วัดพระธาตุพนม วรมหาวิหาร 
ตำบลธาตุพนม อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม
Wat Phra That Phanom Woramahawihan
That Phanom Subdistrict, That Phanom District, Nakhon Phanom Province

ความเป็นมา

วัดพระธาตุพนม วรมหาวิหาร ได้รับการยกฐานะเป็นพระอารามหลวง ชั้นเอก ชนิด วรมหาวิหาร  ปัจจุบันมีพระเทพวรมุนี เป็นเจ้าอาวาส  ตั้งอยู่ ณ ริมฝั่งแม่น้ำโขง ถนนชยางกูร ตำบลธาตุพนม อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม มีที่ดินตั้งวัดทั้งหมด ๖๐ ไร่ ๓ งาน ๔๒ ตารางวา บนโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๓๒  มีที่ธรณีสงฆ์จำนวน ๓ แปลง เนื้อที่ ๙๓ ไร่ ๓ งาน ๙๖ ตารางวา โฉนดที่เลขที่ ๑๓๑,๑๓๓,๑๘๓  และสิ่งสำคัญภายในวัดพระธาตุพนม วรมหาวิหาร  อันประกอบด้วย  องค์พระธาตุพนม  อุโบสถ วิหารหอพระแก้ว ศาลาการเปรียญ กุฏิสงฆ์ และปูชนียวัตถุ เป็นต้น  เจดีย์มีลักษณะเป็นเจดีย์รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ก่อด้วยอิฐ  กว้างด้านละ ๑๒.๓๓  เมตร สูงรวมยอดฉัตร ๕๗ เมตร  มีกำแพงล้อมองค์
พระธาตุ ๓ ชั้น  องค์พระธาตุตั้งอยู่บนภูกำพร้า (เนินดินสูงจากพื้นธรรมดาประมาณ ๓ เมตร)  ภายในบริเวณมีบึงขนาดใหญ่เรียกว่าบึงธาตุพนม  ในวันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๓  ถึงแรม ๑ ค่ำ เดือน ๓  ของทุกปี จะมีงานประจำปีเพื่อเป็นการนมัสการองค์พระธาตุพนม ๙ วัน ๙ คืน

ตามตำนานอุรังคนิทาน ได้กล่าวถึงพุทธประวัติช่วงปัจฉิมโพธิกาลว่า  พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีพระอานนท์เถระเป็นปัจฉาสมณะ ได้เสด็จไปยังดอนกอนเนาทางทิศตะวันออก แล้วเสด็จไปหนองคันแทเสื้อน้ำ (เวียงจันทน์) ได้พยากรณ์ไว้ว่า ในอนาคตจะเกิดบ้านเมืองใหญ่ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธศาสนา  จากนั้นได้เสด็จไปตามลำดับ ได้ประทานรอยพระพุทธบาทไว้ที่โพนฉัน (พระบาทโพนฉัน) อยู่ตรงข้ามอำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย แล้วเสด็จมาที่พระบาทเวินปลา ซึ่งอยู่เหนือเมืองนครพนมปัจจุบัน  ได้ทรงพยากรณ์ที่ตั้งเมืองมรุกขนคร (นครพนม)  และประทับพักแรมที่ภูกำพร้าหนึ่งราตรี  ครั้นฟ้าส่างได้เสด็จข้ามแม่น้ำโขงไปบิณฑบาต เนื่องจากทรงชราภาพมากมีพระชนมายุถึง 80 พรรษา จึงประทับนั่งพักใต้ร่มต้นรังต้นหนึ่ง (ปัจจุบันเป็นที่ประดิษฐานพระธาตุอิงฮังเมืองสุวรรณเขต สปป.ลาว) แล้วจึงเสด็จเหาะกลับมาทำภัตกิจ (ฉันอาหาร) ที่ภูกำพร้าดังเดิม

