วัดพระธาตุจอมแจ้ง มีชื่อเต็มตามแผ่นศิลาจารึกว่า “พระมหาชินธาตุเจ้าจอมแจ้ง สระหนองปลิง” ภายในองค์พระธาตุ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าภายหลังชาวบ้านจึงเรียกดอยแห่งนี้ว่า ดอยจอมแจ้ง ตามชื่อของพระธาตุ

แต่เนื่องจากองค์พระธาตุประดิษฐานอยู่บนยอดดอยสูง และมีอายุยาวนาน จึงชำรุดทรุดโทรมเกินกว่าที่จะบูรณะได้ แผ่นศิลาจารึกได้มีบันทึกเป็นอักษรธรรมภาษาล้านนาไว้ แปลเป็นไทยมีใจความว่า ในวันเสาร์ ที่ ๒๑ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๗๒ ตรงกับวันเสาร์ แรม ๓ ค่ำ เดือน ๑๒ เหนือ ปีมะเส็ง จุลศักราช ๑๒๙๑ เวลา ๑๕ นาฬิกา ครูบาเจ้าศรีวิชัย วัดบ้านปาง เมืองลี้ จังหวัดลำพูน มาเป็นประธานในบูรณะปฏิสังขรณ์พระธาตุดวงนี้ โดยมีพระกั๋ญจะนะผาบภิกขุ เป็นผู้ดูแลการก่อสร้าง พร้อมกับพระภิกษุ – สามเณรมากมายมาร่วมกันบูรณะ แลฝ่ายฆารวาส ยังมีหลวงพงษ์สุรสวัสดิ์ เจ้าหลวงเมืองพาน แม่เจ้าคำแปง และชายา บุตรธิดาทุกองค์ ทั้งราษฎรจากทั่วสารทิศมาร่วมกันบูรณะองค์พระธาตุ โดยการช่วยกันหาบก้อนอิฐ หิน ทราย วัสดุในการก่อสร้างขึ้นไปยังยอดดอย

เพื่อก่อเจดีย์ครอบองค์เก่าซึ่งเหลือเพียงซากปรักหักพังเท่านั้น  การก่อสร้างในสมัยนั้นเป็นไปด้วยความยากลำบาก แต่ก็ไม่เป็นอุปสรรคแต่อย่างใด ด้วยแรงศรัทธาของประชาชนที่มีต่อครูบาเจ้าศรีวิชัย การก่อสร้างจึงแล้วเสร็จในเวลาต่อมา ซึ่งในขณะนั้นครูบาเจ้าศรีวิชัย อายุได้ 51 ปี