วัดโพธิ์ศรีธาตุ
ก่อตั้งวัดเมื่อพุทธศักราช ๒๓๒๒ และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อพุทธศักราช ๒๔๘๙ ซึ่งเจ้าคณะปกครองดูแลตลอดมาจนถึงปัจจุบัน และวัดโพธิ์ศรีธาตุ มีชื่ออยู่ในทะเบียนวัดของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มีหลักฐานบันทึกไว้ ผู้เขียนได้ถามเฒ่าผู้แก่สูงอายุในบ้านธาตุได้บอกเล่าต่อกันมาว่ามีชาวลาวพวกหนึ่ง อพยพมาจากบ้านน้ำคำ เขตยโสธร (จังหวัดยโสธรปัจจุบัน) มาพบซากเมืองเก่า (บ้านธาตุ) บ้างเรียก (ไม้ล้ม) มีที่ดินอุดมสมบูรณ์จึงตั้งบ้านอยู่ทำนาทำไร่ ตั้งชื่อบ้านว่า บ้านธาตุ ตามธาตุหินที่มีอยู่แล้ว ได้สร้างวัดสร้างอุโบสถขึ้นในบริเวณที่ตั้งธาตุเก่า ตั้งชื่อวัดว่า วัดธาตุ ภายหลัง เปลี่ยนเป็น วัดโพธิ์ศรีธาตุ มาจนถึงปัจจุบัน (ชาวลลาวบ้านน้ำคำอพยพมาอยู่บ้านธาตุ สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย)
ต่อมา พุทธศักราช ๒๔๖๒ พระอาจารย์หล้า และชาวบ้านธาตุได้สร้างกุฏิและศาลาบำเพ็ญกุศลขึ้น (ทรงแบบโบราณ) เสาต้นใหญ่คนโอบไม่รอบ กุฏิ มีเสา ๓๖ ต้น ใต้ถุนสูงโปร่ง หลังคามุงไม้ฝาเป็นชิ้น ๆ ภายในกุฏิกว้างเป็นห้องนอนสงฆ์ ๒ ด้าน ตรงกลางเป็นที่สวดมนต์ทำวัตรเช้าเย็น ฝาผนังกุฏิไม้ พื้นปูไม้กระดานแผ่นใหญ่ไม่มีเพดานมีประตูหน้าต่าง เฉพาะห้องนอนพระสงฆ์ ด้านหน้าเปิดโล่งมีระเบียงตั้งโอ่งน้ำกินน้ำใช้ มีบันไดขึ้นลงด้านทิศเหนือทางเดียวต่อมาจากระเบียงไปทิศใต้ เป็นศาลาฉันอาหารและทำครัวของพระสงฆ์ ที่สุขาหรือที่ถ่ายทุกข์ของพระสงฆ์อยู่ห่างไปทางทิศตะวันตก สร้างเป็นหลัง มุงหลังคาหญ้า ฝาผนังไม้มีปประตูปิดเปิด หลุมถ่ายทุกข์ลึกพอสมควร เอาดินใส่รอบหลุมกันน้ำไหลลงหลุม เอาไม้มาทำฐานถ่ายทุกข์ ชาวบ้านเรียกฐานพระ คนในสมัยโบราณอยู่ตามชนบทส่วนมากจะไม่สร้างส้วมไว้ในบ้านจะขุดส้วมไว้ตามพื้นดินในสวนเอาไม้วางปากหลุมนั่งถ่ายทุกข์บางแห่งก็ถ่ายทุกข์ตามป่า ตามสวน ตามบ้านและตามทุ่งนา ปัจจุบันไม่มีแล้วเพราะทุกบ้านสร้างห้องสุขาไว้ใช้ในบ้านตนเอง ศาลาบำเพ็ญกุศล อยู่ทางทิศใต้ อุโบสถห่างจากกุฏิสงฆ์ประมาณ ๓๐ เมตร สร้างทรงโบราณ เสามี ๒๔ ต้น แต่ละต้นคนโอบไม่รอบ เช่นเดียวกับเสากุฏิสงฆ์ ศาลาสูงประมาณ ๒ เมตร มีบันได ขึ้นลง ๓ ทาง อยู่ทางทิศตะวันออก ทิศตะวันตกและทิศใต้ตรงกลางศาลา มีห่อธรรมาส์ให้ขึ้นนั่งแสดงพระธรรมเทศนา ด้านทิศเหนือบนศาลาเป็นที่นั่งพระสงฆ์ ศาลาไม่มีเพดาน ศาลาบำเพ็ญกุศล ทางราชการใช้เป็นที่สอนเด็กนักเรียนประชาบาลตำบลด้วย