วัดเพี้ยราม

ตำบลเพี้ยราม อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์

Wat Phia Ram

Phia Ram Subdistrict, Mueang Surin District Surin Province

วัดเพี้ยราม ตั้งอยู่เลขที่ 239 บ้านเพี้ยราม หมู่ที่ 1 ตำบลเพี้ยราม อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย

หลักฐานการตั้งวัด

1.ได้รับอนุญาตให้สร้างวัด เมื่อวันที่ 1 เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2374

2.กระทรวงศึกษาธิการประกาศตั้งเป็นวัด เมื่อวันที่ 1 เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 237๕

3.ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาครั้งแรก เมื่อวันที่ 1 เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2414 เนื้อที่กว้าง 12 เมตร ยาว 15 เมตร และได้ประกอบพิธีผูกพัทธสีมาครั้งแรก เมื่อวันที่ 19 เดือน มีนาคม พ.ศ.2465

ความเป็นมา

คำว่า พญาราม (พระยาราม) นามนี้มีประวัติสาสตร์ความเป็นมา บ่งบอกความหลังครั้งอดีตที่ผ่านมาช้านาน และสานสัมพันธ์สนิทสอดประสานแน่นเช่นกับนามว่า เพี้ยราม ฮ็อง ภูมิกันดาล และพญารามอันเป็นนามของหมู่บ้านใหม่ในส่วนของเครือข่ายของวัดเพี้ยรามในปัจจุบันที่จะกล่าวถึง ตามความจริงนั้นที่ได้เลือกสรรตั้งชื่อบอกสำเนียงมีเค้าเสียงต่างกันเช่นนี้ ก็คงเป็นเรื่องธรรมดาแท้ของการเปลี่ยนแปลง เมื่อมีประชาชนมากขึ้นก็ยากที่จะดูแล แก้ไขปรับปรุงและปกครองให้ได้โดยทั่วถึง ด้วยเหตุผลดังกล่าวแล้ว บ้านเพี้ยรามเป็นเพียงหมู่บ้านเดียว กาลต่อมาจำเป็นอย่างยิ่ง ที่มีการแยกเพื่อพัฒนาให้เจริญรุ่งเรื่อง 

การก่อตั้งวัดเพี้ยราม เมื่อครั้งอดีตนั้นมีประวัติเป็นหลักฐานปรากฏชัด ทีคนสมัยนั้นทีมีความรู้ความเข้าใจจารลงในสมุดใบลาน เนื่องในงานพิธีผูกพัทธสีมาวัดพญาราม (พระยาราม,เพี้ยราม) เมื่อ ร.ศ.๙๐ พุทธศักราช ๒๔๑๔ ตรงกับปีมะแม เล่าไว้ว่า

