วัดโพธิ์รินทร์วิเวก
ตั้งอยู่เลขที่ 105 หมู่ที่ 2 บ้านเขวาสินรินทร์ ตำบลเขวาสินรินทร์ อำเภอเขวาสินรินทร์ จังหวัดสุรินทร์
เจ้าอาวาส ชื่อ “พระครูปิยธรรมาภรณ์” ฉายา ปุณฺณโก นามสกุล จาบทอง อายุ 86 พรรษา 65
เกิดเมื่อวันที่ 29 เดือน มกราคม พ.ศ. 2476 บรรพชาและอุปสมบท วันที่ 28 เดือน พฤษภาคม พ.ศ. 2497
ประวัติการสร้างวัด
สถานที่ตั้ง เลขที่ 105 หมู่ที่ 2 บ้านเขวาสินรินทร์ ต.เขวาสินรินทร์ อ.เขวาสินรินทร์ จ.สุรินทร์
สังกัด คณะสงฆ์ มหานิกาย
ที่ดินตั้งวัด มีเนื้อที่ 8 ไร่ 1 งาน 72 ตารางวา โฉนดที่ดิน เลขที่ 55797 ธรณีสงฆ์มีเนื้อที่ 7 ไร่ 2 งาน 80 ตารางวา อาคารเสนาสนะ ประกอบด้วย
1. อุโบสถ กว้าง 20 เมตร ยาว 30 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2430
2. ศาลาการเปรียญ กว้าง 25 เมตร ยาว 35 เมตร เป็นอาคารไม้ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2490
3. กุฏิสงฆ์ จำนวน 3 หลัง เป็นอาคารไม้
4. ศาลาบำเพ็ญกุศล จำนวน 2 หลัง สร้างด้วยคอนกรีต
ปูชนียวัตถุ มีพระพุทธรูปโบราณ สร้างด้วยไม้จันทน์ จำนวน 2 องค์
ได้รับการแต่งตั้งเป็นวัดเขวาสินรินทร์ (วัดโพธิ์รินทร์วิเวก) เมื่อ พ.ศ. 2470
ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. 2481
การศึกษา มีโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม เปิดสอน เมื่อ พ.ศ. 2510
ศูนย์อบรมเด็กก่อนเกณฑ์ เปิดสอน เมื่อ พ.ศ. 2536
ประวัติวัดโพธิ์รินทร์วิเวก
เป็นระยะเวลาถึง 207 ปี ที่หลวงปู่สุด อดีตเจ้าอาวาสวัดโพธิ์รินทร์วิเวก ผู้ริเริ่มก่อตั้งวัดโพธิ์รินทร์วิเวก และบ้านเขวาสินรินทร์ เป็นมหาเถระที่ชาวบ้านให้ความศรัทธา เคารพนับถือด้วยดีตลอดมา หลักฐานที่ยืนยันชัดเจน คือพระเจดีย์บรรจุอัฐิของท่านด้วยไม้แก่นจันทน์ประดิษฐานอยู่หน้าพระประธานภายในอุโบสถ รุ่นที่ 2 ส่วนอุโบสถรุ่นที่ 1 เดิมอยู่ที่ตรงกลางต้นโพธิ์ใหญ่ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นสถิตขององค์เทพชื่อว่า “ตาอินทร์” และมีความศักดิ์สิทธิ์ยิ่ง กล่าวคือ ใครจะตัดกิ่ง หรือช้างจะกินใบไม่ได้ ถ้าฝ่าฝืนจะถูกลงโทษ
ประวัติ อุโบสถหลังเก่า วัดโพธิ์รินทร์วิเวก
หลวงปู่สุด เคยเล่าประวัติให้ฟังว่า เมื่อ พ.ศ. 2400 (152 ปีที่แล้ว) อดีตเจ้าอาวาสชื่อเจ้าอธิการเหรียญ จาบทอง ก่อนบวชนั้นท่านได้ติดตามพ่อและแม่ลงไปประกอบอาชีพที่ประเทศเขมร (กัมพูชา) ซึ่งมีเกวียน 1 เล่ม ทำการค้าขายปลาร้า ที่บ้านพระเนตร ท่านได้ขออนุญาตพ่อและแม่บวชที่นั่น และได้ศึกษาพระธรรมวินัย จนมีความรู้ ความสามารถแตกฉานในหลักธรรมได้อย่างดี ในมัยนั้นพ่อและแม่ของท่านกลัวพวกฝรั่ง เลยพากันขับเกวียนกลับขึ้นมาที่สุรินทร์คืน บ้านเดิม คือบ้านตาเมิน เขตเมืองที