ขณะที่กำลังเสวยพระกระยาหารอยู่นั้น ได้ตรัสถามพระอินทร์ที่เสด็จมาเข้าเฝ้าอุปัฏฐากรับใช้                ถึงสาเหตุที่พระองค์ได้มาประทับและบรรทม ณ ภูกำพร้า ทรงได้รับคำตอบว่า “เป็นประเพณีของพระพุทธเจ้าทั้ง ๓ พระองค์ ในภัททกัลป์ที่นิพพานไปแล้ว บรรดาสาวกจะนำพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้ที่ภูกำพร้า  พระพุทธองค์เมื่อนิพพานแล้ว พระมหากัสสปะผู้เป็นสาวกก็จะนำเอาพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้ ณ ที่นี้เช่นกัน” จากนั้นพระพุทธองค์ก็ได้ทรงปรารภถึงเมืองศรีโคตบูร และมรุกขนคร        แล้วเสด็จไปหนองหารหลวง ได้ทรงเทศนาโปรดพญาสุวรรณพิงคาระพร้อมพระเทวี และทรงประทาน
รอยพระพุทธบาทไว้ ณ ที่นั้น แล้วเสด็จกลับพระเชตวัน

เมื่อพระพุทธองค์เสด็จปรินิพพานแล้ว มัลลกษัตริย์ทั้งหลายได้ถวายพระเพลิงพระสรีระ แต่ไม่สำเร็จ จนเมื่อพระมหากัสสปเถระมาถึงได้อธิษฐานว่า “พระบรมธาตุพระองค์ใดที่จะให้อัญเชิญไปประดิษฐาน ณ ภูกำพร้า ขอพระบรมธาตุพระองค์นั้นจงเสด็จมาอยู่บนฝ่ามือของหม่อมฉันด้วยเถิด” ดังนี้แล้ว พระอุรังคบรมสารีริกธาตุ ก็เสด็จมาประดิษฐานอยู่บนฝ่ามือข้างขวาของพระมหาเถระ  และทันใดนั้นไฟธาตุก็ลุกโชติช่วง ได้เผาชำระพระสรีระของพระบรมศาสดาอย่างน่าอัศจรรย์  

หลังพุทธปรินิพพานผ่านไปได้ ๘ ปี พระมหากัสสปเถระพร้อมด้วยพระอรหันต์ ๕๐๐ องค์    ก็ได้อัญเชิญพระอุรังคบรมสารีริกธาตุเหาะเสด็จลงที่ดอยแท่น (ภูเพ็กในปัจจุบัน) จากนั้นได้เข้าไปบิณฑบาตที่เมืองหนองหารหลวง เพื่อเป็นการแจ้งข่าวให้พญาสุวรรณพิงคารทราบ  เมื่อพญาสุวรรณภิงคารทราบเรื่องก็ได้แจ้งข่าวให้หัวเมืองน้องๆ อีก ๔ หัวเมือง ได้แก่ พญานันทเสนแห่งเมืองศรีโคตบูร พญาจุลณีพรหมทัตแห่งเมืองจุลมณี (หลวงพระบาง)  พญาอินทปัตถนครแห่งเมืองอินทปัตถ์ (ประเทศกัมพูชา) พญาคำแดงแห่งเมืองหนองหารน้อย ให้ได้รับทราบ  

ฉะนั้น เจ้าพญาทั้ง ๕ อันมีพระมหากัสสปเถระเป็นประธานได้ยกทัพเดินทางไปก่อสถูปเจดีย์ที่ภูกำพร้า (กปณคีรี) ตามพุทธบัญชา  ได้พากันปั้นดินดิบก่อแล้วเผาไฟ ตามคำแนะนำของพระมหากัสสปเถระ  แบบพิมพ์ดินมีความกว้างความยาวเท่ากับฝ่ามือพระมหากัสสปะ  ครั้นปั้นดินเสร็จแล้วก็พากัน
ขุดหลุมกว้าง ๒ วา ลึก ๒ ศอก เท่ากันทั้ง ๔ ด้าน แล้วได้ก่อดินขึ้นเป็นรูปเตา ๔ เหลี่ยม สูง ๑ วา  โดยพญาทั้ง ๔ แล้ว พญาสุวรรณภิงคาระก็ได้ก่อส่วนบน โดยรวมยอดเข้าเป็นรูปฝาระมีสูง ๑ วา รวมความสูงทั้งสิ้น ๒ วา แล้วทำประตูเตาไฟทั้ง ๔ ด้าน เอาไม้จวง จันทน์ กฤษณา กระลำพัก คันธรส ชมพู นิโครธ และไม้รัง มาเป็นฟืนทำการเผาอยู่ ๓ วัน ๓ คืน เมื่อสุกดีแล้วจึงเอาหินหมากคอยกลางโคก มาถมหลุม  เมื่อสร้างอุโมงค์ดังกล่าวเสร็จแล้ว พญาทั้ง ๕ ก็ได้บริจาคของมีค่าบรรจุไว้ในอุโมงค์เป็นพุทธบูชา

