วัดบูรพาราม

วัดบูรพาราม (เดิมเรียกว่าวัดบูรณ์) ตั้งอยู่ใจกลางของจังหวัดสุรินทร์ หน้าศาลากลางจังหวัด หลังศาลจังหวัดสุรินทร์  สร้างขึ้นเมื่อใด และท่านผู้ได้ริเริ่มสร้างขึ้นนั้น ไม่ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรที่แน่ชัด เพียงแต่สันนิษฐานโดยอนุมานเอาคงจะอยู่ในระยะใกล้เคียงกับการสร้างเมืองสุรินทร์ คือ ก่อนพุทธศักราช ๒๔๐๐ รวมกับวัดต่าง ๆ ประมาณ ๖ – ๗ วัดด้วยกัน แม้จำนวนชื่อและลำดับเจ้าอาวาสที่ผ่านมา ก็ไม่อาจลำดับได้ถูกต้องตามจำนวนและลำดับได้เช่นเดียวกัน

เนื่องจากวัดบูรพาราม เป็นวัดเก่าแก่สร้างมาตั้งแต่เริ่มแรกของการสร้างเมืองสุรินทร์นั่นเอง จึงต้องเป็นไปตามยุคตามสมัย ตามกาลเวลาอาจรุ่งเรืองบางครั้ง และเสื่อมโทรมเป็นบางคราวโดยธรรมดา นัยว่าบางครั้งเจ้าอาวาสไม่อาจดำรงรักษาศรัทธาของชาวบ้านไว้ได้  เป็นเหตุให้วัดเสื่อมโทรมและทรุดลงมาเป็นเวลานาน กรอปกับเจ้าอาวาสแต่ละรูปก็อยู่ด้วยระยะเวลาสั้น จึงไม่อาจพัฒนาวัดให้เจริญมาได้เท่าที่ควร

ดังนั้น เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๗ ผู้บังคับบัญชาการคณะสงฆ์ในสมัยนั้นจึงมีบัญชาให้หลวงปู่ดุลย์  อตุโล  เดินทางกลับจากธุดงค์กรรมฐานมาประจำอยู่ที่วัดบูรพาราม จังหวัดสุรินทร์ เพื่อดำเนินการศึกษาปริยัติธรรม และเผยแพร่ข้อปฏิบัติ ทางกรรมฐานไปด้วยกันพร้อมทั้งดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ร่วมเป็นคณะพระสังฆาธิการบริหารวัดและคณะสงฆ์ตลอดมา

นับแต่กาลนั้นเป็นต้นมา แสงแห่งรัศมีของพระธรรมทั้งทางปริยัติและปฏิบัติ ก็เริ่มรุ่งเรืองโชติช่วงตลอดมา โดยหลวงปู่รับภาระทั้งทางคันถธุระ และวิปัสสนาธุระ บริหารงานพระศาสนาอย่างเต็มความสามารถ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนาวัดบูรพาราม ก็ทำมาอย่างต่อเนื่อง มีการก่อสร้างพระอุโบสถแบบคอนกรีตเสริมเหล็กเป็นครั้งแรก หล่อพระพุทธชินราชจำลองประดิษฐานในพระอุโบสถ บูรณปฏิสังขรณ์ พระวิหารหลวงพ่อพระชีว์  ซึ่งเป็นพระพุทธรูปสำคัญประจำเมืองสุรินทร์แต่โบราณ ตลอดจนถึงก่อสร้างเสนาะ กุฎีวิหาร แบบสมัยใหม่หลายหลัง เป็นการถาวร และมีจำวนพระเณรเพิ่มมากขึ้นโดยลำดับ

เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๑ กรมการศาสนา ได้ประกาศยกให้วัดบูรพารามขึ้นเป็นวัดพัฒนาตัวอย่างแรกของจังหวัด

เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๐ ทรงพระกรุณาพระราชทาน วัดบูรพารามขึ้นพระอารามหลวง ชั้นตรี

เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๗ กรมการศาสนา ประกาศยกย่องให้เป็นพัฒนาดีเด่น ประจำปี ๒๕๓๗

ถาวรวัตถุสำคัญภายในวัด

๑. พระอุโบสถหลังใหญ่ สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๙ แล้วเสร็จ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๒

๒. ศาลาการเปรียญหลังใหญ่ “อตุลเถระ” สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๐

๓. โรงเรียนพระปริยัติธรรม “ราชบูรพา” สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๒

๔. พิพิธภัณฑ์กัมมัฏฐาน บรรจุอัฐิธาตุ และอัฐบริขารของหลวงปู่ดุลย์ อตุโล สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๕ แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๘

๕. พระวิหารจตุมุข  ประดิษฐานหลวงพ่อพระชีว์ ซึ่งเป็นพุทธรูปโบราณถือว่าเป็นพระประธานเมืองอันสำคัญพระวิหารนี้ บูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นมาใหม่ แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๘

๖. มีกุฎีแบบคอนกรีตเสริมเหล็กขนาด ๒ ชั้น จำนวน ๑๗ หลัง พร้อมถนนคอนกรีตรอบ ๆ บริเวณ

วัด มีทั้งไม้ร่มไม้ประดับ เป็นระเบียบเรียบร้อยสะอาดสะอ้าน นับว่าเป็นสง่าราศีของจังหวัดสุรินทร์แห่งหนึ่ง