มี ตังเคาทม (หัวหน้าใหญ่) เดิมมีชื่อว่า ราม ซึ่งเมื่อก่อนท่านเคยเป็นพระธุดงค์ จาริกแสวงหาสถานที่วิเวก เพื่อความสงบกายใจ มาจากเขมรต่ำได้ลัดเลาะมาพักปักกลด ริมฝั่งด้านทิศใต้ตะเปียงทม(หนองใหญ่) ได้ความสงบวิเวกร่มเย็นด้วยอันเนื่องมาจากร่มไม้ชายคา และความเย็นสบายจากแหล่งน้ำที่ใหญ่อีกด้วย ท่านอยู่ ณ สถานที่แห่งนี้นานถึง ๑๕ วัน แล้วเดินจาริกต่อไปยังวัดโคกสะกอ โดยเดินทางผ่านป่าใหญ่โคกสำรอง(ปัจจุบันเรียกว่า โคกสำโรง) เพื่อนมัสการพระอาจารย์ที่นั้น (ท่านชื่อว่า อาจารย์เจีย) ปัจจุบันวัดแห่งนี้มีสถานะเป็นวัดร้าง แต่ยังมีฐานซากปรักหักพังและบริเวณสีมาปรากฏอยู่ ซึ่งตั้งอยู่ทางทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของบ้านขามระกา (หมู่ที่ ๙ หมู่ที่ ๑๐ ของตำบลกาเกาะในปัจจุบัน) ต่อมาพระธุดงค์ชื่อว่า ราม อยู่จำพรรษาในวัดแห่งนี้เป็นเวลา ๓ พรรษา พอพรรษาที่ ๔ ท่านได้รับนิมนต์จากชมชุนตะเปียงทม(ชุมชนบ้านหนองทม) ให้มาเป็นประธานที่พักสงฆ์ ซึ่งชาวชุมชนแห่งนี้เลื่อมใสท่านมาก บริเวณแห่งนี้ก็ยังปรากฏซากปรักหักพังอยู่เช่นกัน ต่อมาภายหลังท่านลาสิกขาแต่ด้วยความเป็นนำที่โดดเด่นในหลายด้าน ชาวบ้านจึงยกให้ท่านเป็น
ตังเคาทม (เป็นผู้ใหญ่บ้าน) เหตุยกท่านขึ้นมาเยอะเป็นผู้ทำให้เกิดวัดเพี้ยราม ในช่วงที่ท่านเป็นผู้ใหญ่บ้านเคยต้อนรับพระเจ้าสองพี่น้อง เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๓๐๓ในสมัยพระเจ้าเอกทัต กษัตริย์องค์สุดท้ายของกรุงศรีอยุธยา มีช้างเผือกหลวงแตกมาทางอีสาน จึงมีรับสั่งให้พระเจ้าสองพี่น้อง คือ(พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก กับกรมพระราชวงค์บวรมหาสุรสีหนาถ) เป็นหัวหน้าเพื่อมาสืบหาช้างโดยมีผู้ติดตามมาด้วย ๓๐ คน เมื่อคณะตามหาช้างเผือกหลวงเดินทางมาถึงพิมาย ชาวพิมายได้แนะนำให้มาสืบถามชาวกวยแทรกโพนช้างกลุ่มของเชียงสี(บริเวณอำเภอรัตนบุรี) ระหว่างเดินทางได้มาแวะพักบ้านหนองทม(บ้านพญารามในปัจจุบัน) ท่านทำหน้าที่ต้อนรับคณะติดตามช้างเผือกหลวงเป็นอย่างดี และแนะนำให้รู้จักหัวหน้ากวยทุกกลุ่ม
จนสามารถจับช้างหลวงได้ที่บ้านหนองโชค(บ้านหนองบัว) อำเภอสังขะ ในปัจจุบัน

พระเจ้าสองพี่น้อง ได้นำกราบบังคมทูลพระเจ้าอยู่หัวถึงความช่วยเหลือที่ได้รับจากกลุ่มชาวกวยและ นายราม ผู้นำหมู่บ้านหนองทม ทุกคนได้รับบรรดาศักดิ์ดังนี้

๑.เชียงสี ได้เป็น หลวงศรีนครเตาท้าวเธอ 

๒.เชียงฆะ(มะ) ได้เป็น หลวงสังขะบุรีศรีอัจจะ 

๓.เชียงชัย ได้เป็น ขุนชัยสุริยวงศ์ 

๔.เชียงปุม ได้เป็นหลวงสุรินทร์เสน่หา ส่วนหัวหน้าที่ให้การต้อนรับ ช่วยเหลือเลี้ยงดูเมื่อคณะตามหาช้างเผือกหลวงที่มาพักบ้านหนองทม ได้รับบรรดาศักดิ์เป็น ออกญา เทียบเท่า(พระยา/พญา) จึงเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านตามบรรดาศักดิ์ของผู้นำว่า พญาราม พญา คือบรรดาศักดิ์ ราม คือชื่อของท่านผู้นำ คำว่า พญา ภาษาท้องถิ่น เรียกว่า เพญีย จึงเรียกติดปากมานานกลายเป็น เพี้ยราม ในปัจจุบัน ซึ่งสถานที่ปัจจุบันถูกย้ายจากหมู่บ้านพญาราม เพราะมีโรคระบาด โรคพยุห์ หรือเรียกว่า ไข้ทรพิษหรือฝีดาษ มีผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก จึงตกลงย้ายป่าช้าจากตะวันออกหมู่บ้านไปอยู่ตะวันตกหมู่บ้าน(โคกกะกี/โคกตะเคียน) ย้ายหมู่บ้านไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของบ้านพญาราม คือวัดเพี้ยราม และบ้านเพี้ยราม ในปัจจุบันนั่นเอง