จากนั้น พระมหากัสสปเถระได้อัญเชิญพระอุรังคบรมสารีริกธาตุ เข้าบรรจุภายในที่อันสมควร แล้วให้ปิดประตูอุโมงค์ไว้ทั้ง ๔ ด้าน โดยสร้างประตูด้วยไม้ประดู่ ใส่ดาลปิดไว้ทั้ง ๔ ด้าน แล้วให้คนไปนำเอาเสาศิลาจากเมืองกุสินารา ๑ ต้น มาฝังไว้ที่มุมเหนือตะวันออก แปลงรูปอัศมุขี (ยักษิณีหน้าเป็นม้า) ไว้โคนต้นเพื่อเป็นหลักชัยมงคลแก่บ้านเมืองในชมพูทวีป นำเอาเสาศิลาจากเมืองพาราณสี ๑ ต้น ฝังไว้มุมใต้ตะวันออก แปลงรูปอัศมุขีไว้โคนต้น เพื่อหมายมงคลแก่โลก นำเอาเสาศิลาจากเมืองตักศิลา ๑ ต้น ฝังไว้มุมเหนือตะวันตก  พญาสุวรรณพิงคาระให้สร้างรูปม้าอาชาไนยไว้ตัวหนึ่ง หันหน้าไปทางทิศเหนือ เพื่อแสดงว่าพระบรมธาตุเสด็จออกมาทางทิศทางนั้น และพระพุทธศาสนาจักเจริญรุ่งเรืองจากเหนือมาใต้  พระมหากัสสปเถระให้สร้างม้าพลาหกไว้อีกตัวให้คู่กัน โดยหันหน้าไปทางทิศเหนือ เพื่อเป็นปริศนาว่า พญาศรีโคตบูรจักได้สถาปนาพระอุรังคธาตุไว้ตราบเท่า ๕,๐๐๐ พระวัสสา เกิดทางใต้และขึ้นไปทางเหนือ  เสาอินทขีล ศิลาทั้ง ๔ ต้น ยังปรากฏอยู่ ๒ ต้น ทางทิศตะวันออก ส่วนอีก ๒ ต้น ได้ก่อหอระฆังหุ้มไว้ ส่วนม้าศิลาทั้ง ๒ ตัว ก็ยังปรากฏอยู่ถึงปัจจุบัน  จนกระทั่งต่อมาได้มีการบูรณะต่อเติมครั้งใหญ่เพื่อให้องค์สถูปสูงเด่นเป็นสง่าขึ้นจำนวน ๓ ครั้ง คือ 

๑. ราวปีพุทธศักราช ๕๐๐ พระอรหันต์ ๕ รูป ซึ่งก็คือพญาทั้ง ๕ ที่ได้ร่วมกันสร้างองค์สถูปในอดีตกลับชาติมาเกิด แล้วได้บรรพชาอุสมบทและได้ปฏิบัติบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ได้บูรณะต่อเติมให้สูงขึ้น ๒ วา แล้วย้ายพระอุรังคบรมธาตุไปประดิษฐานในชั้นที่ ๒ โดยบรรจุในศิลาที่อมรฤาษีและโยธิกฤาษีนำมาถวายจากภูเพ็ก โดยมีพญามิตตธรรมวงศาแห่งเมืองมรุกขนครเป็นประธานฝ่ายฆราวาส

๒. ราวปีพุทธศักราช ๒๒๓๓-๒๒๓๕ เจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก (ญาคูขี้หอม)  พร้อมด้วยคณะผู้ติดตามประมาณ ๓,๐๐๐ คน ได้ล่องเรือจนกระทั่งมาถึงองค์พระธาตุพนม ได้บูรณะต่อเติมองค์พระธาตุพนมจากชั้นที่ ๒ ขึ้นไปจนถึงยอด มีความสูง ๔๓ เมตร รวมฉัตรอีก ๔ เมตร
เป็น ๔๗ เมตร  จากนั้นเจ้าราชครูฯ ก็ได้มอบผู้ติดตามครึ่งหนึ่งให้เป็นข้าโอกาสรับใช้องค์
พระธาตุพนม  ส่วนตัวท่านเองและผู้ติดตามที่เหลือก็ได้เดินทางมุ่งสู่เมืองบันทายเพชร         เมืองหลวงกัมพูชา