โดยอาศัยอยู่กับลูกคนโต คือ นางปีน ส่วนหลวงพ่อเหรียญนั้น ท่านคิดถึงโยมพ่อกับโยมแม่ก็รีบเดินทางกลับขึ้นมาอยู่บ้านตาเมินทันที ระยะเวลาต่อมาไม่นานนัก พ่อล็อง และแม่โบร มูลศาสตร์ ได้ทราบข่าวว่า มีพระนักปราชญ์เดินทางมาจากประเทศเขมร ก็รีบนำคณะญาติโยมไปกราบนิมนต์ท่านมาจำพรรษาที่วัดโพธิ์รินทร์วิเวก ต่อจากนั้นท่านก็ได้ดำเนินการก่อสร้างกำแพงรั้ว ด้วยไม้เนื้อแข็ง หน้า 3 หน้า 8 รอบบริเวณวัดมีลวดลายสวยงามมาก ปัจจุบัน “พระครูปิยธรรมาภรณ์” ได้ก่อสร้างกำแพงคอนกรีตขึ้นมาแทน และหลวงพ่อเหรียญได้ก่อสร้างอุโบสถ ด้วยไม้ มุงหลังคาสังกะสีหน้าจั่ว หน้าและหลังแกะลายกนก มีพระอินทร์ขี่พระราหู และพระราหูอมพระจันทร์ เหมือนรูปปัจจุบัน
ก่อนจะเริ่มดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์อุโบสถในปัจจุบัน มีเหตุการณ์น่าอัศจรรย์ประการหนึ่ง คือ ฝ้าเพดานไม้ขนาดใหญ่หลุดออกมาเอง ท่าทีจะตกลงมาทับพระประธานหลวงพ่อสุดแล้ว กลับกลิ้งลงไปลงไปตกด้านทิศตะวันออก และมีเสียงดังเปรี้ยงอย่างน่าสะพรึงกลัวยิ่ง นี้เป็นเพราะบารมีปาฏิหาริย์ของหลวงปู่สุดโดยแท้
ฉะนั้น ในปี พ.ศ. 2548 โดยการนำของ “พระครูปิยธรรมาภรณ์” พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ และญาติโยม
บ้านเขวาสินรินทร์ จึงได้ร่วมใจกันบูรณปฏิสังขรณ์อุโบสถขึ้น ใช้ระยะเวลา 8 เดือน จึงแล้วเสร็จ สิ้นงบประมาณ 1,500,000 บาท (หนึ่งล้านห้าแสนบาทถ้วน)
รายนาม เจ้าอาวาส วัดโพธิ์รินทร์วิเวกมี 13 รูป ดังนี้
รูปที่ 1 หลวงปู่สุด ติสฺโส พ.ศ. 2344
รูปที่ 2 พระอธิการกิ่ง บังคะดารา บ้านนาโพธิ์ พ.ศ. 2350
รูปที่ 3 พระอธิการเอ็ม / เอิบ บังคะดารา บ้านนาโพธิ์ พ.ศ. 2360
รูปที่ 4 /5 พระอธิการแผน บังคะดารา บ้านนาโพธิ์ พ.ศ. 2370
รูปที่ 5/4 พระอธิการช่าง ชัยชาติ บ้านนาโพธิ์ พ.ศ. 2380
รูปที่ 6 พระอธิการดวง / โดง หวังครบ บ้านโชค พ.ศ. 2390
รูปที่ 7 พระอธิการเหรียญ จาบทอง บ้านเขวาสินรินทร์ พ.ศ. 2400
รูปที่ 8 พระอธิการเม็ง / เพ็ง ดมหอม บ้านโชค พ.ศ. 2420
รูปที่ 9 พระอธิการเย็บ / เย็น มุตตโสภา บ้านโชค พ.ศ. 2430
รูปที่ 10 พระอธิการยิน ลวดเงิน บ้านเขวาสินรินทร์ พ.ศ. 2470
รูปที่ 11 พระอธิการพอก วิสุทฺโธ / เรืองไกล บ้านเขวาสินรินทร์ พ.ศ. 2483
รูปที่ 12 พระอธิการปัน ปริสุทฺโธ / เรืองไกล บ้านเขวาสินรินทร์ พ.ศ. 2489
รูปที่ 13 พระครูปิยธรรมาภรณ์ (เปี่ยม ปุณฺณโก/จาบทอง) บ้านโชค พ.ศ. 2502 ถึง ปัจจุบัน
และในปี พ.ศ. ๒๕๕๖ เป็นประธานจัดหาทุน เพื่อดำเนินการก่อสร้างเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
ขนาดกว้าง ๘ เมตร ยาว ๘ เมตร สูง ๕ เมตร สิ้นเงินงบประมาณในการก่อสร้าง เป็นจำนวน ๕,๓๒๕,๐๐๐.- บาท
(ห้าล้าน สามแสน สองหมื่น ห้าพันบาทถ้วน)