปลี่ยนการเสวยราชสมบัติแห่งพระมหากษัตริย์ถึง ๓ พระองค์ คือ -สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เสด็จสวรรคตในวันแรม ๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีขาล สัมฤทธิ์ศก พุทธศักราช ๒๓๐๑ -สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอุทุมพร (กรมขุนพรพินิต หรือขุนหลวงหาวัด) ขึ้นครองราชย์แทน แต่ครองราชย์ได้เพียงเดือนเศษ ก็สละราชสมบัติออกผนวช ในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๗ ปีเดียวกัน มอบถวายราชสมบัติแก่กรมขุนอนุรักษ์มนตรี พระเจ้าเอกทัศน์ในเดือน ๘-สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยาอมรินทร์ (ที่รู้จักในพระนามว่าพระเจ้าเอกทัศน์) ครองราชย์ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๐๑ – ๒๓๑๐ รวม ๑๐ ปีและนับเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์สุดท้ายของสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นที่น่าอัศจรรย์ แปลกประหลาดเป็นอย่างยิ่ง วัดโพธิ์ย่อยบ้านยางได้รับการประกาศตั้งวัดในรัชสมัยของพระมหากษัตริย์พระองค์ใดกันแน่ และมีประกาศตั้งได้อย่างไรทั้งที่หลวงขณะนั้นมีความวุ่นวายเป็นอย่างยิ่ง เพราะตามเหตุผลทางประวัติศาสตร์แล้ว บริเวณชุมชนบ้านยางนั้นเป็นเมืองขึ้นกับทางเมืองนางรอง หรือขึ้นตรงกับราชวงศ์ล้านช้าง ซึ่งมีเมืองจำปาศักดิ์เป็นเมืองหลวง และหลักฐานทางประวัติศาสตร์นั้น จำปาศักดิ์เป็นหัวเมืองของอยุธยาอีกทอดหนึ่ง แต่ถึงอย่างไร วัดโพธิ์ย่อยมีหลักฐานตั้งวัดในพุทธศักราช ๒๓๐๑ อย่างแน่นอน และเมื่อนับมาถึงปี พ.ศ.๒๕๕๒ ก็เป็นเวลา ๒๕๒ ปีในเอกสารหลักฐานที่ปรากฏในกองพุทธสถาน ฯ เช่นเดียวกัน แสดงไว้ว่าวัดโพธิ์ย่อยได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา (อนุญาตให้สร้างอุโบสถ)ในปีพุทธศักราช ๒๓๑๐ และเป็นปีที่กรุงศรีอยุธาถูกพม่าตีแตก จนเสียกรุงแก่กษัตริย์พม่าและไม่มีพระมหากษัตริย์ ปกครอง แต่วัดโพธิ์ย่อยก็มีการได้รับประกาศพระราชทานวิสุงคามสีมาในปีนี้ตามหลักฐานที่ปรากฏนี้ วัดนี้คงไม่ได้สร้างเสร็จลงเพียงปีเดียว จะต้องมีการสร้างมาก่อนหน้านั้นอย่างแน่นอน อาจารย์วินิจ มะลิสุวรรณ ครูโรงเรียนบ้านยาง คุรุราษฎร์รังสรรค์ ผู้ทำการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับชุมชนบ้านยางอย่างจริงจัง เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๒ ลงความเห็นว่า บ้านยาง “น่าจะเกิด (ตั้ง) ขึ้นเมื่อพ.ศ. ๒๒๕๒ หรือประมาณ ๒๘๒ ปีมาแล้ว (พ.ศ. ๒๕๓๒ ปีที่ศึกษา) โดยพ่อเพียขัน บรรพชนของชาวบ้านยาง ได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณชุมชนบ้านใต้” อ้างในเอกสาร ชุมชนบ้านยาง ของ อาจารย์วินิจ มะลิสุวรรณ วัดโพธิ์ย่อย ก็น่าจะเริ่มสร้างมาก่อนตั้งวัด ประมาณ ๕๒ ปี จึงได้ขออนุญาตทางราชการตั้งวัดขึ้น ในปี พ.