๓. ราวปีพุทธศักราช ๒๔๘๓-๒๔๘๔ ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อานันท-มหิดล รัชกาลที่ ๘  เกิดกรณีพิพาทดินแดนระหว่างไทยกับฝรั่งเศส  เมื่อพลตรีหลวงวิจิตรวาท-การ ได้มาตรวจสอบและได้นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ให้มีการบูรณะด้วยการต่อเติมส่วนยอดขององค์พระธาตุสูงขึ้นอีก ๑๐ เมตร รวมเป็น ๕๗ เมตร ในความดูแลของอธิบดีกรมศิลปากรและนักเรียนช่างศิลปากร ๔๐ คน

เมื่อวันจันทร์ที่ ๑๑ เดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๘  ตรงกับวันขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๙ ปีเถาะ จุลศักราช ๑๓๓๗  เวลา ๑๙.๓๘ น.  เป็นวันที่ฝนตกพร่ำ อีกทั้งพายุฝนโหมกระหน่ำติดต่อมาหลายวัน และเดือนมีนาคมในปีเดียวกันนั้นเกิดแผ่นดินไหว (สถิติกรมทรัพยากรธรณีเกิดแผ่นดินไหววันที่ ๑๗ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘เวลา ๑๐.๓๘ น. ๕.๖ ริกเตอร์ จุดศูนย์กลางอยู่อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก) ทำให้องค์พระธาตุพนมได้รับผลกระทบกระเทือนมีรอยร้าว  และได้ล้มลงในที่สุด

คณะรัฐมนตรีในสมัยหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระธาตุพนมขึ้นใหม่ เมื่อวันที่ ๑๙ เดือนสิงหาคม
พ.ศ.๒๕๑๘  จนกระทั้งแล้วเสร็จ ได้มีการยกฉัตรทองคำประดิษฐานบนยอดองค์พระธาตุพนม 
โดยสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน)  เมื่อวันที่ ๒๒ เดือนมีนาคม
พ.ศ.๒๕๒๒  และในวันที่ ๒๓ เดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๒  พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ  พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ได้ทรงประกอบ
พระราชพิธีอัญเชิญพระอุรังคบรมสารีริกธาตุขึ้นบรรจุภายในองค์พระธาตุพนม  ยังความปลามปลื้มปิติยินดีให้กับชาวไทยและพี่น้อง สปป.ลาว ทั่วหล้า

ลำดับเจ้าอาวาส

๑. เจ้าสังฆวิชชา

๒. เจ้ามหาปาสาทะ หรือ จุลปาสาทะ

๓. เจ้ามหารัตนะ

๔. สมเด็จพระเจ้าสังฆราชาสัทธรรมโชตนาญาณวิเศษ (เจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก) 
    พ.ศ. ๒๒๓๓ – ๒๒๓๕

๕. พระครูพรหมา พ.ศ. ๒๓๙๐ – ๒๔๑๐

๖. พระครูพรหม พ.ศ. ๒๔๑๐ – ๒๔๒๕

๗. พระครูก่ำ พ.ศ. ๒๔๓๕ – ๒๔๓๐

๘.  พระครูฮุบ พ.ศ. ๒๔๓๐ – ๒๔๓๘

๙.  พระอุปัชฌาย์ทา พ.ศ. ๒๔๓๘ – ๒๔๕๘

๑๐.พระครูศิลาภิรัต (หมี) พ.ศ. ๒๔๕๘-๒๔๗๙

๑๑.พระธรรมราชานุวัตร (แก้ว กนฺโตภาโส อุทุมมาลา ป.ธ.๖)  พ.ศ. ๒๔๘๐-๒๕๓๒

๑๒.พระธรรมปริยัติมุนี (นวน เขมจารี ป.ธ.๖)   พ.ศ. ๒๕๓๓-๒๕๔๔

๑๓.พระโสภณเจติยาภิบาล (สม สุมโน ป.ธ.๓)   พ.ศ. ๒๕๔๗

๑๔.พระเทพวรมุนี (สำลี ปญฺญาวโร ป.ธ.๕   พ.ศ. ๒๕๔๙ – ปัจจุบัน

ประวัติพระเทพวรมุนี ( สำลี ) ฉายา  ปญฺญาวโร

ชื่อ พระเทพวรมุนี ( สำลี ) ฉายา  ปญฺญาวโร  อายุ ๘๐ พรรษา ๖๐  

วิทยฐานะ  ป.ธ. ๕ , น.ธ. เอก, พธ.ด.

