ประวัติวัดดอนน้ำตาล
วัดดอนน้ำตาล เริ่มก่อตั้งในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ ขึ้นตรงกับบ้านบุอำเปาว์ ตำบลบักได อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ (ในสมัยนั้น) โดยสภาพบริบทของพื้นที่เป็นป่าไม้เบญจพรรณนานาชนิด พื้นดินเป็นสภาพน้ำซับเพราะติดหนองน้ำหัวอ่าง พื้นที่ดินดังกล่าวเป็นของ นายธนู วงศ์ษา ผู้ใหญ่บ้าน บ้านบุอำเปาว์ (ในสมัยนั้น) โดยการคิดเริ่มก่อตั้งวัด เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ดังกล่าวเป็นชาวไทยอีสาน (พูดภาษาอีสาน) ที่อพยพมาจากทางจังหวัดบุรีรัมย์มหาสารคาม ร้อยเอ็ด โดยจุดเริ่มนายธนู วงศ์ษา ผู้ใหญ่บ้าน บ้านบุอำเปาว์ (ในสมัยนั้น) ได้บริจาคที่ดินก่อตั้งสำนักสงฆ์ และได้นิมนต์ หลวงปู่จันทร์ กิตติภทฺโท จาก อำเภอหนองหงษ์ จังหวัดบุรีรัมย์ มาจำพรรษา เพื่อให้ประชาชนได้บำเพ็ญบุญ และสร้างขวัญกำลังใจแก่ประชาชน และต่อมา หลวงปู่จันทร์ กิตติภฺทโท ได้ขอซื้อที่ดินจาก นางนาง เดชวงษา เพื่อขยายพื้นที่สำนักสงฆ์ และในช่วงเริ่มการก่อตั้งนั้น ได้อาศัยกำลังจากผู้นำหมู่บ้าน และกลุ่มหนุ่มสาว เป็นเรียวแรงหลักในการจัดหาไม้ซุงใหญ่จากป่าดงดิบ มาสร้างเสนาสนะ ศาลาการเปรียญ และถาวรวัตถุที่มีความจำเป็น มีการพัฒนาตามลำดับ ด้านประเพณี วัฒนธรรม การละเล่น และเป็นจุดศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชนในพื้นที่
ถาวรวัตถุที่โดดเด่นคือ สิมน้ำ (ปัจจุบันมีการปรับปรุง สามารถใช้ประกอบกิจของสงฆ์ได้) และมณฑลรูปปั้นหลวงปู่จันทร์ กิตติภทฺโท และรูปปั้นเจ้าพ่อบักได
ปัจจุบัน มี พระอาทิตย์ อธิจิตฺโต เป็นรักษาการเจ้าอาวาสวัดดอนน้ำตาล
ประเพณีวัฒนธรรมที่โดดเด่น
บุญผะเหวดเทศน์มหาชาติ ประเพณีบุญผะเหวดเทศน์มหาชาติเป็นประเพณีที่จัดในช่วงเดือน มีนาคม ,เมษายน(หรือเดือน ๔ ตามจันทรคติ) เป็นกิจกรรมที่สืบสานประเพณีวัฒนธรรมของภาคอีสาน เพื่อเป็นการศึกษาประวัติพระมหาเวสสันดร และเป็นการบำเพ็ญบุญกุศลของพุทธศาสนิกชน อีกทั้งยังเป็นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความสามัคคีของคนในชุมชน ตามหลัก “บวร”
ประเพณีกวนข้าวทิพย์ และตักบาตรเทโวโรหณะ (ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ และแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ) ในช่วงก่อนออกพรรษา พุทธศาสนิกชนได้จัดกิจกรรมกวนข้าวทิพย์ขึ้น เพื่อที่จะตักบาตรพระสงฆ์ ในช่วงออกพรรษา เป็นกิจกรรมแห่งการบำเพ็ญบุญของพุทธศาสนิกชน ทั้งยังได้อนุรักษ์ประเพณีอันดีงามให้ลูกหลานได้ศึกษาและเป็นการส่งต่อมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าให้ลูกหลานรุ่นต่อไป
การอนุรักษ์ประเพณีขับร้องสรภัญญะ เป็นพระเพณีอันทรงคุณค่าอีกประเพณีหนึ่ง ที่ทางชุมชนบ้านดอนน้ำตาลได้ร่วมกันอนุลักษณ์ไว้ เพราะนับวันยิ่งหาชมหาดูยาก กลุ่มสรภัญญะบ้านดอนน้ำตาลมีการซักซ้อมไปร่วมขับร้องตามชุมชนและหน่วยงานต่างๆที่ได้รับเชิญให้ไปแสดง และได้ส่งเข้าร่วมแข่งขันประกวดตามเวทีต่างๆเป็นประจำทุกปี