ศ. ๒๓๐๑ ถ้านับตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๓๐๑ มาถึง พ.ศ.๒๕๕๒ ก็เป็นจำนวน ๒๕๒ ปีเมื่อท้าวเพียขันได้ตกลงที่จะตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านยาง ประกอบกับท่านมีพระถึงสามรูปติดตามมาด้วย จึงเลือกเอาบริเวณป่าต้นโพธิ์ซึ่งอยู่ติดกับที่ตั้งหมู่บ้านเป็นที่สร้างวัด และให้พระทั้งสามรูปอยู่ประจำ หรือไม่ก็พระสงฆ์ที่มากับท่านเป็นผู้สร้างเอง เดิมคงไม่มีเสนาสนะอะไรมากนักคงมีเพียงกุฏิสงฆ์แต่ที่เป็นโบราณสถานวัตถุที่นับว่าเก่าแก่ที่สุดในวัดคือ พระพุทธรูปปางมารวิชัยไม่ทราบชัดว่าสร้างสมัยวัดหรือสร้างมาก่อน เป็นพุทธศิลปะที่ไม่ประณีตนัก ลักษณะร่างกายกำยำ เตี้ยล่ำน่าเกรงขามยิ่งนัก ไม่มีลวดลาย เป็นพระพุทธรูปถือปูนปั้น และมีพระพุทธรูปเล็ก ๆ ทำจากไม้บ้าง เขาควายบ้าง จำนวนหนึ่งเป็นบริวาร ชาวบ้านเรียกพระพุทธประธานในพระอุโบสถว่า “หลวงพ่อใหญ่” เรียกพระพุทธรูปเล็กว่า “พระน้อย” แต่พระพุทธรูปทั้งหมดนี้ เป็นศิลปะสมัยอยุธยาผสมศิลปะลาวหรือลานช้าง เมืองจำปาศักดิ์ เพราะได้มีผู้บ้านยางเคยไปประเทศลาว และได้เห็นพระพุทธรูปลาวแล้ว มีลักษณะเหมือนกันและก็มีพระพุทธรูปในลักษณะนี้อยู่หลายวัดในจังหวัดบุรีรัมย์ และที่ประเทศลาวเมื่อกล่าวถึงวัดโพธิ์ย่อย ต้องกล่าววัดที่แตกสาขาออกไปอีก คือ วัดใน คือวัดโพธิ์ย่อยในปัจจุบัน, วัดนอก คือบริเวณสนามโรงเรียนบ้านยางฯ ในปัจจุบัน แต่เดิมมีต้นโพธิ์ ต้นไทร และต้นมะม่วงใหญ่ขึ้นหนาแน่นมาก น่าเกรงขาม ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้สร้างวัดนี้ และสูญหายไป เพราะสาเหตุใด อีกแห่งหนึ่งคือ วัดกอก ปัจจุบันอยู่ด้านทิศตะวันออกของหมู่บ้าน มีต้นตาลขึ้นอยู่ทั่ว และมีอายุหลายร้อยปี (บริเวณสระวัดกอก ปัจจุบันอยู่หมู่ที่ ๗ บ้านยาง ) มีความเป็นมา คือ หลวงพ่อหงส์หรืออุปัชฌาย์หงส์ ซึ่งตามประวัติเป็นพระลูกชายพ่อเพียขัน ท่านประสงค์ที่หล่อฆ้อง จึงหาที่สงบและเหมาะสมแก่การหล่อ ครั้งแรกได้ไปพำนักที่ตะวันตกวัด (ปัจจุบันชาวบ้านเรียกหลุบดิน) แต่ขณะทำพิธีได้มีฝูงควายชาวบ้านวิ่งเข้ามาทำลายพิธี จึงหล่อฆ้องไม่สำเร็จ ท่านจึงหาที่ใหม่ ก็ได้ไปที่วัดกอกนี้ และวัดเหล่านี้น่าจะเป็นเพียงที่พักสงฆ์ชั่วคราว แต่เพราะหลวงพ่อหงส์หล่อฆ้องอยู่นานอยู่พักฉันข้าว จำวัดเรื่อยมา จึงเรียกว่าวัดไปโดยปริยาย และท่านได้มรณภาพที่วัดนี้ เหตุนี้วัดกอกจึงได้ถูกยุบไปรวมกับวัดใน หรือวัดโพธิ์ย่อยตามเดิมเรียบเรียง จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าในหมู่บ้านโดย พระศรีปริยัติธาดา (ทองสา ฐานิสฺสโร)เข้าถึงแล้ว 10 คน