ความเป็นมา
วัดจำปามีชื่อเดิมว่า“วัดยายจำปา”เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งในจังหวัดสุรินทร์ พุทธศาสนิกชนร่วมแรงร่วมใจสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย เมื่อก่อน “วัดยายจำปา” ตั้งอยู่ที่ชายป่าบ้านโคกประทาย หรือ ประทายสมันต์ในปัจจุบัน สืบเนื่องมีพระภิกษุชนชาวเขมรธุดงค์จาริกมาพักที่ป่าข้างบ้านโคกประทาย ท่านมีวัตรปฏิบัติอันน่าเลื่อมใสศรัทธา ชำนาญในด้านอักษรขอมทำให้ชาวบ้านเลื่อมใสศรัทธาสร้างที่พักสงฆ์ถวาย
กาลต่อมาคุณยายจำปา เห็นว่าบริเวณสถานที่นี้ไม่เหมาะต่อการเจริญบำเพ็ญสมณธรรม จึงได้ชักชวนเพื่อนบ้านสร้างที่พักสงฆ์ให้เหมาะควรกว่าเดิม โดยตนเองมีศรัทธาแรงกล้าจำหน่ายวัว ๒ ตัว ได้เงิน ๘ สตางค์ นำมาสร้างเป็นที่พักสงฆ์ขึ้นในป่าซึ่งติดกับหมู่บ้าน (ที่ตั้งของวัดในปัจจุบัน)
ภายหลังจากยายจำปาเสียชีวิตแล้ว ชาวบ้านจึงเรียกวัดนี้ว่า “วัดยายจำปา” เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่คุณยายผู้เป็นกำลังสำคัญในการสร้างวัดให้เป็นศูนย์รวมการบำเพ็ญธรรมและพัฒนาจิตใจของชาวบ้านสืบมา และเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดจำปา” ในกาลต่อมา
วัดจำปามีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ดังนี้
๑. ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย พระเจ้าแผ่นดินได้ส่งแม่ทัพเสนาบดีติดตามช้างศึกของพระองค์ และได้พักที่วัดจำปาประมาณ ๕ วัน จนสามารถติดตามหาช้างได้ โดยมีหลวงพ่อวัดจำปาได้ช่วยอำนวยความสะดวกในการติดตามช้าง
๒. เป็นวัดที่ประกอบพิธี “ดื่มน้ำพิพัฒน์สัตยาแก่ข้าราชการทุกคน” ให้มีความจงรักภักดี มีความซื่อสัตย์ต่อแผ่นดินไทยเป็นประจำทุกปี ต่อมาได้ถูกยกเลิกไป
๓. ในปี พ.ศ. ๒๔๕๓ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานถวายพระธรรมาสน์ ๑ หลัง เป็นธรรมาสน์สังเค็ดงานพระบรมศพรัชกาลที่ ๕ ศิลปะรัตนโกสินทร์ ไม้ลงรักปิดทอง ลายฉลุ ขนาดกว้าง ๙๑ เซนติเมตร ยาว ๑๒๒ เซนติเมตร สูง ๑๒๐ เซนติเมตร สลักพระนามย่อว่า “จปร” อยู่ใต้
พระเกี้ยว เพื่อถวายพระราชอุทิศในงานพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. ๒๔๕๓ พร้อมเหรียญรูปเหมือนของรัฐกาลที่ ๕ ๑ เหรียญ เป็นเหรียญเงินรูปครึ่งพระองค์ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑๖ นิ้ว

การปกครองของวัดจำปา
เจ้าอาวาสองค์แรกและองค์ต่อ ๆ มา มีชื่ออย่างไรบ้าง ไม่มีหลักฐานปรากฏชัด เท่าที่ปรากฏรายนามมีดังนี้
๑ หลวงพ่อมี
๒ หลวงพ่อจิตต์
๓ หลวงพ่อคง
๔ หลวงพ่อเกี๊ยะ
๕ หลวงพ่อพระมหาสุคนธ์ คนฺธวํโส ป.ธ.๕
๖ หลวงพ่อคุย
๗ หลวงพ่อรัน
๘ หลวงพ่อรอด
๙ หลวงพ่อบุญ
๑๐ พระประภากรคณาจารย์ (หลวงพ่อเดื่อ ปภากโร/วรรณศรี) อดีตเจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์พ.ศ. ๒๔๙๙ – ๒๕๐๖
๑๑ พระอธิการไชยยศ ยนฺตสีโล (สุดอุดม) พ.ศ. ๒๕๐๖ – ๒๕๓๓
๑๒ พระอธิการบรึม สุรปญฺโญ (ศรีสง่า) พ.ศ. ๒๕๓๔ – ๒๕๓๕
๑๓ พระครูสาธุกิจโกศล ดร. (สิทธิชัย ฐานจาโร /เดชกุลรัมย์) พ.ศ. ๒๕๓๖ – ปัจจุบัน