วัดพระธาตุพนม  อำเภอธาตุพนม  จังหวัดนครพนม

ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ๑. ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค ๑๐

๒. เจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนม

๓. ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการ     สร้างความปรองดองสมานฉันท์โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา “หมู่บ้านรักษาศีล ๕” (ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี) ประจำหนตะวันออก

๔. ประธานโครงการ วัด ประชา รัฐ สร้างสุข ประจำหนตะวันออก

สถานะเดิม  

ชื่อ  สำลี  นามสกุล  อ้วนโสดา  เกิดเมื่อ วันพฤหัสบดี  เดือนอ้าย  ปีมะโรง

ตรงกับวันที่ ๙ เดือนธันวาคม  พุทธศักราช ๒๔๘๓  บ้านฝั่งแดง ตำบลฝั่งแดง อำเภอธาตุพนมจังหวัดนครพนม

โยมบิดาชื่อ  นายเคน  อ้วนโสดา

โยมมารดาชื่อ  นางแดง  อ้วนโสดา

บรรพชา

วันที่ ๑๐ เดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๗  ณ วัดพระธาตุพนม  อำเภอธาตุพนม  จังหวัดนครพนม

มี พระธรรมราชานุวัตร (แก้ว  กนฺโตภาโส ป.ธ.๖) ขณะดำรงสมณศักดิ์ ที่ พระพนมเจติยานุรักษ์  เป็นพระอุปัชฌาย์

อุปสมบท

วันที่ ๒๒ เดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๔  ณ วัดพระธาตุพนม  อำเภอธาตุพนม  จังหวัดนครพนม 

มี พระธรรมราชานุวัตร (แก้ว  กนฺโตภาโส ป.ธ.๖) ขณะดำรงสมณศักดิ์ ที่  พระเทพรัตนโมลี  เป็นพระอุปัชฌาย์ 

วิทยฐานะ

พ.ศ. ๒๕๐๓  นักธรรมชั้นเอก

พ.ศ. ๒๕๒๖  สอบได้ เปรียญธรรม ๕ ประโยค

เกียรติคุณ

พ.ศ. ๒๕๔๗ ได้รับถวายปริญญารัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์

จากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครพนม

พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้รับถวายปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาธรรมนิเทศ

จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

พ.ศ. ๒๕๕๑ ได้รับถวายปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาบริหารการศึกษา

จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง

พ.ศ. ๒๕๕๓ ได้รับถวายปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาปรัชญา

จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น

ตำแหน่ง

พ.ศ. ๒๕๔๖ เป็นเจ้าคณะจังหวัดนครพนม

พ.ศ. ๒๕๔๖ เป็นเจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร

พ.ศ. ๒๕๕๙ เป็นกรรมการฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม

พ.ศ. ๒๕๖๓ เป็นประธานประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา “หมู่บ้านรักษาศีล ๕” (ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี) ประจำหนตะวันออก

พ.ศ. ๒๕๖๓ ประธานโครงการ วัด ประชา รัฐ สร้างสุข ประจำหนตะวันออก

สมณศักดิ์

พ.ศ. ๒๕๑๕ เป็นพระครูปลัด

พ.ศ. ๒๕๑๘ เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าคณะอำเภอ ชั้นโท  ในราชทินนาม 

ที่ พระครูศรีเจติยาภิรักษ์

พ.ศ. ๒๕๓๐ เป็นพระครูสัญญาบัตรรองเจ้าคณะจังหวัด  ในราชทินนามเดิม

พ.ศ. ๒๕๓๙ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญเปรียญ ที่ พระปริยัติธีรคุณ    (วันที่ ๑๐ มิถุนายน)

พ.ศ. ๒๕๔๗ เป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่ พระราชธีราจารย์      (วันที่ ๑๒ สิงหาคม)

พ.ศ. ๒๕๕๒ เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่ พระเทพวรมุนี                  (วันที่   ๕ ธันวาคม)