ต่อมาทางราชการให้ย้ายเด็กนักเรียนออกไปตั้งโรงเรียนใหม่อยู่บ้านดู่ทางทิศตะวันตกบ้านธาตุจนถึงปัจจุบัน ภายในวัดโพธิ์ศรีธาตุมีต้นโพธิ์ขนาดใหญ่หลายต้นแต่ละต้นมีอายุเก่าแก่มาก มีหินศิลาแรงกองทับถมกันอยู่บริเวณวัดหลายแห่งมีก้อนใหญ่ก้อนเล็กบ้าง กุฏิศาลาบำเพ็ญกุศลและอุโบสถของเก่า ชำรุดไปตามสภาพใช้งานมานานและหินกองอยู่ในบริเวณวัดฝังจมดิน ปัจจุบันทางวัดและชาวบ้านได้บูรณปฏิสังขรณ์ปรับปรุงรื้อถอนสร้างใหม่ดังที่เห็นอยู่ทุกวันนี้
ประวัติการสร้างพระอุโบสถ(สิม)
เดิมสร้างขึ้นในสมัย ประมาณปี พุทธศักราช ๒๓๓๐ โดยโบราณชาวอีสานเรียกว่าสิม ซึ่งมีขนาดเล็กพอบรรจุพระสงฆ์ประมาณ ๕-๑๐ รูป ในการทำสังฆกรรม และมีการชุดโทรมซ่อมแซมหลายต่อหลายครั้ง พระอุโบสถเดิมมีขนาดเล็ก ๓ ห้อง ก่ออิฐพื้นสูงด้านหน้าเปิดโล่งมีฝา ๓ ด้าน หลังคามุงด้วยกระเบื้องโบราณไม่มีเพดาน สภาพพระอุโบสถชำรุดมากใช้การไม่ได้ พุทธศักราช ๒๔๘๘ พระครูสมุห์ศรี อินฺทสาโร เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ศรีธาตุ พระครูจันทร์ ธมฺมสาโร เจ้าอาวาสวัดสว่างบ้านยาง เจ้าคณะตำบลธาตุ และนายซุย นามลี กำนันตำบลธาตุพร้อมชาวบ้านได้ทำการซ่อมแซมพระอุโบสถโดยก่อด้วยผนังด้วยอิฐ มุงหลังคาด้วยสังกะสีให้พอทำสังฆกรรมได้
พุทธศักราช ๒๔๘๘ พระมาหเขียว ธมฺมทินฺโน เป็นเจ้าอาวาสวัดโพธิ์ศรีธาตุได้ทำการรื้อถอนและสร้างใหม่ โดยขอพระราชทานวิสุงคามสีมาใหม่ และผูกพันธสีมาใหม่ สร้างด้วยอิฐล้วนๆ (ไม่ได้เทคอนกรีต) หลังคามุงด้วยกระเบื้องซีเมนต์ธรรมดา สำเร็จเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๙๒
พุทธศักราช ๒๕๒๖ พระครูรัตนพุทธิคุณ เห็นว่าพระอุโบสถได้ทรุดโทรมมาก จึงได้ก่อสร้างเพิ่มเติมโดยสร้างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ก่อด้วยอิฐมุงหลังคาด้วยกระเบื้องเคลือบแบบสุโขทัย พระอุโบสถกว้าง ๖ เมตร ยาว ๑๓ เมตร สูง ๗ เมตร มีระเบียงล้อมรอบ พื้นขัดด้วยหินอ่อน สร้างเสร็จเมื่อ พุทธศักราช ๒๕๓๐
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ได้เสด็จมาทรงยกช่อฟ้าพระอุโบสถ แทนพระบาทสมเด็จ
พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันพุธที่ ๔ เดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๓๐ เวลา ๑๔.๐๐ น. ตรงกับวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีเถาะ
ประวัติพระธาตุมณฑปวัดโพธิ์ศรีธาตุ
เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐ วัดโพธิ์ศรีธาตุได้จัดตั้งสำนักวิปัสสนากรรมฐานขึ้นโดย ท่านเจ้าคุณพระพิมลธรรม(อาสภะเถระ) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎ์ กรุงเทพฯ ได้มาเปิดสำนักวิปัสสนากรรมฐานฯ ท่านเห็นกองหินโบราณซึ่งกองเป็นรูปเจดีย์หรือพระธาตุ ท่านจึงแนะนำว่าก้อนหินเหล่านี้เป็นโบราณสถานศักดิ์สิทธิ์ ควรจัดเป็นปูชนียสถานไว้เคารพสักการะบูชา
ปราสาทหรือพระเจดีย์ อยู่ในวัดโพธิ์ธาตุ สร้างมาตั้งแต่เมื่อไรไม่พบหลักฐานบันทึกไว้ เพียงสันนิษฐานว่าคงจะสร้างขึ้นในสมัยขอมปกครองดินแดนส่วนนี้ ประมาณปี ๑๑๐๐-๑๗๐๐ และคงสร้างขึ้นสมัยเดียวกับปราสาทเมืองพิมาย จังหวัดนครราชสีมาหรือปราสาทวัดสระกำแพงใหญ่ อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ เพราะเป็นหินชนิดเดียวกัน
ผู้บันทึกการรื้อถอนหินโบราณออก คือ นายคำ สุขบท อดีตครูใหญ่โรงเรียนบ้านธาตุ “ธาตุศึกษาวิทยา” บ้านธาตุ ตำบลธาตุ อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์
พุทธศักราช ๒๕๑๐ พระครูรัตนพุทธิคุณ ทำการก่อสร้างพระธาตุมณฑปโดยท่านให้ ช่างพื้นบ้านออกแบบก่อสร้าง ชื่อ นายพันธ์ บ้านหนองตอ ตำบลไผ่ อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ ช่างออกแบบโครงสร้างเหล็กก่ออิฐถือปูน หลังคากระเบื้องเคลือบฐานพระธาตุมณฑป กว้างด้านละ ๑๒ เมตร มีบันไดขึ้นลง ๒ ทาง ภายในธาตุมณฑปพื้นหินกากขัดมีเจดีย์บรรจุพระบรมสาริกธาตุ มีแท่นประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง รอบพระธาตุมณฑปขึ้นไปถึงฐานยอดฉัตร ๙ ชั้น ระหว่างชั้นติดหัวพระยานาค ยอช่อฟ้ายอดรูปบายศรี หรือ เศวตฉัตร ๗ ชั้นยอดสูงสุดหลอดไฟพร้อมสายล่อฟ้าความสูงจากฐานพื้นดินถึงยอดสูงสุด ๕๓ เมตร
พระครูรัตนพุทธิคุณ ทำการก่อสร้างแล้วเสร็จ เมื่อพุทธศักราช ๒๕๑๙ และในปีเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ร.๙ เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และเสด็จเวียนเทียนรอบพระธาตุมณฑป ๓ รอบ เสร็จแล้ว ทรงมีพระดำรัสกับพระครูรัตนพุทธิคุณ เจ้าคณะตำบลธาตุ และทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เป็นทุนจัดตั้งมูลนิธินำดอกผลบูรณ์ปฏิสังขรณ์วัดโพธิ์ศรีธาตุ จึงเป็นวัดอยู่ในพระบรมราชูถัมภ์ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช
ลำดับเจ้าอาวาสวัดโพธิ์ศรีธาตุ อดีตจนถึงปัจจุบัน
ปีพุทธศักราช รายนาม
๒๓๒๒-๒๔๔๒ ไม่ปรากฏนาม
๒๔๔๒-๒๔๖๙ หลวงปู่หล้า
๒๔๖๙-๒๔๙๗ หลวงปู่โส
๒๔๙๗-๒๕๔๖ พระครูสมุห์ศรี อินฺทสาโร
๒๕๕๖-๒๕๕๔ พระครูรัตนพทธิคุณ(เขียว ธมฺมทินฺโน)
๒๕๕๔-ปัจจุบัน พระครูนิมิตธีราภรณ์(สุบิน สุธีโร)